เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ผ่าความรุนแรง
ผนึกรวมศาสนาบนแนวทางสันติวิธี

ทีมงาน thaingo รายงาน

          อเมริกันพยายามครอบครองโลกด้วยการใช้นโยบาย 'โลกระบบเดียว' แต่ความพยายามของจักรวรรดินิยมใหม่ได้รับแรงต้านอย่างรุนแรง จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ 'สงครามอ่าว ๒' ที่เรียกได้ว่าเป็นการทำสงครามสองรูปแบบ แบบแรกเป็นแสนยานุภาพของกองกำลังอาวุธและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การทำสงครามในสมรภูมิของกองทัพอเมริกันจึงได้เปรียบในทุกประตู และอีกขั้วคือกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธของทหารและพลเรือนอิรัก

          "ความขัดแย้งทางศาสนาได้สร้างความชอบธรรมให้มีการใช้ความรุนแรงเข้าทำลายศัตรู คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ปกติ แต่จากการศึกาษาพบว่าคนเหล่านี้เป็นคนปกติดีทุกอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ ฐานะและการศึกษา เพียงแต่ว่าคนเหล่านี้เชื่อว่าเขาสามารถใช้ความรุนแรงเพื่อความดีงามได้นั่นเอง"

อาจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวปาฐกถานำในการสนทนาเรื่อง "ศาสนาธรรมกับการสร้างสันติภาพโลก" ในงานรำลึก ๙๗ ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ อนุสรณ์สถาน ๑๔ตุลา เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาในประเด็นสถานะการณ์โลกหลังสงคราม เมื่อโลกระอุไปด้วยความเคียดแค้นชิงชังของกลุ่มขบวนการก่อการร้าย

          ในทัศนะของอาจารย์ ชัยวัฒน์ "อาวุธมีชีวิต" แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง กำลังตั้งคำถามและบอกถึงเหตุของความรุนแรง ในแง่ของการปกป้องตนเองและคุณค่าที่เขายึดมั่นในชุมชนที่เขารัก และไม่เรียกว่าการก่อการร้าย การระเบิดพลีชีพของขบวนการศาสนาหัวรุนแรงในตะวันออกกลางกลุ่มต่าง ๆ อยู่บนความคิดที่ว่าการระเบิดพลีชีพเป็นปฎิบัติการทางทหารที่เปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรี และเป็นเพียงกลวิธีทางยุทธศาสตร์ที่ผู้ตายจะได้รับการยกย่องและโอบอุ้มจากพระผู้เป็นเจ้า

          ยกตัวอย่างนักโทษชาวอียิปต์ผู้หนึ่งซึ่งถูกศาลอเมริกันสั่งจำคุกในฐานะผู้วางระเบิด อาคารเวิลดิ์ เทรด เซ็นเตอร์ ปี๑๙๙๔ ภายใต้วัฒนธรรมของนักรบแห่งศาสนาชี้ให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจ คือว่า การวางระเบิดของเขากระทำไปด้วยเหตุผลที่เฉพาะเจาะจง คือ มุ่งจะให้รัฐบาลอเมริกันเห็นว่า 'เรา' จำต้องใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา และจะไม่ยอมรับการกระทำที่รัฐบาลอเมริกัน ซึ่งได้กระทำแก่เราและโลกอีกต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลอเมริกันพยายามทำให้รัฐประชาชาติหวาดกลัว รัฐบาลในหลายประเทศทำตามอเมริกาอย่างไร้ความหมาย"

          ส่วนคำถามที่ว่า การก่อการร้ายด้วยการลอบวางระเบิดนี้ ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก จะให้เหตุผลว่าอย่างไร นักโทษผู้นี้ตอบว่า "ไม่ว่าจะอย่างไรเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลสะเทือนที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้รัฐบาลอเมริกันทราบถึงผลที่จะเกิดแก่ตัวเอง เพราะสิ่งเดียวเมื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งถูกกระทำด้วยความอยุติธรรมก็คือ ต้องส่งสาส์นตอบไปยังผู้ที่ก่อความอยุติธรรมนั้น

          เราไม่อาจสรุปได้ว่าสภาพเหตุการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้น เป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมหรือสงครามระหว่างศาสนาคริสต์-อิสลาม แต่เป็นเรื่องการกระทำของรัฐบาลอเมริกันเองที่คิดแผ่อำนาจเหนือโลก การกำหนดนโยบายที่ไม่เป็นธรรม การสนับสนุนอิสราเอลเพื่อแย่งชิงดินแดนแห่งพันธะสัญญา หรือกดดันให้รัฐบาลอียิปต์เปิดเสรีทางการค้า เหล่านี้ไม่ได้เกิดเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันในแง่ความเชื่อศาสนา แต่เป็นความไม่มีศาสนาโดยสิ้นเชิงของอเมริกา" อาจารย์ ชัยวัฒน์ กล่าวถึงคำพูดของมือระเบิดผู้นั้น

          ที่สำคัญชายผู้นี้เคยเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน โดยการเข้ารับหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิด คำพูดสุดท้ายที่เขาบอกนั่นคือว่า "สังคมตะวันตกไม่เคยทำเข้าใจพวกเขาเลย เพราะสิ่งหนึ่งที่สังคมตะวันตกได้สูญเสียไปแล้วโดยสิ้นเชิง นั่นคือจิตวิญญาณ

          นักจิตวิเคราะห์ชาวปาเลสไตน์ผู้หนึ่ง ให้แง่คิดว่าทำไมกลุ่มผู้ก่อการร้ายจึงกลับกลายเป็นผู้ติดระเบิดพลีชีพ เขาชี้ให้เราเห็นว่า เป็นเรื่องของการกระทำที่หมดหวังโดยสิ้นเชิง เขาบรรยายถึงภาพของผู้อพยพลี้ภัยชาวปาเลสไตน์บริเวณฉนวนกาซาที่ต้องตื่นแต่เช้า ทำงานหนักแสนสาหัสและกลับมานอนเพียงอึดใจก่อนจะต้องลุกขึ้นไปทำงาน และสัญลักษณ์ของศาสดาาถูกเหยียดหยามอย่างหยาบคายและกล่าวหาว่าเป็น 'หมู'

          คุณคงไม่รู้ว่าทหารอิสราเอลถ่มน้ำลายรดชายคนหนึ่งพร้อมกับรุมทุบตีอย่างหนักหน่วง และผู้นำของเราบางคนนั่งรถติดแอร์สะดวกสบาย ความอัดอั้นทั้งหลายประการนี้ ทำให้เราต้องระเบิดความรุนแรงออกมาอย่างไม่อาจหักห้าม แล้วทีนี้คุณเข้าใจหรือไม่ว่าทำไมพวกเราต้องกลายเป็นระเบิดพลีชีพ"

          อาจารย์ ชัยวัฒน์ ยกข้อมูลชุดหนึ่งขึ้นมาชี้ให้เห็นว่า มีผู้เห็นด้วยกับการทำระเบิดพลีชีพเพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในโลกอย่างน่าตกใจ และผลของสงครามอิรักทำให้ประชาคมมุสลิมรับรู้ว่า พวกเขากำลังตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือแห่งความอยุติธรรมของผู้ที่มีพลกำลังเหนือกว่า

          "ลักษณะเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่ว่า จะทำให้ขบวนการก่อการร้ายสากลเกิดความเข้มแข็ง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และมีผู้สนับสนุนมากขึ้นจะเห็นได้ว่า เพียงสงครามสิ้นสุดลงไม่นานมีการลอบวางระเบิดหลายแห่งในโมร็อคโค ซาอุดิอารเบียและเชชเนีย สงครามและการก่อการร้ายเป็นสิ่งเดียวกันอย่างชัดเจน แต่ต้องยอมรับว่าการก่อการร้ายมีทั้งในส่วนพฤติกรรม โครงสร้างและวัฒนธรรมสังคมแม้จะสัมพันธ์กันแต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะต่างก็มีกระบวนการการทำงานของตัวเอง สร้างความชอบธรรมว่า เป็นเรื่องธรรมดาและถูกต้องดีงาม เพราะฉะนั้นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำความเข้าใจความรุนแรงนั้น อยู่ที่การทำความเข้าใจถึงวิธีการสร้างความชอบธรรมในโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม ให้คนบางกลุ่มตกเป็นเหยื่ออย่างไม่เข้าใจ เช่น ถูกกระทำให้ยากจนหรือเหยียดผิวทำให้พวกเขาต้องหาทางออกด้วยความรุนแรงในที่สุด"

          อาจารย์ ชัยวัฒน์ ยังยกตัวอย่างกรณีเด็กชายอายุ๑๑ ปี สังหารเด็กชายอายุ ๔ ปี เพียงเพราะต้องการรถจักรยาน "เด็กคนนี้มาจากครอบครัวที่ยากจน มีพ่อพิการและอายุมากกว่าแม่มากทำให้เกิดความระแวงว่าแม่จะปันความรักให้กับชายคนอื่น พ่อพิการจึงทุบตีแม่ทุกวัน เด็กชายซึมซับความรู้สึกเหล่านี้ไว้ วันหนึ่งเมื่อเหตุการณ์อำนวย คือ เห็นว่าสามารถแย่งจักรยานตรงหน้าได้ เจ้าของเป็นเด็กที่เล็กกว่า ป้องกันตัวเองไม่ได้จึงลงมือกระทำการ เหตุผลสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นก็คือว่า "ผมอยากได้จักรยานแต่ต้นมันขี้เหนียว" ปรากฎการณ์เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กเปลี่ยนจากเหยื่อของความรุนแรงมาเป็นฆาตกร แต่หมายความว่า ขณะที่เด็กลงมือนั้นเด็กกำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วย

          ความรุนแรงเปลี่ยนรูปร่างซับซ้อนขึ้น การทำความเข้าใจต้องอาศัยพลังแห่งความเมตตาเข้าเป็นส่วนชี้นำ และต้องใช้ความเข้มแข็งเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเป็นเงาทับทวี เปรียบดั่งอาวุธมหาประลัยที่ได้รับการปลุกเสกให้มีฤทธิ์เดชจนนำไปใช้ฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นอาวุธซึ่งมีชีวิต และสังคมโลกจะทำหน้าที่และเผชิญหน้ากับอาวุธชนิดนี้ได้อย่างไร ความคับข้องของผู้คนที่ถูกผลักให้ไปอยู่ริมขอบสังคม ผ่านระบบราชการของรัฐชาติและการสื่อสารที่ละเอียดซับซ้อน กล่อมเกลาผู้คนให้มุ่งมองว่าผู้อื่นไม่ใช่คน"

          อาจารย์ชัยวัฒน์ ทิ้งคำถามก่อนกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า "ปี ๒๕๒๒ ท่านพุทธทาสภิกขุได้ตั้งศาสนปณิธานเอาไว้ ๓ ประการ คือ ๑.ให้ทุกคนทำความเข้าใจหัวใจแห่งศาสนาของตน ๒.จักทำความเข้าใจระหว่างศาสนาให้จงได้ ๓.ให้ทุกคนถอนตัวออกมาเสียจากวัตถุนิยม ความลุ่มหลงในเนื้อหนัง

          "การเข้าไม่ถึงศาสนธรรมเพราะความลุ่มหลงวัตถุที่แปรเป็นกรงขังปัญญา การจะทะลวงออกมาสู่สิ่งจริงแท้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน จำต้องอาศัยข้อคิดท่านพุทธทาสร่วมกับข้อคิดทางวิชาการ บางทีการเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลก จำเป็นจะต้องอาศัยอาวุธที่สร้างชีวิตต่อสู้กับอาวุธที่เอาชีวิตที่มีนัยยะสำคัญ ๒ ประการคือ ๑. พยายามทำความเข้าใจความรุนแรงด้วยมุมมองเชิงวิภาคชี้ให้เห็นว่า สิ่งซึ่งไม่มีชีวิตนั้นลุกขึ้นมาเอาชีวิตได้อย่างไร ๒. หาทางออกจากเมฆหมอกของความรุนแรงที่ทำให้มนุษย์รู้สึกไร้ทางออก ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสวยงามของชีวิตและคุณค่าของคนสามัญไม่เลือกเขาเหล่าใคร อาศัยปัญญาและความรักเผชิญหน้ากับความรุนแรง ที่มีความชอบธรรมเป็นธงในการทำลายผู้คนให้กลายเป็นสิ่งชั่วร้าย และต้องแน่ใจว่า ไม่มีใครจะหลุดลอดออกจากผลแห่งการเอาชีวิตผู้อื่นไปได้…

          ในทางศาสนา พระไพศาล วิสาโล ตัวแทนศาสนาพุทธ กล่าวถึงเหตุแห่งความขัดแย้งอันเกิดจากวัฒนธรรมบริโภค และค่านิยมของใหม่ในการทำความดีของโลกยุคหลังสถานะการณ์สงครามอิรักว่า

          "ส่วนหนึ่งของสงครามเกิดจากวัฒนธรรมอเมริกัน ที่อาศัยช่องทางการสื่อสารกระตุ้นต่อมตัณหาและก่อความโลภ สร้างความขัดแย้ง-เกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ-ผิวพรรณ ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อในวัฒนธรรมของอเมริกายืนหยัดต่อสู้ อีกส่วนเป็นเรื่องศาสนาซึ่งก่อปัญหาความขัดแย้งมาก และจะเห็นว่าวัฒนธรรมบริโภคทำให้ความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณและศาสนากลายเป็นสิ่งงมงาย เหลวไหลแบ่งฝักฝ่าย ใช้พลกำลังความรุนแรงแก่ผู้ที่มุ่งทำลายความเชื่อและวัฒนธรรมของกลุ่มพวกตน"

          ท่านกล่าวย้ำว่า "ผลของสงครามอิรักไม่ได้สะเทือนเฉพาะกลุ่มมุสลิมเท่านั้น แต่กลับก่อค่านิยมใหม่ของการทำความดีขึ้นเพราะต่อไปหากประเทศใหญ่ ๆ ต้องการทำอะไรในนามของความดีงามแล้วก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องฟังกฎเกณฑ์กติกาใด ๆ จากสังคมโลกและมาตรฐานอันนี้ก็ลุกลามเข้าสู่สังคมไทย ดูได้จากนโยบายปราบยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล การฆ่าแกงกันในสังคมไทยกำลังกลายเป็นเรื่องของความถูกต้องด้วยมีจุดหมายที่ดีงาม ความเชื่ออย่างนี้น่ากลัวเมื่อศาสนาไม่สามารถบันดาลใจให้คนยอมตายเพื่อรักษาชีวิตคนอื่น จุดตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ขบวนการศาสนาไม่ได้เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะก่อสันติภาพโลกใช่ไหม

          ขณะมีคนอีกกลุ่มเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ไม่ได้ยึดถือศาสนาตามรูปแบบ แต่กลับพลีตนเพื่อรักษาชีวิตสัตว์หรือต้นไม้เอาไว้ เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลากหลายกลุ่ม หรือกลุ่มกรีนพีซ ที่ขึ้นไปอยู่บนต้นไม้เพื่อป้องกันไม้ให้บริษัทสัมปทานป่าไม้ตัดทำลายต้นไม้ หรือกรณีนำเรือไปขวางเรือล่าปลาวาฬเพื่อปกป้องชีวิตปลาเอาไว้ อันนี้คือตัวอย่างว่า "ศาสนาต้องเป็นแรงบันดาลใจให้คนปกป้องคนและคอยช่วยเหลือมวลชีวิต" แต่ปัจจุบันกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม ศาสนา ณ. วันนี้กลับเป็นส่วนบันดาลให้คนฆ่าคนและทำลายมวลชีวิต…

          ศาสนิกชนจักต้องตระหนักถึงปรัชญาและความไม่ยึดติดในศาสนาตน การเข้าหาแก่นจะทำให้เราหลุดออกจากยี่ห้อที่เรียกว่า อุปทาน หรือมายาการแห่งอัตลักษณ์ และ ณ.เวลานั้น ศาสนาจะเปี่ยมไปด้วยความหมายของสันติธรรม ไม่ใช่อาวุธอันชอบธรรมสำหรับมุ่งเอาชีวิตแก่ผู้คนที่ไม่เชื่ออย่างเรา"

          ทางด้าน คุณพ่อวิชัย โภคทวี ตัวแทนศาสนาคริสต์ ในนามคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ กล่าวถึง ความรุนแรงที่แฝงตัวเข้ามาอย่างเงียบเชียบ เป็นระบบและลึกซึ้งอย่างยิ่ง การต่อสู้กับระบบความรุนแรงจึงเหลือเพียงทางออกเดียวนั่น คือ พลังแห่งศาสนธรรมที่มีการผนึกกำลังกัน

          "การศึกษาศาสนาธรรมของตนอย่างถึงแก่นจะเป็นเกราะป้องกันทุนนิยมบริโภค อันเป็นศาสนายุคใหม่ที่มีพระเจ้าเป็นเงินตรา มีศูนย์การค้าเป็นวิหาร และมีโฆษณาเป็นพระผู้เผยแพร่และเป็นพระเจ้าที่ไร้น้ำใจอย่างยิ่ง เพราะก่อความรุนแรงและสร้างความดีลวงขึ้นภายใต้ผลประโยชน์ การจะแยกแยะความดีลวงได้ต้องอาศัยการชี้นำของศาสนา แต่ทว่าศาสนธรรมยังมีกำลังไม่เพียงพอที่จะชี้นำโลก ด้วยพลังอำนาจของอเมริกากับอาวุธ-เทคโนโลยีและอุดมการณ์วัตถุนิยม ที่ครอบครองจิตใจบรรดามนุษย์ ให้ลุ่มหลงไปกับความสะดวกสบาย หรือแม้แต่ศาสนิกชนของเราก็ยังไม่สามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัว ยอมพลีตนเพื่อรับใช้ผู้อื่น นำความรัก ความเมตตาภายใต้อุดมการณ์ศาสนามามอบแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"

          คุณพ่อวิชัย กล่าวสรุปในท้ายที่สุดว่า "แท้จริงเป็นเรื่องไม่ยากโดยเริ่มที่ตัวเอง ยืนหยัดตั้งมั่นในความยุติธรรมและพร้อมจะเผชิญหน้ากับทุกความเป็นไป ณ บัดนั้น แอ่งแห่งเสรีภาพ และสันติภาพ ท่ามกลางสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้ จะบังเกิดขึ้นเฉกเดียวกับอาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้า ที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกคนแม้แต่คนบาป…" .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :