โศกนาฏกรรมที่ตากใบ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ อันนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ประท้วง ๘๕ คน ที่เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหา ๖ คนที่ถูกข้อกล่าวหาว่านำเอาปืนที่รัฐมอบให้ป้องกันหมู่บ้านไปให้ผู้ก่อความไม่สงบนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนครบรอบ ๑๕ วันของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฏอน (นิสฟู เราะมะฏอน) อันเป็นเดือนสำคัญของชาวมุสลิม (ที่เน้นการหยุดพลังทางร่างกายเพื่อเพิ่มพลังทางจิตใจ) เพียงเล็กน้อย
ความตายที่เศร้าสลดอันเนื่องมาจากการขาดอากาศหายใจ หลังจากผู้ประท้วงถูกนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในสภาพที่แออัดยัดเยียดซ้อนกันหลายชั้น วิธีการขนส่งดังกล่าวได้รับการตำหนิจากประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและขาดความเมตตา
ที่ผ่านมาในเหตุการณ์ที่ผู้ก่อความไม่สงบกระทำต่อเจ้าหน้าที่ และถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามจนเสียชีวิตในมัสญิดกรือเซะทั้งหมด ๓๒ คนนั้น ได้รับความสนใจติดตามจากนานาประเทศอยู่ไม่น้อย แต่เหตุการณ์ที่ตากใบกลับได้รับความสนใจจากนานาชาติมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ ประเทศมุสลิม ผู้นำมุสลิมและกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน
แต่การประท้วงที่เห็นเด่นชัดที่สุดนั้นมาจากเพื่อนบ้านมุสลิมของไทยคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย
เป็นที่น่าสังเกตว่าในเหตุการณ์บุกเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๑๐๘ คนนั้นได้เกิดความรุนแรงหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่กรงปีนัง สะบ้าย้อย บ้านเนียง ฯลฯ แต่คนมาติดใจเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะมากกว่า เช่นเดียวกันในกรณีของตากใบ คนทั่วไปไม่ค่อยติดใจการสลายม็อบ ที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไป ๖ คน (ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องน่าติดตาม) แต่ติดใจการขนส่งม็อบไปค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานีมากกว่า
มาเลเซียเองเรียกความตายจากการขนส่งนี้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
การประท้วงต่อเหตุการณ์ในตากใบ เริ่มจาก นางหลุยส์ อาร์บูร์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนถึงการเสียชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ โดยเน้นให้มีการสอบสวนที่โปร่งใส และรวดเร็ว ทั้งนี้ จะต้องมีหลักประกันว่าจะมีการดำเนินคดีอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมต่อผู้ถูกควบคุมตัวทุกคน
พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานที่มีต่อภาคใต้ของไทยว่ามีการจับกุมโดยพลการ รวมทั้งการหายตัวอย่างไร้ร่องรอยของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะเหตุรุนแรงในภาคใต้ของไทย
ในขณะที่มหาธีร์ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเคยครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง ๒๐ ปีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ อุตุซัน ในวันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคมที่ผ่านมาว่าไทยควรพิจารณาเรื่องเขตปกครองพิเศษขึ้นใน ๓ จังหวัดภาคใต้ พร้อมกับเปรียบความไม่สงบในภาคใต้ว่าเป็นเหมือนชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการดินแดนของตน
กระนั้นก็ตาม มหาธีร์ได้พูดต่อไปว่าการตั้งเขตปกครองดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องง่าย พร้อมกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีของไทยว่าเป็นผู้มีความอดทนสูง ยอมรับฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พร้อมปิดท้ายคำให้สัมภาษณ์ของเขาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคงไม่ต่างไปจากปัญหาของชาวปาเลสไตน์
นั่นคือ หากแก้ไขได้ระยะแรกๆ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากให้ผู้นำทหารจากท้องถิ่นอื่นมาดูแลก็จะเป็นเรื่องยากลำบากในที่สุด
ในขณะที่หนังสือพิมพ์ชั้นนำของมาเลเซีย อย่าง The Star กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ตากใบว่า เป็นเรื่องแน่นอนที่จะต้องไม่มีการประนีประนอมกับการกบฏที่รุนแรงและการรบกวนความสงบ อาชญากรรมหรือผู้ต้องสงสัยอื่นๆ ที่จะต้องมีการจับกุมให้เป็นไปตามขั้นตอนและการลงโทษหากพบว่ามีความผิด แต่กองกำลังรักษาความปลอดภัยก็ไม่ควรทำเกินเลยไป ด้วยการปลุกเร้าให้มีการตอบโต้ความรุนแรง ตำรวจและทหาร จะต้องได้รับการฝึกฝนดีกว่าคนหนุ่มในท้องถิ่น
ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงจะต้องปฏิบัติการอย่างยุติธรรมอยู่เสมอ และเข้าทำหน้าที่ตามกฎหมาย
ความตายและการบาดเจ็บที่นราธิวาส เป็นเรื่องที่น่าเสียใจด้วยเหตุผลหลายประการ มีรายงานที่เสนอแนะว่าทหารทำเกินเหตุ ซึ่งหมายความว่าการนองเลือดหลีกเลี่ยงได้ และเวลานี้ดูเหมือนจะปลุกเร้าการลุกขึ้นสู้ในหมู่คนที่อยู่ในท้องถิ่นขึ้นมา
ในเวลาเดียวกันวัฏจักรความรุนแรงที่ไม่จำเป็น ยังคงดำรงต่อไปโดยไม่มีเครื่องหมายของการแก้ปัญหาจากกรุงเทพฯ ความไม่พอใจที่เดือดพล่านอยู่ในภาคใต้ของไทยไม่อาจกล่าวถึงอย่างขาดจิตสำนึกได้ หากแต่ต้องมีการวางนโยบายที่ให้แสงสว่างที่ได้รับมาจากความจริงในท้องถิ่น
เพียงแค่หกเดือนที่ผ่านมา กองกำลังของไทยได้เข้าถล่มมัสญิดกรือเซะแห่งศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งคาดหมายว่าเป็นการปราบปรามผู้สร้างปัญหา เป็นอีกท่าทีหนึ่งของความไม่จำเป็นที่จะใช้ท่าทีเช่นนั้น ซึ่งเพิ่มเข้าไปในแรงปรารถนาที่ป่วยไข้ และทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับความรังเกียจ
ในโอกาสนั้น รองนายกฯ ได้มาเยือนภาคใต้เพื่อมาดูสถานการณ์โดยตรง เขาพบว่าความอึดอัดของท้องถิ่นมาจาก การละเลยของเจ้าหน้าที่ ความบีบคั้น การรังแกและการคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
กระนั้นก็ตาม นับแต่นั้นมา รูปแบบของการลงโทษที่คาดหมายไว้จากกรุงเทพฯ ก็มิได้เกิดขึ้น
มาเลเซียมีทุกสิทธิที่จะห่วงใยในสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในภาคใต้ของไทย อัตลักษณ์ของมุสลิมนั้นมีลักษณะร่วม มีที่ตั้งที่ชิดใกล้อย่างมากต่อมาเลเซียและสายสัมพันธ์ของครอบครัวก็ก่อตัวขึ้นข้ามเขตแดน มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาที่ความรุนแรง อารมณ์หรือผู้ลี้ภัยจะทะลักออกมา ในเวลาเดียวกันเหตุการณ์ที่เป็นแผลกลัดหนองสามารถดึงดูดผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิม ให้เอนเอียงไปสู่หายนะของการระบายความโกรธแค้นอันยิ่งใหญ่ได้
The Star กล่าวเอาไว้ในที่สุดว่า ประเด็นทั้งหมดของการมีระบบประชาธิปไตยของพลเรือน แทนที่เผด็จการทหารนั้น มิได้อยู่ที่การใช้กำลังอย่างไร้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด แต่ที่เห็นได้จากตากใบในนราธิวาส ประเทศไทยยังคงต้องเข้าใจแก่นแท้ของมันอยู่ต่อไป
ในขณะที่ชาวมาเลเซียนับพันคนจากพรรค PAS ได้ทำการประท้วง เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ ที่ผ่านมา สำหรับความตายของชาวมุสลิมที่ถูกควบคุมตัวในภาคใต้ของไทย ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรง ที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ การประท้วงของชาวมาเลเซียจบลงด้วยการขอให้มุสลิมในภาคใต้ของไทย มีความเข้มแข็งเพื่อที่จะสู้กับความรุนแรงต่อไป
การประท้วงในแบบเดียวกันมีขึ้นหลังการละหมาดวันศุกร์ ที่กงสุลไทย ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกลันตัน ซึ่งมีชายแดนติดกับไทย นอกจากนั้นการประท้วงยังมีขึ้นที่กงสุลไทยในกรุงปีนังอีกด้วย
ส่วนหนังสือพิมพ์ Jarkarta Post ก็ได้กล่าวถึงวิกฤตตากใบเช่นกันว่า ความจริงของเรื่องก็คือ คนจำนวนมากเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นในการดูแลของเจ้าหน้าที่ไทย และเหตุการณ์มีแต่จะเป็นเชื้อเพลิงต่อไปให้เกิดความไม่สงบในภาคใต้ของไทย จนถึงขั้นที่จะเป็นจุดเดือดที่วิกฤตได้
ความผิดพลาดของมนุษย์หรือการละเลย ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของการสอบสวน ในเรื่องนี้ การอ้างว่าเป็นเพราะเดือนเราะมะฎอน เพราะเป็นวันหยุดหรือเพราะอากาศนั้นเป็นได้แค่เพียงความเหลวไหลเท่านั้น
ในทุกกรณี ผู้ประท้วงซึ่งกำลังถูกคุมตัวอยู่ มิได้มีการกระทำอย่างใดที่จะมาทำอันตรายใดๆ ให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สังเกตการณ์อยู่ หรือจะหาเหตุผลที่จะใช้มาตรการที่แตกหักใดๆ อันจะเป็นผลให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมากได้ ผู้ถูกคุมขัง ไม่ว่าจะเป็นเวลาแห่งความสงบหรือความขัดแย้งย่อมมีสิทธิ ด้วยเหตุนี้ชาติที่เจริญแล้วจึงใช้กระบวนการทางกฎหมาย
เป็นเวลาหลายปีที่ชาวอินโดนีเซีย ได้มองดูประเทศไทยพร้อมๆ ไปกับฟิลิปปินส์ว่าเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เข้าถึงประชาธิปไตยอย่างถูกต้องในบรรยากาศ ของการแสดงออกอย่างอิสระที่ประสบความสำเร็จ
เรามั่นใจว่าประเทศไทยจะแก้ปัญหาโศกนาฏกรรมนี้ด้วยแบบอย่างที่โปร่งใส เป็นสังคมของความเป็นประชาธิปไตย และมีความหวังว่าในสังคมดังกล่าว การสนองตอบต่อปฏิกิริยาที่เป็นไปได้จากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เติบโตขึ้นในประเทศไทย จะมิได้เป็นหนึ่งในการใช้กำปั้นเหล็ก
อินโดนีเซียได้เรียนรู้จากผู้ก่อความไม่สงบในอาเจะห์ (Aceh) และปาปัว (Papua) กระนั้นก็ตาม รัฐบาลของเราก็มิได้ใช้ความรุนแรงที่อำมหิตเพียงเพื่อจะก่อให้เกิดความรุนแรง อาวุธอันเข้มแข็งของทหารไทยอาจได้ชัยชนะ แต่ด้วยจิตใจและความคิดเท่านั้นที่พวกเขาจะเอาชนะสงครามดังกล่าวได้
ในขณะที่หนังสือพิมพ์ Republica ของอินโดนีเซียเช่นกัน เรียกการดูแลผู้ถูกคุมขังว่าเป็นความป่าเถื่อนที่น่าประณาม และเป็นอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ ในทรรศนะของ Republica ชุมชนนานาชาติควรจะประณามปฏิบัติการของกองกำลังรักษาความปลอดภัยของไทย และเรียกร้องความโปร่งใสจากรัฐบาลไทย ในขณะที่หนังสือพิมพ์ Kompas ตำหนิกองกำลังรักษาความปลอดภัยว่าเบาปัญญาสำหรับความตาย ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นความน่าละอายใจ
โดย Kompas กล่าวว่า ความตายของคนจำนวนมากเมื่อวันพฤหัสบดี รังแต่จะขยายตัวไปในทิศทางที่ซับซ้อนมากขึ้น
หะซัน วิรายดา รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย แสดงความหวังว่า เหตุการณ์จะไม่กระทบสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของอาเซียน เขากล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเพื่อนบ้านของไทยอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่จะแปลกใจกับเหตุการณ์ ดังนั้น จึงเข้าร่วมในการเรียกร้องให้มีการจัดการกับปัญหาในภาคใต้ของไทยอย่างดี
มาร์ตี้ เนดาเลกาวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวว่า กรุงเทพฯ จะต้องเปิดเผยประเด็นนี้และสอบสวนทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรงทางใต้ ซึ่งมีมุสลิมอยู่จำนวนมาก
เขากล่าวต่อไปว่า ด้วยการใช้กฎหมาย ด้วยความยุติธรรมในสังคม และหลักการสิทธิมนุษยชน หวังว่าความรุนแรงที่ขยายตัวและความตึงเครียดทางภาคใต้ของไทยจะกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
บางทีการรับรู้อารมณ์ของเพื่อนบ้านมุสลิมต่อโศกนาฏกรรมแห่งเดือนเราะมะฏอน และโศกนาฏกรรมที่ตากใบจะทำให้เราหันมามองตัวของเราเองได้ชัดเจนมากขึ้น
และหาทางมิให้เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาอีกในอนาคต...