เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

นักเขียนรางวัลศรีบูรพา
ธีรยุทธ บุญมี - เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

สัจภูมิ ละออ /
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕๓๔๓ วันอาทิตย์ที่ ๔ พ.ค. ๒๕๔๖

 

          รางวัลศรีบูรพา ปี ๒๕๔๖ มีผู้ได้รับถึง ๒ คนด้วยกัน

          นั่นคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ ธีรยุทธ บุญมี ทั้งสองเป็นอดีตผู้นำนักศึกษา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแผ่นดิน มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุการณ์นั้นเริ่มจาก ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และมาถึงจุดแตกหักต้องเข้าป่าหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙

          ผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาทั้งสอง จะเข้ารับรางวัลในวันนักเขียนที่ ๕ พฤษภาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ เวลา ๑๔.๐๐ น. ท่ามกลางมิ่งมิตรในแวดวงนักเขียน

 

          เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในแวดวงวรรณกรรม ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นความเรียง อันร้อยมาจากเรื่องราว ประสบการณ์ชีวิตที่ผันผ่าน ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยชีวิต, เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง, เร่ร่อนหาปลา และ เพลงเอกภพ เป็นต้น ส่วนรวมเรื่องสั้นมี ฤดูกาล, ดอกไผ่, คนหาปลา และ คนกับเสือ

          ฝีมือการเขียนเรื่องสั้นและความเรียง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวได้ว่า เป็นที่ยอมรับของนักอ่านในวงกว้าง

          ทรรศนะเกี่ยวกับนักเขียน และงานเขียนของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยแสดงปาฐกถาในหัวข้อ นักเขียนไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ไว้อย่างน่าไตร่ตรอง

การก่อเกิดนักเขียนในสังคมไทย

          "การจะเขียนหนังสือถึงขั้นเลี้ยงชีพได้ และการอ่านหนังสืออย่างเอาจริงเอาจังของคนในสังคมไทย ตลอดจนถือว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางวัฒนธรรม จะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่นาน แล้วก็เติบโตมาพร้อมๆ ระบบการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งตัวระบบการศึกษาเองก็มีจุดอ่อน มีข้อบกพร่องสารพัด เพราะฉะนั้นอาชีพนักเขียนและวัฒนธรรมการอ่านหนังสือของบ้านเรา เมื่อนำมาใช้ในสิ่งแวดล้อมแบบไทยๆ ก็ประสบข้อเสียเปรียบอยู่บางประการ"

นักเขียน วรรณกรรม และการเสพ การซื้อ

          "โดยพื้นฐานแล้ว ผู้บริโภคสินค้าที่ทำจากตัวอักษร นอกจากมีกำลังเงินจะซื้อหนังสือก็อาจจะต้องมีพลังทางปัญญาบริโภคหนังสือได้อีกด้วย เพราะกลุ่มลูกค้าของนักเขียน ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ใฝ่รู้และต้องการความรู้จากการอ่าน ก็จะต้องเห็นว่า การอ่านเป็นความรื่นรมย์ของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของรสนิยมทางศิลปะ และเป็นส่วนหนึ่งของการสนองตรรกทั้งหมายทางจิตวิญญาณของตนเอง จากเงื่อนไขดังกล่าวจะเห็นแล้วว่า จำนวนคนอ่านหนังสือในประเทศไทยคงจะมีอยู่ไม่มาก โดยตัวของมันเองหนังสือเป็นอาหารที่ย่อยยาก ยิ่งพูดถึงกรณีของเมืองไทยแล้วยิ่งกลายเป็นสินค้าที่ขายหนักเข้าไปอีก พิมพ์หนังสือแต่ละครั้งสองสามพันเล่มต้องใช้เวลาขายกี่ปี ในประเทศที่มีประชากรถึง ๖๕ ล้านคน แล้วยังไม่มีหลักประกันด้วยซ้ำว่าจะขายหมดหรือไม่

          อาชีพนักเขียนจึงไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงอะไรนัก ถ้าจะกล่าวโดยทั่วไป แล้วตลาดหนังสือที่หยุดนิ่งตายตัวก็ไม่สามารถรองรับนักเขียนหน้าใหม่ได้โดยง่าย นักเขียนที่อยู่รอดด้วยการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวมีจำนวนนับหัวได้ บางทีอาจจะมีไม่ถึง ๑๐-๒๐ คน ที่เหลือเป็นได้แค่งานอดิเรก และเป็นอาชีพที่สอง หรือไม่ก็เป็นความฝันลมๆ แล้งๆ ที่โชยมาจากจอกสุรา หรือว่าควันบุหรี่"

สาเหตุที่วัฒนธรรมการอ่านอ่อนล้า

          "เพราะตั้งแต่แรกที่เราเริ่มปรับปรุงประเทศ เรารับหลักการศึกษาแบบฝรั่งเข้ามาใช้ในคนละวิญญาณกับต้นแบบ เราเรียนหนังสือแบบตะวันตก เพื่อจะสร้างข้าราชการสมัยใหม่มาทำงานกับระบอบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเพิ่งจะรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลาง แล้วระบอบนี้เน้นการบังคับบัญชา เน้นเทคนิคการบริหาร การทำงานมากกว่าจะแสวงหาทางปัญญาของปัจเจกบุคคล

          หรือในเวลาต่อมา เมื่อเราใช้แผนพัฒนาประเทศ ซึ่งเน้นไปที่การเรียนรู้เทคโนโลยีของฝรั่ง มากกว่าเข้าใจจิตวิญญาณที่มันให้กำเนิดการผลิตคิดสร้างเหล่านั้น เด็กไทยทั่วไทยก็จะอ่านหนังสือเฉพาะครูสั่งให้อ่าน และจริงๆ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้อ่านมากกว่านั้น และอาจจะมีความผิดด้วยถ้าอ่านมากกว่านั้น ความคิดอิสระในห้องเรียนไทย ถูกรีดทิ้งทันทีที่มันปฏิสนธิขึ้นมาในปัญญาของเด็กคนไหนก็ตาม เช่นเดียวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ต่างไปจากสูตรสำเร็จ หรือความรับรู้ของครูบาอาจารย์ ในบรรยากาศที่เป็นมาเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีนักเขียนไทยจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นมา แต่จำนวนผู้อ่านก็จำกัดอย่างยิ่ง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการเขียนหนังสือในสมัยแรกๆ ตัวนักเขียนเอง กลับจะต้องมุ่งเน้นไปกับการต่อสู้กับกรอบทางการเมืองและสังคม ที่จำกัดภูมิปัญญาของพวกเขามากกว่าอย่างอื่น และงานเขียนกลายเป็นการสร้างวิบากกรรมให้กับตัวผู้เขียนเสียมากกว่าจะเป็นอาชีพที่ชวนจูงใจ แม้จะชื่นชมคนอย่างศรีบูรพา นายผี หรือ อัศนี พลจันทร์ อิสรา อมันตกุล จิตร ภูมิศักดิ์ และอีกหลายท่าน แต่เราเป็นนักเขียนปัจจุบัน เราคงไม่อยากมีชะตากรรมแบบนั้น บ้าง ติดคุก ติดตะราง พลัดบ้านพลัดเมือง บ้างต้องไปเสียชีวิตในต่างประเทศ

          ประการต่อมา นอกจากการศึกษาที่ล้มเหลวแล้ว ตัวแปรที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อาชีพนักเขียนในประเทศไทยไม่เจริญรุดหน้าเท่าที่ควร ก็คือ การลดฐานะลงเรื่อยๆ ของศิลปะวรรณคดีในระบบทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ สภาพเช่นนี้จริงๆ แล้วเกิดขึ้นทั่วโลก แต่อาจจะกล่าวได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษอย่างประเทศที่การศึกษาล้มเหลวอย่างประเทศไทย

          ปัจจัยเช่นนี้ถือว่าเป็นปัจจัยซ้ำเติมนักเขียนอย่างรุนแรงที่สุด เพราะกลุ่มชนที่เริ่มปฏิเสธการอ่าน กลายเป็นกลุ่มชนที่มีอำนาจซื้อมากที่สุด เป็นพวกที่น่าจะได้อ่านมากที่สุด ถ้ามองจากความสามารถที่จะบริโภคที่จะมีกำลังซื้อ การพัฒนาประเภทที่รวมศูนย์อยู่ในสังคมเมืองทอดทิ้งชนบทมาเกือบ ๔๐ ปี ในด้านหนึ่งทำให้ชาวชนบทซึ่งเดิมไม่มีวัฒนธรรมการอ่านถูกกั้นไม่ให้เข้ามาสู่วัฒนธรรมการอ่าน หรือแม้หลุดเข้ามาอยากจะอ่านก็ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ ส่วนคนในเมืองที่มีรายได้สูงก็กลายเป็นผู้บริโภคสื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังสือมากขึ้นทุกที"

ความหวังและหนทางของอาชีพนักเขียน

          "แต่ถ้าเรามีงานที่มีคุณภาพสูงพอ เทียบระดับสากลด้วย ก็คือว่า งดงาม ลุ่มลึก มีสาระ มีพลังพอที่จะดึงผู้อ่านให้เจียดเวลาจากสื่ออื่นๆ กลับมาบริโภค ก็คิดว่า โอกาสไม่ได้ปิดเสียทีเดียว คำถามก็คือว่า อาชีพเขียนหนังสือในประเทศไทย เมื่อเผชิญข้อเสียเปรียบมากมายอย่างนี้ มันจะไปรอดหรือไม่ในขณะที่โลกกำลังเปรี่ยนรุดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนี้เข้ามาถึงปีสุดท้ายของปี ศตวรรษที่ ๒๐ แล้ว ปีหน้า ค.ศ.๒๐๐๑ ก็จะเป็นปีที่ ๑ ของศตวรรษที่ ๒๑ พูดตรงๆ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะตอบคำถามนี้ได้หรือไม่ แต่คิดว่ามันคงจะช่วยได้พอสมควร ถ้าเราจะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของศิลปะวรรณคดีกับยุคสมัยที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้น

นักเขียนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

          "เมื่อโลกเปลี่ยนเป็นสังคมสมัยใหม่ หรือฝรั่งเรียกว่า Modelity สปิริตของโลก หรือจิตวิญญาณของโลก ก็แปรเปลี่ยนจากสังคมที่เคยยึดเหนี่ยวกันเป็นองค์รวม ราวกับว่าสังคมเป็นองคาพยพชนิดหนึ่ง ก็ได้ถูกปฏิเสธถูกหักล้างลงไปโดยปรัชญาใหม่ ซึ่งเน้นการแยกตัวเป็นอิสระขององค์ประกอบต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่สถาบันการเมืองมาจนกระทั่งปัจเจกบุคคล อาณาจักรแยกออกจากศาสนจักร รัฐแยกออกจากสังคม กระทั่งคนมีสิทธิที่จะแยกออกจากชุมชนมาเป็นผู้มีอิสระในการใช้ชีวิตไม่ข้องแวะกับใคร ในยุคนี้คุณค่าที่ยึดถือกันมากที่สุด ก็คือว่า เสรีภาพและความเสมอภาค ทุกคนมีสิทธิเท่ากันที่จะเป็นเสรีชน ซึ่งอันนี้ทำให้การแสวงหาทางปัญญาของโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะวรรณคดีพลอยเติบโตขึ้นอย่างเสรีไปด้วย

          วงการศิลปะวรรณคดีก็มีทิศทางการเติบโตที่แยกออกจากศาสนาและอำนาจรัฐเช่นเดียวกัน นี่คือ ยุคที่รุ่งเรืองมากของศิลปิน น่าอิจฉาอย่างยิ่ง เพราะศิลปินก็ไม่ต้องเขียนรูปพระเจ้าสร้างโลกอีกต่อไปแล้ว เขียนได้ตั้งแต่รูปเด็ก คนแก่ หญิงเปลือย ชายเปลือย ไปจนกระทั่งรูปการต่อสู้ของประชาชน รูปของขบวนปฏิวัติที่ขัดแย้งกับผู้กุมอำนาจ ในด้านรูปแบบจิตรกรของฝรั่งพัฒนารูปแบบต่างๆ ขึ้นมา มีสำนัก มีสกุลเขียนรูปเกิดขึ้นหลายสกุล เรื่อยมาถึงรูปบิดๆ เบี้ยวๆ แบบปิคัสโซ

          ในด้านนักเขียน หรือศิลปินที่ใช้อักษรเป็นสื่อ ก็สามารถสร้างงานเขียนที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ทั้งในแง่ที่เป็นอาชีพและในแง่ความอาวุธทางปัญญา ที่หักล้างโลกเก่าที่คับแคบ เรื่องสั้น นิยายโตขึ้นมาในบริบทเช่นนี้ กลายเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่เฟื่องฟูมาก และกลายเป็นสินค้าคุณภาพในโลกที่ยังไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีภาพยนตร์ ไม่มีวิทยุ ยิ่งไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต นักเขียนที่เรายึดถือเป็นต้นแบบทางการทำงานวรรณกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิคเตอร์ ฮูโก บัลซัค โซลา ไปจนถึงตอลตอย ดอสโตเยฟสกี้ เฮมิงเวย์ ไสตน์เบ็ค ไม่มีวันเกิดขึ้นมาในบรรณพิภพได้เลย ถ้าเขาเกิดเร็วสัก ๒๐๐-๓๐๐ ปี เพราะว่าเงื่อนไขไม่อำนวย พูดกันตามความจริงยุคสมัยใหม่เป็นยุคที่ตะวันตกเริ่มส่งผลสะท้อนต่อโลกตะวันออก และต่อพวกเราในประเทศไทยอย่างหนักหน่วงที่สุด เพราะเกิดความต้องการที่จะเป็นอย่างพวกเขา ในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ หรือในทางวัฒนธรรม ทุกวันนี้พูดกันตามความจริงเราก็ยังยึดการผลิตเป็นต้นแบบในการทำงานของเขา จะทำได้มาตฐานหรือไม่ หรือเผชิญกับข้อเสียเปรียบแค่ไหน ยังไม่ต้องพูดถึงแต่เรายึดแบบเช่นนั้น

          ปัญหาก็มีอยู่ว่า ในขณะที่เราดิ้นรน หรือได้ดิ้นรนมา ๑๐๐ กว่าปีแล้ว ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสมัยใหม่ในทุกๆ มิติ ก็ปรากฏว่าโลกตะวันตกได้เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวัฒนธรรม ในเวลานี้จิตวิญญาณ หรือปรัชญาชีวิตของคนตะวันตกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ยกระดับลัทธิปัจเจกชนนิยมเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง ถึงขั้นไม่เชื่อว่าโลกนี้มีสิ่งที่ผิดที่ถูก ไม่เชื่อในพันธุ์ของบุคคลที่มีต่อส่วนรวม ไม่ว่าส่วนรวมนั้นจะหมายถึง ชาติ จะหมายถึง รัฐ และเห็นว่า สัจจะไม่มีจริงในโลกนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของทรรศนะและการตีความ เพราะฉะนั้นไม่มีใครที่จะมีสิทธิมาเอาผิดเอาถูกคนอื่น แนวคิดเช่นนี้เรียกว่า Post modernism

          ถ้ามองในแง่ดี แนวคิดแบบ Post modern ก็เป็นปฏิกิริยาโต้กับกรอบแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม วิถีชีวิตของเขา คล้ายๆ กับว่าโหยหาต่อสู้ในความเป็นคนของตัวเองคืนมา แต่ถ้าในส่วนที่เป็นด้านลบ แนวคิดที่ไม่เชื่อในการดำรงอยู่ของสัจจะ และเห็นปัจเจกบุคคลเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มันเท่ากับว่าตัดสายใยของมนุษย์ต่อมนุษย์ ออกจากกันจนหมดสิ้น ก็คือ ฉันผิดถูกอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวข้าพเจ้า แล้วแต่ว่าฉันจะคิดอย่างไร มันนำไปสู่สภาวะที่สิ้นไร้บรรทัดฐานคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรมในการทำงาน พูดง่ายๆ ก็คือว่า นำไปสู่ภาวะสิ้นไร้กติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้ามองในแง่ลบ แนวคิด Post modern เป็นสิ่งที่น่ากลัวและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะมันสามารถให้ความชอบธรรมทุนข้ามชาติ ซึ่งอยากเห็นประชากรในประเทศต่างๆ ตกเป็นเหยื่อของเขา

          Post modern เท่าที่สังเกตมา ด้านลบจะปรากฏค่อนข้างชัดเจน และเป็นการซ้ำเติมอาชีพนักเขียนให้ทรุดต่ำลงไปอีก ในปลายศตวรรษที่ ๒๐ และบนรอยต่อที่ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เพราะว่าลูกหลานของชนชั้นกลางไม่เพียงยึดติดในสื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังสือเท่านั้น เขายังไม่สามารถเชื่อมตัวเองเข้ากับสาระในหนังสือที่ผลิตขึ้นโดยนักเขียนได้ เนื้อหางานเขียนที่เป็นอยู่ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงก็ตาม พูดถึงที่สุดแล้วยังคงสะท้อนความพยายามที่จะพาสังคมไทยไปสู่สังคมสมัยใหม่ Modelity แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่ตามรายทาง อย่างงานเขียนของคำสิงห์ ศรีนอก จะสะท้อนชัดเลยว่า ความคิดที่เรียกว่า สมัยใหม่พอเข้าไปสู่ชนบทแล้วมันขัดแย้งกัน มันก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง"

นักเขียนยังมีความหวัง

          "นักเขียนในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง จริงๆ แล้วนักเขียนไม่ได้เป็นแค่นั้น เพื่อให้เข้าใจง่ายในกรอบวิเคราะห์ที่เราเคยชินในปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วนักเขียนเป็นมากกว่าคนค้าขายหลายเท่านัก

          และเมื่อไรก็ตาม เมื่อนักเขียนสามารถที่จะก้าวพ้นกรอบคิดแบบผู้ผลิตสินค้า พวกเขาก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบกับปัญญาชนกลุ่มอื่นๆ เป็นจิตวิญญาณของสังคม ถ้าในแง่นี้ อย่างไรก็ตาม นักเขียนไทยมีอนาคตที่รุ่งโรจน์"

 

 

          สำหรับภาพของ ธีรยุทธ บุญมี เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และศิลปินผู้ตวัดวาดภาพสีน้ำ พื้นฐานการอ่านนั้นเข้มข้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ธีรยุทธย้อนอดีตให้ฟังว่า เพื่อนบ้านคนหนึ่งเป็นคนรักการอ่านหนังสือ เห็นว่า เป็นเด็กอ่านหนังสือเมื่อย้ายบ้านก็ทิ้งหนังสือให้ ๑ ลัง จึงได้มารวมกับหนังสือในบ้านอีก ๑ ลัง หนังสือเหล่านั้นเป็นหนังสือประวัติศาตร์ พงศาวดาร ผลงานของ ลพบุรี และยังได้อ่านนวนิยายไทยอย่าง ร้อยป่าจากนิตยสาร

ที่สำคัญ ในลังหนังสือมี เฒ่าทะเล รวมอยู่ด้วย

          "อ่านแล้วก็สงสารตาแก่ แต่เรายังไม่เข้าในปรัชญาลึกซึ้งว่า คนเล็กๆ ไม่สามารถพิชิตธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่"

          ต่อมาได้อ่านสิทธารถะสมัยมัธยมปลาย บวกกับแรงพ่อสอนว่าให้ทำความดี เหมือนปิดทองหลังพระ ต่อมาเมื่อได้อ่าน พุทธรรม ทำให้เข้าใจ และได้เป็นหลักยึด ได้เป็นประโยชน์ ทางด้านวรรณกรรมได้สัมผัสงานเขียนรุ่นพี่ เสนีย์ เสาวพงศ์, อาจินต์ ปัญจพรรค์, 'รงค์ วงษ์สวรรค์, อุษณา เพลิงธรรม และเรื่องแปลของ อาษา ขอจิตต์เมต

          ด้วยความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ เมื่อเรียน ม.ศ.๔-๕ ก็เขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ส่งตามไปนิตยสาร วิทยาสาร, ชัยพฤกษ์ แต่การเข้ามาคลุกคลีกับนักคิด นักเขียน อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ, เสถียร จันทิมาธร คนอื่นๆ นั้นมาเจอกันแถวๆ สยามรัฐ

          ไฉนหักเหเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมือง นั่นเป็นคำถามที่หลายคนอย่างรู้ ประเด็นนี้ ธีรยุทธ นิ่งตรองก่อนบอกว่า "เพราะความไม่ยุติธรรมของชีวิต ไม่ใช่ทฤษฎีการเมือง ผมอ่านผลงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะเรื่องของเขาสะท้อนชีวิตความเป็นชาวบ้าน เสียดสี ประชดประชัน อ่านผลงานประวัติศาสตร์ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน เพราะผมเห็นว่ามีวิญญาณบางอย่างให้เรามองสังคมไทย ประวัติศาสตร์ไทย

          แต่พื้นฐานที่หันมาสนใจการเมือง คือ ความไม่ยุติธรรม ผมเป็นคนจน อยากอยู่คนเดียวเงียบๆ อย่างอยู่คนเดียว อาจจะเป็นวิถีคิดของคนจน ที่ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว กลัวผิดพลาด โดยพื้นฐานเราก็ระวังตัว ไม่กล้าแสดงความคิดอะไรออกมา จุดที่ต้องให้เราออกมา มันบีบคั้นทั้งชีวิตและวัตถุ ความคิด การแสดงออก ผมไม่ชอบอะไรที่มาซ้ำเติมชีวิตของตัวเอง ครอบครัวผมผ่านการช่วยเหลือตัวเองมาตลอด เราช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อผมเห็นความไม่เป็นธรรมผมก็รับไม่ได้

          จุดหักเหประการหนึ่ง คือ คนที่สอบได้ที่หนึ่งของประเทศ จะได้สอบทุนคิงส์ไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อผมไปสมัครเจ้าหน้าที่บอกว่าอายุเกิน ทั้งๆ ที่เข้าเรียนตามเกณฑ์ คนที่สอบได้ที่หนึ่งสมัยนั้นได้ลงหนังสือพิมพ์ เมื่อไม่ได้เข้าสอบจึงเป็นเรื่องแปลกมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร"

การตัดสินใจเข้าเรียนจุฬาฯ

          "เราจน จะทำอาชีพอะไรพอได้ จึงสอบเข้าวิศวะ มีเรียนฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่มีการประยุกต์ใช้เสียมาก เลยไม่ค่อยสนใจ จึงหันมาสนใจกิจกรรมเชิงวิชาการ ก่อนค่อยขยายมาสู่สังคม"

          เมื่อโดดเข้าทำกิจกรรม ช่วงนั้นกระแสการต่อต้านสงครามเวียดนามกำลังรุนแรง แต่ธีรยุทธคิดว่า คนกำลังหมดศรัทธาในการเมือง การทหาร จึงหันมาทำกิจกรรมเพื่อประชาชนในประเทศ นักศึกษาช่วงนั้น ธีรยุทธ บอกว่า "ตอนแรกๆ นักศึกษาถูกผลักไปสู่กิจกรรมไร้สาระ ไร้ความหมาย วิทยากร เชียงกูล จึงเขียน ฉันจึงมาหาความหมาย สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เขียน กูเป็นนิสิตนักศึกษา บทบาทตอนนั้น ก็คือ ดึงให้นักศึกษามาทำประโยชน์ให้กับสังคม เริ่มจากรณรงค์ใช้สินค้าไทย ต่อมาก็ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น สมัยนั้นเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษายังไม่มีใครสนใจ"

ช่วงเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ค่อนข้างสับสน สถานการณ์นั้นแท้จริงเป็นอย่างไร

          "มีคนมองว่า ผมขัดแย้งกับเสกสรรค์ พอได้รางวัลถึงกับมีคนบอกว่าดีใจที่สองคนได้รางวัลร่วมกัน จริงๆ แล้วผมไม่ได้ขัดแย้ง ผมเป็นเลขาศูนย์รุ่นที่ศูนย์มามีบทบาททางการเมืองคนแรก กิจกรรมที่เราทำอย่างเรื่องใช้สินค้าไทย ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร (นายทหารคนหนึ่งเอา ฮ.ไปล่าสัตว์) เราเจอการคุกคามจากผู้นำทหาร และวิธีการอันสกปรกต่างๆ เราประชุมกันแล้วว่าต้องปะทะ มาปะทะกันชัดๆ ในเรื่อง กฎหมายโบดำ เป็นกฎหมายออกมาเพื่อคุมศาล ช่วงนั้นเราคิดถึงเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว จนมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญวันที่ ๒๑-๒๒ มิถุนา

          ตอนนั้นผมพ้นตำแหน่งเลขาศูนย์แล้ว ตำแหน่งคร่อมกันพอดี ชุดหลังมีเสกสรรค์เป็นกรรมการศูนย์อยู่ด้วย เรามีการวางแผนกันว่าจะเรียกร้องรัฐธรรมนูญวันที่ ๒๔ มิถุนา พอดีเกิดเหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวรก่อน วันเรียกร้องคนมามากมาย ผมบอกว่าคนต้องกลับไปก่อน การเรียกร้องเอาชนะวันเดียวไม่ได้ แต่ก็มีคนเสนอให้ใช้ความรุนแรง ผมบอกไม่ได้ต้องใช้เวลา

          ผมพ้นตำแหน่งมาแล้ว เห็นว่า ศูนย์ไม่ได้ผูกติดกับคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาชน เหมือนกับว่าไม่รับผิดชอบต่อไป คนมาชุมนุมกันเป็นแสน จะไม่เรียกร้องรัฐธรรมนูญไม่ได้ ผมเลยตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญขึ้น มีนักศึกษา ประชาชน ศิลปิน นักร้อง มีคนทำงานด้านวัฒนธรรม นักวิชาการ เคลื่อนไหวจนถูกจับ ในขณะที่นักศึกษายื่นคำขาดเรื่องรัฐธรรมนูญ เดินขบวนกันวันที่ ๑๓ ตุลาคม เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผมออกมาวันนั้นเอง แต่ตัวเราเรื่องเล็ก ผมยังไม่รีบออกมา พอตอนค่ำๆ นักศึกษาออกมาแล้ว ช่วงนั้นมีการขัดแย้งกันระหว่างเสกสรรค์ กับ สมบัติ ธำรงค์ธัญญาวงศ์ เลขาศูนย์ (คนใหม่) เสกสรรค์ เป็นคนนำมวลชนเป็นแสนๆ เขาโจมตีกันไปโจมตีกันมา ผมออกจากคุกมาก็ตัดสินใจเดินฝ่าไป อยากจะให้คุยกัน ผมเดินฝ่าดงไม้ของช่างกลเป็นพันๆ เป็นฉากที่น่ากลัวที่สุดฉากหนึ่ง ช่วงนั้นนักศึกษารุ่นน้องเราเอาเครื่องกระจายเสียงไปโจมตีเขา เขาไม่เข้าใจมวลชน พูดง่ายๆ ก็อยู่ห่างมวลชน ผมฝ่าดงไม้เข้าไปสองสามรอบกว่าจะเข้าไปได้ นักศึกษาส่วนใหญ่ดีใจที่เห็นผม เสาวนีย์ (ลิมมานนท์) ก็ร้องไห้ เสกสรรค์นั่งอยู่บนหลังคารถ หมดแรง ผมบอกให้คุยกันให้รู้เรื่อง ให้เข้าใจกัน ผมก็เสียใจนะ ที่ติดอยู่กับข่าวเพี้ยนๆ ว่า ผมว่าเสกสรรค์ขัดแย้งกัน กล่าวหาว่าผมเป็นคนโจมตีเสกสรรค์"

          สำหรับเรื่องราวเหล่านี้ ธีรยุทธ บอกว่า "ผมสร้างศูนย์มากับมือ ผมไม่อยากวิจารณ์อะไร เรื่องราวผ่านมา ๓๐ ปี โอกาสครบอรอบ ๓๐ ปี เราอยากให้คนเข้าใจ ไม่อยากรื้อประเด็นขึ้นมาแต่อย่างใด"

นั่นเป็นเหตุการณ์ในอดีต
หันมามองการสร้างสรรค์ผลงานในปัจจุบันดีกว่า

          "ผมคิดว่าผมเป็นนักคิดมากกว่านักเขียน แน่นอนว่า นักคิดต้องเขียนหนังสือ เอาหนังสือเป็นสื่อบ้าง งานเขียนของผมเป็นเครื่องมือความคิด ความลึกซึ้งของความคิด เอางานเขียนเป็นเครื่องมือถ่ายทอดออกมา มีบางส่วนที่จะรู้สึกว่าถ้าจะทำงานเขียน ก็คือ ผลงานที่ทำให้ความคิด ชีวิต อารมณ์ความรู้สึก หรือประสบการณ์มันหลอมรวมเป็นหนึ่ง เป็นความงาม ชีวิตก็คือความหมาย การหาความหมาย งานเขียนก็คือความหมายชุดหนึ่ง ความหมายของงานเขียนผมรู้สึกว่าต้องทำให้สวย

          จากพื้นฐานจากความจน ผมไม่อยากสังสรรค์กับใคร อยากอยู่คนเดียว มีความสุขกับการอยู่คนเดียวมากกว่า ผมค่อนข้างเก็บความรู้สึกเป็นส่วนตัวมากกว่า รู้สึกว่ามันมีค่ากับผมเป็นการส่วนตัว เมื่อใดก็ตามที่ผมจะสื่อออกไป ผมจะรู้สึกว่า คนจนพูดอะไรออกไปจะฟังไม่ขึ้น มันถูกขนบ ประเพณี มารยาท ถ้าจะเป็นงานเขียนมันจะต้องเป็นการยกระดับประสบการณ์ ผัสสะ อารมณ์ของเราให้เป็นความงาม ความหมายที่มีคุณภาพ เราทำอยู่บ้างในบทกวี ปรัชญา แต่ยังน้อย ตอนนี้อ่านวิจารณ์มากๆ อาจจะเป็นทิศทางของผม งานทุกอย่างควรวิจารณ์ สร้างความหมายให้กับคน ผมว่าผมนั้นการหาความหมายไม่ต้องละ ชีวิตมีความหมายก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นตีความ การสร้างความหมายเป็นงานของเรา จะเขียนออกไป เขียนบทกวีออกไป วาดรูปออกไป งานที่ผมทำส่วนใหญ่เป็นงานวิจารณ์ เป็นงานขยายความหมายจากสิ่งที่เราเห็น ให้คนเข้าใจ ส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการ"

สำหรับงานสร้างสรรค์นอกเหนือจากงานวิชาการ

          "อย่างบทกวี ผมต้องใช้เวลา ผมไม่สามารถทำได้เป็นกิจวัตร ถ้าผ่านความผันผวนในช่วงของชีวิต บางอารมณ์ก็จะเขียนออกมาได้ บางทีปีกว่าจะเขียนได้สักชิ้นหนึ่ง ความเรียง-ส่วนใหญ่เกิดจากมีเรื่องกินใจบางอย่าง เก็บอารมณ์ความรู้สึกมาถ่ายทอด ส่วนวาดภาพนั้น อาศัยพื้นฐานตอนเด็กๆ ตอนเข้าป่าได้ของขวัญจากเพื่อนไป ๑ ชุด อยู่ในป่าปมทางความคิดมาก อย่างเช่น ทำไมเรามีความมุ่งมั่นที่ดี ทำไมมันไม่ขยับ มันไม่คืบหน้า ปัญหาคืออะไร ปัญหาการยึดคัมภีร์ ทฤษฎี และมีเพื่อนศิลปินด้วย ทั้งให้กำลังใจ และเทคนิคต่างๆ"

แล้วมองปัญหาสังคมวัฒนธรรมบ้านเราในปัจจุบันอย่างไร

          "ผมไม่ถึงกับสิ้นหวัง และหดหู่ใจมากเกินไป มันมีปัญหาแต่ไม่ควรกราดเกรี้ยวกับปัญหา ผมต่อต้านตะวันตกในเรื่องของความคิด ความรู้ ความถูกต้อง ความดี หรือคุณค่าสูงส่งที่ยึดถือ ตรงนี้มันซึมลึกมากกว่าสิ่งที่เป็นผิว สิ่งที่อยู่ตรงนี้ ผมว่าสักวันหนึ่งแมคโดนัลด์ก็จะแพ้อาหารไทย ตอนนี้ก็ต้องขายข้าวต้ม ขายโจ๊กตอนเช้าแล้วนี่ ในที่สุดก็ต้องแพ้อาหารไทย เมื่อเรามีทุน ฝีมือ รสชาติ ประสบการณ์จะไปยันกัน ผมไม่ต่อต้านตรงนี้

          แต่โจทย์ที่คิดว่าจะต้องทำ ก็คือ การสร้างความหมายให้กับวัฒนธรรมไทย ของสองสิ่ง วรรณกรรม ศิลปะ อดีต ประวัติศาสตร์ของไทย แต่ทั้งหมดมีจุดต้องระวังสองจุด คือ ความเป็นไทยก็เกิดจากการครอบความเป็นไทยลงในความหมายหลายของคนภาคต่างๆ กลุ่มต่างๆ แม้แต่คนภาคกลางก็มีอัตลักษณ์ต่างๆ กัน อย่างสุพรรณบุรี คุยกับวาณิช จรุงกิจอนันต์ แตะสุพรรณฯ วาณิชก็ต้องมาบอกว่าสุพรรณดีมาก ปลาม้าอร่อยมาก อย่างนี้เป็นต้น เราต้องเข้าใจความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกัน

          อันที่สอง ก็คือ ไม่มีอะไรเป็นของแท้ คือ ประเพณีประดิษฐ์สร้าง คนไม่เคยหยิบอดีตมาใช้ตรงๆ แต่หยิบมาดัดแปลงใหม่ ตีความใหม่ เอามาใช้ในเงื่อนไขใหม่เสมอ นักมนุษย์จะรู้ว่าประเพณีมีชีวิต เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์สร้างใหม่ตลอดเวลา โดยจากหลายส่วน จากรัฐ จากสังคม ประชาชน มันไม่ใช่ของแท้ เท่าที่จะให้เป็นไปได้ ก็คือ ทำให้เกิดความจริงแท้ที่น่าเคารพ มันไม่ถึงกับขาวกับดำ แต่เป็นเฉดสีที่ดูสวย"

          กับรางวัล ศรีบูรพา ที่ได้รับ ธีรยุทธ บอกว่า "แปลกใจมาก เรารู้สึกว่าไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นนักคิด ผมคิดว่าเอ..ศรีบูรพาเป็นนักเขียน แต่เมื่อเห็นคำอธิบายบอกว่าให้นักคิด นักเขียน ให้ในความสม่ำเสมอในการทำงาน ถือว่าเป็นหลักไมล์ รู้สึกเป็นเกียรติที่เขามอบให้ คิดว่าสิ่งที่เขาให้บอกให้เรารู้ว่าเรามาถูกทาง ก็ขอบคุณที่คณะกรรมการมอง ผมกับเสกสรรค์ก็มองกันมานาน เป็นเพื่อนกันมานาน เราก็ตั้งใจทำงาน จริงใจกับสิ่งที่ ศรีบูรพา ให้มาก่อน ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำต่างๆ ตรงนี้เราพูดได้"

          ธีรยุทธทิ้งท้ายว่า "ชีวิตผมมาถูกทาง" .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :