เสขิยธรรม -
ความเคลื่อนไหว
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
เมื่อ 'เขื่อน' ทำร้าย 'โขง'
อาทิตย์ ธาราคำ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จุดประกายปริทัศน์ กรุงเทพธุรกิจจุดประกาย
ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

 

          บริษัทสร้างเขื่อนยักษ์ใหญ่ของจีน กำลังสร้างเขื่อน ๘ แห่ง บนแม่น้ำโขง โดยไม่ปรึกษาประชาชน ที่มีชีวิตพึ่งพาสายน้ำ แม้แต่ชาวบ้านในจีนเอง ก็ไม่มีแม้แต่โอกาสปฏิเสธ หรือขอมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจ

          น้ำโขงที่ยาวกว่า ๔,๘๐๐ กิโลเมตร หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนตลอดลำน้ำ และลำน้ำสาขา ตั้งแต่ที่ราบสูงทิเบต ลงไปจนถึงปากแม่น้ำที่เวียดนาม แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน ที่ชาวจีนเรียกกันว่า แม่น้ำหลานชาง (Lancang) ในเขตยูนนานกำลังกลายเป็น 'แม่น้ำส่วนตัว' ของบริษัทจีน

          ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทพลังงานของจีนชื่อ China Huaneng Group (ไชน่า หัวนึง กรุ๊ป) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ได้รับ สิทธิในการพัฒนา แม่น้ำหลานชาง โครงการประกอบด้วยเขื่อน ๘ แห่ง

          เขื่อนมานวาน (Manwan) สร้างแล้วเสร็จเป็นแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เขื่อนอีก ๒ แห่งคือเขื่อนเซี่ยวหวาน (Xiaowan) และเขื่อนด้าเฉาชาน (Dachaoshan) กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนเขื่อนอีก 5 แห่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา เขื่อนทั้งหมดนี้สร้างเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแก่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และประเทศไทย

          ส่วนเขื่อนจิงหง (Jinghong) กำลังผลิตติดตั้ง ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างเร็วๆ นี้จะผลิตไฟฟ้าขายแก่ประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามอย่างเป็นทางการในการพัฒนาเขื่อนแห่งนี้ และรัฐบาลไทยกำลังเจรจากับรัฐบาลยูนนานเพื่อซื้อไฟฟ้าบางส่วนเพิ่มเติมจากเขื่อนนอชาดู (Nuozhadu) ทั้งที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงถึงเกือบ ๔๐ เปอร์เซ็นต์

          เงินทุนหลักของอภิมหาโครงการนี้คาดว่า จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาประเทศจีน (Chinese Development Bank) ส่วนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งอ้างว่าจะไม่ให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก กลับให้เงินกู้แก่รัฐบาลยูนนานเพื่อสร้างสายส่งไฟฟ้าสำหรับเขื่อนด้าเฉาชาน

 

ยอมอพยพเพื่อพัฒนาประเทศ

          เขื่อนมานวาน สร้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านชาวจีนจำนวนมากต้องถูกอพยพโยกย้าย ไร้ที่ทำกิน สูญเสียทรัพยากรส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ หรือป่าชุมชน หมู่บ้านและครอบครัวต้องพลัดพราก และเผชิญกับความลำบากมากมายโดยไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ใดๆ

          มีรายงานว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากที่ถูกอพยพไม่สามารถปรับตัวได้กับแปลงอพยพที่ตนต้องย้ายไปอยู่ ชายชราที่ถูกอพยพคนหนึ่งพยายามหนีออกจากแปลงอพยพกลับบ้านเดิมหลายครั้ง แต่ก็หาไม่พบเพราะบ้านเดิมจมหายอยู่ใต้เขื่อนไปแล้ว

          แม้แต่คนที่ไม่ต้องอพยพก็ใช่ว่าจะไม่พบกับปัญหา ชาวบ้านคนหนึ่งจากหมู่บ้านริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนมานวาน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำนาขั้นบันไดไล่ตามไหล่เขาสองฝั่งน้ำ เล่าถึงประสบการณ์อันขมขื่นว่า พวกเราไม่ต้องย้ายเพราะน้ำท่วมไม่ถึงหมู่บ้าน แต่ไร่นาริมฝั่งน้ำของชาวบ้านเกือบทั้งหมดต้องจมอยู่ใต้อ่าง คนที่พอมีที่เหลืออยู่บ้างก็แบ่งๆ ให้คนที่ไม่มี แต่ก็ไม่พอกิน เราไม่เคยต้องซื้อข้าว ตอนนี้ต้องซื้อข้าวกิน

