โครงการแม่น้ำและชุมชน
ล่าสุดจนถึงขณะนี้ ทีมวิศวกรจีนได้เข้าทำการระเบิดแก่งหินชุดที่ ๒ บริเวณแม่น้ำโขงรอยต่อพรมแดนพม่า-จีนและพม่า-ลาวแล้ว มีกำหนดระเบิดทั้งหมด ๑๖ แก่ง และได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ผ่านทางเอกอัครราชทูตท่านหนึ่ง ซึ่งมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ ๗-๙ มกราคม ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ ระเบิดไปแล้วประมาณร้อยละ ๔๐ คือระเบิดไปแล้ว ๗ แก่ง นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ มีกำหนดเสร็จสิ้นการระเบิดชุดที่ ๒ นี้ กลางเดือนเมษายน ๒๕๔๖
สำหรับแม่น้ำโขงที่อยู่ในเขตประเทศจีน แก่งที่ถูกระบุว่าเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ถูกระเบิดทำลายทิ้งตั้งแต่ฤดูแล้งในปี ๒๕๔๔ ไปแล้ว
โครงการระเบิดแก่งหินแม่น้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง มีการวางแผนโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยประเทศไทยมีการลงนามกับประเทศจีนในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อปี ๒๕๔๐ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ลงนาม มีแผนระเบิดเกาะและแก่งหินกลางลำน้ำโขงตั้งแต่ประเทศจีนจนถึงหลวงพระบางของลาว เพื่อให้เรือขนาดใหญ่สามารถเดินเรือได้ตลอดทุกฤดูกาล
โครงการนี้ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่า เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายอย่างมหาศาลต่อแม่น้ำโขง ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านระบุว่า การทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ มีความไม่ชอบมาพากล มีเบื้องหลัง และความไม่เหมาะสมที่ไม่เข้าถึงมาตรฐานการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่หลายประการ
แต่ถึงที่สุดด้วยรายงานฉบับนี้ และด้วยการผลักดันในทางลับของรัฐบาลจีน ที่มีต่อประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงอย่างประเทศไทย พม่า และลาว การระเบิดแก่งก็ได้ดำเนินการจนเกือบรุกเข้ามาถึงรอยต่อแม่น้ำโขงไทยและลาวแล้ว
กระบวนการสร้างความเสียหายต่อปลาและแม่น้ำโขง
ในรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อกระบวนการบรรเทาผลกระทบระบุว่า "เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพันธุ์ปลาในช่วงการระเบิดแก่ง คณะผู้เชี่ยวชาญที่รับผิดชอบการระเบิดแก่งจะดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง เพราะเป็นระยะเวลาที่ปลาในแม่น้ำโขงไม่มีการอพยพ ฉะนั้นการระเบิดแก่งในฤดูแล้งจะไม่มีผลกระทบต่อปลา"
ข้อความนี้แสดงถึงความไร้เดียงสาของการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ใครที่ศึกษาเรื่องแม่น้ำโขง สนใจติดตามข่าวเรื่องแม่น้ำโขงย่อมรู้ดีว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่มีจำนวนชนิดพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ และแม่น้ำแซร์ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น มีการสำรวจพบพันธุ์ปลา ๑,๒๔๕ ชนิด และวงจรชีวิตของปลาจะอาศัยอยู่ในวังน้ำต่างๆของแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้ง
ในระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง วังน้ำมีความสำคัญต่อปลาในช่วงฤดูแล้ง เพราะในช่วงที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงตามวงจรจังหวะน้ำขึ้น-น้ำลงของแม่น้ำโขงที่เป็นธรรมชาติ ปลาซึ่งได้อพยพมาแล้วในช่วงที่น้ำหลาก(ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลาที่น้ำกำลังขึ้น) เพื่อขึ้นมาวางไข่ แพร่ขยายพันธุ์ยังต้นน้ำ และเมื่อถึงเวลาน้ำลง (ซึ่งปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลง) ปลาจะต้องอพยพไปยังเขตที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยในฤดูแล้งได้ ในแม่น้ำโขงจะมีเขตที่ลึกที่เรียกกันว่าวังน้ำ และเขตที่ลึกนี่เอง ที่ปลาจะอาศัยอยู่ ทั้งวังน้ำและแก่งในแม่น้ำโขงมีความสัมพันธ์กัน วังน้ำอยู่บริเวณแก่ง เป็นระบบนิเวศน์เดียวกัน
ช่วงที่เป็นวงจรน้ำลงในแม่น้ำโขง ปลาจะพากันมาอาศัยอยู่ในบริเวณแก่งและวังน้ำ เพราะแก่งมีวังน้ำ มีอาหาร มีพืชน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของปลาเล็ก ลูกปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งพืชน้ำด้วย
รูปแบบของชีวิตในน้ำนี่เองที่สร้างแหล่งอาหารที่สำคัญยิ่งให้กับปลาพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นปลาที่กินอาหารจากผิวน้ำ หากินใต้ท้องน้ำ และพวกที่กินสัตว์น้ำต่างๆเป็นอาหาร (มักเป็นกลุ่มปลาพันธุ์ใหญ่)
มากไปกว่านั้น การที่น้ำไหลท่วมวังและผ่านไปตามแก่งต่างๆที่อยู่ทางตอนล่างของลำน้ำ จะทำให้อ๊อกซิเจนในน้ำมีการกระจายตัวและเพิ่มปริมาณขึ้น หากไม่มีแก่งในแม่น้ำ แหล่งอาหารและแหล่งอ๊อกซิเจนในแม่น้ำ สำหรับการเจริญเติบโตของพืชน้ำและที่อยู่อาศัยของปลาจะลดลง
ชุมชนชาวลาวริมแม่น้ำโขงบริเวณหลวงพระบาง จะมีเขตวังสงวนใกล้กับหมู่บ้านหรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เขตอนุรักษ์ดังกล่าวคือเขตวังและแก่งในแม่น้ำ และเป็นเขตที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเขตผสมพันธุ์และวางไข่ของปลา
ชาวบ้านทั้งฝั่งลาวและไทยเชื่อกันว่า ปลาบึกอาศัยอยู่ในเขตวังน้ำต่างๆในช่วงฤดูแล้ง ชาวประมงในแขวงไซยะบุลีของลาว รายงานถึงเขตวังน้ำบ้านม่วงเลียบที่พวกเขาเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่อาศัยของปลาบึกในฤดูแล้ง และชาวประมงในแขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้ามกับบ้านหาดไคร้(ท่าจับปลาบึก)อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีความเชื่อเดียวกันว่า ปลาบึกที่พวกเขาจับได้มาจากแขวงไซยะบุลี
มีรายงานจากชาวประมงเหนือเขตสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป(ในเขตพม่า)ว่า พบปลาแข้ ซึ่งเป็นปลาที่มีถิ่นอาศัยบริเวณแก่งลอยตายมากับแม่น้ำโขงจำนวนมาก ปลาเหล่านี้เน่ากินไม่ได้ เพราะตายมาหลายวัน พวกเขาเชื่อว่ามาจากการระเบิดแก่งหินแม่น้ำโขง
