บทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐต่อพระพุทธศาสนา
กรณีการยุบรวมสำนักงานพุทธฯ กับกรมการศาสนา
โดย พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต)
กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๖๗๙ หน้า ๗
มีข่าวว่าคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งมีท่านรองนายกฯวิษณุ เครืองาม เป็นประธานในที่ประชุม ว่าได้ตกลงยุบรวม (งาน) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกรมการศาสนา (ศน.) เข้าด้วยกัน โดยจัดแบ่งงานกันให้ พศ.ดูแลงานเกี่ยวกับบุคลากรของสงฆ์ ศาสนสถาน และศาสนวัตถุของพระพุทธศาสนา แล้วให้ย้ายสังกัดไปอยู่ในกำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (ในสำนวนว่าในกำกับของ รมว.ท่านใดท่านหนึ่ง) ส่วนกรมการศาสนานั้นคงอยู่ที่เดิม ให้ดูแลงานเผยแผ่ งานศาสนพิธีของทุกศาสนา และเพิ่มกองศาสนสัมพันธ์ขึ้นอีก ๑ กอง
รายละเอียดของข่าวมีเพียงนี้ เลยไม่ทราบว่าเรื่องการศึกษาสงฆ์ เรื่องศาสนสมบัติ ฯลฯ ยังยืนยันอยู่กับ พศ. หรือมีการแบ่งสันปันส่วนกันต่อไปอีก
ความจริงข่าวเรื่องการยุบๆ พองๆ ของหน่วยสองหน่วยงานนี้ ผู้เขียนก็ได้สดับตรับฟังมาโดยตลอด นัยว่าเพราะคนในหน่วยงานทั้งสองนี้มีปัญหาเรื่องาน กำลังคน และการแบ่งงบประมาณกันมานาน
เล่ากันขนาดว่า ตั้งแต่ตอนแยกกันใหม่ๆ แม้การเข้าห้องน้ำก็ยังเป็นปัญหา ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นเคยอยู่ด้วยกันมาดีๆ นับเป็นสิบๆ ร้อยๆ ปีแท้ๆ
เรื่องอย่างนี้อาจจะมีมูลความจริงอยู่บ้าง เพราะเคยได้ยินข่าวมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงกันระหว่างหัวหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานทั้งสองนี้ คล้ายๆ กับหน่วยงานของรัฐบาลสองประเทศมาแล้ว
พูดไปทำไม่มี ไอ้เรื่องพรรค์อย่างนี้มันมีปัญหาทุกแห่งแหละ ไม่ว่าแต่สองหน่วยงานของเรานี้ หน่วยอื่นๆ ก็เหมือนกัน กระทรวงต่างๆ ก็ได้ข่าวแว่วๆ ว่าจะเกิดอาการพองๆ ยุบๆ เหมือนเราคือกัน
เช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ยุบมาจากทบวงมหาวิทยาแห่งรัฐ รวมเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการมาได้ไม่ถึง ๒ ปีนี้ ก็บอกว่าอยากตั้ง (ไข่) ใหม่เป็นกระทรวงอุดมศึกษาอีกแล้ว นั่นประไร
ดังนั้น การรวมหรือแยกคงมิได้บอกอะไรมากนัก เป้าหมายสำคัญคงอยู่ที่ว่า แยกเพื่ออะไร? ตั้งใหม่เพื่ออะไร? ตั้งมาทำไมหรือรวมไปทำไม ในเมื่อเขาก็อยู่ของเขาดีๆ แล้ว อะไรทำนองนี้ ให้ถามตัวเอง เพื่อนฝูง คนทำงาน ข้าราชการ และประชาชนดูบ้าง
แต่ในกรณีนี้ก็คงต้องถามพระถามเจ้า ถามมหาเถรสมาคม และถามชาวพุทธส่วนใหญ่ดูก่อนว่า พวกท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร จริงไหม?
เรื่องพระศาสนานี้ เรามักได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่พูดถึงเสมอว่า "เป็นเรื่องละเอียดอ่อนๆ"
หมายความว่า จำต้องการคนที่มีอัธยาศัยละเมียดละไม มีสติปัญญาลึกซึ้ง มองอะไรรอบคอบรอบด้าน และกว้างไกลพอสมควร ลงมาบริหารจัดการกับเรื่องอย่างนี้ มิใช่ไม่แตะต้องเลย และต้องทำด้วยกุศลเจตนาและความเมตตาปรารถนาดีด้วย เพื่อให้การบริหารงานตรงนี้ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน (เหมือนปัญหาความมั่นคงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้) อีก
คงต้องขอให้มาทบทวนอดีตกันสักเล็กน้อยก่อนดังนี้
ความจริง พระเจ้าพระสงฆ์ และชาวพุทธระดับผู้นำจำนวนไม่น้อย ที่ห่วงใยต่ออนาคตของประเทศชาติ บ้านเมือง และพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องศีลธรรมและค่านิยมผิดๆ ของหมู่เด็กและเยาวชนยุคปัจจุบัน เมื่อครุ่นคิดกันมาพอควรแล้ว ก็เห็นในแนวทางเดียวกันว่า ความเข้มแข็งขององค์กรสงฆ์เป็นทางออกของเรื่องนี้ พวกท่านมองเห็นว่าน่าจะต้องช่วยผลักดันให้ปรับปรุงองค์กรฝ่ายอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาสัก ๒-๓ ส่วน คือ ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ (แก้ไขเพิ่ม ๒๕๓๕) เพื่อแบ่งเบาภาระรับผิดชอบของพระผู้ใหญ่ระดับมหาเถรสมาคม เพื่อเปิดช่องทางให้พระเถระรุ่นกลางๆ ที่มีการศึกษาและปฏิบัติดีเข้าไปช่วยแบกรับงานพระศาสนาไว้ให้ทันท่วงที
ปรับปรุงกรมการศาสนา ซึ่งเป็นหน่วยราชการเก่าแก่ มีวัฒนธรรมการทำงานแบบรอคำสั่ง และถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำนองว่าวัดครึ่งกรรมการครึ่งสูงมาก และเป็นแหล่งตอบแทนหัวคะแนนทางการเมือง คือนักการเมืองจะส่งคนของตนเองมาเป็นใหญ่ที่นั่น หลายคนไม่ไม่มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาเลยเข้านั่งเป็นอธิบดีกรมนี้
งานพระศาสนาสำคัญอย่างนี้ ซึ่งเป็นงานรับผิดชอบเรื่องจิต ศีลธรรม ค่านิยม อุดมการณ์ คนทั้งประเทศ กลายเป็นงานฝาก งานอดิเรก เพราะกรมการศาสนาเป็นหน่วยราชการเต็มตัว เชื่องช้าอืดอาด และริเริ่มอะไรใหม่ไม่ได้ ถ้าเจ้านายไม่สั่งลงมา
พระสงฆ์ พระเถระ มหาเถรสมาคม ซึ่งไปมีกรมการศาสนาเป็นสำนักงานเลขาธิการของตนอยู่ที่นั่น พวกท่านจึงเหมือนแขกแปลกหน้าเข้าไปอาศัยบ้านคนอื่น พร้อมทั้งรบกวนไหว้วานให้เขาทำนั่นทำนี่ให้ พวกเขาก็ทำไปแบบไม่เต็มที่ ไม่เต็มร้อย เพราะอธิบดีเป็นทั้งอธิบดี เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม เป็นเลขาธิการคณะกรรมการไปแสวงบุญ (ฮัจญ์) ของมุสลิม ท่านก็เลยต้องฟังคำสั่งปลัด รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ผู้ที่แต่งตั้งหรือนักการเมืองที่นำมาสู่ตำแหน่งนั้น และปูนบำเหน็จความดีความชอบให้เขา ขึ้นขั้นเพิ่มเงินเดือนให้เขา
ส่วนพระสงฆ์ มหาเถรสมาคม เงินก็ไม่จ่าย ใช้ก็มาก ความดี ความชอบ ขั้นสองขั้นก็อำนวยให้เขาไม่ได้ แล้วพวกเขาจะมาทำงานทุ่มเทให้พระศาสนาได้อย่างไร?
ดังนั้น พระพุทธศาสนา ศาสนาสุดยอดของโลก และสถาบันหลัก ๑ ใน ๓ ของชาติบ้านเมืองนี้ จึงกลายเป็นดังต้นไม้ใหญ่มีแต่นกหนูปูปีกคน และสัตว์มาพึ่งพาอาศัยร่มเงา และเก็บกินมรรคกินผล แต่ดูเหมือนขาดการรดน้ำพรวนดิน ดูแล เอาใจใส่ ดูแลกันอย่างจริงจัง
มิหนำซ้ำ พวกเรายังเอาต้นโพธิ์ใหญ่ต้นนี้ไปปลูกไว้ในกระถางเล็กๆ คือหน่วยงานเช่น กรมการศาสนาในอดีต จึงถูกบอนไซให้แคระแกร็นจนแทบจะเป็นหมันไม่อาจผลิดอกออกผลอีกต่อไปแล้ว เพราะต้นไม้ต้นนี้ไม่มีทางเติบโตได้เลย ดังที่เราเห็นกันจนกระทั่งปัจจุบัน
พระศาสนาอ่อนแอ คณะสงฆ์ไม่เข้มแข็ง ผลลบ ผลร้ายหาได้เสียหายแก่พระศาสนา และคณะสงฆ์เพียงลำพังไม่ เหมือนต้นมะม่วงต้นชมพู่ หรือลำไย ทุเรียนไม่เจริญงอกงามนั้น และไม่ผลิดอกออกผลนั้น ย่อมหมายถึงการขาดอาหาร ขาดรายได้ และความไร้อารมณ์สุนทรีย์อื่นๆ ของเจ้าของสวนและลูกหลาน ญาติมิตรของเจ้าของสวนทุกคน จากนั้นปัญหาต่างๆ อีกมากกมายจะประเดประดังพรั่งพรูกันเข้ามา
ดังนั้น เราจะต้องเริ่มจับเหตุแห่งปัญหาให้ชัดเสียก่อน คือเริ่มที่จะหาทางส่งเสริมสนับสนุนองค์กรบริหารพระศาสนาให้เข้มแข็งก่อน คิดง่ายๆ โดยเปรียบเทียบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พระองค์ท่านมีหน่วยงานกึ่งราชการสนองตอบโครงการในพระราชดำริต่างๆ กว่า ๓,๐๐๐ โครงการได้ เช่น มีสำนักพระราชวัง สำนักงานเลขาธิการพระราชวัง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
พระพุทธศาสนาก็น่าจะมีหน่วยงานในลักษณะละม้ายคล้ายกันนี้มารับรองพระศาสนา และคณะสงฆ์กันบ้าง
ยอมรับว่า ตอนแรกพวกเราคิดเรื่องนี้ เพราะมีเรื่อง มีเหตุการณ์กระทบพระพุทธศาสนาอยู่หลายเรื่อง ที่บังคับให้พวกเราต้องคิด จะต้องหาทางออกให้พระพุทธศาสนา
เริ่มแต่กรณีมีการประท้วงอดอาหารของคณะยุวสงฆ์ ณ ลานอโศก วัดมหาธาตุฯ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๑๘ ศูนย์กลางความคิดในตอนนั้นจะมองไปที่ พ.ร.บ.สงฆ์ ๒๕๐๕ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าเป็นหนามชิ้นใหญ่วางทางบริหารกิจการคณะสงฆ์ต้องแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกให้ได้
ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษา รัฐได้ออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ มีบางมาตราที่ก้าวล่วงเข้ามาในเขตการประกอบศาสนกิจของสงฆ์ เช่น การยุบกรมการศาสนาไปรวมเป็น "คณะกรรมการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม" มีกรรมการ ๓๙ คน (ตอนนี้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็เพราะกลุ่มชาวพุทธเราคัดค้านนั่นเอง) ล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ และตัวแทนของศาสนาอื่นด้วย ที่จะเข้ามาล้วงความลับในกิจการมหาเถรสมาคมทั้งหมด พวกเราชาวพุทธก็ยอมรับไม่ได้ พวกเราจึงประชุมปรึกษาหารือกัน แล้วก็คิดแผนการถอยร่นไปตั้งหลัก คิดไปคิดมาก็ออกมาเป็น "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" อย่างที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้น จึงขอเรียนว่าเรื่อง "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ชาวพุทธทั้งหมดทั้งมวล ทั้งพระเจ้าพระสงฆ์ เริ่มแต่มหาเถรสมาคม จนถึงพระหนุ่มเณรน้อย และชาวพุทธอีกหลายหมื่นคนมีส่วนคิดริเริ่ม และต่อสู้ให้เกิดขึ้นมา ท่ามกลางกระแสเสียดทานของฝ่ายการเมือง พวกท่านจึงมีพันธะทางใจตลอดเวลาว่า "เป็นผลงานการต่อสู้ของพวกท่าน และใครๆ ก็ไม่บังควรไปแตะต้องของท่าน โดยปราศจากเหตุผลที่อธิบายได้ชัดเจน" มิฉะนั้นก็จะเกิดความยุ่งยากแน่
อีกนัยหนึ่ง เรื่องสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินี้ จึงผุดขึ้นในห้วงสำนึกของพระสงฆ์องค์เจ้าและชาวพุทธระดับผู้นำตั้งแต่ราวต้นๆ ปี พ.ศ.๒๕๔๔ พอๆ กับการปฏิสนธิของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ของท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แล้วต่อมา คำว่า "สำนักงานพระพุทธศาสนา" นี้ก็ไปปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับ พ.ศ.... ที่คณะสงฆ์ได้ตั้งคณะทำงานยกร่างขึ้น และท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศ ได้มอบต้นร่างใส่มือของนายกฯทักษิณ พร้อมกับขอร้องว่า "ขอได้ดำเนินการเสนอเข้าขบวนการทางนิติบัญญัติอย่างนั้น ไม่จำต้องแก้ไขอะไรมากนัก"
แต่จนแล้วจนรอด ร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับนั้นก็เหมือนตายทั้งกลมแล้ว เพราะถูกขบวนการพระป่าคัดค้าน คณะรัฐบาลก็เลยอัดใส่ช่องฟรีซ (Freeze) แช่แข็งไม่มีขยับเขยื้อนมาเกือบ ๔ ปีแล้ว แม้องค์กรพุทธทั้งหลาย เช่น ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาจะลงแรงทั้งผลักทั้งดันถึง ๓ ครั้ง หน้าทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลก็ตกปากรับคำแบบเสียไม่ได้
ชาวพุทธทั้งประเทศก็ได้แต่เฝ้าก็คอยหาคอยหายมาจนถึงปลายๆ สิงหาคม ๒๕๔๕ จึงได้ช่อง ได้โอกาส โดยร่วมกับ ส.ว.ที่หวังดีต่อพระศาสนา ๓-๔ ท่าน(มีท่านกำพล ภู่มณี ดร.บุญเลิศ ไพรินทร์ เป็นต้น) ร่วมผลักดันให้ ส.ว.แปรญัตติเปลี่ยนชื่อ "กระทรวงวัฒนธรรมในร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ มาเป็น กระทรวงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม"
แต่วุฒิสภาและรัฐบาลไม่ยอมคล้อยตามเสียงของชาวพุทธนับหมื่นๆ หน้ารัฐสภาและหลายสิบล้านทั่วประเทศ คือไม่ยอมตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาให้ชาวพุทธที่มาอ้อนวอนขออยู่หน้าสภาเป็นเวลานานถึง ๒๐ วัน พวกเราจึงได้มาเพียง "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ดังที่ทราบกัน
