ที่มาของระบอบทักษิณ
โดย เกษียร เตชะพีระ
เซกชั่นกระแสทรรศน์ มติชนรายวัน
ฉบับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๔๗๘ หน้า ๖
ในหมู่นักวิชาการที่สนใจติดตามวิเคราะห์วิจารณ์เศรษฐกิจการเมืองปัจจุบัน มีความเห็นเกี่ยวกับ รัฐบาลทักษิณ แตกต่างเป็น ๒ แนว คือ
๑) เน้นแง่บุคคลเป็นหลัก คือเพ่งที่ตัวนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เอง ว่าเป็นนักเซ็งลี้(deal-maker)ธรรมดาคนหนึ่ง ที่เผอิญประสบความสำเร็จในเซ็งลี้รายใหญ่ที่สุดในชีวิต นั่นคือการเทกโอเวอร์ประเทศไทย และเมื่อเข้าสู่วงการเมืองแล้ว ท่านก็ทำมาหากินไม่ต่างจากนักธุรกิจการเมืองทั่วไป
๒) เน้นแง่ระบอบเป็นหลัก คือเพ่งที่เงื่อนไขสถานการณ์ กรอบสถาบันและกลุ่มพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมายที่เปิดช่องให้กลุ่มอำนาจทุนพรรคไทยรักไทย และการใช้อำนาจรัฐมาดำเนินการเมือง การปกครองแบบรัฐบาลทักษิณ เกิดขึ้นได้ในระยะที่แน่นอนของประวัติศาสตร์สังคมไทย
หากเข้าใจปรากฏการณ์รัฐบาลทักษิณว่าเป็นเรื่องของตัวนายกฯทักษิณเอง มันก็ย่อมจะหมดไปพร้อมกับนายกฯ ทักษิณพ้นตำแหน่ง แต่หากเข้าใจว่าเป็นเรื่องของระบอบ ถึงนายกฯทักษิณพ้นตำแหน่งไป ทว่าตราบใดที่เหล่าเงื่อนไขปัจจัยทางภาววิสัย ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการเมืองการปกครองแบบรัฐบาลทักษิณขึ้นมายังดำรงอยู่ ตราบนั้นก็ย่อมจะมีผู้นำคนอื่นขึ้นมาสวมสืบระบอบแทน แม้จะมีสไตล์ส่วนตัวต่างไปบ้างก็ตาม...
ผมเองเห็นอย่างหลัง และอยากเสนอให้ลองมอง "ระบอบทักษิณ" ในแง่ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมการเมืองไทยภายหลังพฤษภาทมิฬเป็นกระแสการปฏิรูป โดยมีความพยายามปฏิรูป ๒ กระแส คือปฏิรูปเสรีนิยมอันหนึ่ง กับปฏิรูปประชาธิปไตยอีกอันหนึ่ง
ปฏิรูปเสรีนิยมเป็นกระแสของกลุ่มคนที่เป็นนักวิชาการ ปัญญาชน นักธุรกิจ ซึ่งต้องการเห็นเศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น ไม่ผูกขาดด้วยเส้นสายอุปถัมภ์ ต้องการเห็นการเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพ มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ในขณะที่ปฏิรูปประชาธิปไตยเป็นกระแสของฝ่ายประชาชน/เอ็นจีโอ ที่ต้องการเห็นการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ต้องการเห็นเศรษฐกิจที่เสมอภาคและเป็นแบบชุมชนมากขึ้น
สองกระแสนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว และมีความขัดแย้งกันอยู่ ฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยอาจไม่เห็นด้วยกับเศรษฐกิจเสรีของฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม หรือฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมอาจรู้สึกว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยอาจจะมากเกินไป อย่างไรก็แล้วแต่ ทั้งสองกระแสนี้มันควบคู่กันมา
มองจากมุมนี้ ผมรู้สึกว่าการเกิดขึ้นของระบอบทักษิณ เป็นปฏิปักษ์ต่อสองกระแสปฏิรูปหลังพฤษภาทมิฬนี้ เป็นการขัดขวางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ในความหมายของการพยายามจะกระจายอำนาจเศรษฐกิจ และไม่ให้เกิดการผูกขาด และก็เป็นการสวนทางประชาธิปไตยทางการเมือง ในความหมายของการพยายามกระจายอำนาจการเมือง และให้ประชาชนมีส่วนร่วม
พอเข้าใจแบบนี้ก็ตั้งคำถามต่อไปว่า มันเกิดขึ้นมาจากอะไร?
ผมรู้สึกว่าปัจจัยเฉพาะหน้าที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ระบอบทักษิณ ที่เป็นจุดหักเหแล้วปูพื้นสร้างเหตุปัจจัยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้มี ๒-๓ อย่าง
๑) คือวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.๒๕๔๐ ที่ได้ทำลายกลุ่มทุนธนาคาร ทำลายทุนนิยมนายธนาคาร(Banker Capitalism) ทุนนิยมการเงิน(Financial Capitalism)ลง และทำให้บรรดานักเลือกตั้งอ่อนกำลังทุนลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทุนที่แวดล้อมพรรคไทยรักไทย ซึ่งยังมีกำลังทุนเข้มแข็งกว่าแล้วก็หลบจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้
๒) คือการปฏิรูปการเมืองที่แสดงออกโดยรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองเป็นการทับซ้อนกันของวาระปฏิรูปหลายชั้น และหนึ่งในนั้นคือ การปฏิรูปแบบอำนาจนิยม ดังที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก ชี้ว่า ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งกลุ่มทุนใหญ่ของไทยรู้สึกมาตลอดในช่วง ๑๐ ปีหลังพฤษภาทมิฬ คือรู้สึกว่านักเลือกตั้งกำลังปู้ยี่ปู้ยำทุนนิยมไทย ทำให้โลกาภิวัตน์ไม่ได้ ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะลดอำนาจลดพลังของนักเลือกตั้งทางการเมืองลง นี่เป็นวาระที่สอดคล้องกันในบางระดับกับกลุ่มขบวนการประชาชน/เอ็นจีโอ ทำให้ขบวนการธงเขียวปฏิรูปการเมืองมีพลังมากขึ้น
ทั้งหมดในนั้นถูกนิยามโจทย์โดยหมอประเวศ วะสี และกลุ่มคณะที่แวดล้อมว่า เพราะเราไม่มีนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง(Strong Prime Minister) มันเป็นระบบที่เปิดทุจริต-ปิดประสิทธิภาพ จึงต้องสร้างระบบที่เปิดประสิทธิภาพแล้วปิดทุจริต ขึ้นมาแทน
เนื่องจากนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาอ่อนแอเกินไป ไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปใดๆ ได้ เมื่อเทียบกับหัวหน้ามุ้งที่มานั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ต่อไปนี้ต้องทำให้หัวหน้าพรรคที่กลายเป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงกว่า โดยเปรียบเทียบกับบรรดาหัวหน้ามุ้งทั้งหลาย ดังนั้น วิธีการเปิดประสิทธิภาพ จึงถูกบัญญัติไว้ในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญ โดยให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีมากเลย ทำให้เห็นได้ว่ามันมีวาระของการปฏิรูปแบบอำนาจนิยมด้วย
เมื่อบวกเข้าด้วยกันกับสภาวะทุนไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเปิดช่องให้กลุ่มทุนใหญ่ที่หลงเหลือก้าวมากุมอำนาจรัฐ ในภาวะที่รัฐนั้นถูกจัดโครงสร้างใหม่ให้พร้อมจะเป็นอำนาจนิยม
ถ้าพูดอย่างหยาบๆ ที่สุด ระบอบทักษิณ เสมือนเป็นทายาทกลายพันธุ์ ของการปฏิรูปการเมืองตำรับหมอประเวศ วะสี ซึ่งจะเห็นอันนี้ได้ต้องมองอย่างเป็นองค์รวม ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ผลลัพธ์อันมิได้ตั้งใจนี้เป็นผลผลิตของหมอประเวศด้วยอย่างหนึ่ง หมอประเวศท่านคงคิดไม่ถึงว่า เมื่อสร้างภาวะการเมืองแบบนี้ขึ้นมาแล้วเกิดมีวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วกลุ่มทุนมีอำนาจเหลื่อมล้ำกันขนาดนี้ ท่านกำลังเปิดช่องให้คนที่กุมอำนาจการเงินสูงสุดเข้ามากุมอำนาจการเมืองสูงสุดด้วย โดยที่บรรดาเหล่าสถาบันที่สร้างขึ้นแบบเสรีนิยม เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้มาถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือเหล่าสถาบันที่เปิดช่องให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ตามแนวคิดปฏิรูปประชาธิปไตย มันถูกทำหมันได้ กล่าวคือ ชุด(package)ปฏิรูปการเมืองถูกถอดชิ้นส่วนออกแล้วโยนทิ้งหรือทำหมันไป ๒ ชิ้น (คือปฏิรูปเสรีนิยมกับปฏิรูปประชาธิปไตย) เหลือชิ้นเดียวที่ทำงานอย่างแรงมากคือ ชุดปฏิรูปอำนาจนิยม
๓) ตั้งแต่หลังพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ มา เราอาจประหลาดใจที่อดีตฝ่ายซ้ายหลายคนไปเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อนมิตรบางคนดูการทำงานของอดีตสหายในรัฐบาลแล้ว อาจรู้สึกผิดหวังและสะเทือนใจ แต่ผมคิดว่าเราเข้าใจอันนี้ใหม่ได้ ถ้าเรามองในระยะยาวว่าการเมืองไทยอาจจะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา แต่เป็นเรื่องของฝ่ายที่เอารัฐ(statist) กับฝ่ายไม่เอารัฐ(anti-statist) หรือจะเรียกว่าอนาธิปไตย(anarchist) ก็ได้
ถ้าเปลี่ยนมุมมองแบบนั้นการเปลี่ยนผ่าน(transition) ทำได้ไม่ยากเลย เพราะท่านเหล่านั้นก็คือคนที่เชื่อว่ามีอำนาจรัฐแล้วแก้ปัญหาได้มาตลอด แต่ก่อนเชื่อในวิธียึดอำนาจรัฐ ผ่านการต่อสู้ด้วยอาวุธ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วจะแก้ปัญหาชาติได้ ทุกวันนี้ มีเงิน+มีการเลือกตั้ง+มีพรรคไทยรักไทย ก็ได้อำนาจรัฐแล้วแก้ปัญหาของชาติได้เหมือนกัน ในแง่นี้ท่านมีความคงเส้นคงวาโดยตลอด คนอื่นต่างหากที่เปลี่ยนสีแปรธาตุไป
ดังนั้น จึงอาจวิเคราะห์ได้ว่า นอกจากเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและการปฏิรูปการเมืองแล้ว มันยังมีเรื่องของการโผล่ขึ้นมาใหม่หรือฟื้นชีพใหม่ของแนวโน้มรวมศูนย์อำนาจ-รัฐนิยม ที่ทวนกระแสการปฏิรูปเสรีนิยมและประชาธิปไตยหลังพฤษภาทมิฬ (the re-emergence or resumption of counter-reform centralist statist tendency) มีกลุ่มพลังทางการเมืองที่เชื่อในอำนาจรัฐรวมศูนย์ เชื่อว่าต้องใช้อำนาจรัฐและเป็นรัฐที่รวมศูนย์มันถึงแก้ปัญหาของชาติได้
ผมคิดว่าอันนี้เป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมระบบราชการในส่วนของกลไกความมั่นคงจึงพร้อมจะขานรับ และร่วมตอบสนองนโยบายของรัฐในเรื่องสงครามปราบยาเสพติด กับการปราบผู้มีอิทธิพลอย่างกระตือรือร้น
คำพูดของเจ้าหน้าที่ราชการบางท่านหลังเกิดเหตุปล้นอาวุธจากค่ายทหาร และเผาโรงเรียนในจังหวัดนราธิวาสตอนต้นปี จึงน่าสนใจมาก พอเกิดเหตุเขาก็รีบส่งกำลังลงไปหลายกองพัน ประกาศว่า "ตอนนี้อำนาจรัฐหายไป เราต้องทำให้อำนาจรัฐคืนมา"
มันสะท้อนวิธีคิดของเขาว่า อำนาจรัฐคืออะไร? ซึ่งก็คือการที่มีหน่วยงานความมั่นคง(security apparatus)อยู่ แล้วคุมไม่ให้มีการก่อความไม่สงบกระด้างกระเดื่อง(law and order) ล้วนๆ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของอำนาจ ที่ตั้งอยู่บนศรัทธาความไว้วางใจ และการยอมรับของประชาชน(popular consent)
ถ้าเราพูดถึงระบอบทักษิณในความหมายนี้ ทักษิณก็เป็นผู้ที่สามารถฉวยประโยชน์จากกระแสความเปลี่ยนแปลง ๓ อย่างนี้ได้อย่างชาญฉลาด ถึงแม้วันหนึ่งนายกฯทักษิณจะพ้นจากตำแหน่งไป แต่กระแส ๓ อันนี้ก็ยังคงอยู่ แล้วโครงสร้างที่คงอยู่เหล่านี้ ได้แก่
๑) รัฐธรรมนูยที่เปิดโอกาสให้เกิดอำนาจนิยมได้
๒) พลังแบบรวมศูนย์อำนาจรัฐและรัฐนิยมที่กลับคืนมา
และ ๓) สภาพของกำลังทุนที่ยังเหลื่อมล้ำกัน ก็ยังคงเปิดช่องให้ผู้นำที่พร้อมจะใช้อำนาจแบบทักษิณเกิดขึ้นได้อีก แม้เขาอาจจะไม่มีกึ๋น ไม่มีบุคลิกหรือสไตล์เฉพาะตัวแบบทักษิณก็ตาม
|