จัดทำเอกสารโดย : เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - ประเทศไทย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาดูที่ : www.searin.org
๑.โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานสากล
สำหรับประเทศไทย การดำเนินโครงการซึ่งไม่ได้เสนอโครงการต่อคณะอนุกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติ ก่อนเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เท่ากับเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕
๒.โครงการตัดสินใจดำเนินการทำโดยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบไม่มีส่วนร่วม ไม่มีแม้แต่กระบวนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งต่อประชาชนในพม่า ลาว และไทย
สำหรับประเทศไทย การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารและประชาชนในท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วม เท่ากับเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐
๓.โครงการจะทำให้เกิดหายนะทางนิเวศน์ของแม่น้ำโขงครั้งใหญ่
แม่น้ำโขงที่โครงการระเบิดแก่งเรียกว่า "เป็นพื้นที่ที่มีแก่งที่อันตราย (dangerous rapids) สันดอน (shoals) และหินโสโครก (reefs) และเป็นอุปสรรค์ต่อการเดินเรือ" นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ในทางกลับกันแม่น้ำโขงบริเวณดังกล่าวเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ การระเบิดแก่งจะทำให้เกิดผลกระทบทางนิเวศน์ดังนี้
๓.๑ การทำลายความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง
การระเบิดแก่งแม่น้ำโขง จะทำลายระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ และสลับซับซ้อนของแม่น้ำโขงตอนบนและตอนกลาง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ เป็นระบบนิเวศน์ที่มีแก่งเป็นหลัก ซึ่งมีความสำคัญต่อวงจรชีวิตปลาทั้งปลาที่อพยพระยะสั้นๆ ในท้องถิ่น และปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงตอนล่างขึ้นมาอาศัย หากินและวางไข่ การระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจึงเท่ากับเป็นการทำลายบ้านของปลา
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการประมงที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยระบุว่า แม่น้ำโขงบริเวณชายแดนไทย-ลาวที่จะมีการระเบิดแก่ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน และวางไข่ของปลากว่า ๒๐๐ ชนิด รวมถึงปลาหายากหลายชนิด เช่น ปลาด้ามพร้า
๓.๒ การคุกคามที่วางไข่ของปลาบึก
ปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดไม่เกล็ดที่ใหญ่ที่สุดของโลก ปลาบึกถูกจัดให้เป็นปลาหายาก ใกล้สูญพันธุ์ และอยู่ในบัญชีแดงของ IUCN ปลาบึกขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยถูกจับได้ยาวถึง ๓ เมตร และมีน้ำหนักเท่าที่บันทึกไว้คือ ๒๘๒ กิโลกรัม ปลาบึกเป็นปลามีถิ่นอาศัยเฉพาะลุ่มน้ำโขงเพียงแห่งเดียว ในช่วงฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝนของทุกปี ปลาบึกจะเดินทางขึ้นมาบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน และลำน้ำสาขา เพื่อวางไข่และผสมพันธุ์ก่อนที่เดินทางกลับไปเติบโตยังลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
ดร. ชวลิต วิทยานนท์ ระบุว่าบริเวณที่วางไข่ของปลาบึกคือ ระหว่างเหนือเชียงของขึ้นไปจนถึงรอยต่อระหว่างเชียงแสน-เชียงของ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำวนจากน้ำไหลปะทะแก่ง เป็นการยืนยันองค์ความรู้ท้องถิ่นของชาวเชียงของ ที่ระบุว่า บริเวณแก่งเหนือเชียงของขึ้นไปเป็นที่วางไข่ของปลาบึก
การระเบิดแก่งแม่น้ำโขง จึงเป็นการเร่งให้สัตว์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดนี้สูญพันธุ์เร็วขึ้น
๓.๓ การทำลายแหล่งพรรณพืช
แก่ง ดอน และชายฝั่งคือแหล่งพรรณพืชที่มีความสำคัญต่อปลาที่อาศัยพรรณพืชเป็นอาหาร อาศัย และวางไข่ ในฤดูน้ำหลาก ผลของพืชที่สุกและจมอยู่ใต้น้ำจะเป็นอาหารที่สำคัญของปลา ส่วนใบที่เน่าเปื่อยก็จะเป็นอาหารและที่วางไข่ของปลาบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลากินพืชซึ่งส่วนใหญ่ เป็นปลาหนัง (ไม่มีเกล็ด) เช่น ปลาเพี๊ยะ ปลาหว่า ปลาปากกว้าง
บริเวณหาด และหลงน้อยที่อยู่ในดอนกลางแม่น้ำโขง เป็นที่วางไข่ของปลาบางชนิด เช่น ปลาบอก ปลาจอนทราย ปลาเขี้ยวไก้หรือปลาหมู และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหลายชนิด ในขณะที่บริเวณที่กระแสน้ำไหลวนเช่นที่ แก่ง ผา และ คก เป็นที่วางไข่ของปลากินเนื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาสวาย ปลาเลิม ปลาฝาไม ปลาแข้ ปลาคัง
บริเวณหาดริมแม่น้ำโขง และแก่งใต้น้ำที่น้ำไม่ลึกมากและแสงแดดส่องถึงยังเป็นที่กำเนิดของ ไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง (Mekong seaweed) ซึ่งเจริญเติบโตในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคม (ช่วงที่น้ำโขงลดและเริ่มใส) ไปจนถึงต้นฤดูฝน ไกเป็นอาหารที่สำคัญทั้งปลากินพืชและปลากินเนื้อ โดยเฉพาะ ไก ที่แก่แล้ว ชาวบ้านเรียกว่า ไกขี้โป๊ะ จะมีลักษณะผสมระหว่างเนื้อและพืช ซึ่งปลากินเนื้อชอบกิน สาหร่ายแม่น้ำโขงอีกชนิดที่เป็นอาหารที่สำคัญของปลาเช่นกันคือ เตา มีลักษณะคล้ายไก แต่จะเจริญเติบโตบริเวณที่มีน้ำนิ่ง เช่น หลงต่างๆ ริมฝั่งน้ำโขง
การระเบิดแก่งและการเดินเรือจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพการเจริญเติบโต และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของชีวิตสัตว์น้ำทั้งลุ่มน้ำโขงด้วย ตัวอย่างเช่น ไก ซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญของปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆในน้ำ การเจริญเติบโตของไกไวต่อสภาพความขุ่นและปริมาณแสงมาก หากความขุ่นของน้ำเพิ่มขึ้นจากตะกอน และแสงแดดไม่สามารถส่องถึงท้องน้ำบริเวณที่ไกเจริญเติบโตได้เพียงพอ ก็จะทำให้ไกไม่สามารถเจริญเติบโตได้
จากประสบการณ์ของชาวเชียง ต้นปี ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นช่วงที่ไกเริ่มเจริญเติบโตพอดี การระเบิดแก่งและการเดินเรือขนาดใหญ่ทางตอนบน รวมทั้งการสร้างท่าเรือทำให้น้ำโขงขุ่นข้นกว่าปกติมาก และพัดพาตะกอนเข้าปกคลุมและทับถมก้อนหินและหาดทราย แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องลงไปถึงพื้นน้ำ และไกไม่สามารถเติบโตได้
การระเบิดแก่งจึงเป็นการตัดห่วงโซ่อาหารของปลาและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขง
๓.๔ การทำลายแหล่งอาศัยของนก
การสำรวจของสมาคมอนุรักษ์นกฯ พบว่า พุ่มไม้และหาดทราย บริเวณแก่ง ดอน และหาด ที่โผล่พ้นน้ำเป็นที่อยู่อาศัยและทำรังของนกที่หายากและมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์หลายชนิด อาทิ
นกกะเต็นเฮอคิวลิส (Blyth's Kingfisher) นกหายากที่มีรายงานการเก็บตัวอย่างเพียงครั้งเดียวบริเวณบ้านแพ้ว ใต้เขตเชียงแสน
นกกระแตผีใหญ่ (Great Thick-knee) นกหายากมากที่อาศัยอยู่ในบริเวณสันทรายและกองหิน พบครั้งล่าสุดบริเวณระหว่างเชียงแสนกับเชียงของ
นกกระแตหาด (River Lapwing) นกหายากอีกชนิดที่กำลังถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากทำรังบนสันทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่ช่วงตอนบนเชียงแสนลงไปถึงเชียงของ
นกนางนวลแกลบท้องดำ (Black-billed Tern) มีการพบนกชนิดนี้เพียงครั้งเดียวในรอบหลายปีบริเวณเชียงแสน เมื่อปี ๒๕๓๙ ในอดีตเคยทำรังอยู่ตามตลิ่งทรายของแม่น้ำ
นกกาน้ำใหญ่ (Great Commorant) นกกาน้ำขนาดใหญ่ที่สุดที่หายากและถูกคุกคามทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานการพบบนสันทรายเหนือเชียงแสนเมื่อต้นปี ๒๕๔๓
นกยอดหญ้าหลังดำ (Jerdon's Bushchat) เป็นนกหายากใกล้สูญพันธุ์ และประชากรในบริเวณแม่น้ำโขงถือเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญที่สุดในเชิงอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ มีการพบนกชนิดนี้อาศัยพึ่งพิงกับต้นไคร้น้ำ บนสันทรายและสันกรวดสองฝั่งแม่น้ำโขงช่วงเชียงแสนลงมาถึงเชียงของ
๓.๕ การพังทะลายของชายฝั่งและการเปลี่ยนทางน้ำ
ดอน แก่ง และผา ทำหน้าที่บังคับให้น้ำในแม่น้ำโขงไหลไปตามร่องน้ำ ซึ่งเป็นการรักษาสภาพลำน้ำให้เป็นร่องลึก หากมีการระเบิดแก่ง ผา และขุดลอกดอนจะเท่ากับเป็นการทำลายตัวบังคับน้ำตามธรรมชาติ แก่งบางแห่งจะทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำโขงที่ไหลเชี่ยวกรากในฤดูฝนซึ่งมีความเร็วได้ถึง ๒๐-๒๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมงพุ่งเข้าทำลายชายฝั่งของแม่น้ำ นอกจากนั้น การพังทะลายของชายฝั่งยังเกิดจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศจากการก่อสร้างท่าเรือ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการค้าและการท่องเที่ยว
ผลที่ตามมาก็คือความเดือดร้อนของคนในท้องถิ่น ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อปลายเดือนสิงหาคมปี ๒๕๔๕ ที่บ้านดอนสวรรค์ แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ซึ่งอยู่บริเวณท้ายน้ำเยื้องกับบริเวณที่มีการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน ปรากฏว่า กระแสน้ำโขงที่ไหลเชี่ยวได้เปลี่ยนทิศทางเข้ากัดเซาะตลิ่งและบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่ง ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพกว่า ๑๑๓ ครอบครัว เช่นเดียวกับที่บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว บริเวณท้ายน้ำเยื้องกับบริเวณที่มีการก่อสร้างท่าเรือเชียงของ ตลิ่งและถนนที่สร้างใหม่บางส่วนถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำ ในขณะที่แถบเชียงของ ชายฝั่งโขงหลายหมู่บ้านถูกน้ำโขงกัดเซาะอย่างรุนแรงผิดปกติ เช่น ที่บ้านปากอิง และบ้านห้วยลึก ทำให้ชาวบ้านหลายหลังคาเรือนที่ตั้งอยู่ริมตลิ่งต้องอพยพออกจากบ้านของตัวเอง
การเปลี่ยนการไหลของน้ำยังทำให้เกิดทราย "มูน" หรือทรายมาทับถมบริเวณร่องน้ำ ทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในท้องถิ่น
๔.ผลกระทบทางสังคม
๔.๑ ผลกระทบต่อชุมชนหาปลา
การระเบิดแก่ง ผา และลอกลำน้ำจะเป็นการทำลายพื้นที่หาปลาของชาวบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนรวมหรือ "พื้นที่หน้าหมู่" ที่ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำโขงใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรปลาได้อีกต่อไป ซึ่งหมายถึงการสูญเสียความมั่นคงทางอาหา รและแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจของครอบครัวและชุมชน
ในฤดูร้อนปี ๒๕๔๕ ที่จีนมีการระเบิดแก่งโดยปิดเขื่อนเพื่อลดระดับน้ำเพื่อให้ง่ายต่อการระเบิดแก่งทางตอนบน ๓ วัน และเปิดให้น้ำไหลเพื่อการเดินเรือ ๓ วัน ปรากฏว่าคนหาปลาที่เชียงของหาปลาได้น้อยลงมาก คนหาปลาให้เหตุผลว่ามาจากระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดธรรมชาติ ดังนั้นปลาจึงไม่ออกหากินหรืออพยพขึ้นไปยังแม่น้ำโขงตอนบนตามปกติ
นอกจากนี้ คนหาปลาและชาวเรือท้องถิ่น เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากปริมาณเรือขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเดินเรือขนาดใหญ่ทำให้เกิดคลื่นใหญ่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการเดินเรือของชาวบ้านและคนหาปลาที่ใช้เรือขนาดเล็กกว่ามาก จากประสบการณ์ของชาวเรือเชียงของ ปัจจุบัน แม้แต่เรือสินค้าลาวขนาดกลาง ที่วิ่งระหว่างเชียงของและห้วยทรายกับหลวงพระบาง ซึ่งมีขนาดไม่เกิน ๖๐ ตัน ก็ยังก่อปัญหานี้แล้ว เพราะทุกครั้งที่เรือสินค้าวิ่งผ่าน คลื่นจากเรือก็สามารถจมเรือขนาดเล็กของชาวบ้านได้ หากว่าคนหาปลาหรือชาวเรือท้องถิ่นไม่สามารถถอนสมอเรือและหันหัวเรือเข้าโต้กับคลื่นได้ทัน
ในขณะที่บริเวณท่าเรือเชียงแสน หลังจากเริ่มมีการเดินเรือสินค้าขนาดถึง ๑๐๐ ตันจากจีนมาถึงเชียงแสน คนหาปลาไม่สามารถใช้เรือออกไปหาปลาได้ กลุ่มคนหาปลากลุ่มใหญ่ต้องหยุดหาปลา และทุกวันนี้เหลืออยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น
การกีดกันคนท้องถิ่นจากการเข้าถึงทรัพยากรยังมาจาก ข้อตกลงในการเดินเรือของ ๔ ประเทศ (จีน พม่า ไทย ลาว) ที่ให้ความสำคัญกับการเดินเรือเพื่อการค้า ระบุว่า ห้ามมิให้มีการวางตาข่ายหาปลาหรือเครื่องมือใดๆที่กีดขวางลำน้ำและเป็นอุปสรรค์ต่อการเดินเรือ (เรือสินค้าขนาดใหญ่) นั่นหมายถึงว่า หลังการระเบิดแก่ง ชาวบ้านสองฝั่งโขงจะไม่สามารถใช้เครื่องมือหาปลาได้อีก
การดำเนินโครงการนี้จึงหมายถึงหายนะของชุมชนคนหาปลา อีกทั้งเป็นการทำลายองค์ความรู้ท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของการหาปลาและการเดินเรือ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้อีกด้วย
๔.๒ การสูญเสียแหล่งพืชอาหารธรรมชาติ
สำหรับคนท้องถิ่นแล้ว ริมสองฝั่งแม่น้ำโขง แก่ง ผา และดอนเปรียบเสมือน "ห้องครัว" ของชาวบ้าน เนื่องจากเป็นบริเวณที่คนท้องถิ่นสามารถเก็บพืชอาหารตามธรรมชาติ สำหรับบริโภคในครอบครัว และขายในตลาดท้องถิ่น รวมทั้งสมุนไพร พืชอาหารที่สำคัญของชาวบ้านมีดังนี้
๑) ไก เป็นอาหารธรรมชาติของชาวบ้านและแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านตั้งแต่ในเขตพม่า ไทย และลาว ไปจนถึงหลวงพระบาง ที่เชียงของชาวบ้านสามารถเก็บไกขายได้ถึงวันละ ๓๐๐-๕๐๐ บาทต่อวันต่อคน สำหรับไกที่แก่แล้วหรือไกขี้โป๊ะ ชาวบ้านจะเก็บเพื่อนำมาเป็นอาหารให้หมู
ต้นปี ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นช่วงที่จีนปิด-เปิดเขื่อนเพื่อระเบิดแก่งทางตอนบน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีสภาพผิดธรรมชาติ คือน้ำขึ้น-ลงอย่างรวดเร็วผิดปกติและน้ำขุ่นข้น ส่งผลกระทบต่อการเกิดไกที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากไกอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ชาวบ้านที่บ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ สามารถเก็บไกเพียงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนเท่านั้น และจะต้องตื่นมาเก็บตั้งแต่ตีสี่จากเดิมที่เคยเริ่มเก็บในตอนเช้า และไม่มีไกให้เก็บตลอดวันเหมือนที่ผ่านมาเนื่องจากในปีนี้มีไกน้อยมาก ในขณะที่ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นๆ ที่อาศัยอยู่เหนือน้ำขึ้นไปเช่นที่บ้านดอนที่ บ้านหาดบ้าย บ้านเมืองกาจณ์ อ.เชียงของ ชาวบ้านไม่สามารถเก็บไกได้เลย ชาวบ้านลงความเห็นว่า การที่ไกลดลงเกิดจากระดับและความขุ่นของน้ำโขงผิดไปจากสภาพธรรมชาติมาก
การลดลงและหายไปของไก ทำให้ทุกวันนี้ ไกที่ชาวเชียงของบริโภคต้องนำเข้าจากประเทศลาวซึ่งเป็นไกจากแม่น้ำสาขาของแม่นำโขง ซึ่งชาวบ้านลงความเห็นว่ารสชาติไม่ดีเท่าไกจากน้ำโขง
๒) เตา เป็นตะไคร่น้ำอีกชนิดหนึ่งที่เกิดตามหลงริมสองฝั่งแม่น้ำโขง ถือว่าเป็นอาหารธรรมชาติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวบ้าน คนทางภาคเหนือของไทยถือว่าเตาเป็นอาหารที่หายาก ส่วนชาวเชียงของถือว่าเตาแม่น้ำโขงเป็นเตาที่อร่อยที่สุดในบรรดาเตาทั้งหมด
๓) พืชผักอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามดอนและชายฝั่งนับว่า เป็นอาหารและสมุนไพรธรรมชาติที่สำคัญของชาวบ้านเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผักจากตลาด ผักที่เป็นอาหารธรรมชาติก็เช่น ผักไหม เป็นต้น
การระเบิดแก่ง ผา และขุดลอกดอน จึงเป็นการทำลายความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านในชุมชนสองฝั่งโขง
๔.๓ ผลกระทบต่อเกษตรริมโขง
การทำเกษตรริมโขงมีความสำคัญต่อชาวบ้านสองฝั่งไทย-ลาวอย่างมาก โดยเฉพาะชาวชุมชนริมน้ำที่ขาดแคลนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจะทำการเกษตรในฤดูน้ำลดเป็นระยะเวลาประมาณ ๕-๘ เดือน โดยทำเกษตรริมฝั่งโขงที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติที่แม่น้ำโขงพัดพามาทับถมในฤดูน้ำหลาก ที่บ้านห้วยลึก อ.เชียงของ ชาวบ้านยังอาศัยดอนกลางลำน้ำโขงทำการเกษตรในฤดูน้ำลด
คนทำเกษตรริมโขงส่วนใหญ่มีที่ดินไม่มากนักประมาณ ๑ งานไปถึง ๒ ไร่ โดยการถือกรรมสิทธิ์จากบรรพบุรุษ แม้ว่าพื้นที่ทำเกษตรริมโขงเป็นพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อครอบครัวเพราะนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ บางครอบครัวสามารถขายผักจากการทำเกษตรริมโขงได้วันละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนลูก และค่าใช้จ่ายปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ
ผลกระทบต่อการทำอย่างเกษตรริมโขงจะมาจากการระเบิดแก่งขุดลอกดอน และการสร้างท่าเรือยื่นออกมาจากตลิ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ทางน้ำเปลี่ยน และกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งที่เป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน และกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อพัฒนาท้องถิ่นรองรับการค้าและการท่องเที่ยว ดังตัวอย่างเช่น ปี ๒๕๔๕ ชาวบ้านสบสม อำเภอเชียงของจะต้องเสียพื้นที่ทำเกษตรริมโขงที่เคยทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เนื่องจากมีโครงการสร้างพนังกั้นน้ำป้องกันตลิ่งพังและถนนเรียบริมโขงเพื่อรองรับการท่องเที่ยว หรืออาจรวมถึงการใช้เป็นท่าเทียบเรือสินค้าในอนาคต
๔.๔ การสูญเสียแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค
สำหรับชุมชนสองฝั่งโขงแล้ว แม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุด ที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ชาวบ้านในชุมชนฝั่งลาวจะอาศัยน้ำซึมตามหาดทรายริมโขงเป็นแหล่งน้ำดื่ม ขณะที่ทางฝั่งไทย ชาวบ้านหลายหมู่บ้านแถบเชียงของ รวมทั้งคนหาปลาใช้น้ำจากแม่น้ำโขงในการทำน้ำดื่มโดยตรง โดยการแกว่งสารส้มก่อน ชาวบ้านสองฝั่งโขงยังใช้น้ำในการอุปโภคซึ่งรวมถึงการอาบน้ำ ซักผ้า การพึ่งพาแม่น้ำโขงในลักษณะนี้ จะถูกคุกคามจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเรือขนาดใหญ่ ที่เดินทางขึ้น-ล่องในแม่น้ำ โดยเฉพาะความขุ่นของน้ำ และมลภาวะทางน้ำ เช่น การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำเสีย ขยะ ของเสีย และน้ำมันเครื่องที่อาจมีการถ่ายเทลงแม่น้ำหรือรั่วไหลจากอุบัติเหตุ
๕.ผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศไทย
โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ไม่เพียงแต่กระทบต่อชาวบ้านในท้องถิ่นที่พึ่งพาแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ผลกระทบยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะโครงการนี้จะทำให้เกิดการค้าขายขนาดใหญ่ ระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างกับจีน การค้าขายนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรในภาคเหนือของประเทศไทยอย่างรุนแรง เพราะสินค้าเกษตรราคาถูกจากจีน เช่น หอม กระเทียม จะเข้ามาตีตลาดไทย และจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก
แทบทุกปี เกษตรกรทางภาคเหนือก็มีการประท้วงบ่อยๆ เนื่องจากราคาหอมและกระเทียมตกต่ำ ในปัญหานี้ยังไม่รุนแรงมาก เพราะจีนยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ประเทศไทยจึงสั่งห้ามนำเข้าหอมและกระเทียมจากจีนได้ แต่ปัจจุบัน จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกแล้ว ดังนั้นไทยจึงไม่อาจห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนได้อีกต่อไป การเปิดค้าขายทางเรือกับจีน จะยิ่งทำให้สินค้าเหล่านี้ทะลักเข้าตีตลาดสินค้าเกษตรของไทยได้ง่าย ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้แบกรับภาระนี้
๖. ผลกระทบต่อกัมพูชาและเวียดนาม
โครงการนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในประเทศจีน พม่า ลาว และไทยแล้ว ดูเหมือนว่าขอบเขตของผลกระทบจะไปไกลถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศด้านท้ายน้ำ เจ้าหน้าที่เขมรและเวียดนามได้แสดงความกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงแก่งหินทางด้านต้นน้ำ จะทำให้กระแสน้ำโขงในช่วงประเทศของตนเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะก่อปัญหากับการเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ และยังอาจส่งผลกระทบต่อการประมง โดยการทำลายแก่งทางด้านต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของปลาที่อยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังไม่มีการปรึกษาประชาชนในประเทศทั้งสองเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว
๗.มีทางเลือกอื่นในการค้าขายกับจีน
โดยที่ไม่ต้องระเบิดแก่งแม่น้ำโขง การค้าขายกับจีนก็สามารถดำเนินการได้ โดยทางเลือกต่อไปนี้
๗.๑ การค้าขายทางน้ำ
ปัจจุบัน แม้ว่าไม่มีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง แต่เรือสินค้าจากจีนขนาด ๘๐-๑๐๐ ตัน ก็สามารถเดินทางจากจีนลงมาถึงเชียงแสนและเชียงของได้ ส่วนจากเชียงแสน-เชียงของไปหลวงพระบาง ทุกวันนี้ก็สามารถเดินเรือขนาด ๖๐ ตันได้
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของไทยที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ระบุว่า เรือจีนไม่ได้กินน้ำลึก และทุกวันนี้คนเดินเรือของจีนมีความชำนาญร่องน้ำมากขึ้น แม้กระทั่งในเดือนกันยายนปีนี้ เรือจีนขนาด ๒๐๐ ตันก็สามารถเดินทางมายังเชียงของได้ ดังนั้น จึงควรที่จะฝึกคนเดินเรือของจีนให้มีความชำนาญร่องน้ำ มากกว่าไประเบิดแก่งที่สร้างหายนะให้กับสิ่งแวดล้อม
๗.๒ การค้าขายทางบก
ปัจจุบัน กำลังมีการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างไทย ลาว พม่า และจีน ซึ่งเหลือส่วนที่ต้องก่อสร้างไม่มากนัก และจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้
ขอเรียกร้องให้ยุติโครงการจนกว่าการศึกษาผลกระทบจะสมบูรณ์
ผลกระทบและแนวโน้มของผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นได้ชี้ให้เห็นว่า โครงการเดินเรือขนาดใหญ่ซึ่งมีการอ้างว่ามีต้นทุนถูกที่สุดนั้น เป็นเพราะไม่ได้มีการรวมเอาต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไป หากโครงการนี้มีการประเมินทุกแง่มุม โครงการนี้ก็จะมีราคาแพงที่สุด ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้มีการพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า
ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลไทย จีน พม่า และลาว หยุดโครงการดังกล่าวทันที และจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมตามมาตรฐานสากล (เช่น ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกหรือ World Commission on Dams) ซึ่งต้องเป็นการสำรวจแนวโน้มของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตลอดลำน้ำโขง ตั้งแต่จีนจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม การประเมินดังกล่าวต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วม โดยคณะผู้ศึกษาที่คัดเลือกจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ชาวบ้านผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว และองค์กรประชาสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง สังคมมนุษย์ และธรรมชาติที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้ ..
|