ส.ศิวรักษ์
ข้าพเจ้าขอขอบคุณ คุณไมเกิล ไรท์ ที่มีแก่ใจเขียนถึงอย่างมีน้ำใจ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๐-๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ โดยถือว่าเป็นการอวยพรวันเกิดที่ข้าพเจ้าเข้าเขตอายุ ๗๐ ปีอีกด้วย
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคุณไมเกิล เป็นอย่างมาก ว่าคนไทยร่วมสมัยจำต้องรู้รากเง่าทางวัฒนธรรมของเราเอง ซึ่งไม่แต่มาจากภูมิธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นต่าง ๆ เท่านั้น หากเรายังจำต้องสืบสายธารทางวัฒนธรรมให้ได้ ถึงทางลังกาทวีปและชมภูทวีปอีกด้วย แม้กระแสวัฒนธรรมทางสายจีนแต่ดั้งเดิมมานั้นจะมีอิทธิพลกับบรรพชนของเราน้อยกว่าจากกระแสแขก โดยเฉพาะก็จากสองประเทศนั้น เราก็ควรรู้เรื่องจีนศึกษาด้วยเช่นกัน
ต้องขอบคุณ คุณไมเกิล ที่ช่วยสืบเสาะค้นหาวัฒนธรรมดั้งเดิมจากสายลังกาและภารต (รวมถึงทมิฬด้วย) ที่โยงใยมาถึงไทยเราแต่อดีต อย่างแทบหาตัวจับไม่ได้ โดยที่คนไทยร่วมสมัยไปสนใจวัฒนธรรมตะวันตกกันเสียเป็นส่วนใหญ่ และข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับคุณไมเกิลอีกเช่นกันว่าชนชั้นนำของไทยที่นึกว่าเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เข้าใจอย่างผิวเผินเอาเสียจริง ๆ ถ้าไม่เจาะไปถึงวัฒนธรรมกรีกและโรมัน รวมถึงฮีบรูด้วยแล้ว จะเข้าซึ้งถึงรากเง่าของฝรั่งได้อย่างไร ยิ่งคริสตศาสนาด้วยแล้ว มีความสลับซับซ้อน โยงใยไปถึงศาสนาของยิวและปรับไปทางปรัชญากรีก ซึ่งคนไทยร่วมสมัย แม้จะเคยไปเรียนเมืองฝรั่งกันมาแต่เด็ก ก็เรียนรู้เพียงขั้นประถมและมัธยม โดยไม่คลำให้ถูกถึงต้นตอที่มาของฝรั่ง แล้วจะโยงใยมาเข้าใจฝรั่งร่วมสมัยได้อย่างไร
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคุณไมเกิลว่า นอกจากเราจำต้องรู้กำพืดเดิมของเรา โดยเฉพาะก็ทางสายจีนและแขกดังกล่าวแล้ว เรายังต้องรู้เท่าทันฝรั่งอีกด้วย จะไปหันหลังให้ฝรั่งนั้นไม่ได้ และที่น่ายินดี ก็ตรงที่ฝรั่งที่เป็นนักคิดนอกกระแสหลักนั้น มีอะไรใหม่ ๆ ให้น่ารับฟังและน่าสำเหนียกยิ่งนัก
แม้คุณไมเกิลกับข้าพเจ้าจะแรกพบกัน ณ พุทธวิหารของชาวสิงหฬในกรุงลอนดอนเมื่อ ๔๐ ปีก่อน และเราต่างก็นับถือกันและกัน หากคุณไมเกิลไม่ได้ติดตามงานเขียนของข้าพเจ้าก็เป็นได้ คุณไมเกิลจึงนึกว่าข้าพเจ้าคลั่งเอาพุทธศาสนาเป็นคำตอบในทุก ๆ ทาง
ความข้อนี้ ชวนให้นึกถึงคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งถือตัวว่ารู้จักข้าพเจ้าดี แล้วเขาไปเสนอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย โดยมุ่งไปที่ความคิดความอ่านของข้าพเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งในทั้งหมดสี่คน แต่เพราะเขาไม่ได้ติดตามความคิดใหม่ ๆ ของข้าพเจ้า เขาก็เลยสรุปว่าข้าพเจ้านั้นได้แต่พูดวกไปเวียนมา เขียนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ผลก็คือ เขาไม่อาจทำวิทยานิพนธ์ได้สำเร็จ ที่ว่ามานี้ ข้าพเจ้าไม่ได้เสนอให้คุณไมเกิลต้องทำวิทยานิพนธ์เรื่องความคิดของข้าพเจ้า แต่ก็มีคนทำมาแล้วทั้งที่เมืองไทย และที่มหาวิทยาลัยสิงคโปร์และเยล
ว่าถึงพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเมื่อกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้วนั้น บางอย่างย่อมล้าสมัยไป แต่บางอย่างหาได้จำกัดกาลเวลาไม่ คือเป็นอกาลิโก
ใช่แต่เท่านั้น ชาวพุทธในรอบสองพันกว่าปีมานี้ ไม่ได้จำแต่ขี้ปากของศาสดาเอามาใช้กันอย่างหลับหูหลับตา ดังพระเกจิอาจารย์ทั้งหลายในเมืองไทย หลายท่านได้คิดค้นและขยายความ รวมทั้งปรับพระธรรมมาประยุกต์ให้สมกับสมัยอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น อี.เอฟ ชูมากเกอร์นั้น แม้จะเป็นฝรั่ง ที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่เขาเห็นว่าเศรษฐศาสตร์แบบฝรั่งนั้น ผิดทั้งในแนวของฝ่ายซ้าย (มากซิสต์) และฝ่ายขวา (แคปิตัลลิสต์) เพราะไม่ได้ให้คุณค่ากับมนุษย์เท่าที่ควร เขาจึงเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธขึ้นเป็นคนแรก เมื่อเสี้ยวแห่งศตวรรษมาแล้ว โดยเขามาได้อิทธิพลไปจากพม่า (ซึ่งเมื่อ ๒๕ ปีก่อน ยังน่ารัก และไม่เลวร้ายเช่นในปัจจุบัน)
การนำเอาพุทธศาสนามาเป็นคำตอบในทางเศรษฐศาสตร์นั้น แม้คนไทยเราก็ทำการด้านนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที เริ่มแต่เจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ประยุทธ) มาจนอาจารย์อภิชัย พันธเสน เพียงสาขาวิชานี้ เราก็ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป โดยต้องรู้เท่าทันความคิดของฝรั่งด้วยและเรียนรู้พุทธธรรมพร้อม ๆ กันไปด้วย
พร้อมกันนั้น ก็พึงตราไว้ว่าวิชาการของฝรั่งสมัยนี้เจาะลึกลงไปเป็นเสี่ยง ๆ จนถึงขนาดที่ว่าวิชาท่วมหัวเอาตัวจะไม่รอดเสียแล้ว ฝรั่งกระแสหลักจึงเต็มไปด้วยความรุนแรง อันมีรากฐานมาจากอกุศลมูลทั้งสาม คือ โลภ โกรธ หลงนั้นเอง ที่ร้ายก็คือการศึกษาของฝรั่งนั้น สอนวิชาแต่ในเรื่องความรู้ สอนไมได้ในเรื่องความดี
การประยุกต์พุทธธรรมมาใช้ให้เหมาะกับสมัย ในแง่หนึ่ง เราต้องรู้เท่าทันให้ได้ว่าเศรษฐศาสตร์ของฝรั่งเป็นตัวแทของโลภจริต รัฐศาสตร์ของฝรั่งเป็นตัวแทนของโทสจริต และการศึกษาของฝรั่งเป็นตัวแทนของโมหจริต โดยที่อกุศลมูลทั้งสามนี้แทรกเข้าไปในอะไร ๆ ที่เป็นวัฒนธรรมหลักของฝรั่งด้วยกันทั้งสิ้น ความข้อนี้ เดวิด ลอยได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนยิ่งนักในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่ใช้วิธีการของฝ่ายพุทธมาจับประวัติความเป็นมาของฝรั่ง ซึ่งไม่เข้าใจในเรื่องทุกขสัจเอาเลย (A Buddhist History of the West : Studies in Lack เดวิด ลอย ใช้คำว่าทุกข์ เป็นภาษาอังกฤษว่า Lack ซึ่งกินความได้กว้างกว่า suffering หรือ insufficiency)
พวกเราชาวพุทธ ซึ่งรวมทั้งฝรั่งด้วย (ที่ไม่ได้สนใจแต่เพียงสินธูธรรม หรือปรัมปราคติจากชมภูทวีปและลังกาทวีปเท่านั้น) ได้รวมตัวกันนำเอาคำสั่งสอนของพุทธเจ้ามาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน เชื่อว่านี่จะเป็นคำตอบ เราเรียกโครงนี้ว่า อริยวินัย
พระพุทธเจ้ามักตรัสเสมอว่า การกระทำที่ผิดหรือทฤษฎีที่ผิด ว่าไม่ใช่อริยวินัย อย่างสิงคาลมานพที่ออกไปยืนไหว้ทิศทั้งหกตามคำสั่งของบิดานั้น รับสั่งว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ใช่อริยวินัย แล้วตรัสสอนเรื่องทิศหกเสียใหม่ตามอริยวินัย คือควรทำอย่างไร ๆ กับบิดามารดา (ทิศเบื้องหน้า) ครูอาจารย์ (ทิศเบื้องบน) ฯลฯ หรือที่พวกพราหมณ์ถือกันว่าความเป็นสิริมงคลอยู่ที่เอามูตรโคเจิมหน้าผาก หรือตื่นขึ้นมาแล้วไหว้พระอาทิตย์ก่อน ฯลฯ ก็ตรัสว่านั่นไม่ใช่อริยวินัย แล้วทรงเทศนามงคลสูตร ตามแนวทางของอริยวินัยว่าสิริมงคลที่แท้นั้น เริ่มแต่ไม่คบพาล คบบัณฑิต เรื่อยไปจนไม่หวั่นไหวในคำสรรเสริญหรือนินทา
โครงการอริยวินัยของเรานี้ อาจารย์วีระ สมบูรณ์ ได้แสดงปาฐกถามาแล้ว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ว่าชาวพุทธควรตั้งท่าทีอย่างไรกับระบบทุนนิยม หรือโลกาภิวัฒน์ โดยที่ผู้คนมักหลงไปว่าวิทยาศาสตร์กระแสหลักและเทคโนโลยี่คือคำตอบ แต่ในทางฝ่ายพุทธ ท่านสอนให้หาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจน และรู้จักวางท่าทีที่ถูกต้องกับโลกสันนิวาส
ที่น่ายินดีก็ตรงที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในตะวันตกเริ่มเห็นคุณค่าของฝ่ายพุทธยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที จนคนพวกนั้นลดอติมานะลงมาหาความอ่อนน้อมถ่อมตนได้มากขึ้น ถึงกับยอมรับว่าวิทยาศาสตร์กระแสหลักนั้นมีบทบาทจำกัดอยู่เพียงแค่รูปธรรม บัดนี้ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเหล่านี้ต้องการจิตสิกขามานำทางให้เขาเข้าถึงวิทยาศาสตร์ในทางนามธรรม เพื่อเข้าใจในเรื่องวัฏสงสาร และโลกุตตระด้วย (แม้จะอย่างเฉียด ๆ ก็ยังดีกว่าคนไทยส่วนมากซึ่งเลิกเชื่อเรื่องตายแล้วเกิด ทั้งนี้ก็เพราะคนไทยที่ถือตัวว่าหัวก้าวหน้า ล้วนรับเอากากเดนของวิทยาศาสตร์ตะวันตกมาสมาทานกันอย่างขาดการไตรตรองอย่างลึกซึ้งแทบทั้งนั้น)
สถาบันเฟตเซอร์ที่สหรัฐถึงกับยอมรับว่าการแก้ปัญหาของโลกตะวันตก ดังที่ประธานาธิบดีบุชทำอยู่นั้น จักนำไปสู่หายนะยิ่ง ๆ ขึ้น นี่ก็ตรงกับที่ศาสตราจารย์โยฮัน กัลตุงแห่งนอรเวย์ได้ทำนายไว้ว่า สหรัฐจะสิ้นสภาพความเป็นผู้นำไปภายในสองทศวรรษข้างหน้านี้ สถาบันดังกล่าวเห็นด้วยกับพระวัจนะของทะไลลามะที่ตรัสว่า "การนำสันติภาพมาให้โลกนั้น จำต้องเริ่มจากศักยภาพภายในตนของแต่ละปัจเจกบุคคลให้เกิดสันติภาวะภายในก่อน แม้นี่จะยากเย็นอย่างไร แต่นี่ก็เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้โลกนี้มีสันติสุข" บัดนี้สถาบันนี้ได้มาขอให้ผู้นำชาวพุทธช่วยแสวงหาทางออกให้กับโลกตามพุทธวิธี อย่างน้อยก็ให้ช่วยกันแปรสภาพการอันทารุณโหดร้ายให้กลายเป็นการุณยภาพ
ถ้าผู้นำของไทย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เข้าใจความข้อนี้ ความเป็นพุทธศาสนิกของเขาคงจะเป็นจริงเป็นจัง ยิ่งกว่าการถือพุทธกันที่รูปแบบและพิธีกรรมดังที่เป็นไปในบัดนี้ แม้องค์ทะไลลามะซึ่งได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ผู้นำทางการเมืองของไทยยังไม่ยอมให้ท่านเข้ามาสู่ราชอาณาจักร ซึ่งมีองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกเป็นประมุข เพราะผู้นำทางการเมืองของไทยสยบยอมกับจีน และอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของมหาอำนาจยิ่งกว่าอะไรอื่น
พวกเราเองก็ได้จัดประชุมเรื่อง อริยวินัย ที่ในประเทศนี้ ในระดับสากลมากว่าสามครั้งแล้ว มีชนชั้นนำทั้งฝรั่ง แขก เบ็ดเสร็จเกือบสิบสองภาษามาร่วม โดยเฉพาะก็คนที่อยู่นอกกระแสหลักความคิดของตะวันตก เมื่อเราจัดประชุมที่พุทธมณฑลนั้น ว่าด้วยการตีตัวออกจากลัทธิบริโภคนิยม ด้วยการหาทางเลือกอื่น และเราเคยไปอาศัยคุ้มขุนช้างทางสุพรรณบุรี จัดสังคายนากันในเรื่องนี้ ดังที่เราจัดการศึกษาทางเลือกจากกระแสหลัก ในนามว่าเสมสิกขาลัยมาแล้วกว่า ๗ ปี คือเรานำเอาไตรสิกขา อันได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา มาประยุกต์ให้สมสมัย ด้วยการตีความกันใหม่ถึงเนื้อหาสาระของศีล เพื่อให้เกิดความเป็นปกติในแต่ละบุคคลด้วยและในสังคมด้วย สมาธิก็เพื่อให้เกิดความสงบสุขภายใน (สมถะ) แล้วรู้จักวิเคราะห์เจาะลึกลงไปภายในตนจนอาจลดความเห็นแก่ตัวลงได้ (วิปัสสนา) แล้วนำเอาศักยภาพที่แท้จริง (ปัญญา) ออกมาประยุกต์ใช้ในสังคมอย่างสันติวิธี เพื่อหาทางเอาชนะโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรงให้ได้ โดยฝึกกันเอาไว้ไม่ให้เกลียดคนที่กดขี่ข่มเหงเราและคนยากไร้ต่าง ๆ เอาเลย
วิธีนี้ทะไลลามะทรงใช้กับจีนมา ๔๐ ปีแล้ว อาจยังไม่ได้ผลเต็มที่ เฉกเช่นกับที่อองซานสุจีใช้กับเผด็จการทหารของพม่า แต่ชาวพุทธที่แท้นั้นเชื่อว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ควรใช้สัจวาจาเอาชนะอาสัตย์ ดังที่ใช้ความเมตตากรุณาต่อสู้กับความรุนแรงนานาประการ ยิ่งถ้าศึกษาเรื่องกฎของกรรมกับวิบากให้ชัดเจนด้วยแล้ว เราจะเข้าใจได้ถึงความสลับซับซ้อนต่าง ๆ ทางสังคม แต่ก็ไม่พ้นไปจากอิทัปปัจจยตา คือการโยงใยถึงกันและกัน
ที่ว่ามานี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ายังเป็นคำตอบอยู่กับโลกสมัยนี้ โดยเราก็ไม่ควรปิดประตูไว้เฉพาะพุทธเท่านั้น หากควรเปิดกว้างรับฟังจากเพื่อนชาวคริสต์ มุสลิม ฮินดู ฯลฯ อีกด้วย
แม้ธนาคารโลก เราก็ไม่เห็นว่าเป็นศัตรูของเรา แม้สถาบันนั้นจะอยู่ฝ่ายคนรวย และย่ำยีคนจนมาตลอด โดยเราถือว่าควรต้องมีวิสาสะกับทุกฝ่าย ซึ่งถ้ารับฟังกันได้ ก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ ข้าพเจ้าเองมีวิสาสะกับประธานธนาคารโลกมาหลายปีแล้ว จนเขาเริ่มรับฟังทัศนคติจากแง่มุมของพุทธธรรมบ้างแล้ว ดังที่ปรึกษาคนสำคัญของเขาคนหนึ่ง ก็เขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวคริสต์ออกมาแล้วด้วย (For The Common Good by Herman Daly and John B. Cobb)
ธนาคารโลกเองก็ขอให้ข้าพเจ้าจัดสัมมนาที่ อาศรมวงศ์สนิท ปลายปีนี้ ว่าด้วยมิติทางฝ่ายพุทธว่าด้วยการพัฒนา (Buddhist Perspective on Development) ถ้าคุณไมเกิล ไรท์ ยังไม่ปฏิเสธคุณค่าของฝ่ายพุทธ เราก็ยินดีเชิญชวนให้คุณมาร่วมวงกับพวกเรา โดยหวังว่าคุณไมเกิลคงไม่เหยียดเอา พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเพียงปราชญ์แห่งศากยะ เฉกเช่นขงจื๊อ และศาสดาพยากรณ์ทั้งหลาย (ดังที่ฝรั่งเมื่อร้อยปีก่อนมักคิดกันเช่นนั้น และไทยหัวสมัยใหม่ที่เดินตามก้นฝรั่งก็คิดกันในทำนองนี้) ถ้าคุณไมเกิลมีจิตเป็นกุศล บางทีคุณอาจเข้าได้ถึงความมหัศจรรย์ในความเป็นสัพพัญญู ผู้เป็นอนุตรสัมมาสัมพุทธะและทรงไว้ซึ่งทศพลญาณ โดยที่สาระแห่งคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ศิษยานุศิษย์รับสืบทอดกันต่อ ๆ มาอย่างเป็นวิภัชวาท คือรู้จักแยกแยะอย่างไม่หลับตายึดหาเอาคำตอบอย่างง่าย ๆ แต่ก็ยังหาสาระได้สำหรับการที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่จำเพาะแต่ในทางจิตแพทย์ส่วนบุคคล หากเหมาะสมกับสังคมที่ต้องการควมยุติธรรมอย่างสันติ พร้อม ๆ กันไปกับความสมดุลย์ทางธรรมชาติอีกด้วย..
|