ปรับ 'กระบวนทัศน์' ทักษิณ หนทางดับไฟใต้ กองบรรณาธิการ ทีมข่าวการเมือง นสพ.ไทยโพสต์
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน และยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐบาลจะสามารถยุติปัญหาความรุนแรงลงได้ในเร็ววัน
บางคนประเมินว่าหากรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ถูกทิศทางความรุนแรงก็ยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น และอาจถึงขั้นที่เรียกว่า "มิคสัญญี" ขณะที่บางคนประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี จึงจะแก้ไขปัญหาให้เกิดความสงบได้
การที่นักวิชาการ ๑๖๐ คน จาก ๑๘ สถาบัน เข้าชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหาตัวผู้รับผิดชอบต่อกรณีการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ตากใบ จนมีผู้เสียชีวิตถึง ๘๕ คน ให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยใช้การเมืองนำหน้าในการแก้ไขความขัดแย้ง และให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบขั้นต่ำสุด คือการขอโทษประชาชนโดยเฉพาะชาวมุสลิมและญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต
ถือเป็นการเรียกร้องที่พอจะมีแสงสว่างขึ้นมาบ้าง ท่ามกลางความมืดมนหนทางในแก้ปัญหาของรัฐบาลในตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา เพราะผู้เรียกร้องซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เป็นปัญญาชนระดับนำของประเทศ แสดงความห่วงใยบ้านเมืองโดยเจตนาบริสุทธิ์ ปราศจากอคติทางการเมือง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีก็พลิกบท ขานรับโดยท่าทีที่สมานฉันท์ เปิดประตูทำเนียบรัฐบาลให้คณาจารย์เหล่านั้นเข้าพบแลกเปลี่ยนความเห็นในวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พ.ย.นี้
จึงเป็นที่น่าจับตาว่าเวทีดังกล่าวจะเป็นเวทีที่นายกฯ จะรับฟังข้อเสนอแนะจากนักวิชาการเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย หรือเวทีสร้างภาพทางการเมืองเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นที่ทราบกันดีบุคลิกของนายกรัฐมนตรีผู้นี้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้นก็เพราะความเชื่อมั่นตนเอง แต่ประเมินสถานการณ์ผิด จึงนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดอย่างต่อเนื่องตามมา
เริ่มตั้งแต่เชื่อว่าเป็น "โจรกระจอก" โดยเชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่บางคนว่ามีผู้ก่อการร้ายที่เป็นหัวโจกเพียง ๕๐ คน จึงมีเสียงบัญชาให้จัดการเดือนละ ๑๐ คน ไม่กี่เดือนก็จบแล้วเกิดการ "อุ้มฆ่า - ฆ่าตัดตอน" ในพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาด และความรุนแรงที่ขยายวงกว้างมากขึ้น
แต่แทนที่รัฐบาลจะตั้งหลักสรุปบทเรียนให้ถูกต้อง กลับเดินหลงทางเข้าสู่กับดักมากขึ้นเรื่อยๆ การกำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับสากลก็ขาดการพิจารณาอย่างรอบด้าน ส่งผลให้ล่องรอยความขัดแย้งบาดลึกลงไปอีก มาตรการ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน - บ้ามา ก็บ้าไป" ก็เป็นเชื้อไฟชั้นดีให้ไฟใต้ลุกโชนไม่มีวันหยุด และแทนที่จะขจัดเงื่อนไขความรุนแรงกลับสร้างเงื่อนไขมากขึ้นอีก
เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย. และกรณีล้อมปราบที่ "กรือเซะ" ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง ๑๐๘ คน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลิตผลทางนโยบายของรัฐ ส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจดังกล่าว แต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค. ที่ผ่านมามีการเสียชีวิตถึง ๘๕ คน โดย ๗๘ คน เสียชีวิตขณะขนย้ายนั้น นอกจากจะสะเทือนใจแล้วยัง "ช็อก" ความรู้สึกของผู้คนอย่างมาก และขณะนี้เริ่มมีข้อมูลว่ามีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์มากกว่าข้อมูลที่ทางการบอก รวมทั้งมีคนหายไปจำนวนหนึ่งด้วย
ที่สำคัญในจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ถูกจับกุมจำนวน ๑,๒๙๘ คน นั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมผู้ก่อการจำนวนหนึ่ง แต่กลับไปกวาดประชาชนในละแวกนั้นมานับพันคน และชนวนเหตุที่ตากใบก็แตกต่างจากเหตุการณ์ ๒๘ เม.ย. ที่เป็นการปฏิบัติการลักษณะก่อการร้าย แต่ที่ตากใบ ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ ชรบ. ๖ คนที่ถูกจับกุม แล้วประชาชนถูกจับกุม-เข่นฆ่าอย่างทารุน
จุดนี้เองจะเป็นการเพิ่มความรู้สึกคับแค้นให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตทุกคนถูกฝังแบบไม่อาบน้ำศพ ตามความเชื่อว่าผู้ตายได้ทำ "ชะฮีด" หรือ การยอมพลีชีพของตนในการต่อสู้ เพื่อรักษาศรัทธาและสัจธรรมแห่งอิสลาม และ "การญิฮาด" หรือ การปกป้องศาสนาของอัลลอฮ์ และต้องจบชีวิตจากการต่อสู้ผู้นั้นจะได้รับเกียรติให้เข้าสู่สวรรค์
โดยชาวมุสลิมเข้าใจว่าการตายเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแม้จะยอมให้ผู้ปกครองต่างศาสนาปกครองตนได้ แต่จะไม่ยอมอยู่ใต้ปกครองที่ "อธรรม"
โศกนาฏกรรมที่ตากใบและที่กรือเซะ การอุ้มฆ่า-ฆ่าตัดตอน รวมทั้งการคุกคามวิถีชีวิตวัฒนธรรมอิสลามของรัฐไทยที่มีมานานนับศตวรรษ ตอกย้ำว่าชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกกระทำจากผู้ปกครองที่ "อธรรม" อย่างชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ความคับแค้นที่ฝังอยู่ในความรู้สึกเช่นนี้ยากที่จะขจัดออกไปได้ แนวทาง "ตายสิบเกิดแสน" พิสูจน์ให้เห็นชัดเจน
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้คิดเรื่องแบ่งแยกดินแดน เพราะเขาพึงพอใจกับการดำเนินชีวิตใน "สังคมที่มีความยืดหยุ่น" อย่างสังคมไทย หากไม่มีใครมาคุกคาม-กดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐ และการถูกคุกคามทางนโยบาย แต่มีเพียงคนเล็กน้อยเท่านั้นที่ยังเชื่อเรื่องดังกล่าว จากโศกนาฏกรรมซ้ำซากในยุคนี้ ทำให้ประชาชนที่รู้สึกคับแค้นในจิตใจ ต้องหันกลับไปแสวงหาหนทางต่อสู้ที่จำเป็นต้องเลือก ขณะที่คนพื้นที่ส่วนหนึ่งเชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีปัจจัยภายนอกแทรกซ้อนฉกฉวยสถานการณ์ด้วย
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำประเทศพยายามอ้าง ว่า มีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องล้มตายตกเป็นเหยื่อของขบวนการก่อการร้าย จึงต้องตอบโต้กลับเช่นกันนั้น หากมองในมุมกลับ ผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นแท้ที่จริงแล้ว เขาตกเป็นเหยื่อของความผิดพลาดทางนโยบายของรัฐมากกว่า หากผู้นำประเทศดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง จะเกิดความรุนแรงและมีผู้คนล้มตายมากมายเช่นนี้หรือ?
การที่นายกรัฐมนตรี สบถคำว่า "แม่ง!" กลางที่ประชุมครม. เนื่องจากไม่พอใจการจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยที่ล่าช้า โดยกล่าวอย่างมีอารมณ์ ว่า "ปัญหาภาคใต้อยู่ในภาวะที่ปกติเสียที่ไหน มันไม่ปกติ ใจผมอยากไปปักหลักอยู่ในพื้นที่สัก ๓ เดือน แม่ง เอาให้รู้ไปเลยว่าใครจะแยกดินแดน ถ้าไม่ติดเลือกตั้งผมจะไปอยู่เอง เฝ้าดูให้รู้เรื่องไปเลย ระบบราชการเป็นอุปสรรคในหลายเรื่อง ทำให้ประเทศล้าหลังตายห่า ประเทศไม่ไปไหนเลย"
ประโยคดังกล่าวบ่งบอกถึงความผิดพลาด-ล้มเหลว และสะท้อนให้เห็น "กระบวนทัศน์" ของผู้นำประเทศ ได้หลายประการ ประเด็นแรก คือ แสดงว่านายกฯ ยังไม่รู้เลยว่าใครกำลังคิดแบ่งแยกดินแดน สอง ระบบราชการเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา สาม นายกฯ ติดงานเลือกตั้งจึงไม่มีเวลาลงไปดูแลปัญหาในพื้นที่
คำถามก็คือว่า ๑.นายกฯ ยังไม่รู้เลยหรือว่าใครคิดแบ่งแยกดินแดน ก็ไหนว่ารู้หมดแล้ว? ๒.รัฐบาลเพิ่งฉลองครบรอบ ๒ ปี ของการปฏิรูประบบราชการไปหยกๆ เมื่อ ๒ ต.ค. แสดงว่าการปฏิรูประบบราชการล้มเหลว-ไร้ทิศทางอย่างที่นักวิชาการเคยท้วงติง และ ๓.การอ้างว่าติดงานเลือกตั้งแสดงว่านายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องบ้านเมือง ก็ไหนเคยบอกว่า ตนเองคิดแต่เรื่องบ้านเมืองไม่คิดเรื่องการเมือง?
"ปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต" วลีของนายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการเสียงข้างน้อย ที่เขียนคำวินิจฉัยในคดี "ซุกหุ้น" น่าจะสะท้อนถึงเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
หากจะย้อนถึงอดีตของผู้นำประเทศคนปัจจุบัน เขาเติบโตมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่บ่มเพาะให้รู้จักแต่การใช้ "อำนาจ" เป็นหลัก แล้วมาทำธุรกิจส่วนตัวประสบความสำเร็จจากการได้รับสัมปทานผูกขาดของรัฐ ที่มีข้อครหามากมายถึงการได้มาซึ่งสัมปทานเหล่านั้น การประกอบธุรกิจก็มีข้อกล่าวหาถึงความไม่โปร่งใสเอาเปรียบนักลงทุนด้วยกัน จนเกิดดี "ซุกหุ้น" อันโด่งดัง บางคนเคยวิเคราะห์ว่าประเภทของธุรกิจของท่านผู้นำ ไม่ใช่การผลิตสินค้าที่มีแบรนด์ของตัวเองแล้วลงสู่สนามแข่งขันเหมือนอย่างสินค้าทั่วไป
แต่เป็นธุรกิจผูดขาดตัดตอนที่อาศัยความได้เปรียบในตัวสินค้า ประกอบกิจการเอาเปรียบผู้บริโภคตามธรรมชาติของทุนนิยมผูกขาด จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึง "กระบวนทัศน์" ของท่านผู้นำอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ "กระบวนทัศน์" หมายถึง ความคิด หรือทัศนะพื้นฐานในการมองโลก ที่เป็นต้นตอบ่อเกิดของความคิดหรือทัศนะอื่นๆ
๓ ปีที่ผ่านมา สังคมไทยจึงได้เห็นความคิดหรือทัศนะใหม่ๆ ของผู้นำฯ หลั่งไหลออกมามากมาย และก่อเกิดนโยบายใหม่ๆ มากมายเช่นกัน แต่หากคนในสังคมไม่พิจารณานโยบายต่างๆ อย่างรอบคอบก็จะมีความเชื่อ ความหวัง ว่าผู้นำประเทศกำลังพาสังคมไปสู่เป้าหมายที่ศิวิไลซ์ในเร็ววันแต่หารู้ไม่ว่า นโยบายต่างๆ เหล่านั้นล้วนเป็นผลิตผลของ "กระบวนทัศน์" ที่ฉาบฉวย ขาดความละเอียดอ่อน ไม่เข้าใจในมิติต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะด้านสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เป็นต้น
ในที่สุดก็จะส่งผลต่อกระทบสังคมในระยะยาวต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการแก้ปัญหาความยากจน การปราบปรามยาเสพติดด้วยการฆ่าตัดตอน การบูมตลาดหุ้น การปฏิรูประบบราชการฯลฯ เหล่านี้ กำลังออกอาการในทางตรงกันข้ามกับที่โฆษณาชวนเชื่อ และกำลังส่งผลข้างเคียงตามมามากมาย เพราะผู้นำเชื่อมั่นว่าการบริหารประเทศ มันง่ายเหมือนการบริหารบริษัทของตนเอง เมื่อมีเสียงทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์จึงไม่ยอมรับฟัง และดูถูกดูแคลนความเห็นต่างเสมอ
ดังนั้นเวทีการพบปะกับนักวิชาการ จึงน่าเป็นห่วงว่านายกรัฐมนตรีจะรับฟังข้อเสนอแนะแค่ไหน อย่างที่ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ระบุว่า "ใครคนใดคนหนึ่งที่มีโปรแกรมอยู่ในสมองแล้ว เปลี่ยนแปลงได้ยาก"
ในทางกลับกันก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ชาวมุสลิมพื้นที่ก็มี "โปรแกรม" อยู่ในสมองเช่นกัน โดยเฉพาะโปรมแกรมใหม่ๆ ที่เกิดจากความผิดพลาดทางนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งก็ถูกเมมโมรี่ใส่เข้าไปทุกวัน ก็จะเปลี่ยนแปลงยากเช่นกัน!
อย่างไรก็ดียังมีหนทางที่นักวิชาการและหลายๆ ฝ่ายรวมทั้ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ลงไปทำประชาคมในพื้นที่ และได้ข้อสรุปเสนอต่อนายกฯ ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ ๒๘ เม.ย. แล้วว่าให้ยึดแนวทาง "สันติวิธี" เป็นทางออกสุดท้ายในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
พื้นฐานของ "สันติวิธี" คือ การให้ความรัก ความเมตตาปราณี และสัจธรรม สันติวิธี คือ วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อคู่กรณี คือการเผชิญหน้าความขัดแย้ง มิใช่การยอมจำนนอย่างที่เข้าใจ และยังเชื่อว่าสันติวิธีสามารถลดทอนพลังของผู้มี "อำนาจ" โดยไม่ต้องใช้อาวุธ และสามารถเพิ่มอำนาจให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ใช้สันติวิธี
"อำนาจ" คือความสามารถในการบรรลุวัตถุประสงค์หนึ่งๆ ผู้มีอำนาจสามารถทำให้คนอื่นๆทำตามที่เขาต้องการ คือ การยอมรับ ศรัทธา ยินยอมเชื่อฟังและพร้อมให้ความร่วมมือ ดังนั้น "อำนาจ" ภายใต้นิยามดังกล่าว หากนำมาอธิบายสภาพปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ย่อมบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า รัฐไทยและนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีอำนาจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง
"สันติวิธี" จึงเป็นแนวทางที่นายกฯ และรัฐบาลไทย ต้องตระหนักและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะการใช้ความรุนแรงโดยกำลังการรบในรูปแบบไม่สามารถเอาชนะการรบนอกรูปแบบได้ ความชอบธรรมทางการเมืองจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะ
แน่นอนคำว่า "ขอโทษ" อย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนโยบายไปสู่สันติวิธี แต่หมายถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และเปลี่ยนแปลงทางนโยบายขนานใหญ่ของรัฐไทย ทั้งด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ต้องส่ง "สัญญาณสันติวิธี" ลงไปสู่กลไกทุกระดับของสังคมอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง เพื่อเรียกการยอมรับ การยินยอมเชื่อฟัง และการให้ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ คืนมา แต่หากมัวหลงในภาพลวงตากับกระแสแห่งความสะใจในความเด็ดขาดของการแก้ปัญหา ก็ยิ่งจะถลำลึกสู่วังวนของ "อวิชา" และ "มายาคติ" หนักเข้าไปอีก
อย่าลืมว่าที่นี่ "ประเทศไทย" ไม่มีใครทนเห็นความล้มเหลวต่อการแก้ปัญหาเช่นนี้ได้อีกต่อไป...
|