ปลาซึ่งอาศัยอยู่ในวังน้ำ และแก่งหินแม่น้ำโขงในฤดูแล้งจะไม่สามารถว่ายน้ำไปในเขตวังอื่น หรือแก่งอื่นๆในช่วงฤดูแล้งได้ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำต่ำ การระเบิดแก่งย่อมมีผลกระทบทันทีกับปลาเหล่านี้ นั่นคือ เป็นการฆ่าปลาในเขตที่กล่าวมาเกือบทั้งหมด
ดังนั้น "กระบวนการบรรเทาผลกระทบ" ที่จะเกิดขึ้นจากการระเบิดแก่งหิน ที่ถูกระบุในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ โดยใช้วิธีระเบิดแก่งหินในฤดูแล้งแทนนั้น ไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นกระบวนการบรรเทาผลกระทบ น่าจะเรียกเป็น กระบวนการสร้างความเสียหายต่อปลาและแม่น้ำโขง มากกว่า
นอกจากนั้น ความไร้เดียงสาอีกประการของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขอฝโครงการนี้คือ ข้อความที่ถูกระบุในรายงานว่า "การคัดเลือกเขตที่จะทำการทิ้ง ควรจะเป็นเขตที่อยู่ติดกับเขตโครงการที่มีการระเบิดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อทำให้เส้นทางขนส่งสั้นขึ้น และเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เขตที่จะทำการทิ้งของเหลือคือ เขตท้องน้ำทางตอนล่างที่เป็นเขตรอยต่อระหว่างส่วนโค้งสองส่วนของแม่น้ำ ซึ่งจะเป็นการทิ้งของเหลือลงในสระน้ำไหลเชี่ยว"
ภาษาทางวิชาการที่ว่า "เขตท้องน้ำทางตอนล่างที่เป็นเขตรอยต่อระหว่างส่วนโค้งสองส่วนของแม่น้ำ" และ "สระน้ำไหลเชี่ยว" ก็คือวังน้ำ ซึ่งได้กล่าวแล้วว่า เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาหลายชนิดในแม่น้ำโขงช่วงฤดูแล้ง
และศัพท์วิชาการคำว่า "ของเหลือ" คือ ก้อนหินจำนวนหลายตันที่ได้มาจากการระเบิดแก่งหินเพื่อปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือ
การลดผลกระทบโดยการทิ้งก้อนหินลงในวังน้ำ โดยอ้างว่า เพื่อลดระยะการขนส่งนั้น แท้จริงแล้ว หินจำนวนมหาศาลที่ถูกทิ้งลงไปในวังน้ำ ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายระดับวิกฤติ และทำลายพื้นที่กว้างใหญ่ของเขตที่อยู่อาศัยของปลา ซึ่งหากินใต้ท้องน้ำ รวมทั้งทำลายพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ประเภทกินเนื้อที่มีมากในเขตนี้ของแม่น้ำโขงด้วย
ปลาเหล่านี้ รวมทั้งปลาที่อาศัยอยู่บริเวณแก่ง รวมทั้งสัตว์น้ำตลอดจนพืชน้ำอื่นๆ นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการระเบิดแก่งหินแล้ว ยังได้รับผลระทบซ้ำจากการทิ้งหินที่ระเบิดและได้กลายเป็นของเหลือลงไปในวังน้ำของแม่น้ำโขงอีก
ข่าวจากพม่า
จากการระเบิดแก่งชุดแรกเมื่อต้นปี ๒๕๔๕ มีรายงานว่า แหล่งข่าวชาวละหู่ได้แจ้งข้อมูลต่อ Lahu National Development Organization (LNOD) หรือองค์การพัฒนาชาติละหู่ เกี่ยวเนื่องกับการระเบิดแก่งว่า ในฤดูแล้งที่ผ่านมามีการระเบิดเกิดขึ้นหลายๆครั้งโดยคนจีน เป็นการดำเนินการอย่างลับๆ โดยไม่มีการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบก่อน ในฤดูแล้งบริเวณดังกล่าวมีชาวบ้านหาปลาเป็นจำนวนมาก มีปลาหลายชนิดที่กินสาหร่ายที่ขึ้นตามแก่ง ที่เรียกกันว่า ไก เป็นอาหาร และอาศัยอยู่บริเวณแก่ง ปลาจำนวนมากตายในช่วงที่มีการระเบิด
ในบริเวณดังกล่าว ยังเป็นที่ชาวบ้านเก็บสาหร่ายไกเพื่อขาย การเก็บไกในบริเวณนี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม เมื่อนำมาตากแห้งจะได้ราคาดีมาก เป็นรายได้เสริมที่มีราคาสูงของชาวบ้าน ชาวบ้านกังวลว่า ปริมาณไกจะลดลงจากการระเบิดแก่งหินซึ่งเป็นที่เจริญเติบโตของไก
ชาวประมงฉานคนหนึ่งซึ่งอยู่ที่ปางสาน (Pang Hsan) ด้านท้ายน้ำของบริเวณที่มีการระเบิด ประมาณ ๓๐ กิโลเมตรทางตะวันออกของท่าขี้เหล็ก รายงานว่า ฤดูแล้งที่ผ่านมามีปลาตายจำนวนมากลอยมาตามน้ำ ปลาเหล่านี้กินไม่ได้ และเขาเชื่อว่าสาเหตุมาจากการระเบิดแก่งหินทางตอนบนของแม่น้ำโขง
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนออกมาว่า มีปลาจำนวนเท่าใดที่ตายระหว่างที่ทีมวิศวกรจีนได้ทำการระเบิดแก่งหิน ในเขตแม่น้ำโขงทางเหนือขึ้นไป และเป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่า จะไม่มีรายงานผลกระทบต่อจำนวนพันธุ์ปลาที่ถูกระเบิดตายออกมาอย่างแน่นอน เนื่องเพราะการเมืองบางอย่างของ ๒-๓ ประเทศที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไป รวมทั้งความพยายามในการปกปิดผลกระทบที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
และยังไม่มีรายงานเช่นกันว่า "ของเหลือ" ที่ถูกทิ้งนั้น ได้ทำให้สภาพของแม่น้ำโขงตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
การทำการศึกษา รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการปรับปรุงเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง จากจุดชายแดน ๒๔๓ ประเทศจีน-พม่าถึงบ้านห้วยทราย ประเทศลาว โดยทีมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมจากประเทศจีน พม่า ลาว และไทย ในเดือนกันยายน ๒๕๔๔ ใช้เวลาการศึกษา ๕ เดือน
๕ เดือน ไม่ถึงหนึ่งรอบคือ ๑๒ เดือน ที่ควรจะเป็นของการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
รายงานฉบับนี้ จึงปรากฏ "ความไร้เดียงสา" ขึ้นมาหลายประการ เป็นความไร้เดียงสาต่องานวิชาการที่มีความสำคัญอย่างที่สุดต่อธรรมชาติแม่น้ำโขง และเป็นความไร้เดียงสาที่ทำลายแม่น้ำโขงอย่างประเมินค่าไม่ได้
การทำลายระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง ก็เท่ากับส่งผลร้ายต่อชุมชนต่างๆที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง
การทำร้ายปลา ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของปลา ก็เท่ากับเป็นการทำลายแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุด ของประชาชนหลายแสนคนที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน พม่า ลาว ไทย และรวมเลยไปถึงกัมพูชา และเวียดนาม
การมุ่งมั่นเพียงเพื่อเปิดแม่น้ำโขงให้ตอบสนองต่อการขยายการค้า ไม่สามารถรับใช้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ มีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่มีทุน มีอภิสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดแม่น้ำโขงเพื่อการค้า ชาวบ้านยากจน หาเช้ากินค่ำ และมีชีวิตทั้งชีวิตพึ่งพาอาศัยกับแม่น้ำโขงไม่มีวันที่จะเข้าถึงแม่น้ำโขงได้อีก
พวกเขาไม่มีทุน ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีช่องทางที่จะเข้าถึงการมีส่วนร่วมของการเปิดตลาดด้านการค้าได้ ชาวบ้านอยู่กับแม่น้ำโขง และใช้แม่น้ำโขงอย่างเข้าใจ ไม่รุกไล่ ไม่รุกล้ำตักตวงผลประโยชน์อย่างที่โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงได้กระทำอยู่
ปัจจุบันนี้ แม่น้ำโขงถูกรุกล้ำเอาประโยชน์อย่างมาก ทั้งการมีเขื่อนในประเทศจีน ประเทศต้นน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงถึงประเทศเวียดนาม ประเทศปลายน้ำ ที่มีปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาทุกปี หลังจากมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ประเทศจีน น้ำเค็มที่หนุนเข้ามา ส่งผลให้การปลูกข้าวบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีคุณภาพต่ำลง
การสร้างท่าเรือที่เชียงของ ส่งผลให้ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่อย่างปลาบึก ไม่ขึ้นมาให้เห็นมาเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว ที่บ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีต ที่นี่เป็นท่าจับปลาบึกที่เคยจับปลาบึกได้ปีละเป็นร้อย ๆ ตัว
ดร.คริส คอกลิน และโมนิค แฮน จากสถาบันสิ่งแวดล้อมโมนาช มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย ซึ่งได้ทำการศึกษารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการปรับเส้นทางเดินเรือ ตามสัญญากับคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) กล่าวว่า
"รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ในหลายแง่มุม เนื้อหาจำนวนมากในรายงานมีพื้นฐานมาจากการคาดเดา สถิติที่ใช้มีไม่เพียงพอ การประเมินผลกระทบในระยะยาวถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิง ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ถูกเมินเฉย รายงานที่มีอยู่จึงไม่สามารถที่จะยอมรับได้ว่ามีการศึกษาเพียงพอ"
การทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการปรับเส้นทางการเดินเรือครั้งนี้ ถูกเรียกขานว่า เป็นได้แค่เพียง คู่มือการระเบิดแก่งหินเท่านั้นเอง
เสียงคัดค้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่ทำลายธรรมชาติแม่น้ำโขงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือความไร้เดียงสาของการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้ง ๔ ประเทศก็ยังปล่อยให้ทีมวิศวกรจีนเดินหน้าระเบิดแก่งอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีใครรู้ว่า ต้องให้ธรรมชาติย่อยยับไปอีกเท่าใด ถึงจะเพียงพอต่อการที่รัฐ ผู้มีอำนาจสูงสุด จะหันกลับมาสนใจเรื่องการมีอยู่ของธรรมชาติ และประโยชน์ของธรรมชาติต่อมนุษย์ทุกคนอย่างจริงจังเสียที
แต่กว่าจะถึงเวลานั้นก็อาจจะสายเกินไปก็เป็นได้...
ทีมวิศวกรจีนจัดอันดับความอันตรายของแก่งหินแม่น้ำโขงอยู่ ๓ ระดับ คือ เอ บี และ ซี ระดับเอ หมายความถึงเป็นแก่งหินที่อันตรายมากที่สุดต่อการเดินเรือ ระดับบี คือ อันตรายระดับปานกลางต่อการเดินเรือ และระดับซี คืออันตรายต่อการเดินเรือ
การระเบิดชุดแรกเมื่อฤดูแล้งปี ๒๕๔๕ (มีนาคม-เมษายน) เป็นแก่งที่อยู่พรมแดนพม่าลาว ๓ แก่งคือ แก่งตั้งอ้อ (Tang Ao) ซึ่งทีมวิศวกรจีนจัดระดับความอันตรายอยู่ในระดับเอ แก่งทั่งหลวงล่าง (Lower Tang Luang)อันตรายในระดับ บี แต่แก่งสุดท้ายคือแก่งปากแม่น้ำโหลย (Nam Loi River Mouth) ระดับ บี ยังไม่เสร็จต้องดำเนินการต่อในฤดูแล้งต่อไป
การระเบิดชุดต่อไป เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธนวาคม ๒๕๔๕-๑๕ เมษายน ๒๕๔๖ จีนจะทำการเปิดประตูเขื่อน ๑ วัน และปิด ๓ วัน เพื่อปรับระดับน้ำให้ระเบิดแก่งได้ ตามแผนแก่งทั้ง ๑๖ แก่ง ซึ่งอยู่ในแม่น้ำโขง รอยต่อ พม่า-จีน พม่า-ลาว ที่จะถูกระเบิดคือ
๑. แก่งห้วยลา (Huai La) อันตรายระดับ ซี
๒. แก่งไคร้ หรือแก่งหาดไคร้ (Khai) อันตรายระดับ บี
๓. แก่งช่องน้ำทั่งลาน (Chuang Nam Tang Lan) อันตรายระดับ ซี
๔. แก่งร่องจอม หรือที่คนจีนเรียกแก่งหล่งซ่ง (Long Zhom) อันตรายระดับบี
๕. แก่งขอนหมูใต้ (Kon Mu Tai) อันตรายระดับซี
๖. แก่งปากน้ำโหลย (Nam Loi River Mouth) อันตรายระดับบี
๗. แก่งคลองตัน (Khong Tan) อันตรายระดับบี
๘. แก่งต้นป่านกยาง (Ton Pa Nok Yang) อันตรายระดับซี
๙. แก่งห้วยนาย้อ (Huai Na Yo) อันตรายระดับ ซี
๑๐. แก่งทั่งสะลัม (Tang Salum) อันตรายระดับเอ
๑๑. แก่งท่าบ้านบ่อ (Tha Ban Bo) อันตรายระดับซี
๑๒. แก่งว่องวิด (Wong Wit) อันตรายระดับบี
๑๓. แก่งแสนปี (Saen Pi) อันตรายระดับซี
๑๔. แก่งวังเส็ง (Rang Seng) อันตรายระดับซี
๑๕. แก่งเมืองป่าเลียวล่าง (Lower Mong Pa Liao) อันตรายระดับบี
๑๖. แก่งสามเส้า (Sam Zhao) อันตรายระดับบี
การระเบิดชุดสุดท้าย กำหนดการวางไว้ในเดินธันวาคม ๒๕๔๖-เมษายน ๒๕๔๗ ตามแผนงานจะทำการระเบิด ๓ แก่ง คือ แก่งปากแม่น้ำโหลย (Nam Loi River Mouth) อันตรายระดับบี และแก่งทั่งปัง (Tang Pang) อันตรายระดับซี และแก่งคอนผีหลวง (Khon Pi Luang) ซึ่งเป็นแก่งที่อยู่ในเขตแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
การระเบิดแก่งนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรก หรือที่เรียกกันว่า เฟสแรกเท่านั้น จีนมี ๓ เฟสในการดำเนินการเกี่ยวกับแม่น้ำโขงทั้งหมดเพื่อให้สามารถเดินเรือได้ตลอดปี
เฟสแรก ระเบิด ๒๐ แก่งเพื่อให้เรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ ๑๐๐ ตันเดินเรือได้ตลอดทั้งปี
เฟสที่ ๒ จะระเบิด ๕๑ แก่งและดอนทั้งหมด ให้เรือขนาดระวาง ๓๐๐ ตันอย่างต่ำ เดินเรือได้ตลอดทั้งปี
ต่อจากนั้นเฟสที่ ๓ จะปรับให้แม่น้ำโขงเป็นคลอง ให้เรือระวางบรรทุกอย่างต่ำ ๕๐๐ ตัน เดินเรือได้ตลอดทั้งปี
ต้องระลึกไว้เสมอว่า ปัจจุบันนี้ เรือระวางบรรทุก ๑๐๐-๒๐๐ ตันก็สามารถเดินเรือในแม่น้ำโขงได้แล้ว แต่ได้เฉพาะหน้าน้ำ หน้าแล้งเดินไม่ได้ แนวคิดของจีนคือ ระเบิดสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นออกให้หมด เพื่อให้เดินเรือได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะในฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่งเท่านั้น ..
|