เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

พระเณรจวกหลักสูตรนักธรรมบาลีตกยุค
แนะสร้างสถานศึกษาแทนศาสนสถาน

มติชน ฉบับวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๗๑ หน้า ๒๑

          ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แจ้งว่า วช.ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยนายวีรชาติ นิ่มอนงค์ จากคณะปรัชญาและศาสนามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิจัย เรื่อง "ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย" โดยสอบถามและสัมภาษณ์พระสังฆาธิการ พระผู้บริหารการปกครองคณะสงฆ์ พระผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัย พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้บริหารกรมการศาสนาและมหาเถรสมาคม พบว่าความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ๒ ประเด็นคือ ในส่วนงบประมาณ ขาดครูที่มีคุณภาพ อาคารและอุปกรณ์การเรียนไม่เพียงพอ เป็นต้น

          ส่วนด้านหลักสูตรนั้นขาดการเชื่อมโยงกัน เนื่องจากมีระบบการศึกษา ๒ หลักสูตร คือ สายนักธรรมบาลีและสายปริยัติธรรมสามัญ ผู้สำเร็จการศึกษาไม่สามารถเทียบโอนกันได้ เนื่องจากหลักสูตรนักธรรมบาลีเป็นหลักสูตรเก่า ไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาและกระบวนการเรียนการสอน ตามหลักการบริหารการศึกษาที่รัฐกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การศึกษา ทำให้รัฐไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้เต็มที่ เหมือนหลักสูตรพระปริยัติธรรมสายสามัญ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่รัฐบริหารหลักสูตรเอง

          ในส่วนของพระภิกษุสามเณรได้เห็นว่า คณะสงฆ์และรัฐยังไม่มีนโยบายการจัดการศึกษาที่แน่นอน โดยเฉพาะไม่มีข้อระบุใน พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่สนับสนุนให้เปิดกว้างทางการศึกษา นอกจากนี้ระบบการศึกษาของสงฆ์มีหลากหลาย แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์และแนะแนวระบบการศึกษา พระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ ต้องการเรียนหลักสูตรปริยัติธรรมสามัญ และระบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ มากกว่าหลักสูตรนักธรรมบาลี ที่มีกระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรไม่เหมาะสมกับยุคสมัย รวมทั้งจัดต้นสังกัดไม่ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษา

          จากการสอบถามความเห็นของพระมหาเถรสมาคมและกรมการศาสนา พบว่าเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับพระภิกษุสามเณรในเรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และต้องการให้คณะสงฆ์แก้ไข พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์และสนับสนุนการศึกษา ทั้งสายนักธรรมบาลี และสายปริยัติธรรมสามัญ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งต้องการให้ปรับปรุงหลักสูตรและขยายการศึกษาแบบพระปริยัติธรรมสามัญ และแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ เนื่องจากการศึกษาสองสายดังกล่าวมีความสอดคล้อง สามารถเชื่อมโยงและเทียบโอนกันได้ เมื่อต้องการศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนอื่น

          ส่วนหลักสูตรนักธรรมบาลีควรปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้มีลักษณะบูรณาการ ระหว่างวิชาการทางธรรม และวิชาการสมัยใหม่และการประเมินผลให้ทันสมัยขึ้น สำหรับบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีต่อสังคมประเทศชาติพบว่ายังไม่ชัดเจน

          ทั้งนี้ นายวีรชาติผู้วิจัยสรุปและเสนอแนะว่า ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาดังกล่าว เกิดจากระบบการศึกษาที่มีความหลากหลายและไม่เชื่อมโยงกัน เพื่อแก้ปัญหานี้ควรจะวิจัยหลักสูตรที่พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เสนอต่อคณะสงฆ์อย่างจริงจัง และควรเน้นการสร้างสถานศึกษาแทนการสร้างศาสนสถาน.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :