เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗

เรื่องขอทักท้วงการนำองค์ประกอบและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา มาสร้างโรงแรมและธุรกิจเชิงพาณิชย์

เรียนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย๑. ภาพการใช้องค์ประกอบทางพุทธศาสนาอย่างไม่เหมาะสมในเมืองเชียงใหม่
๒. รายนามตัวแทนผู้ที่ทักท้วงการนำองค์ประกอบและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา มาสร้างโรงแรมและธุรกิจเชิงพาณิชย์

          ด้วยปรากฏว่าในขณะนี้มีนักธุรกิจด้านต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ได้นำเอาองค์ประกอบและสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการออกแบบอาคารและเป็นวัสดุตกแต่ง โดยที่อาจจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง และความเหมาะสมในการใช้งาน มีการจำลองแบบวิหาร หอธรรม(หอไตร) ประตูโขง(ซุ้มโขง) บันไดนาค ฯลฯ อันเป็นองค์ประกอบของวัดพุทธ และ/หรือสิ่งของที่ใช้ถวายวัด ทั้งในและนอกประเทศมาสร้าง เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่างๆที่ไม่ใช่เพื่อการศาสนา เช่น เป็นห้องประชุม ร้านอาหาร ห้องนอน ห้องน้ำ ทางเดิน ประตู ฯลฯ แต่สิ่งก่อสร้างและสิ่งประดิษฐ์หลายหลัง ที่ปรากฏให้บรรยากาศความเป็นวัดในพระพุทธศาสนาของล้านนาอย่างทั่วด้าน เช่น

          มีการจำลองวิหารและซุ้มโขงจากวัดต่าง ๆ บางแห่งเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในสัดส่วนเท่าอาคารจริงมาไว้ในพื้นที่ของโรงแรม

          มีการสร้างอาคารรูปทรงวิหารมาเป็นห้องประชุม มีการใช้บันไดนาคซึ่งสร้างสำหรับปกปักรักษาวัดในล้านนา มาประดับบันไดทางขึ้น ร้านค้าบางแห่งมีการนำพญานาคคู่ไว้หน้าวัด ในลักษณะของพญานาคหน้าวัดทั่วไปในล้านนา มีการสร้างสิงห์หน้าวัดไว้หน้าโรงแรม

          มีการใช้ตุงกระด้างซึ่งคนล้านนาทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาหน้าพระเจดีย์มาปักอยู่หน้าซุ้มอาหาร หรือประดับในห้องโถงของโรงแรม

          มีการสร้างอาคารรูปทรงเหมือนวิหารและอุโบสถเพื่อเป็นห้องพักแขก หรือห้องคอกเทลสำหรับจัดเลี้ยง โดยมีพระพุทธรูปตั้งอยู่

          มีการสร้างประตูโขงซึ่งเป็นประตูสำคัญสำหรับเข้าไปเขตพุทธาวาสของวัด มาเป็นที่ให้ผู้แสดงขึ้นไปยืนร่ายรำ

          มีการนำเอาเตียงพระเจ้าที่ใช้ในพิธีบวช บุษบกสำหรับประดิษฐานหรืออัญเชิญพระพุทธรูป สัตตภัณฑ์ซึ่งมีไว้สำหรับจุดเทียนถวายหน้าพระประธานมาประดับสวน และทางเดิน

          มีการนำพระพุทธรูป พระพิมพ์มาประดับในห้องโถงโรงแรมและห้องนอน ตลอดจนมีการภาพลวดลายต่างๆที่ปรากฏในวัดมาติดตั้งไว้ในห้องน้ำ

          มีการนำเอาไวยากรณ์ของวิหารล้านนา อันได้แก่เสากลมสีแดงมีฐาน มาสร้างห้องโถงรับแขก

          มีการนำช่อฟ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ส่วนสูงสุดของพระวิหารมาประดับห้องโถงบนพื้น

          มีการนำเอาหีบธรรม ซึ่งเก็บตัวอักษรธรรม ที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าและบันทึกของพระสงฆ์และผู้รู้ มาเป็นที่นั่ง หรือที่วางของในห้องประชุมและห้องโถง ฯลฯ

          ทั้งหมดนี้ให้บรรยากาศวัดในล้านนาเกือบสมบูรณ์ ยกเว้นเพียงแต่ไม่มีพระสงฆ์และแม่ชีเท่านั้นที่เดินไปมาหรือนั่งอยู่ในวิหาร

          โรงแรมบางแห่งได้เชิญนักข่าวจำนวนหนึ่งเข้าไปชมและรับประทานอาหาร เพื่อหวังผลการโฆษณาต่อสาธารณชน แต่กลับห้ามนักข่าวถ่ายรูป ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าผู้รับผิดชอบโรงแรมเหล่านี้ตระหนักดีว่า อาจมีสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสายตาประชาชนทั่วไป

          ที่ผ่านมา เมื่อมีนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ปฏิบัติสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การปีนขึ้นไปนั่งบนบ่าของพระพุทธรูป หรือขี่คอหรือนั่งตักของพระพุทธรูป การนำเอาพระเศียรของพระพุทธรูปวางไว้ตามขั้นบันได การนำพระเศียรมาทำเป็นเทียนไข การให้สตรีแต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อยยืนชิดกับพระพุทธรูปเพื่อถ่ายแบบโฆษณาสินค้า ทั้งหมดนี้พุทธศาสนิกชนรวมทั้งสื่อมวลชนในประเทศได้ร่วมกันคัดค้านการกระทำเหล่านี้อย่างแข็งขัน

          บริษัทหลายรายรวมทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศหลายราย ได้ยอมยุติการกระทำเหล่านั้นและยกเลิกสิ่งที่ได้สร้างขึ้น พร้อมทั้งหลายรายได้ขอโทษพุทธศาสนิกชน

          ขณะที่พุทธศาสนิกชนที่มีสำนึกอันถูกต้องไม่เคยกระทำสิ่งเหล่านี้ จะเห็นว่า คริสตศาสนิกชนเองก็ไม่เคยนำเอาไม้กางเขน หรือรูปองค์พระเยซูคริสต์ หรือพระนางมาเรีย หรือโบสถ์มาเลียนแบบและกระทำอันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ผู้มีส่วนสร้างโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นคนไทย และเข้าใจว่าเป็นพุทธศาสนิกชนกลับสร้างโรงแรมให้เหมือนวัดอันเก่าแก่ สร้างอาคารและวัตถุมากมายที่ให้บรรยากาศความเป็นวัดวาอาราม ซึ่งเป็นศาสนสถานและโบราณสถานสำคัญ อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศและทั่วโลก แต่สถานที่ เหล่านี้กลับกลายเป็นที่บริการให้แขกเข้าพักผ่อนและหลับนอน การกระทำดังกล่าวคือการขายทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่แขกโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เป็นการขายจิตวิญญาณของพุทธศาสนา และหากพุทธศาสนาอันเป็นส่วนสำคัญของชาติไทยต้องประสบปัญหานี้ และไม่มีการแก้ไข ชาติของเรายังจะเหลือสิ่งใดอีก

          พวกเราจึงขอทักท้วงการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดใดในโลก ก็ไม่ควรมีใครผู้ใดกระทำสิ่งเหล่านี้อันเป็นการจาบจ้วงและลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนาอย่างชัดแจ้งเช่นนี้

          จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบโรงแรมและห้างร้านต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้กระทำการอันไม่เหมาะสมต่อพุทธศาสนา ดำเนินการผลักดันหรือสั่งการให้ยุติการกระทำดังกล่าว พร้อมกับเร่งหาแนวทางปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม และกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในโอกาสต่อไป

          จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณา หากเห็นชอบโปรดสั่งการตามที่เห็นสมควร หากผลการพิจารณาเป็นประการใดขอได้โปรดแจ้งให้ทราบด้วยจักขอบคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, สำนักส่งเสริมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง, กลุ่มงานวิจัยล้านนาคดีศึกษา และ กลุ่มงานวิจัยเรื่องเมือง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ เครือข่ายภาคเหนือ (HPP-HIAเหนือ), ชมรมวุฒิอาสาคลังสมอง, เครือข่ายเชียงใหม่เพื่อแก้ปัญหาจราจร, ชมรมเพื่อเชียงใหม่, เครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม-เชียงใหม่ (CMNEC), กองทุนสิ่งแวดล้อมล้านนา, ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม หอการค้าเชียงใหม่ และ กลุ่มละอ่อนฮักเจียงใหม่


รายชื่อหน่วยงานที่ส่งหนังสือทักท้วงฯ การนำองค์ประกอบและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา มาสร้างโรงแรมและธุรกิจเชิงพาณิชย์

ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่
ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่
ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่
คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ประธานกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา
นายกสมาคมสถาปนิกสยาม
เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ .. .


หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :