เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

บวชภิกษุณีความเห็นที่แตกต่าง

เรื่อง ไตรเทพ สุทธิคุณ, ภาพ นัยนา ธนวัฑโฒ
จาก หนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖ หน้า ๓๘

 

.

หลังจากที่ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ บวชเป็นภิกษุณีแล้ว
หลังจากที่ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ บวชเป็นภิกษุณีแล้ว

          การบวชสามเณรีและภิกษุณี ในประเทศไทย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบวชของ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และก็ไม่มีความคิดเห็น โดยแต่ละฝ่าย ล้วนยกเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ขึ้นมาเป็นข้ออ้างทั้งสิ้น

          ทางศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.รามคำแหง สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพ ฯ ๑,๒๘๕ คน เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "การบวชภิกษุณีในประเทศไทย : ทัศนะของฆราวาส" มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ด้านดีของการบวชภิกษุณีในประเทศไทย ๗๗% เห็นว่าวัดที่มีแต่ภิกษุณีและแม่ชี ไม่มีภิกษุ จะมีความปลอดภัยต่อผู้หญิงที่บวชมากกว่าภิกษุ และป้องกันเรื่องเสื่อมเสียทางเพศได้ดีกว่า ๗๔.๙% เห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิง มีโอกาสฝึกปฏิบัติธรรมในขั้นสูงมากขึ้น

          ๗๐.๒% เห็นว่าผู้หญิงไทยควรมีสิทธิในการบวชภิกษุณี ๖๕.๓% เห็นว่าภิกษุณีเหมาะสมในการสั่งสอนธรรมะและสอนวิธีปฏิบัติให้ผู้หญิงได้มากกว่าภิกษุ ๖๔.๕% เห็นว่าเป็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ขณะที่ ๖๖.๙% เห็นว่าไม่จำเป็นต้องบวชภิกษุณีในไทย เพราะผู้หญิงสามารถปฏิบัติธรรมได้โดยไม่ต้องบวช ร้อยละ ๖๒.๔% เห็นว่าบวชชีก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะไม่ให้บวชภิกษุณีในไทยโดยให้เหตุผลว่า เพราะพระสงฆ์ไทยไม่ยอมรับ ทำให้ผู้ชายต้องกราบไหว้ผู้หญิง หรือเพราะขัด พ.ร.บ.สงฆ์ กลุ่มตัวอย่างต่างไม่เห็นด้วย

          พระมหาต่วน สิริธมฺโม (พิมพ์อักษร) อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การบวชเป็นภิกษุณีให้ถูกต้องตามหลักการแล้ว จะต้องบวชจากภิกษุณีที่เป็นอุปัชฌาย์ และบวชอีกครั้งกับพระอุปัชฌาย์ที่เป็นพระสงฆ์ แต่ทั้งนี้ปัญหาการบวชเป็นภิกษุณีของผู้หญิงไทย ในการปกครองจะไม่มีปัญหาหากทางคณะสงฆ์ไทยในการปกครองให้การยอมรับ ด้วยการเปิดทางให้ภิกษุณีได้ร่วมกิจกรรมของสงฆ์

          "หากกฎหมายไทยยังไม่มีการยอมรับการเป็นภิกษุณี ก็สามารถยึดหลักการของฝ่ายมหายานได้ เหมือนอย่างในประเทศใต้หวัน จีน จริง ๆ แล้วไม่อยากให้มีการแบ่งแยกความเป็นหญิงหรือชายของการปฏิบัติธรรม เนื่องจากผู้หญิงเมื่อเข้ามาเป็นนักบวช ปฏิบัติธรรมก็มีศักยภาพที่จะเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา และบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับพระสงฆ์"

          ทางด้านพระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ชื่อดัง และเจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ให้ความเห็นเรื่องการบวชภิกษุณีว่า การออกบวชเป็นการหาความสุขในทางธรรมนั้นทุกคนสามารถทำได้ แต่ถ้ามาบวชเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เหมือนพระบางรูปก็ไม่สนับสนุน ในกรณีของ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ท่านถึงพร้อมด้วยความรู้ทางโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับของลูกศิษย์ ขณะเดียวกันก็ถึงพร้อมด้วยความรู้ทางธรรมด้วย ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยกันทำงานเผยแพร่ธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเผยแพร่ธรรมะให้กับผู้หญิงด้วยกัน

          "ก่อนหน้านี้ พระผูกขาดเรื่องทำบุญเพราะไม่มีใครเป็นคู่แข่ง จะทำตัวอย่างไรคนก็ยังทำบุญอยู่ดี แต่เมื่อมีพระผู้หญิง หากพระผู้ชายที่ปฏิบัติไม่ดี ไม่สมกับสมณเพศ ญาติโยมก็จะไม่ทำบุญด้วย ญาติโยมก็จะหันไปทำบุญกับพระผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งเป็นการดัดนิสัยพระผู้ชายที่ไม่ดีได้อีกทางหนึ่ง"

          ขณะเดียวกัน พระราชกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า การบวชเป็นภิกษุณี สตรีทุกคนมีสิทธิบวชได้เพราะไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ไม่เกี่ยวข้อง กับคณะพระสงฆ์ในปัจจุบันด้วย เนื่องจากมีประกาศของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ห้ามภิกษุสงฆ์ บวชสตรีเป็นภิกษุณี หากมีพระภิกษุสงฆ์รูปใดบวชให้ภิกษุณีถือว่าเป็นพระนอกรีต

          อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้การยอมรับภิกษุณีมีอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีความพยายามของสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งที่จะให้เกิดการยอมรับในหมู่กว้าง สิ่งหนึ่งที่อยากชี้แนะคือ ถ้าบวชด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะได้ช่วยกันเผยแพร่พระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันต้องพิจารณาเรื่องผลเสียด้วย โดยเฉพาะประเด็นในส่วนของการแอบแฝงมาทำลายพระพุทธศาสนา

แรงศรัทธาของญาติโยมในวันทำบุญฉลองภิกษุณีบวชใหม่
แรงศรัทธาของญาติโยมในวันทำบุญฉลองภิกษุณีบวชใหม่

          นางระเบียบ พงษ์พานิช ส.ว.ขอนแก่น และประธานคณะอนุกรรมาธิการ ด้านสตรี ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีหญิงไทยจำนวนมากประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณีในสังคมไทย และประสงค์จะสนับสนุนภิกษุณี แต่ได้รับการปฏิเสธและขัดขวางการเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา โดยอ้างคำประกาศ พ.ศ. ๒๔๗๑ ของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๘ บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          "ดิฉันคิดว่า ปัญหาของสตรีจะได้รับการแก้ไขเพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้แล้ว แต่มีพระบัญชาของพระสังฆราชเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ห้ามพระเณรบวชให้ผู้หญิง ใครฝ่าฝืนเป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา ระเบียบข้อบังคับ พ.ร.บ.สงฆ์ทุกฉบับให้ใช้ประกาศข้อบังคับเดิม ดังนั้นเพื่อมิให้เป็นการขัดพระธรรมวินัย จึงสมควรยกเลิกประกาศดังกล่าว ซึ่งคงไม่ต้องกลัวว่าผู้หญิงมาเป็นเจ้าอาวาส เพียงแต่ผู้หญิงต้องการเข้ามาเพื่อเป็นโอกาสบรรลุธรรมเท่าเทียมกัน เหมือนที่พระพุทธองค์มองว่าผู้หญิงผู้ชายมีโอกาสบรรลุธรรมเท่าเทียมกัน"

          นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิสุทธิ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นพุทธฝ่ายเถรวาท ไม่ใช่มหายาน ขณะที่เถรวาทมีพระธรรมวินัยให้ปฏิบัติกันมาเป็นพันปีแล้ว จึงไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกันที่จะให้พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทยอมรับในความเป็นภิกษุณีไทย

          ดร.อำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักพุทธมณฑล กล่าวว่า ในเรื่องของสามเณรีบวชเป็นภิกษุณี ถือเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อบวชแล้วไม่ได้ออกมาเรียกร้องสร้างความวุ่นวาย ไม่ได้บวชเพื่อแสวงหาลาภยศ โดยมีการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสนา การบวชเป็นภิกษุณีจึงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่เชื่อว่าคงจะมีปัญหามากที่สุดก็คือการปกครอง

          "ปัญหาการปกครองเคยมีมาแล้ว เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ยอมรับการเป็นแม่ชีของไทย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาเหมือนในอดีต คงต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกกฎหมายรองรับในการปกครองสามเณรี หรือภิกษุณี เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม และหากมีกฎหมายก็จะทำให้การปฏิบัติอยู่ในขอบเขต ไม่ได้เป็นองค์กรอิสระจนเกินไป"

          นางมาลีรัตน์ แก้วก่า สมาชิกวุฒิสภา จ.สกลนคร และประธานคณะกรรมาธิการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ กล่าวเห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยจะมีภิกษุณีเกิดขึ้น แม้ว่าศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาทจะอ้างว่า ภิกษุณีได้สูญหายไปแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ทางที่ดีเพื่อให้ครบการเป็นพุทธบริษัท ๔ การมีภิกษุณีเกิดขึ้นในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่าการออกมาต่อต้านกัน

          "ความเห็นส่วนตัวพี่สนับสนุนให้มีสามเณรีหรือภิกษุณีในประเทศไทย เพราะผู้หญิงก่อนที่จะเข้ามาบวช ต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดแล้ว ระเบียบและข้อปฏิบัติจึงไม่ควรจำกัดสิทธิหรือข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ทางกรรมาธิการฯ ก็ได้มอบให้ ส.ว.ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช เป็นผู้ศึกษาเจาะลึกลงไปของการเป็นภิกษุณีแล้ว"

          ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานเครือข่ายสื่อสตรี กล่าวสนับสนุนด้วยว่า เนื่องจากการบวชเป็นภิกษุณีได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของธรรมวินัย โดยเมื่อบวชเป็นสามเณรีครบ ๒ ปี แล้วก็สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ ซึ่งถือได้ว่าการเป็นภิกษุณีอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีบทบาทชัดเจนมากขึ้นต่อการเผยแพร่พระธรรมให้กับชาวพุทธ ส่วนเรื่องข้อกฎหมายในทางปกครอง ระหว่างนี้ยังอยู่ในการพิจารณาออกข้อกฎหมายจากทางสมาชิกวุฒิสภาอยู่ เพราะเรื่องกฎหมายคงต้องมีการศึกษาให้รอบด้าน ก่อนที่จะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้กับภิกษุณีคงต้องให้เวลาเขาด้วย ..


ภิกษุณี ธัมมนันทา ขณะออกบิณฑบาต

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :