เสขิยธรรม -
ความเคลื่อนไหว
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
คิดถึงปลาบึก
กลุ่มรักษ์เชียงของ โครงการแม่น้ำและชุมชน

          ย่างเข้าสู่ปีที่สามแล้วที่คนเชียงของไม่เห็นแม้เงาของปลาบึก มีข้อสงสัยหลาย ๆ อย่างว่า เกิดจากสาเหตุอะไร เขื่อนในจีนเรือขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น แม่น้ำขุ่นข้น หรือปริมาณการล่าที่เพิ่มอย่างรุนแรง หากปลาบึกเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ในระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขง สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า แม่น้ำโขงกำลังเดินทางไปสู่วิกฤต ที่เกิดจากกิจกรรมบริโภคนิยมเกินตัวของมนุษย์

          ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดหรอปลาหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบเฉพาะในลุ่มน้ำโขงเพียงแห่งเดียว ลำตัวยาวด้านข้างแบนสีเทาปนดำบริเวณหลัง ด้านท้องใต้แนวเส้นข้างลำตัวลงเป็นสีเหลือง ส่วนล่างสุดเป็นสีขาวเงิน ดหัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ มีหนวดสั้นสองคู่ ตาเล็กอยู่ระดับเดียวกับมุมปาก ปลาวัยอ่อนมีฟันอยู่บนขากรรไกร กินไรน้ำ ตัวอ่อนแมลงและกินลูกปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร เมื่อเจริญวัยฟันจะหลุดหายกินพืชเป็นอาหาร พืชที่ปลาบึกชอบ คือไก สาหร่ายแม่น้ำโขง

          ปลาบึกอาศัยอยู่ในน้ำลึกกว่าสิบเมตร ตัวใหญ่สุดน้ำหนักถึง ๓๐๐ กว่ากิโลกรัม ยาว ๒-๓ เมตร สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันเราสามารถเห็นปลาบึกที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงน้ำหนักไม่เกิน ๘๐ กิโลกรัม ตามบ่อเลี้ยงปลา หรืออ่างเก็บน้ำ

          พ่ออุ๊ยซ้อ จินะราช พรานปลาบึกอายุ ๗๖ ปี บ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย บรรพบุรุษอุ๊ยซ้อล้วนเป็นพรานปลาบึกทั้งสิ้น ตระกูลนี้จึงถูกเรียกขานกันว่า ตระกูลพรานปลาบึก อุ๊ยซ้อเองจับปลาบึกตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี และเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงจับปลาบึกที่ท่าหาดไคร้ ปลาบึกจำนวนมากที่จับได้จะถูกขาย ในอดีตจะขายให้กับคนลาว ระยะหลัง ๆ เมื่อเนื้อปลาบึกมีการโหมโรงโฆษณาสรรพคุณว่าเป็นเหมือนยา การเดินทางของปลาบึกก็ไปสู่ภัตตาคารในเมืองใหญ่ต่าง ๆ เนื้อปลาบึกมีค่าเหมือนทองคำ ราคาขายสูงสุดถึงกิโลกรัมละ ๓๔๐ บาท ราคานี้เป็นราคารับซื้อ หลังจากนั้นราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย กลายเป็นเรื่องว่าครั้งหนึ่งในชีวิต หากได้กินเนื้อปลาบึกเหมือนขึ้นสวรรค์อะไรทำนองนั้น

          เวลานั้นฤดูจับปลาบึก ณ ท่าย้านหาดไคร้ที่เชียงของ ก็ได้รับการโหมประโคมโฆษณา กลายเป็นเทศกาลแห่งการท่องเที่ยวไปขณะเดียวกันการก่อสร้างต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงก็เกิดขึ้น เขื่อน ๒ แห่งในประเทศจีน เสร็จเมื่อปี ๒๕๓๘ ท่าเรือน้ำลึกในประเทศริมแม่น้ำโขง การขนส่งสินค้าทางเรือ การค้าชายแดนที่คึกคักในอำเภอเชียงของถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ในยุคบริโภคนิยมอย่างรุนแรง

          อุ๊ยซ้อเล่าว่า นิสัยของปลาบึกนั้นจะชอบอาศัยในที่สงบไม่มีการรบกวนมากนัก และปลาบึกไวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เวลาจับปลาบึกต้องเงียบที่สุด ถ้าเผลอทำอะไรตกลงน้ำแม้นิดเดียว ปลาบึกจะรับรู้ได้แล้วหนีหายไปทันที ฉะนั้นหลังจากมีการก่อสร้างเขื่อน สร้างท่าเรือ การขนส่ง จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมปลาบึกจึงหายไป

          สถิติการจับปลาบึกสอดคล้องกับช่วงเวลาการก่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ในแม่น้ำโขงของมนุษย์ ในปี ๒๕๓๓ ท่าหาดไคร้จับปลาบึกได้ถึง ๖๙ ตัว หลังปี ๒๕๓๘ เมื่อเขื่อนในจีนเสร็จ การค้าขายทางเรือเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การสร้างท่าเรือน้ำลึกใน ๔ ประเทศ ไทย ลาว พม่า จีน ปริมาณการจับปลาบึกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ปี ๒๕๓๙ จับได้ ๗ ตัว และลดจำนวนลงมาเรื่อย จนล่าสุดเห็นปลาบึกครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๕๔๓ จับได้ ๒ ตัว ตั้งแต่นั้นมาย่างเข้าปีที่สามแล้ว ที่ยังไม่มีปลาบึกขึ้นมาที่หาดไคร้แห่งนี้

          กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ในแม่น้ำโขง ตั้งแต่เขื่อนในประเทศจีนท่าเรือน้ำลึก การขนส่งทางเรือที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นตลอดเวลา จนถึงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณปลาบึกและปลาชนิดอื่น ๆ

          นอกจากนั้น ไก ซึ่งเป็นอาหารของปลาบึกที่เคยมีมากที่ท่าหาดไคร้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดจากธรรมชาติ ตลอดจนถึงการที่น้ำขุ่นข้น เพราะการระเบิดแก่งเป็นการทำลายไก และเมื่อไม่มีไกซึ่งเป็นอาหารของปลาบึก จึงไม่มีปลาบึก สถิติการลดลงของไกสอดคล้องกับการลดจำนวนของปลาบึกเช่นกัน ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นปีที่ชาวประมงจับปลาบึกได้เพียง ๒ ตัว และในปีนี้ก็เป็นปีที่ชาวบ้านเก็บไกได้น้อยเช่นกัน หลังจากนั้นปลาบึกก็ไม่มีใครเห็น และไกก็เกิดช้าและมีจำนวนน้อยลงทุกปี เช่นปีนี้

          เมื่อไม่มีไก อาจเป็นไปได้ว่า จะไม่มีปลาบึก…

          ในอดีต ตลอดสายน้ำโขงที่ประเทศไทยสามารถพบเห็นปลาบึกได้ตลอดลำน้ำ ตั้งแต่เชียงแสน จ.เชียงราย จนถึงโขงเจียมที่จ.อุบลราชธานี มีภาพเขียนรูปปลาบึก ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี แสดงว่าพื้นที่นี้เคยมีการจับปลาบึก ที่หมู่บ้านปากแม่มูนบรรจบกับแม่น้ำโขงเรียกว่า หมู่บ้านเวินบึก ชาวบ้านเล่าว่า สมัยก่อนที่นี่ก็เป็นแหล่งจับปลาบึกแห่งหนึ่ง วังปลาบึกหรืออ่างปลาบึก ที่จ.หนองคายเช่นเดียวกัน ที่แสดงว่าพื้นที่นี้เคยมีการจับปลาบึก ใกล้กันที่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย หมู่บ้านชายแดน ก็เคยมีการจับปลาบึก

          ปัจจุบันแหล่งจับปลาบึกก็เหลืออยู่ที่เฉพาะที่ท่าหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และที่นี่ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยตามแหล่งอื่นเช่นกัน ท่าหาดไคร้กำลังจะกลายเป็นตำนานการจับปลาบึก การจับปลาบึกกำลังจะเป็นเรื่องเล่าขานกัน แนวโน้มปริมาณปลาบึกลดจำนวนลงเรื่อย และคาดกันว่า อีกไม่นานหากยังคงมีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ในยุคบริโภคนิยมอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ปลาบึกคงจะไม่โผล่ที่ท่าหาดไคร้อีกต่อไป

          ลุงเรียน จินะราช อดีตประธานชมรมปลาบึก บ้านหากไคร้ กล่าวถึงสภาพพื้นที่ของท่าบ้านหาดไคร้ว่า ท่าหาดไคร้อยู่ในทำเลที่ดีกว่าที่อื่น ๆ เพราะพื้นที่ท้องน้ำแม่น้ำโขงเป็นกรวดหินเล็ก ไม่มีโขดหินก้อนผา แต่เป็นพื้นเรียบ ๆ "เราจับปลากันด้วยวิธีการที่เรียกว่า ไหลมอง ต้องดำน้ำลงไปใต้น้ำ การมีโขดหินใต้น้ำเยอะ มองจะลงไปติดทำเลตรงนี้จึงดีกว่าที่อื่น ๆ ที่นี่มีการจับปลาบึกกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ร่วม ๑๐๐ กว่าปีได้แล้ว"

          ชาวบ้านที่คุ้นเคยกับแม่น้ำโขงตั้งแต่เกิดรู้ดีว่า ปลาบึกไม่ได้อาศัยอยู่ที่ท่าบ้านหาดไคร้ แต่ที่นี่เป็นทางผ่านของปลาเท่านั้น ไม่มีใครรู้ที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของปลาบึก ยังคงเป็นปริศนา ชาวบ้านซึ่งคุ้นเคยกับแม่น้ำโขงพูดอย่าง นักวิชาการผู้มีปริญญาบัตรรับรองพูดไม่เหมือนกัน นักวิชาการเชื่อว่า ปลาบึกเดินทางมาจากโตเลสาป ทะเลสาบน้ำจืดประเทศกำพูชา เมื่ออุณหภูมิของแม่น้ำเปลี่ยน ปลาที่เจริญเต็มวัยที่จะต้องว่ายทวนน้ำขึ้นมาเพื่อมาวางไข่ในทะเลสาบต้าลี่แถบมณฑลยูนาน ประเทศจีน เป็นระยะทางถึง ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ปลาบึกว่ายทวนกระแสน้ำ จากอุบลราชธานีมาหนองคาย ผ่านเชียงของ เชียงแสน รัฐฉานในประเทศพม่า เข้าสู่ประเทศจีน

          ส่วนชาวบ้านเชื่อกันว่า มีวังปลาบึกอยู่ถ้ำใต้แม่น้ำโขง บริเวณหลวงพระบางและแขวงไซยะบุรี และพอวันสงกรานต์ พวกภูตผีที่ดูแลเฝ้าถ้ำจะออกมา ปลาบึกจะเดินทางมาด้วย เพราะฉะนั้นชาวบ้านจึงมีความเชื่อกันว่า ถ้าจะจับปลาบึกได้ต้องทำพิธีขอ ที่นี่จึงมีการทำพิธีไหว้ขอผีจับปลาบึกกันทุกปี และเมื่อจับปลาบึกได้ก็ต้องมีพิธีขอบคุณผีด้วย

          อนึ่งสำหรับพิธีการไหว้ปลาบึกนั้น ภายหลังการจับปลาบึกที่หาดไคร้กลายเป็นแหล่งทำเงินเพื่อารท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งนั้น ที่นี่จึงมีพิธีกรรม ๒ อย่าง พิธีแรกซึ่งจะทำกันประมาณวันที่ ๑๖ หรือ ๑๗ เมษายน ของทุกปีนั้นเรียกว่า พิธีเลี้ยงลวง คือการไหว้ผีเจ้าที่เพื่อของจับปลาบึก และขอโชคชัยในการจับปลาบึก ส่วนพิธีที่ทำกันต่อมานั้น ในปีนี้ (พ.ศ.๒๕๔๖) จัดวันที่ ๑๘ เมษายน นั้น เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว กลายเป็นพิธีบวงสรวงปลาบึก เป็นการบูรณาการขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยวและประเพณีสงกรานต์

          ความเชื่อว่า ปลาบึกอาศัยอยู่ในถ้ำใต้แม่น้ำโขง บริเวณหลวงพระบางนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า บริเวณแม่น้ำโขงในเขตหลวงพระบางและแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว มีวังน้ำขนาดลึกตั้งแต่ ๒-๓ เมตร จนถึงมากกว่า ๒๐ เมตร เป็นจำนวนมาก วังน้ำเหล่านี้อยู่กึ่งกลางระหว่างแก่งต้นน้ำกับแก่งท้ายน้ำ และวังน้ำนี้เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญอย่างยิ่งของปลาแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้ง ไม่ว่าจะเป็นปลาที่เดินทางเคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาล หรือปลาที่อาศัยอยู่เฉพาะถิ่น

          ชาวประมงในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว มีความเชื่อกันว่าปลาบึกอาศัยอยู่ในเขตวังน้ำที่บ้านม่วงเลียบในฤดูแล้ง ก่อนจะออกมาเพื่อว่ายน้ำเล่นที่ท่าหาดไคร้ เชียงของ ประเทศไทย

          ไม่ว่าความเชื่อเรื่องที่อยู่อาศัยของปลาบึกจะเป็นอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้แหล่งสุดท้ายในประเทศไทยที่จะเห็นปลาบึกได้ กำลังจะเลือนหายไปจากท่าหาดไคร้แห่งนี้

          การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดใดก็ตามบนโลกใบนี้ กระทบต่อความสัมพันธ์ที่เป็นห่วงโซ่ถึงกันทั้งหมด ถ้าไม่มีปลาบึกอีกต่อไป ไม่แน่ว่าธรรมชาติจะแปรปรวนไปอีกเท่าไร

          จากนี้ไป ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาลจับปลาบึกที่เคยทำกันมาบรรยากาศความคึกคัก ความตื่นเต้น การเฝ้ารอและความอดทนจะกลายเป็นเพียงอดีต เราคิดถึงปลาบึก ถวิลหาความสุขอันอุดมสมบูรณ์ คิดถึงภาพคนทุกวัย จดจ่อร่วมกันเมื่อเห็นการปรากฎตัวของปลาบึก ต่อไปนี้จะมีเพียงความคิดถึง…

          เราจะทำได้เพียงแค่คิดถึงปลาบึกที่เชียงของเท่านั้น หรือต้องทำอะไรเพื่อปลาบึกกลับคืนมา .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม |> ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :