หลักสูตรเรียนรู้กับพระเสขิยธรรม (ศาสนทายาท) เรียนรู้กับพระเสขิยธรรม
วันที่ ๒๕ มีนาคม - ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗
ณ วัดป่าแดด ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
"..นานมาแล้วมีเมืองลับแล แต่ปัจจุบันมีเมืองๆ\หนึ่ง เป็นเมืองหลังเขา งดงาม สรงเสน่ห์ มีกลิ่นอายเย้ายวนชวนค้นหาไม่ผิดจากเมืองลับแล เมืองหลังเขาแห่งนั้นชื่อว่า "เมืองแม่แจ่ม" "แม่แจ่มงดงาม เพราะยังคงความเป็นพื้นบ้านพื้นเมืองไว้ได้มากกว่าเมืองอื่นๆ เราอาจพบเห็นวิถีชีวิตที่งดงาม มีมนต์ขลังราวเมืองลับแลอันลึกลับและเร้าใจจากสองข้างทางที่เราผ่านไปในเมืองหลังเขาแห่งนี้ หน้าหนาวสางสายพอวายน้ำค้าง เราอาจพบแม่เฒ่าเกล้าผมมวยมีผ้าผวยพาดบ่าออกมาตากแดดอุ่นที่ลานบ้าน อาจได้เห็นพ่อเฒ่าคาบบูยาหรือขี้โย ควันกุ่ยอยู่กลางแดดอุ่น ข้างๆ กันนั้น อาจได้เห็นหลานน้อยหน้าเปื้อนมูกเปื้อนไคลไล่ฟัดกับหมา แม่แจ่มมีความดี ความงามอยู่ในตัว
.สุดท้ายก็บอกว่า เมืองหลังเขาทรงเสน่ห์เสมอ เหมือนเมืองลับแล เหมือนสาวโบราณ-ลึกลับ ขอให้รักษาไว้เถิด เป็นตัวของตัวเอง อย่าเป็นอื่นเลย.."
จาก.. คอลัมน์ ของดี ของงาม ตามภูมิปัญญาไทย ตอน "เมืองหลังเขา"
โดย จุลจันทร์ นันทมาลา ตีพิมพ์ใน "สกุลไทย"
ความเป็นมา
อำเภอแม่แจ่ม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวจังหวัดเชียงใหม่ ห่างออกไปประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ชุมชนคนเมืองส่วนใหญ่อยู่ในแอ่งก้นกะทะ ของหุบเขาอินทนนท์ มีลำน้ำแม่แจ่มไหลผ่าน โดยมีชนเผ่าต่างๆ กระจายอยู่ตามไหล่เขา สลับกับนาขั้นบันใดที่มีลำห้วยซึ่งน้ำไหลตลอดปีอยู่ข้างล่าง
แม่แจ่มยังคงความเป็นชุมชนและวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ มีพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ มีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบพุทธและความเชื่อดั้งเดิมอย่างสอดคล้อง สมบูรณ์ และปรุงแต่งน้อย น่าสนใจสำหรับผู้มาเยือน เป็นที่สนใจของผู้ใฝ่ศึกษาเรื่องล้านนาในอดีตมาโดยตลอด
วัดป่าแดด เป็นวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่หมู่บ้านไหล่หิน หมู่ ๔ ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม มีอายุกว่า ๑๗๙ ปี มีสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมที่ทรงคุณค่าในฐานะช่างฝีมือท้องถิ่น มีวิหารและหอไตรเก่าที่มีสภาพค่อนข้างดี มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเป็นลักษณะล้านนาแท้ ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและชุมชน
บทบาทของวัดป่าแดด นอกเหนือจากเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นศูนย์กลางทางศาสนาของชุมชน ที่คงความงามด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ยังได้ดำเนินกิจกรรมในโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับศีลธรรมและสติปัญญาของพุทธบริษัท ตั้งแต่เยาว์วัยถึงปัจฉิมวัย โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ มาถึงปัจจุบัน อาทิ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด มีโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญสำหรับสามเณร ทั้งยังเป็นที่ทำการกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์แม่แจ่ม กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์แม่บ้านตำบลท่าผาจำหน่ายผ้าทอผ้าจกแม่แจ่ม จัดบวชและอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน จัดอบรมชีพราหมณ์ จัดค่ายเรียนรู้พุทธธรรมและเรียนรู้ชุมชน จัดงานวันเด็กเข้าวัด ตลอดจนถวายทุนการศึกษาแก่สามเณรและมอบทุนการศึกษาให้เยาวสตรีทุกปีๆ ละหลายสิบทุน และจัดงานเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งมีกิจกรรมที่เป็นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งด้วยพิธีกรรมความเชื่อพื้นบ้าน
หลักการและเหตุผล
เดิมสังคมไทยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ทุกคนตั้งแต่เกิดถึงตายต่างพึ่งพาอาศัยวัด มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งและเป็นผู้ชี้นำการดำเนินชีวิตให้มีคุณค่า ได้ประโยชน์ ทั้งในภพนี้ภพหน้า อันเป็นฐานไปสู่ประโยชน์อย่างยิ่งในภพต่อๆ ไป อีกทั้ง วัดยังเคยเป็นทุกอย่างของชุมชน เช่น สำนักทะเบียนราษฎร์ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม โรงศาล ฯลฯ แต่ปัจจุบันรัฐเข้ามาทำหน้าที่ในบทบาทต่างๆ ที่พระและวัดเคยทำมาทั้งหมด กระนั้นก็ใช่ว่าจะทำได้ดีกว่าที่พระเคยทำ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเรียนรู้บทบาทของพระสงฆ์และวัดในการทำหน้าที่สืบทอดอายุพระศาสนา และนำธรรมะไปประดิษฐานในใจคน "กลุ่มเสขิยธรรม" จึงได้ร่วมกับ "วัดป่าแดด" จัดกิจกรรมการศึกษาทางเลือก "เรียนรู้กับพระเสขิยธรรม" ขึ้น เพื่อให้พระนิสิต พระภิกษุสามเณร และผู้สนใจทั่ว เข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงาน การจัดกิจกรรมของ พระใบฎีกาสุทัศน์ วชิรญาโณ และคณะสงฆ์วัดป่าแดดขึ้น ภายใต้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และการศึกษาโดยผ่านประสบการณ์ตรงของผู้สนใจ
จุดประสงค์
๑. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ วิธีคิด วิธีแสวงหาความรู้ วิธีการทำงาน และประสบการณ์ของพระเสขิยธรรมในท้องถิ่น
๒. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของวัด ชุมชน พระเสขิยธรรม และในบริบทที่เป็นจริงทางสังคม
๓. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝน และมีประสบการณ์ตรง กับการทำงานของพระเสขิยธรรมในชนบทที่ห่างไกล
กลุ่มเป้าหมาย
พระนิสิต พระภิกษุสามเณร และฆราวาส จำนวนไม่เกิน ๑๐ รูป/คน
วิธีการเรียนรู้
- ร่วมกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ (ปฐมนิเทศ, ระดมความคาดหวัง, ออกแบบการเรียนรู้, ปฏิบัติงานตามแผนผ่านกิจกรรมอบรมสามเณรฤดูร้อน)
- สังเกตการณ์
- สัมภาษณ์
- ศึกษาเอกสาร
- บันทึกประจำวัน
- ประเมินผล ด้วยการสรุปประสบการณ์การเรียนรู้เป็นเอกสาร แล้วนำเสนอที่ประชุมใหญ่ฯ ด้วย Powerpoint
กระบวนการเรียนรู้
๑. ร่วมเรียนรู้ วิถี วัด-ชุมชน และศึกษางานพระเสขิยธรรม
โดยพักที่วัดต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓๕ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม - ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗
๒. ร่วมปฏิบัติ ร่วมกระบวนการจัดงาน บวช-อบรมสามเณรภาคฤดูร้อนของวัด
ตั้งแต่ต้น-จนจบโครงการ
เนื้อหา
- ประวัติวัด ชุมชน (ความเป็นมา ความเชื่อ จารีตประเพณี ความสัมพันธ์ บทบาทร่วมสมัย ฯลฯ)
- ชีวิตและงานพระเสขิยธรรม (การศึกษา วิธิคิด แรงบันดาลใจ วิธีการทำงาน ฯลฯ)
- ร่วมกระบวนการบวช-อบรมสามเณรฤดูร้อน
- การสรุป-เสนอผลการเรียนรู้
กำหนดการ
๒๖-๓๑ มี.ค. รู้จักพระเสขิยธรรม เรียนรู้วัด บริบทชุมชน
๑-๔ เม.ย. เตรียมงานบวช-อบรมสามเณร
๕-๑๒ เม.ย. จัดพิธีบวช และจัดกระบวนการอบรม
๑๓-๑๘ เม.ย. เรียนรู้ประเพณีท้องถิ่นผ่านเทศกาล สงกรานต์
๑๙-๒๕ เม.ย. เรียนรู้ความสัมพันธ์ชุมชนกับวัด
๒๖-๓๐ เม.ย. สรุปการเรียนรู้
ค่าใช้จ่าย
ผู้เข้าร่วมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไป-กลับ วัดป่าแดด และค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ ด้วยตนเอง สำหรับค่าเอกสาร ค่าอาหาร หรือค่าวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองอื่นๆ กลุ่มเสขิยธรรมและทางวัดจะจัดเตรียมให้ก่อนในเบื้องต้น แล้วร่วมเฉลี่ยค่าใช้จ่ายระหว่างวัด กลุ่มเสขิยธรรม และผู้เข้าร่วมศึกษา
อย่างไรก็ตาม "กลุ่มเสขิยธรรม" ยินดีรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาและผู้เข้าร่วม สำหรับค่าใช้จ่ายโดยรวมในโครงการนี้ทั้งหมด ประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท..
|