เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสนอตั้ง "ซีอีโอ" คุมศาสนสมบัติ
แนะตั้งชุดกลั่นกรองช่วย "มส."

มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๔๐๗ หน้า ๑

          "วิษณุ"ได้แนวคิดใหม่แก้ปัญหาศาสนสมบัติ หามืออาชีพระดับ"ซีอีโอ"เข้าบริหาร เสนอปรับเปลี่ยนรายการเผยแพร่ธรรมะทางทีวีช่อง ๑๑ ช่วงระหว่างตอนเย็นถึงสี่ทุ่ม ชี้ ๖ ปมปัญหา"พุทธศาสนา" ระบุเงินเรี่ยไรจากชาวบ้านไม่ได้เข้าวัด กลุ่มลูกศิษย์ ไวยาวัจกร รุมเกาะกิน แนะตั้งชุดกลั่นกรองคล้าย ครม.ช่วย"มส."สางคดี

          เมื่อเวลา ๐๙.๓๐น.วันที่ ๑๐ ธันวาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวบรรยายพิเศษประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เรื่องแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในการแก้ไขปัญหาเพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา ว่า เวลานี้มีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนาที่คนไทยนับถือกันมาก ในช่วง ๑ ปีที่ตั้ง พศ. มาดูแลพุทธศาสนาโดยตรง ปรากฏมีผู้ร้องเรียนเรื่องพระพุทธศาสนามายัง พศ. นายกรัฐมนตรี และตนค่อนข้างมากกว่าตอนที่ยังเป็นกรมการศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระสงฆ์หรือวัด อาจเพราะมีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงประกอบกับคนตั้งความหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ทันที

          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ปัญหาพระพุทธศาสนาทุกวันนี้แบ่งได้ ๖ ประเด็น คือ ๑.พฤติกรรมของพระสงฆ์ ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยไม่ถึง ๑เปอร์เซ็นต์จาก ๓-๔ แสนรูปทั่วประเทศ แต่เมื่อเกิดปัญหาจะส่งผลกระทบ มีข่าวทางหน้าหนังสือพระชั้นผู้ปกครองออกมาเคลื่อน ไหวเรียกร้องให้ทำอะไรบ้าง รู้สึกแปลกใจเพราะหน้าที่แก้ไขเรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ลำดับสองของทางบ้านเมืองที่จะเข้าไปจัดการ ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือกับพระชั้นผู้ปกครองคณะสงห์ให้ช่วยกันดูแล เช่น กรณีได้รับร้องเรียนมีพระออกรายการวิทยุเพื่อขอเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านนำไปช่วยเหลือวัดที่ขาดแคลน มีคนบริจาคโอนเงินเข้าบัญชีไปจำนวนมาก และทำมานานแล้ว แต่เมื่อตรวจสอบไปยังวัดที่ถูกอ้างกลับไม่มีการนำเงินไปช่วยเหลือแต่อย่างใด เรื่องนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ไปตรวจสอบพบว่าเป็นจริง และพบมีหลายแห่งที่ดำเนินการลักษณะดังกล่าวซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่ ๒.ปัญหาจากกลุ่มคนที่อยู่ในวัด อาทิ กลุ่มลูกศิษย์วัด ไวยาวัจกร จะเข้ามาบริหารจัดการภายในวัดโดยที่สมภารหรือเจ้าอาวาสซึ่งส่วนใหญ่อายุมากไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้ เช่น กรณีมีการชักชวนคนต่างด้าวเข้ามาบวช หลบหนีเข้ามาเป็นแรง งานเถื่อน พวกนี้เป็นกลุ่มที่จะเกาะกินโดยอาศัยวัด

          นายวิษณุกล่าวต่อว่า ๓.เรื่องของศาสนสมบัติที่แบ่งเป็นศาสนสมบัติของวัด กับศาสนสมบัติกลาง ๔.การจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม ๕.การสร้างวัตถุศาสนวัตถุต่างๆ เช่น พระที่ใหญ่ที่สุดในโลก การสร้างพระปรางค์แปลกๆ เรื่องนี้ได้ให้ พศ. เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว และประสานกรมศิลปากรขอให้กำหนดให้ชัดเจนว่าการก่อสร้างสิ่งเหล่านี้จะต้องขออนุญาต และมีหน่วย งานใดควบคุมดูแลบ้าง คาดว่าคงต้องออกเป็นระเบียบ และ ๖.ปัญหาการเผยแพร่ธรรมะทางวิทยุ เช่น การใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย การไปสร้างบรรยากาศที่จะก่อให้เกิดการวิวาทะ อย่างไรก็ตาม หลังกำหนดให้พระสงฆ์ที่จะจัดรายการวิทยุต้องมีใบผู้ประกาศและผ่านการอบรม ปรากฏว่าปัญหานี้ดีขึ้น ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวจะต้องช่วยกันหาทางออก จะขอความร่วมมือมหาเถรสมาคม(มส.) กราบทูลฯสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการขึ้นมากลั่นกรองและช่วยทำงานตามมาตรา ๑๙ ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มีกรรมการกลั่นกรองถึง ๘ ชุด โดยมีกรรมการ มส.เป็นประธานคณะกรรมการแต่ละชุด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้น

          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องของศาสนสมบัตินั้น คนทั่วไปยังไม่เข้าใจและแยกไม่ออกว่าอะไรคือศาสนสมบัติของวัด ศาสนสมบัติกลาง และสมบัติของพระสงฆ์ อย่างสมบัติส่วนตัวของพระสงฆ์คือทรัพย์สินที่ได้มา หากมรณภาพและไม่ได้ทำพินัย กรรมให้ใครจะตกเป็นสมบัติของวัด ส่วนศาสนสมบัติของวัดจะมาจากสมบัติของพระที่ไม่ได้ทำพินัยกรรม เงินที่ชาวบ้านนำไปบริจาควัดจะจัดการเอง พศ.เข้าไปยุ่งไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้มีการโทษว่าทำไม พศ. ไม่เข้าไปดูแล ทั้งที่ทำไม่ได้หากไม่ได้รับการขอมาสำหรับศาสนสมบัติกลางที่ พศ. เป็นผู้ดูแลโดยบ้านเมืองเป็นเจ้าของภายใต้กฎระเบียบของมหาเถรสมาคม(มส.) นั้น จะมาจากที่ชาวบ้านบริจาคโดยไม่เจาะจงให้กับวัดใดวัดหนึ่ง หรือวัดร้าง

          "ผมคิดว่าควรมีหน่วยงานที่เป็นอิสระและเป็นมืออาชีพ เข้ามากำกับควบคุมดูแลภายใต้การกำกับดูแลของพระสงฆ์ โดยอาจจะเป็นผู้จัดการซีอีโอ โดยรับสมัครเข้ามาเพื่อบริหารจัดการให้เงินศาสนสมบัติกลาง เกิดดอกออกผลเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม เวลานี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องรอ มส.ยินยอมตั้งสำนักงานขึ้นมาก่อน" นายวิษณุกล่าว และว่า คงต้องใช้เวลาให้ข้อมูล มส.ได้เข้าใจเพราะเวลานี้ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ พระบางรูปกังวลว่าเอาไปทำแล้วผิดพระธรรมวินัย ขณะที่มีการเกรงกันว่าหากพระบริหารเองอาจถูกโกง หรือบริหารแล้วจะไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้น ระยะนี้จะให้ทาง พศ. ดูแลศาสนสมบัติกลางให้ดีที่สุด คงต้องทำให้เชื่อมั่นว่าจะไม่เอาไปทำอยากอื่นนอกเหนือจากผาติกรรม ไม่นำไปแปลงสินทรัพย์แจกให้ประชาชน

          "แต่การให้ พศ. บริหารศาสนสมบัติกลาง ก็อาจทำได้ไม่เต็มที่เพราะมีข้าราชการเพียง ๒๓๐ คน ขณะที่ต้องดูแลพระถึง ๓-๔ แสนรูปด้วย" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า ส่วนการเผยแผ่เรื่องธรรมะแก่ประชาชนนั้น จะให้ทางกรมประชาสัมพันธ์จัดรายการเผยแผ่ธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ใช้เวลาช่วง ๑๖.๐๐-๒๒.๐๐ น.ไม่ใช่รายการที่นำพระมาพูดเรื่องธรรมะแต่จะเป็นการนำแง่คิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของบุคคลต่างๆ มานำเสนอ เช่น คนที่ประสบปัญหาธุรกิจล้มละลายช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแล้วต่อสู้จนประสบความสำเร็จ หรือสัมภาษณ์เด็กที่เรียนเก่งกับการนำธรรมะมาใช้ในชีวิต จะใช้เวลาสั้นๆ ตอนละประมาณ ๓ นาที น่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๗ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเคยเล่าให้ฟังว่าแม้แต่นายบิลล์ ฟอร์ด ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด มหาเศรษฐีชาวอเมริกันตอนที่มายังใช้หลักธรรมะที่อ่านจากหนังสือของหลวงปู่ชา สุภัทโธ เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ฉบับภาษาอังกฤษที่เพื่อนแนะนำให้อ่าน เวลามีปัญหาการถกเถียงในการทำงานก็ใช้หลักเหล่า นั้น

          นายวิษณุกล่าวด้วยว่า การที่ทุกฝ่ายจะเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องพระพุทธศาสนานี้ จะทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงเรื่องของพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในการปฏิบัติธรรมอย่างมาก พระองค์ทรงเลือกหนังสือธรรมะมาอ่านด้วยพระองค์เอง ครั้งหนึ่งเคยมีสมเด็จพระราชินีต่างประเทศเสด็จมาเมืองไทยทูลถามพระองค์ว่า ศาสนาพุทธมีพระเจ้าหรือไม่ ทรงรับสั่งว่ามี คือ ธรรมะ ซึ่งไม่ครอบงำ และอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง เคยเข้าเฝ้าฯและกราบทูลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงแสดงความห่วงใย และพระองค์เคยตรัสถามว่า ในฐานะที่กำกับดูแล พศ. เคยฟังรายการธรรมะที่พระสงฆ์จัดหรือไม่ ตนตอบว่าไม่เคย เพราะเป็นเวลาที่นอนแล้ว พระองค์ทรงประทานคำแนะนำให้ฟังรายการธรรมะเหล่านี้ที่จัดตอนดึก

          พ.ต.ท.อุดม เจริญ ผู้อำนวยการ พศ. กล่าวว่า แนวทางที่จะตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลศาสนสมบัติกลางนั้น จะดำเนินการคล้ายกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัติย์ คือ จะมีความอิสระในการบริหารงาน แต่คงต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องทุจริตหากินกับศาสนสมบัติกลางนั้น หลายรายก็มีการดำเนินการลงโทษตามระเบียบของข้าราชการไปแล้ว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้าไปจัดการผลประโยชน์ศาสนสมบัติกลางของ พศ. ค่อนข้างจะมีปัญหามาก นับตั้งแต่อยู่ในความดูแลของกรมการศาสนาเดิม ทำให้รายได้น้อยกว่าความเป็นจริงหรือบางปีมีตัวเลขติดลบ จากการจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลาง พ.ศ.๒๕๔๕ ของ พศ. เสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒๗/๒๕๔๕ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ พบว่ามีรายรับจากการเข้าไปจัดการประโยชน์ที่ศาสนสมบัติกลาง เช่น การให้เช่า อาคาร เช่าที่ดินถึง ๑๖๙,๙๖๘,๔๕๐ บาท แต่เมื่อหักลบยอดรายรับรายจ่ายแล้วมีรายได้เพียง ๑,๑๕๐,๕๘๐ บาท ส่วน ปี ๒๕๔๓ มีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ๕๑ บาท ปี ๒๕๔๔ มีรายรับมากกว่ารายจ่าย ๒๐.๓ ล้านบาท นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าวยังพบว่า ปัจจุบัน มีที่ดินศาสนสม บัติกลางจำนวน ๓๘,๓๑๕ ไร่ มีการเข้าไปจัดสรรประโยชน์ เช่น การให้เช่า จำนวน ๑๓,๗๒๔ ไร่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา ใน ๕๗ จังหวัดทั่วประเทศ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงพิธีเปิดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับชาติดังกล่าว สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช กล่าวสัมโมทนียกถาซึ่งมีพระสังฆาธิการ และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมประมาณ ๒๐๐ คนว่า อยากให้พระสังฆาธิการทุกระดับได้เข้าใจถึงองค์กรและต้องเข้าถึงตนเองอย่างถ่องแท้ เพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา และความมั่นคงของประเทศชาติ ทั้งอยากให้พระสงฆ์ทำอะไรถือเมตตาจิตเป็นหลัก จะทำให้เกิดความร่มเย็น

          "วันนี้สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง มีพระชนมายุมากแต่ก็ทรงห่วงพระพุทธศานา และมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง" สมเด็จพระพุฒาจารย์กล่าว .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :