นับวัน เหตุการณ์ความไม่สงบและการสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
คนส่วนใหญ่ในประเทศของเรา แม้จะไม่ได้ร่วมอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง แต่ก็คงมีหัวใจอันเดียวกัน เรียกร้องซึ่งความสันติสุข สันติภาพ และไม่ปรารถนาจะเห็นการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของชาวท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ปฏิบัติราชการในพื้นที่
หลังการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ ได้ประกาศมาตรการจัดแบ่งหมู่บ้าน ๑,๕๓๘ หมู่บ้าน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกเป็น ๓ กลุ่ม แบ่งแยกตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ เป็น ๓ สี โดยจัดแบ่งเป็นหมู่บ้านสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อเลือกปฏิบัติในการจัดสรรให้เงินงบประมาณและพัฒนา
คำสัมภาษณ์รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ความว่า "พื้นที่สีแดง หมายถึง มีผู้ก่อความไม่สงบอยู่หลายครอบครัว หรือเป็นจำนวนมาก คนที่อยู่ร่วมกันในชุมชนนั้นเป็นญาติพี่น้องกัน จึงไม่ค่อยมาให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้คนพวกนี้ออกไปก่อการได้บ่อย ส่วนพื้นที่สีเหลืองจะมีครอบครัวประเภทนี้ปนอยู่กับครอบครัวประเภทที่ดี ที่ไม่ต้องการความรุนแรง มีอยู่ประมาณครึ่งๆ ส่วนพื้นที่สีเขียว หมายถึง ไม่มีแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบอยู่"
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศชัดว่า "หมู่บ้านสีแดงจะตัดน้ำเลี้ยงทุกอย่าง" หมายความว่า รัฐบาลจะไม่จัดสรรเงินให้ตามโครงการ SML และไม่เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านลงไปให้แก่ "หมู่บ้านสีแดง" ซึ่งทางการขึ้นบัญชีรายชื่อไว้ ๓๕๘ แห่ง (ส่วนใหญ่อยู่ในจ.นราธิวาส เขต อ.ตากใบ อ.ระแงะ อ.จะแนะ อ.รือเสาะ) ยิ่งกว่านั้น ยังจะส่งกำลังทหารลงไปปิดล้อมด้วย!
ส่วน "หมู่บ้านสีเหลือง" มีอยู่ ๒๐๐ แห่ง จะพิจารณาเป็นกรณีไป และ "หมู่บ้านสีเขียว" มีอยู่ ๑,๐๒๒ แห่ง จะทุ่มเทเงินงบประมาณลงไปมากเป็นพิเศษ !
มาตรการและนโยบาย "หมู่บ้านสามสี" ของรัฐบาลในลักษณะนี้ มีข้อน่าวิตกหลายประการ ดังนี้
๑) มาตรการการเมืองเรื่องพื้นที่ของรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ทำให้ถอยหลังกลับไปนึกถึงวิธีการที่รัฐบาลในอดีตเคยนำมาใช้ และเคยล้มเหลวในการแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐบาลในอดีต เคยจัดแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็น "พื้นที่สีแดง" "พื้นที่สีชมพู" ใช้กำลังความรุนแรงเข้าจัดการปัญหา เกิดการผลักดันประชาชนไปเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมาก จนในที่สุด ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ไม่ใช้กำลังความรุนแรง แต่เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
๒) มาตรการ "หมู่บ้านสามสี" ของรัฐบาลรักษาการ ที่เน้นการแบ่งแยกพื้นที่ชุมชน ไม่สอดคล้องกับนโยบาย "ดอกไม้หลากสี" ที่เน้นการอยู่ร่วมกันในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเคยเป็นข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ทั้งๆ ที่คนของรัฐบาลเองเป็นผู้เสนอ
๓) สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยพล.อ.วินัย ภัททิยกุล (เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ) ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๘ พ.ย. ๒๕๔๗ รายงานข้อมูลสถานการณ์และเสนอแนะมาตรการสร้างสรรค์เพื่อการแก้ปัญหา ในรูปแบบของการเมืองเชิงพื้นที่ เพื่อมุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ชุมชนที่มีปลอดภัย ปลอดความรุนแรง จัดตั้งเป็น "เขตปลอดภัย" ความดังนี้
เสนอแนะให้ "พิจารณาการจัดตั้งเขตปลอดภัย ซึ่งเป็นแนวคิด และแนวทางเชิงรุก เชิงสร้างสรรค์ เพื่อต่อต้านแนวทางรุนแรง กระบวนการควรเริ่มต้นจากการกำหนดพื้นที่ซึ่งยังไม่เคยมีความรุนแรงและประกาศเป็นเขตปลอดภัย แล้วทยอยขยายพื้นที่ไปสู่เขตที่เคยมีความรุนแรง เพื่อสร้างสังคมสันติสุขให้มีมากขึ้น โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จจะต้องเริ่มจากภาคประชาชนในพื้นที่เอง โดยภาครัฐสนับสนุนอยู่เบื้องหลังให้ภาคประชาสังคมและองค์กรด้านศาสนาดำเนินการ ผู้นำมุสลิมกับผู้นำพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นร่วมมือตรวจสอบพื้นที่ปลอดความรุนแรง ชุมชน/พื้นที่ใดก็ตามที่เป็นเขตปลอดความรุนแรงและชาวบ้านมีความเห็นพ้องกับแนวคิดนี้ ชาวบ้านควรทดลองปฏิบัติ จะทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่/ชุมชนที่อยู่อาศัยโดยไม่ใช่การจัดตั้งจากภาครัฐ เป็นการสร้างความผูกพันในเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนด้วยสังคมของชุมชนเอง"
มาตรการแบ่งแยกหมู่บ้านออกเป็นสามสีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการใช้อำนาจการเมืองไปกำหนดขอบเขตพื้นที่ ซึ่งหากมองผิวเผินอาจจะดูคล้ายกับข้อเสนอที่สร้างสรรค์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว กลับพบว่า แตกต่างอย่างตรงกันข้าม
การจัดตั้ง "เขตปลอดภัย" ตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ จึงให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจ มุ่งทำให้ทุกฝ่ายประจักษ์ในคุณค่าของความสงบในพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะสมัครใจกำหนด "เขตปลอดภัย" ด้วยตนเอง
ข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นข้อเสนอในทางบวก ให้กำลังใจกับหมู่บ้านที่สันติ ยกย่องคนทำดี แต่ไม่ประณาม ผลักใสคนที่ทำไม่ถูกใจ
แต่มาตรการของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเป็นการใช้อำนาจรัฐไปแบ่งแยกพื้นที่ บังคับและกดดันประชาชน โดยใช้ผลประโยชน์ในรูปของเงินเป็นเครื่องมือ ผู้ที่รักษาการนายกฯ ถึงกับข่มขู่ว่า "หมู่บ้านสีแดงจะต้องจนต่อไป" "ถ้าอยากหายจนต้องรีบทำให้หายแดง" โดยที่ทางการเป็นผู้ใช้อำนาจ "กำหนดสี" หรือ "ประเมินดี-ร้าย" แต่เพียงผู้เดียว ตัดตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนเสียตั้งแต่ต้น
พูดง่ายๆ ว่า ในขณะที่ข้อเสนอของสภาความมั่นคงเป็นข้อเสนอในเชิงบวก "ร่วมกันสร้างเขตปลอดภัย" แต่มาตรการของรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นข้อเสนอในเชิงลบ "เวนคืนความปลอดภัย" โดยผลักภาระการเสี่ยงภัยไปให้ประชาชน
๔) มาตรการ "ป้ายสีหมู่บ้าน" เป็นการใช้อำนาจรัฐผลักดันประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ในหมู่บ้านที่ทางการขึ้นชื่อว่า "หมู่บ้านสีแดง" ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ถูกกดดัน ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกตัดสิทธิ์ ทำให้ไม่ได้รับผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และในประการสำคัญ เป็นการกรีดซ้ำความรู้สึกที่เคยถูกทางการกดขี่ข่มเหง ปฏิบัติเยี่ยงเป็นพลเมืองชั้นสอง เปิดบาดแผลและความไม่ไว้วางใจ ฉีกช่องว่างระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในพื้นที่ให้ห่างเหินกันยิ่งขึ้น
บนพื้นฐานความเชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง การเลือกปฏิบัติโดยทุ่มเทเงินภาษีอากรให้เฉพาะหมู่บ้านบางหมู่บ้าน ในขณะที่ "ทอดทิ้ง" หมู่บ้านอีกหลายหมู่บ้าน จะช่วยจูงใจประชาชนในหมู่บ้านที่ถูกตัดขาด หรือจะช่วยผลักดันความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในเหล่าพี่น้องชาวมุสลิมมากกว่ากัน เมื่อคนในหมู่บ้านสีแดงอดอยาก ยากลำบาก ก็ต้องหันไปพึ่งพาจากนอกประเทศ ซึ่งในที่สุด ก็จะเป็น "เงื่อนไข" ให้องค์กรมุสลิมนานาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศยื่นมือเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในรัฐไทย
น่าเป็นห่วงว่า หากเหตุการณ์รุนแรงลุกลาม หมู่บ้านสีเหลืองกลายเป็นสีแดง สีเขียวแปรเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเหลืองกลายเป็นสีแดง เมื่อไหร่ที่มีหมู่บ้านสีแดงมากเข้าๆ นโยบายของรัฐบาลก็จะเข้าทางของผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน เพราะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่ถูกป้ายสีแดง ก็จะ "ถูกรัฐบาลไทยตัดน้ำเลี้ยง" ทำให้ประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ต้องหันไปหาช่องทางอื่นที่ไม่ใช่รัฐไทย!
นโยบายนี้ จะเป็นพื้นฐานอย่างดี สำหรับทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกแปลกแยกจากรัฐไทย
๕) ประชาชนผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านที่ทางการประกาศว่าเป็น "หมู่บ้านสีแดง" ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด สถานะของบุคคล โดยที่ตนมิได้กระทำความผิดใดๆ ซึ่งจะกระทำมิได้ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
ถ้าครูใหญ่จะแก้ปัญหาเด็กนักเรียนตีกันด้วยการลงโทษคู่กรณีทั้งสองฝ่าย คงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง แต่หากนายกรัฐมนตรีจะจัดการกับผู้ก่อความไม่สงบ โดยหันไปเล่นงานกดดันชาวบ้านทั่วไปในหมู่บ้านสีแดงด้วย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านไม่ใช่คู่กรณี หรือคู่ปรปักษ์ที่แท้จริง ก็น่าสงสัยว่าหัวใจของผู้นำทำด้วยอะไร และการกดดันนั้นก็จะทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนใจ และปักใจไปร่วมกับผู้ก่อการไม่สงบมากขึ้น
ทั้งหมด นำมาซึ่งความวิตกต่อนโยบายและท่าทีของนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการในขณะนี้ ว่าอาจจะทำให้รัฐบาลไทยชุดต่อๆ ไปต้องประสบกับความยุ่งยาก ซับซ้อน และความรุนแรงของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ยิ่งขึ้น
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ณ วันนี้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ร่วมเป็นรัฐบาลรักษาการ นายกฯ คนใหม่ก็ยังไม่ได้เลือกจากรัฐสภา ยังไม่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เหตุใดจึงบังอาจประกาศนโยบายแยกดินแดน(สามสี) นอกรัฐสภา
ท่าทีและคำพูดที่ว่า "ผมขอท้าทาย การเดินทางมาครั้งนี้ ถ้ากลัวก็เป็นหมา ถ้ามาก็ไม่กลัว" หรือ "จะไม่ยอมให้เงินภาษีอากรไปหล่อเลี้ยงคนเลว" หรือ "หมู่บ้านสีแดงต้องจนต่อไป ถ้าอยากหายจนต้องรีบทำให้หายแดง" หรือ"ดีเป็นดี ร้ายเป็นร้าย" กับการตัดสินใจของรัฐบาลที่ "ลอยแพประชาชน" โดยไม่เข้าไปพัฒนาในพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบ จะเป็นการสนองพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงชี้แนะให้แก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" แล้วหรือ
ขอเลือกที่จะเดินตามแนวทางพระบรมราโชวาท "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" แต่ไม่ขอเลือกเดินตามทักษิณ..