ไม่ว่า นายเอกยุทธ อัญชันบุตร จะเป็นใคร หรือมีความเป็นมาอย่างไรก็ตาม แต่การออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักเล่นหุ้นบางราย หรือการชี้ข้อพึงพิจารณา เกี่ยวกับกลไกและกระบวนการค้าหลักทรัพย์ ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแต่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับฟัง และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ แสวงหาคำตอบที่ถูกต้องให้กับสังคมไทย
มิใช่การดาหน้าออกมาโต้แย้ง แข่งกันปฏิเสธ หรือใช้กระบวนการต่าง ๆ เข้ากดดันผู้ให้ข้อมูล หรือพยายามเบี่ยงประเด็น ด้วยการชี้ช่องให้ผู้เคยได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจเดิมของนายเอกยุทธเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน ได้ออกมาร้องเรียน หรือฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย
ซึ่งนับได้ว่า เป็นการกระทำที่น่าอาย น่ารังเกียจ และปราศจากความชอบธรรม (อันพึงมีในฐานะผู้รับผิดชอบ หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้อง)
มิพักจะต้องกล่าวถึง ว่าก่อนหน้าที่ นายเอกยุทธ จะออกมาแสดงบทบาทในการตรวจสอบ หรือยืนอยู่ในฟากฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ซึ่งเพิ่งมาแสดงอาการฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดในวันสองวันนี้ มัวไปทำอะไรอยู่ จึง "ละเลย" มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการ "ตรวจสอบ จับกุม หรือ ดำเนินคดี" กับ นายเอกยุทธ ตามข้อกล่าวหาที่เพิ่งจะระบุขึ้น
เหตุใดรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงปล่อยปละละเลยให้บุคคลคนผู้นี้กลับเข้าประเทศไทยมาประกอบอาชีพนานาชนิด กระทั่งเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ อยู่ในตลาดหุ้นก็ยังได้
เพราะจะว่าไปแล้ว ตลาดหลักทรัพย์นั้น ถือได้ว่าเป็น "ศูนย์กลาง" การลงทุนของประเทศเลยทีเดียว และใช่ว่าทุกคนจะเข้าไปซื้อขายได้อย่างง่ายดาย หรือมีอิสระ ตามแต่ความปรารถนา
ผู้ติดตามข่าวสารคงพอจะจำกันได้ ว่าก่อนหน้านี้ไม่นานนัก มีข่าวเกรียวกราวเป็นอันมากว่า นายเอกยุทธ อัญชันบุตร จะนำเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาตั้งพรรคการเมือง ประเภท "ทางเลือกที่สาม" หรือให้การสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรค ซึ่งขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอง ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเชิงบวก ว่าเป็นการดีเสียอีกที่จะมีการตั้งพรรคการเมือง หรือมีคนเข้ามาสู่แวดวงการเมืองเพิ่มมากขึ้น
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนั้นส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ความ "ควร-ไม่ควร" ของพรรคการเมืองเสียมากกว่า ว่าจะมี "ท่าที" อย่างไร ต่อ "เงินทุน" หรือ "แหล่งทุน" ดังกล่าว
แต่ขณะที่ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา วันละหลายสื่อ และสื่อละหลายครั้ง ติดต่อกันอยู่นั้น กลับมีเพียงถ้อยคำหมิ่นแคลนและการตั้งข้อสงสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบรรดา ส.ส. พรรครัฐบาล ทำนองว่า "รวยจริงหรือไม่" หรือ "จะรวยสักแค่ไหน" เสียเป็นส่วนใหญ่
คำถามก็คือ นายเอกยุทธ ในวันนั้น คือบุคคลคนเดียวกับ "เอกยุทธ อัญชันบุตร" ที่กำลังถูกกล่าวถึงอยู่ในขณะนี้มิใช่หรือ ?
ถ้าใช่
ก็แล้วหลายวันก่อน "เจ้าพนักงานของรัฐ" เหล่านี้ไปทำอะไรอยู่ ? หรือมัวแต่แห่แหน "ทัวร์นกขมิ้น" แวะเวียนไปแจกจ่ายงบประมาณของรัฐ "หาเสียง" กันอย่างไม่ลืมหูลืมตา
และหากวันนี้ รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เริ่มเกิดความจำดี สามารถย้อนรอยถอยหลังไปได้ถึงยี่สิบปีที่ผ่านมา ก็น่าที่จะจดจำวาทะเกี่ยวกับการทุจริต และสงครามปราบคอร์รัปชั่น กันได้มิใช่หรือ ว่า
ครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้กล่าวต่อสาธารณะด้วยตนเอง ทำนองว่า..สำหรับตนแล้ว "ไม่ต้องรอให้มีใบเสร็จรับเงินดอก ขอเพียงแต่มีการแจ้งเบาะแสเท่านั้น ก็จะดำเนินการอย่างไม่ไว้หน้าแต่อย่างใด"
จึงแทบไม่น่าเชื่อ ว่าเพียงสามปีเศษ บุคคลระดับผู้นำประเทศและคณะ จะหลงลืมคำพูดของตนเองเอาง่าย ๆ ขณะที่ดูเหมือนจะฉลาดหลักแหลม จดจำรายละเอียดทางคดีของผู้อื่นได้อย่างน่าอัศจรรย์นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้นั้นเห็นต่าง หรือเห็นแย้ง กับแนวทางที่ตนปรารถนา หรือเห็นไม่ตรงกับวิธีการที่ตนและพวกกระทำ
ยิ่งกับ"ผู้ชอบเปิดโปง" กับ "นักแฉ" หรือกับ "คนรู้ทัน" ที่มักตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลด้วยแล้ว ดูราวกับว่า "เจ้าพนักงานของรัฐ" และบุคคลแวดล้อมเหล่า นี้จะจดจำได้ดีเป็นพิเศษ ชนิด "จำแม่น" เกินกว่าเจ้าตัวจะจำได้เองเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคงมิใช่แค่ "จำได้ดีหรือไม่" แต่น่าจะอยู่ที่ "จำทำไม" หรือ "จำไว้เพื่ออะไร" เสียมากกว่า
ในพุทธศาสนา บุพภาคของการศึกษา หรือ บุพนิมิตแห่งมัชฌิมาปฏิปทานั้น เนื่องอยู่กับสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม หรือเป็นขั้นเริ่มแรกในระบบการศึกษาตามหลักพุทธธรรม ด้วยเหตุนี้ การสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
มีข้อความในพระไตรปิฎก แสดงเป็นหลักไว้ดังนี้
"ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการดังนี้ คือ ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ" (พระไตรปิฏก อง.ทุก.๒๐/๓๗๑/๑๑๐)
ปรโตโฆสะ กล่าวโดยย่อก็คือ เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก ตลอดจนความรู้ หรือคำแนะนำจากกัลยาณมิตร
ส่วน โยนิโสมนสิการ นั้น หมายถึง การทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี รู้จักคิด คิดเป็น พิจารณาสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง สามารถเชื่อมโยงและสืบย้อนไปถึงต้นเงื่อน ตลอดจนแยกแยะ และเห็นความสัมพัธ์ของเหตุและปัจจัย อย่างที่เป็นและเกิดขึ้นจริง เป็นต้น
หลักธรรมพื้นฐานทั้งสอง จึงนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาตนขึ้นสู่กระแสการปฏิบัติธรรมเพื่อดับทุกข์แล้ว ยังคล้ายกับจะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็น "สภาวธรรม" ด้วยว่า เอาเข้าจริง เขา (หรือเธอ) เป็น "ชาวพุทธแต่ปาก" หรือรับเอา หลักคิด-วิธีปฏิบัติ มาใช้ได้กับชีวิตจริง
ด้วยเหตุนี้ แม้ไม่กล่าวถึงกระบวนการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ อันเหมาะควรกับกรณี ซึ่งรัฐพึงศึกษาและปฏิบัติ เมื่อมีการ ชี้ช่อง-ร้องเรียน ถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มเงา หรือในองคาพยพของรัฐ ก็ตาม
แต่ยังมีอย่างน้อย ๒ ประการ อันควรแก่การพิจารณาถึง "ท่าที" ของนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานผู้แวดล้อม ต่อกรณีที่ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นั่นก็คือ
๑. ในฐานะบุคคล ผู้มี คุณวุฒิ-วัยวุฒิ ทั้งยังพอมีวุฒิภาวะทางอารมณ์และสติปัญญา ตลอดจนมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีโดยตำแหน่งหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย หรือได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเอาไว้
๒. ในฐานะพุทธศาสนิกชน ผู้ประกาศตนว่าเป็น "ชาวพุทธ" ประเภท "ยกธรรมะ-อ้างพระบาลี" อยู่มิได้ขาด
ควรแล้วหรือ ที่ผู้รับผิดชอบต่อความเป็นไปของบ้านเมือง จะออกมาตอบโต้ด่ากราดขึ้น "มัน" ขึ้น "ไอ้" ท้าทาย คนอื่น เพียงเขาออกมา "ร้องทุกข์-กล่าวโทษ" ว่า..มีบุคคลในรัฐบาล หรือเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาล กำลังแสวงหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ฯ อันอาจเป็นเหตุให้ผู้ค้ารายย่อยเสียประโยชน์ และตลาดหลักทรัพย์ไทยมีภาพพจน์เสียหายในสายตานักลงทุนต่างประเทศ
หรือการณ์กลับกลายเป็นว่า ยุคนี้..
ทุกคนต้องละทิ้งหน้าที่ ปล่อยให้โจรในคราบเศรษฐีกินบ้านกินเมืองเสียแล้ว ?
ความเป็นผู้นำ-ความเป็นผู้บริหาร ที่รับผิดชอบดูแลกิจการของรัฐนั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว คงมิใช่เพียงผู้ประสบความสำเร็จในการเล่นเกมแห่งอำนาจเพียงถ่ายเดียว หากประกอบไปด้วยคุณธรรม-จริยธรรม และความสามารถด้านดีงามอีกเป็นอันมาก ที่จะต้องบ่มเพาะและเปล่งประกายออกมา
ทั้งที่ควรมีเพื่อสามารถใช้ในการ "บริหาร-จัดการ" และต้องมีเพื่อ "ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง" แก่ผู้คนและสังคม
ความกล้าหาญทางจริยธรรม และมโนธรรมสำนึก ที่จะนำพาผู้คนไปสู่ความดี ความงาม และความจริง เพื่อชีวิตสันติสุข และสังคมสันติภาพ จึงเป็นภารกิจและเป้าหมายอันสำคัญยิ่ง
และ
สิ่งเหล่านี้เองกระมัง ที่จะบ่งบอกถึงความ "สง่างาม" ของรัฐบุรุษ อันแตกต่างจากความหยาบช้าของโจรปล้นชาติ หรือนักเลือกตั้งผู้โลภโมโทสัน ผู้ล้างลาญบ้านเมืองอยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตา..