"ผาสุก" เปิดโปงขบวนการ "ฮุบสื่อ"
ปลุกกระแสปฎิรูปประชาธิปไตย
รายงาน หน้า ๒ มติชนรายวัน
วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๖๘๙
หมายเหตุ-คำปาฐถาพิเศษของนางผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาส ครบรอบอายุ ๗๒ ปี ของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ "ผลประโยชน์ทับซ้อน หยุดก่อนประเทศไทย" เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ที่โรงแรมวินเซอร์ สูท
"...นายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ให้ความสำคัญกับปัญหาคอรัปชั่น ทั้งในแง่คอรัปชั่นแบบตรง ๆ และคอรัปชั่นแบบผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ยังเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ดิฉันไม่อยากถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าเงินเดือนของตัวเองรวมกันกว่า ๒,๐๐๐ ปี จึงขอเล่าข้อมูลของต่างประเทศก่อน เพื่อเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทย
อดีตประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ แห่งเปรู ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี ๒๕๓๓ แล้วต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นในปี ๒๕๔๓ ด้วยปัญหาการคอรัปชั่นที่มีคนสนิทเป็นหัวเรือใหญ่ คดียาเสพติด และคดีฆาตกรรมหรืออุ้มฆ่าประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยนายฟูจิโมริชนะการเลือกตั้งสมัยแรกในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ได้คะแนนเสียงท่วมท้นจากนโยบายหาเสียงที่จะทำให้ประเทศพ้นจากภัยเศรษฐกิจ แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่การดำรงตำแหน่งในสมัยที่ ๒ การเมืองภายในประเทศเปรูก็เริ่มไม่นิ่ง
นายฟูจิโมริจึงมอบหมายให้ นายวลาดิเมียร์ มองเตสกิโน หัวหน้าตำรวจลับ ได้รับสิทธิเต็มที่ในการทำให้การเมืองนิ่ง ด้วยการให้สินบนกับบรรดาส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม และสื่อมวลชน รวมทั้งถ่ายวีดีโอบันทึกภาพ เก็บไฟล์ใบเสร็จไว้ในคอมพิวเตอร์ และเซ็นสัญญาในทุกกรณีการให้สินบนเพื่อเอาไว้ป้องกันตัวนายมองเกสติโนเองและเพื่อเอาไว้ข่มขู่คู่กรณี ซึ่งในกรณีของสื่อมวลชนนั้นจะได้รับสินบนมากที่สุด โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์
ทั้งนี้เพราะนายมองเตสกิโนมีความคิดว่า สื่อมวลชนจะทำให้การเมืองกระเพื่อมได้มากที่สุด และถ้าไม่คุมสื่อโทรทัศน์แล้วจะคุมอะไรไม่ได้เลย แต่ในท้ายที่สุดพฤติกรรมการให้สินบนของนายมองเตสกิโน ถูกเคเบิลทีวีรายเล็กที่ไม่ได้รับสินบนช่องหนึ่งนำมาเปิดเผย จนนายมองเตสกิโนถูกจับขังคุกจนถึงปัจจุบัน และนายฟูจิโมริต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น
จากบทเรียนของประเทศเปรูได้ให้บทเรียนกับพวกเราว่า ประชาธิปไตยจะถูกซื้อได้ นอกจากนี้ส.ส.ที่ดี ผู้พิพากษาที่ยุติธรรม และสื่อเสรีจะเป็นปัญหาต่อระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมและการคอรัปชั่นมากที่สุด
ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองแบบ "ธนกิจการเมือง" คือมีกลุ่มทุนใหญ่ ๆ เข้ามาบริหารประเทศ จนก่อให้เกิดการทับซ้อนของผลประโยชน์ขึ้นเป็นประจำ เพราะผู้บริหารประเทศดำรงตำแหน่งสาธารณะใน ๒ ด้าน คือด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่บริหารประเทศ ส่วนอีกด้านก็เป็นการดำเนินธุรกิจส่วนตัว และมีแนวโน้มที่เอียงไปทางการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องขอสัมปทานจากรัฐ ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศที่มีอำนาจในการให้สัมปทาน
ส่วนคำถามที่ว่า การทับซ้อนผลประโยชน์คืออะไรนั้น ดิฉันอยากจะเล่าเรื่องราวหนึ่งให้ฟังคือ เมื่อสมัย ๑๐ ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเพิ่งเข้ามาในแวดวงการเมืองใหม่ ๆ นั้น นายกรัฐมนตรีมอบรถยนต์เดมเลอร์ให้กับ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ เมื่อดิฉันมีโอกาสสนทนากับนายกรัฐมนตรี จึงถามถึงเหตุผลการมอบรถยนต์ดังกล่าว
นายกรัฐมนตรีอธิบายว่า เพราะพล.อ.อ.สมบุญท่านดีกับเรามากเคยช่วยเหลือเรา ในการทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจึงได้ปรึกษากับภรรยาว่าจะตอบแทนพล.อ.อ.สมบุญอย่างไรดี เมื่อทราบว่าพล.อ.อ.สมบุญชอบรถยนต์เดมเลอร์ ภรรยาของนายกรัฐมนตรีจึงบอกให้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวแก่ท่านในที่สุด
ดิฉันจึงถามนายกรัฐมนตรีต่อไปว่า ท่านคิดว่าเงินสามารถซื้อทุกอย่างได้ใช่หรือไม่? นายกรัฐมนตรีก็ตอบมาว่า การเป็นคนรวยดีกว่าการไม่เป็นคนรวยไม่ใช่หรือครับ
สำหรับพฤติกรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ก่อนหน้านี้นักธุรกิจได้พยายามแทรกแซงนโยบายและพยายามมีอิทธิพลในทางการเมือง แต่มักจะอยู่เบื้องหลังหรือส่งตัวแทนเข้ามาเล่นการเมือง ทว่าขณะนี้นักธุรกิจได้เข้ามากุมอำนาจรัฐโดยตรงเพราะ ธุรกิจของพวกเขาที่เฟื่องฟูจากกระแสโลกาภิวัตน์ได้ถูกคุกคามจากภาวะฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อตระหนักว่า โลกาภิวัตน์มีความเสี่ยงสูงแต่สามารถให้ประโยชน์แก่ตนได้ นักธุรกิจจึงคิดหาหนทางในการจัดการกับโลกาภิวัตน์การเข้ากุมอำนาจรัฐเท่านั้น ถึงจะสามารถจัดการกับโลกาภิวัตน์ได้
นอกจากนี้นักธุรกิจยังมองประชาธิปไตยเปลี่ยนไปจากที่เคยมองว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องดีในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ จนให้การสนับสนุนขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แต่พอในทศวรรษ ๑๙๙๐ เมื่อชาวบ้านและประชาสังคมเรียกร้องการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียมกันมากขึ้น นักธุรกิก็กลัวว่าข้อเรียกร้องของมวลชนจะขัดกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา จึงต้องเข้ามาเกาะกุมอำนาจรัฐเพื่อควบคุมประชาสังคมและสื่อ
เมื่อได้เข้าเกาะกุมอำนาจรัฐแล้ว รัฐบาลของนักธุรกิจต้องการทำให้ภาวะเศรษฐกิจเฟื่องฟู ด้วยนโยบายอะไรก็ได้ ด้วยต้นทุนจำนวนเท่าไรก็ได้ ส่วนสมาชิกแกนนำพรรครัฐบาลก็ไม่ซาบซึ้งกับประชาธิปไตย เพราะการเติบโตของประชาธิปไตยจะผันผวนกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือถ้าประชาธิปไตยเติบโตมาก ภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจก็จะชะลอตัว จนก่อให้เกิดการปิดกั้นการแสดงความเห็นและการควบคุมสื่อในปัจจุบัน อันถือเป็นการทวนกระแสของพลังประชาธิปไตย ที่ก่อตัวสมบูรณ์ขึ้นก่อนที่รัฐบาลไทยรักไทยจะขึ้นเถลิงอำนาจ
ทั้งรัฐบาลของนักธุรกิจยังได้เปลี่ยนการเมืองไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือจากที่ข้าราชการประจำและเจ้าพ่อท้องถิ่นถือเป็นผู้กุมอำนาจในการเมืองแบบเก่า รัฐบาลพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจให้ข้าราชการตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร และควบคุมอำนาจของเจ้าพ่อท้องถิ่น ด้วยการหาเสียงกับชาวบ้านว่าถ้าเลือกไทยรักไทยจะได้เงินกองทุนหมู่บ้าน เงินจากนโยบายเอสเอ็มแอล (small medium large) และนโยบายเอื้ออาทรต่าง ๆ แต่ถ้าเลือกเจ้าพ่อจะได้ถนนตัดเข้าหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม อาจเกิดคำถามตามมาว่า จริง ๆ แล้วนโยบายเอื้ออาทรต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยรักไทยจะถือเป็นการกำจัดหรือผนวกเจ้าพ่อท้องถิ่นกันแน่ โดยถ้าเจ้าพ่อท้องถิ่นไม่ถูกรัฐบาลไทยรักไทยผนวกเข้ามาเป็นพวกก็จะถูกกำจัดออกไป
ในด้านเศรษฐกิจจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ถือว่ารัฐบาลไทยรักไทยทำได้ประสบความสำเร็จดีทีเดียว ดูได้จากตัวเลขจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ) ที่เติบโตขึ้นมาก ต้องยอมรับว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้เป็นทีมที่แข็งและทำงานหนัก ส่งผลให้มีคนจำนวนหนึ่งพอใจการทำงานของรัฐบาล แม้นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจะมีความเสี่ยงอยู่สูงก็ตามที
นอกจากนี้ประเทศไทยในปัจจุบันยังมีเครื่องมือในการควบคุมภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ได้ดีกว่าเก่า จากการประสบความสำเร็จในการบริหารงานทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้พรรคไทยรักไทยประเมินว่าพวกตนจะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ๒ สมัย พรรคไทยรักไทยจะครองอำนาจอีก ๒๐-๒๕ ปี แล้วจึงค่อยถอนตัว เพราะสงสารฝ่ายค้านที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นเวลานาน นอกจากนี้ก็สงสารว่านักหนังสือพิมพ์จะไม่มีอะไรเขียน
แต่ความทับซ้อนของผลประโยชน์ของรัฐบาลก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านขึ้นมา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้มีรัฐบาลไทยรักไทยชุดเดียวที่มีความทับซ้อนของผลประโยชน์ เพราะรัฐบาลชุดอื่น ๆ มีความทับซ้อนดังกล่าวปัจจุบันคนเห็นการกระจุกตัวของอำนาจ ส่วนประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแบบที่ไม่มีอยู่จริง เพราะมีการกระทำที่เหนือกฎหมายอย่างเด่นชัดในขณะที่รัฐบาลชุดอื่นทำแบบปกปิด มีการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างชัดเจนจนสร้างปัญหาให้กับทุนนิยมไทย
ดังจะดูได้จากคำกล่าวของนายคาร์ล มาร์ก (เจ้าของทฤษฎีคอมมิวนิสต์)ที่ว่า "ทุนนิยมจะเฟื่องฟู รัฐบาลต้องเป็นตัวแทนของนายทุนทั้งประเทศ" แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลกลับเป็นตัวแทนของนายทุนเพียงกลุ่มเดียว ปัญหาของทุนนิยมเช่นนี้สามารถเห็นได้ชัดในกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ จนครั้งหนึ่งประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโยถึงกับตื่นเต้นมากกับระบบทักษิโณมิกส์
ถ้าไม่อยากให้เกิดสถานการณ์เช่นฟิลิปปินส์กับไทย เราในฐานะพลเมืองไทยจะช่วยทำอะไรได้บ้าง จะต้องตระหนักว่าสื่อเสรีถือเป็นมหันตภัยของนักการเมืองอำนาจนิยม แต่โทรทัศน์และวิทยุของเราส่วนมากกลับเป็นของราชการ ซึ่งผสมผสานระหว่างรูปแบบสัมปทานระบบอภิสิทธิ ที่สะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยมและสัมปทานในระบบเปิด ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาขึ้นมากกับกระบวนการปฏิรูปสื่อ
แม้เราจะมีกรอบกฎหมายใหม่คือกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติในรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐ แต่กระบวนการปฏิรูปสื่อของเรากลับล้มเหลว ราชการยังเป็นเจ้าของสื่อจำนวนมาก และโครงสร้างตลาดยังกระจุกตัววิธีการแก้ไขปัญหานี้ที่พลเมืองไทยต้องช่วยกันคือ ๑. ต้องสร้างกระบวนการปฏิรูปสื่อครั้งใหม่ และ ๒. มีสื่อถูกฟ้องจากการนำเสนอเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาล กรณีที่น่าสนใจคือ กรณีของน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ มีการพูดจาไม่ต่างจากขาประจำรายอื่น แต่ที่น.ส.สุภิญญาแตกต่างจากขาประจำรายอื่นก็คือ การเป็นคนที่ทำงานในการปฏิรูปสื่ออย่างแข็งขัน ไม่อยากให้สื่อไทยอยู่ในภาวะล้าหลัง และมีจุดยืนที่ยิ่งใหญ่กว่าความเสียชื่อเสียงของบริษัท ๆ หนึ่ง ดังนั้นถ้า น.ส.สุภิญญาทำสำเร็จ นักธุรกิจนายทุนสื่อก็จะประสบกับความเสียหายอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้ น.ส.สุภิญญาจึงตกเป็นเป้าในการถูกฟ้องร้อง
ในภาวะการมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อยากเรียกร้องให้ขบวนการประชาธิปไตยสนใจในเรื่องราว ๒ ประเด็น คือ ๑.ทำให้กระบวนการปฏิรูปสื่อกลายเป็นวาระสำคัญของการเมืองไทยอีกรอบหนึ่ง และ ๒. อยากให้ร่วมมือกันช่วยเหลือน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ในการต่อสู้คดีที่ถูกฟ้องร้อง เนื่องจากไปเปิดเผยการทับซ้อนของผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่ง..." ..
|