ถึงอย่างไร พวกเราก็สันโดษพอใจกับสิ่งที่ได้มา หวังแต่เพียงว่าฝ่ายรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี ชาวพุทธพันเปอร์เซ็นต์(ต่อมาเพิ่มเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ด้วย) ที่จะเข้ามาสานต่อทางด้านบริหารจัดการ โดยออก พ.ร.บ.การบริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ คล้ายกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจะได้สรรหาหัวหน้ามาบริหารงานตามที่คณะสงฆ์ และชาวพุทธต้องการ พร้อมทั้งขยายสำนักงานสำนักงานพระพุทธฯไปต่างจังหวัดให้ถั่งถึงทุกจังหวัดและอำเภอ
แต่พวกเราชาวพุทธก็ดูเหมือนว่าคอยหาแล้วก็คอยหายไป เกิดอะไรเป็นหลักฐานแก่ สนง.พระพุทธฯอย่างที่ควรจะเป็นเลยในรอบเกือบ ๒ ปีมานี้
ดังนั้น ถ้าจะมีหารรวมหน่วยงานทั้งสอง คือ สนง.พระพุทธฯ และกรมการศาสนาเข้าด้วยกันจริงๆ ก็ต้องขอถามในรัฐหน่อยว่า ท่านมีนโยบายและเป้าหมายของงานพระพุทธศาสนาอย่างไร?
ถ้ารวมกันแล้วท่านจะรับรองได้ไหมว่างานพระศานาจะแข็งแรงขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น?
ถ้ารับรองได้ค่อยถามต่อไปว่า จะคงหน่วยไหนไว้ หน่วยไหนจะถูกออกหายไป?
ตรงนี้ขอตอบแทนชาวพุทธทั่วประเทศได้เลยว่า หน่วยงานไหนเป็นผลงานที่ชาวพุทธ ทั้งพระเจ้าพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ได้เสียสละแม้แต่ชีวิตแลกได้มา หน่วยงานนั้นต้องรักษาไว้ หน่วยงานนอกนี้ซึ่งฝ่ายรัฐก็ตั้งใจจะยุบทิ้งอยู่แล้ว ก็ชอบที่จะยุบทิ้งเสีย โดยโอนบุคคล ทรัพย์สิน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ไปอยู่หน่วยที่คณะสงฆ์และชาวพุทธฯต้องการให้รักษาไว้
แต่มีข้อแม้นิดหน่อยคือ หน่วยงานนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นหน่วยงานกึ่งราชการ และรูปแบบเป็นอิสระมากขึ้น มี พ.ร.บ.มารองรับการสรรหาเลขาธิการและคณะกรรมการเข้าบริหารกิจการพระศาสนา และสนองงานของคณะสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ส่วนสังกัดนั้น ก็ต้องไม่มีเจ้านายหลายคนนัก ชาวพุทธส่วนใหญ่คงประสงค์จะให้อยู่กับนายกรัฐมนตรี เหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักอัยการสูงสุด สำนักเลขาธิการพระราชวัง เป็นต้น
แต่ถ้าจะต้องมีการย้ายไปอยู่ใต้การกำกับของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนั้น ในความคิดเห็นคิดส่วนตัวแล้ว คิดว่าชาวพุทธจะยังรู้สึกอึดอัดนิดๆ ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และชื่อกระทรวง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องนี้มันเป็นเรื่องแผลเก่าในหัวใจชาวพุทธทั่วประเทศ มันกัดกินหัวใจ สร้าง ความรู้สึกลบๆ ต่อรัฐมานาน ตั้งแต่เมื่อวุฒิสภาไม่ยอมโหวตให้เป็น "กระทรวงพระพุทธศาสนา" ทั้งๆ ที่ทั้งรัฐบาลและท่าน ส.ว.ผู้ทรงเกียรติมีแต่เก็บเกี่ยวผลงานคะแนนนิยมไปกินด้วยกันทั้งนั้น เมื่อการเจรจาต่อรองกันถึงสุดแล้ว ผลลัพธ์สุดท้ายก็ออกมาเป็น "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ขึ้นอยู่กับนายกฯตามธรรมเนียม
ขณะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พศ.อยู่นั้น ได้มี ส.ว.บางท่านเสนอให้โหวตย้ายสังกัด สนง.พระพุทธฯไปอยู่กระทรวงวัฒนธรรม แต่พอโหวตกันจริงๆ ก็แพ้
ส.ว.หลายท่านบอกว่า "รับปากพระมาแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้นะ" แต่ถ้าจะพยายามย้ายหรือยุบกันคราวนี้ ก็จะเหมือนกับบีบบังคับขืนใจกันพอควร อย่างนี้คงไม่เป็นผลดีแน่ อาจจะวุ่นวาย หรือรุนแรงอย่างไงอีกก็ได้ ทุกคนก็ไม่อยากให้เกิด
แต่อย่าลืมว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจของชาวพุทธต่อรัฐได้จืดจางบางเบาลงเต็มทีแล้ว นอกจากฝ่ายรัฐจะมีเหตุผลอธิบายกันได้หนักแน่น และหรือมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในและเปลี่ยนชื่อของกระทรวงวัฒนธรรมเสียใหม่ เช่น อาจเปลี่ยนมาเป็น "กระทรวงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม" หรืออย่างน้อยก็เป็น "กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม" อะไรทำนองนี้
แต่ทางที่ดี รัฐก็ควรลดตัวลงมาฟังเสียงพระเจ้าพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วประเทศด้วย โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม และองค์กรพุทธ เช่น ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยประกอบ ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรายการใหญ่อะไรๆ
ดังนั้น เรื่องการปรับปรุงหน่วยงานสนับสนุนพระพุทธศาสนา เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินี้ ชาวพุทธรอคอย และให้โอกาสรัฐพิสูจน์ความจริงใจมากว่า ๒-๓ ปี มาแล้ว ต้องบอกตรงๆ ว่า ต่างก็รู้สึกผิดหวังกับท่าทีการตอบสนองของรัฐต่อกิจการพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธทั่วประเทศก็ยังรู้สึกภูมิใจว่าสำนักงานพระพุทธฯนี้เป็นผลของหยาดเหงื่อ แรงงาน คราบน้ำตาและความเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อพระศาสนาของพวกเขา ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาต่างก็เฝ้ารอคอยว่า สักวันหนึ่ง สำนักงานนี้จะเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นมือเป็นเท้าที่แข็งแรง ทรงพลังให้คณะสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมได้บริหารกิจการพระศาสนา และดูแลเรื่องศีลธรรม ค่านิยมของเด็กและเยาวชนไทยอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงยิ่งขึ้น
ที่นี้ หากรัฐจะเข้ามาแตะต้องอย่างไม่สอดคล้องกับความรัก ความมุ่งหวังของชาวพุทธทั้งประเทศ และโดยหาเหตุผลเหมาะสมอธิบายไม่ได้แล้ว คิดว่าเหตุการณ์คล้ายๆ กับกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่อาจมีทั้งปริมาณและคุณมากมากกว่าคงเกิดขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ดังนั้น จึงขอจบด้วยคำสั้นๆ ว่า "อย่าๆๆ เลยท่าน ขอร้องเถิด ไม่ยกย่องไม่เป็นไร แต่อย่าๆๆ เหยียบย่ำ (หัวใจ) กันอีกเลย ชาวพุทธอดทน ยอมให้เป็นฝ่ายถูกกระทำ และยอมเสียเปรียบมานานแล้ว อย่าได้ยั่วยุกันให้ถึงกับอดทนไม่ได้เลย" พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต)..
|