บทบรรณาธิการ
ข่าวสดรายวัน ฉบับวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔๕๙๑ หน้า ๒
สถานการณ์การชุมนุมคัดค้านของชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการวางท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ลานหอยเสียบ อ.จะนะ จ.สงขลา เริ่มร้อนระอุขึ้นทุกที
ล่าสุดฝ่ายรัฐบาลได้จัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. ลงมาเฝ้ารักษาการณ์ในพื้นที่ เสมือนเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังชาวบ้านที่ร่วมกันคัดค้านโครงการฯ ให้รีบสลายการชุมนุมโดยเร็ว
ก่อนลงมือใช้กำลังกวาดล้างขั้นเด็ดขาด ??
แต่ผู้ที่ตั้งคำถามกับโครงการนี้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น
๒๔ พ.ย. ๒๕๔๕ นักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ ๑,๓๘๔ คน ก็ทำหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ชี้แจงเหตุผลให้สาธารณชนได้รับทราบถึงความไม่โปร่งใสในโครงการขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย
สาระสำคัญ ๖ ข้อ ซึ่งนักวิชาการตั้งคำถามเอากับโครงการท่อก๊าซ มีดังนี้
ข้อ ๑ ความไม่ชอบธรรม ไม่ชอบมาพากลและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของกระบวนการตัดสินใจที่นำมาสู่โครงการนี้
เพราะไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขั้นตอนการประชาพิจารณ์ก็ไม่เป็นกลางและรวบรัดตัดสินใจ โดยใช้เวลาทำประชาพิจารณ์เพียง ๒๕ นาที เท่านั้น แม้ว่าวุฒิสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้ง ผลการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเอง เสนอให้ทบทวนโครงการ แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ
ข้อ ๒ ประเด็นเรื่องพลังงาน
ในปัจจุบัน พลังงานในประเทศไทยมีอยู่เพียงพอแล้ว ทั้งพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ จึงไม่มีความจำเป็นในแง่พลังงาน ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐน่าจะนำเงินไปลงทุนกับพลังงานทางเลือก แทนที่จะเอาไปลงทุนกับโครงการท่อก๊าซ
ข้อที่ ๓ ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ
สัญญาขุดเจาะก๊าซที่ทำกับมาเลเซีย สร้างความเสียเปรียบแก่ฝ่าย ปตท. อย่างมาก เปรียบเทียบกำไรแล้ว บริษัทมาเลเซียจะได้ถึง ๘ หมื่นกว่าล้านบาท ในขณะที่ บริษัทไทยจะได้เพียง ๓ หมื่นล้านบาท
ข้อที่ ๔ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยแนวท่อก๊าซอย่างไร โครงการนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนทั้งในจุดที่ท่อก๊าซขึ้นฝั่งและแนวท่อก๊าซ ยังไม่มีการศึกษาใด ๆ ทั้งสิ้น
ข้อที่ ๕ ทิศทางการพัฒนาภาคใต้
ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ มีวิถีชีวิตในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความพอใจกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ ประชาชนในจังหวัดสงขลา จึงมองว่าโครงการวางท่อก๊าซไม่ใช่แนวทางการพัฒนาที่ประชาชนเลือก
ข้อที่ ๖ สันติวิธี
โดยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง นั่นคือ รัฐต้องไม่ใช้อำนาจบังคับข่มเหงจิตใจผู้คน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการที่ยืนข้างชาวบ้านมาตลอดระบุว่า การออกมาเคลื่อนไหวของนักวิชาการก็เพื่อต้องการทำให้เห็นว่า มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นคัดค้านท่อก๊าซนี้เหมือนชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา แต่สังคมยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะถูกปิดกั้นข้อมูลจากฝ่ายอำนาจรัฐมาโดยตลอด
จนถึงวันนี้ รัฐบาลก็ยังเมินเฉยไม่มีคำตอบกับ ๖ คำถามข้างต้น รวมทั้งไม่ได้ชี้แจงเหตุผลใด ๆ นอกจากการพยายามเดินหน้าโครงการต่อไป
หรือเรื่องนี้จะมีผลประโยชน์ลึกล้ำกว่าที่ประชาชนเข้าใจ ?? ..
|