          ส่วนชาวบ้านจากอีกหมู่บ้านซึ่งอยู่อีกฝั่งของอ่างเก็บน้ำเล่าว่า น้ำใช้ปลูกข้าวก็ไม่มี น้ำจะใช้ก็ยังไม่มี ตาน้ำที่อยู่ใกล้แม่น้ำที่ชาวบ้านเคยใช้จมหายไปหมดแล้ว เขาสร้างท่อประปาให้ แต่ไม่มีน้ำ ชาวบ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งเอาน้ำไปหมด เพราะเขาก็ต้องการน้ำเหมือนเรา

          ในงานสัมมนาเกี่ยวกับการนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกมาปฏิบัติ ซึ่งจัดขึ้นที่คุนหมิง เมืองหลวงของยูนนาน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากบริษัทไชน่า หัวนึง กรุ๊ป ยอมรับว่าการอพยพประชาชนของโครงการเขื่อนมานวานยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่สำหรับเขื่อนอื่นๆ ที่กำลังสร้างตามมานั้น บริษัทพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ชาวบ้านที่ถูกอพยพมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพิ่มงบประมาณในการดูแลการอพยพชาวบ้าน

          แต่ความจริงที่ชาวบ้านเผชิญกลับไม่เป็นเช่นนั้น ชาวบ้านในแปลงอพยพของเขื่อนด้าเฉาชาน ซึ่งกำหนดจะสร้างเสร็จปลายปีนี้ ต้องอพยพจากบ้านเดิมมาไกลถึง ๑๒๐ กิโลเมตรโดยไม่สามารถเลือกได้ว่าจะไปอยู่ที่ใด ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องกระจัดกระจายไปอยู่ตามแปลงอพยพต่างๆ รวมกับชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น

          ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า บ้านใหม่ก็สวยดี แต่สร้างบนดินอ่อน ไม่รู้จะพังลงมาวันไหน เราต้องยอมอพยพเพราะประเทศต้องพัฒนา เรารู้ก่อนย้ายแค่เดือนเดียว ตอนนั้นเชื่อว่าจะได้บ้านและที่ทำกินใหม่ตามที่สัญญา แต่มาถึงหมู่บ้านใหม่ก็ได้ที่ดินคนละนิดเดียว ไม่พอปลูกข้าวกิน ดินก็ไม่ดี ปลูกข้าวโพดก็น้ำไม่พอ เราไม่มีเงินซื้อปั๊มน้ำ

          เมื่อผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอ ชาวบ้านที่เคยเป็นเกษตรกร เพาะปลูกบนผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ ต้องดิ้นรนออกไปทำงานในเมืองด้วยค่าแรงอันน้อยนิด เด็กๆ ต้องออกจากโรงเรียนเมื่อจบหลักสูตรภาคบังคับเพราะไม่มีเงิน แต่ชาวบ้านก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนั่นคือ 'การพัฒนาประเทศ'

          เจ้าหน้าที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเปิดเผยชื่อได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แสดงความเห็นว่า สำหรับชาวบ้านในจีน ถ้ารัฐมีนโยบายว่าจะสร้างเขื่อน ก็คือต้องสร้าง ชาวบ้านก็ต้องย้ายตามคำสั่งเท่านั้น ไม่มีทางปฏิเสธ เราก็ช่วยได้เพียงแต่ว่าจะย้ายอย่างไรให้ชาวบ้านไม่ลำบากกว่าเดิม และพยายามผลักดันให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวางแผนอพยพมากที่สุด

 

คนท้ายเขื่อนเดือดร้อน

          สำหรับชาวยูนนาน สิ่งที่รับรู้ตลอดมาคือ เขื่อนบนแม่น้ำหลานชางนอกจากจะผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังมีประโยชน์ช่วยควบคุมกระแสน้ำและป้องกันน้ำท่วมให้กับประเทศท้ายน้ำอีกด้วย แต่สิ่งที่ชาวบ้านริมโขงที่บ้านสมสบ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เผชิญกลับตรงกันข้าม ชาวบ้านเล่าว่าปัจจุบันน้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ แปลงผักริมน้ำยามฤดูน้ำลดถูกน้ำท่วมไปหลายหนเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะน้ำโขงขึ้นกะทันหัน ชาวบ้านบางคนถึงกับร้องไห้เพราะลงปลูกพืชและถูกน้ำท่วมถึง ๓ ครั้งในเดือนเดียว

          หากอภิมหาโครงการเขื่อนหลานชางแล้วเสร็จ เขื่อนในจีนจะสามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงได้เกือบทั้งหมด เขื่อนในยูนนานจะกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนและปล่อยน้ำในหน้าแล้ง สามารถทำให้ระดับน้ำโขงในหน้าแล้งสูงกว่าปกติได้ถึง ๒ เท่า ปริมาณกระแสน้ำทั้งปีในแม่น้ำโขงช่วงก่อนถึงทะเลที่เวียดนามมาจากเขตประเทศจีนประมาณ ๑๒-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่น้ำโขงช่วงประเทศกัมพูชาในเดือนเมษายนเป็นน้ำที่มาจากเขตจีนถึง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ และปริมาณน้ำจากพื้นที่รับน้ำในเขตประเทศจีนมีส่วนสำคัญมากต่อกระแสน้ำในช่วงหน้าแล้งของแม่น้ำโขง ส่วนที่ไหลผ่านประเทศไทยและลาว

          คณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งทำการศึกษาเขื่อนทั่วโลกในทุกแง่มุม ระบุในรายงาน 'เขื่อนกับการพัฒนา' ว่า ผลกระทบด้านท้ายเขื่อนอาจมีไปไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตร หรือกินขอบเขตกว้างกว่าตัวลำน้ำ ทำให้ผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ด้านท้ายเขื่อน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในที่ราบน้ำท่วมถึงเป็นที่เพาะปลูกและทำการประมง

 

คนจีนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

          เงื่อนไขทางการปกครองในประเทศทำให้ชาวจีนไม่สามารถปฏิเสธโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการสร้างเขื่อนของรัฐบาลได้ เจ้าหน้าที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของจีนยอมรับในข้อนี้ว่า อย่างมากที่สุดก็คือ นำเสนอผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมจากเขื่อน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าวให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และเรียกร้องให้มีแผนการอพยพที่ไม่แย่จนเกินไปสำหรับชาวบ้าน ส่วนการประเมินทางเลือกเพื่อหาทางอื่นทดแทนการสร้างเขื่อน หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนและตัดสินใจโครงการนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลยในภาวะปัจจุบัน

          จะเห็นได้ว่าการพัฒนาของจีนในปัจจุบัน คนทั่วไปเห็นว่าจีนได้รับผลประโยชน์มากมาย แต่หากมองลึกลงไปจะพบว่าต้นทุนการพัฒนาเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในประเทศจีนเองด้วยเช่นกัน ชาวบ้านในจีนจำนวนมากต้องยอมจำนนรับภาระทั้งทางวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และปัญหาอื่นๆ อีกมหาศาล ซึ่งการพัฒนาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก

          แม้จะสร้างเขื่อนไกลออกไปนับพันกิโลเมตร แต่สายน้ำเดียวกันย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกประเทศท้ายน้ำมีสิทธิที่จะทวงถามถึงข้อมูลโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนของตนเอง เรามีสิทธิที่เรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านตั้งแต่เหนือเขื่อนลงไปจนจรดปากแม่น้ำ ตลอดจนเรียกร้องให้มีการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกขั้นตอนของโครงการตั้งแต่การวางแผน เพื่อหลีกเลี่ยงโครงการที่จะทำร้ายแม่น้ำและปกป้องวิถีชีวิตของประชาชนตลอดสองฝั่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีส่วนร่วม และโปร่งใส เพื่อประชาชนในประเทศของตนเอง

          และเพื่อชาวบ้านในจีนที่ไม่มีโอกาสได้พูดเหมือนกับเรา.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม |> ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :