กระดานข่าวเสขิยธรรม เสขิยธรรม : : skyd.org

 ช่วยเหลือช่วยเหลือ   ค้นหาค้นหา   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก   กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   สมัครสมาชิก(Register)สมัครสมาชิก(Register)
 ข้อมูลส่วนตัว(Profile)ข้อมูลส่วนตัว(Profile)   เข้าสู่ระบบเพื่อเช็คข้อความส่วนตัวเข้าสู่ระบบเพื่อเช็คข้อความส่วนตัว   เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)

"เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"วิพากษ์ ทางรอดพลังชุมชน-คนรา

 
สร้างหัวข้อใหม่   ตอบ    กระดานข่าวเสขิยธรรม -> กระแสโลก
อ่านหัวข้อก่อนหน้า :: อ่านหัวข้อถัดไป  
ผู้ตั้ง ข้อความ
o
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: Sun May 30, 2004 17:55    เรื่อง: "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"วิพากษ์ ทางรอดพลังชุมชน-คนรา ตอบโดยอ้างข้อความ

"เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"วิพากษ์ ทางรอดพลังชุมชน-คนรากหญ้า



หมายเหตุ : นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในงานเสวนาเรื่อง "พลังท้องถิ่นกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพยากรไทย" ในงานมหกรรมดอกไม้บานกลางใจคนรากหญ้า ที่หอนิทรรศการและศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2547

ผมว่าเรื่องที่เราคุยกันเนื่องจากความเป็นสำนักเดียวกันทั้งหมดก็ต้องเห็นด้วยกันไปหมด เราเสริมกันให้มันได้มิติต่างๆ ขึ้น พูดถึงเรื่องรัฐ ช่วงแรกที่เราพูดถึงพลังท้องถิ่นในอดีตมันมีจริงหรือไม่ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจสักนิดหนึ่งว่า รัฐโบราณของไทยก่อนที่มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เขาเป็นรัฐที่ไม่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แล้วก็เป็นรัฐที่ไม่เข้าไปยุ่งในชีวิตโดยรายละเอียดในการทำอยู่ทำกินของประชาชน ขออย่างเดียวว่าถึงเวลาก็ส่งภาษีมาแล้วกัน ส่งแรงงาน เอาตัวเองมาให้รัฐใช้งานสักปีละเดือนสองเดือน ที่เหลือประชาชนต้องดูแลตัวเอง อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญมาก เป็นเวลาหลายร้อยปีอาจจะถึง 400-500 ปี ที่ทำให้ชุมชนต่างๆ เกิดสิ่งแวดล้อมที่เขาจะต้องจัดการบริหารชีวิตของเขา เกิดจารีตประเพณีที่จะปฏิบัติต่อกันอย่างไร จะบริหารจัดการน้ำ จัดการป่าอย่างไร หรือว่าทรัพยากรอื่นๆ อย่างไร ประเพณีเหล่านี้ถ้าใครเกิดและเติบโตมาในเวลาที่ยังไม่ได้ถูกทำลายหนักขนาดนี้ จะสัมผัสหมดทุกคน

แต่ก่อนผมเด็กๆ ผมก็ไม่เข้าใจ ผมเป็นคนที่โตมาในชุมชนท้องถิ่น เป็นชุมชนชาวประมงเล็กๆ ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง เจอต้นไม้นี่ก็ต้องไหว้ ลงน้ำก็ต้องไหว้ เคารพธรรมชาติ ทำอะไรสารพัดก็ต้องเคารพไปหมด แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหลือแล้วถูกสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกให้เป็นเขตอุตสาหกรรมทีเดียว ป่าก็หายไปหมด ผมคิดว่าเรื่องที่เราพูดกันในวันนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือเอารัฐเป็นตัวตั้ง เรากำลังพูดกันในความหมายที่คล้ายๆ ว่า ถอดสลักปมเงื่อนของรัฐชาติที่ครอบประเทศไทยมาเป็นเวลา 100 กว่าปี แต่ผมไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมามันไม่ดีไปหมด แต่ประวัติศาสตร์ได้มาถึงจุดที่ว่าในเวลานี้ ท้องถิ่นหรือว่าชุมชนท้องถิ่นจะกลายเป็นจุดที่มีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะรักษาชีวิตหรือว่าสันติสุขในสังคมที่เราสังกัดให้อยู่รอดต่อไปได้ เพราะว่า หลังจากที่เคยมีอิสระค่อนข้างมากในการดูแลชีวิตตนเอง จนเกิดจารีตประเพณีขึ้น ซึ่งแต่ละแห่งอาจจะไม่เหมือนกัน ตั้งแต่เชียงรายถึงยะลา มีจารีตประเพณีในการบริหารจัดการทรัพยากรหรือว่าประเพณีอื่นๆ ไม่เหมือนกัน แต่ทันทีที่มีการรวมศูนย์อำนาจ สร้างรัฐที่เรียกว่ารัฐชาติหรือรัฐประชาชาติขึ้นมา จะด้วยแรงกดดันจากฝรั่งหรืออะไรก็ตามมันเกิด 2 อย่าง ซึ่งชุมชนท้องถิ่นอาจจะเป็นเป้าหมายของการถูกริดรอนกัดกร่อนพลัง อาจจะทั้งก้าวกระโดดและทั้งทีละเล็กละน้อยกว่าจะมาถึงปัจจุบัน

กระบวนการทั้งหมดที่ผมพูดเอาเข้าใจง่ายๆ คือ 1.ทำให้เป็นเอกภาพ 2.ทำให้เป็นเอกพจน์ ทำให้เป็นเอกภาพหมายความว่า รวมศูนย์อำนาจทั้งหมด ยกเลิกชนชั้นปกครองท้องถิ่น เจ้านายท้องถิ่น ยกเลิกชนชั้นนำท้องถิ่นทั้งหมด ให้กรุงเทพฯส่งออกไปปกครองอย่างเดียว อำนาจการเมืองถูกริบหมดเลย ซึ่งจริงๆ ก็เหมือนกับในประเทศที่เป็นอาณานิคม คล้ายๆ กัน รูปแบบของรัฐก็ศึกษาจากประเทศอาณานิคม การบริหารจัดการอยู่ตรงกลางหมด ใครจะไปบริหารจัดการท้องถิ่นต้องได้สัมปทานต้องได้รับอนุมัติจากกรุงเทพฯ รายละเอียดในการจัดระบบราชการผมจะไม่เอ่ยถึง ทุกท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่อีกเรื่องหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามคือ นอกเหนือจากถูกทำให้เป็นเอกภาพแล้วยังถูกทำให้เป็นเอกพจน์ด้วย

เป็นเอกพจน์หมายความว่า ทุกอย่างมีอย่างเดียว คือต้องมีวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งเดิมมันไม่เคยมีมาก่อน แล้ววัฒนธรรมแห่งชาติเอามาจากไหนก็เอามาจากของอังกฤษบ้าง จากหมู่ชนชั้นสูงบ้าง เอามาปรุงมาแต่ง ผมชอบพูดให้นักศึกษาฟังเยอะแยะเลยว่า คนไทยไม่ได้เป็นอย่างที่อ่านในตำรากระทรวงศึกษาธิการสักคน อย่างเช่น บอกว่าคนไทยเป็นคนเรียบร้อย จริงๆ ทะลึ่งตึงตังที่สุดเลย ไม่ได้เป็นคนเรียบร้อยมาจากไหน เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันเป็นการเอ็นเตอร์เทนตัวเองสำหรับคนที่เป็นไพร่ เขาก็สนุกสนานเฮฮา อยู่ดีๆ ก็เอามาใส่เสื้อเรียบร้อย แต่งตัวเรียบร้อย เวลาไปอ่านบันทึกฝรั่งสมัยอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์บอกไม่มีใครใส่เสื้อสักคนเดียว นี่เป็นของใหม่ทั้งนั้น

คราวนี้ภาษาเอย เครื่องแต่งกายเอย นี่มันเรื่องเล็กๆ นะ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่ทำให้เป็นเอกพจน์ก็คือว่า คุณไม่มีฐานรากอื่นเหลืออยู่ในประเทศไทยเลย นอกจากฐานะปัจเจก แล้วทุกอย่างเริ่มต้นตรงนั้น ในฐานะปัจเจกบุคคล หมายความว่า คุณจะทำอะไรจะติดต่อกับรัฐ หรือติดต่อกับเพื่อนกับคนอื่นหรืออะไรก็ตาม คุณเป็นแค่ปัจเจกบุคคลที่ล่องลอย ซึ่งไม่มีฐานะอื่นตามกฎหมาย แม้แต่ฐานะปัจเจกบุคคลก็ไม่ใช่อยู่ๆ จะมีสิทธิครบถ้วน คือใช้เวลาพัฒนาอยู่พักใหญ่กว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลที่ถูกเขกหัวแล้วฟ้องร้องได้ ก่อนหน้านั้นถูกเขกหัวอาจจะฟ้องร้องไม่ได้ก็ได้ เพราะเราเลิกไพร่เลิกทาสโดยที่เราไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องเสรีภาพหรืออะไรรองรับเลย

เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ทำให้เป็นปัจเจกบุคคล ผมเรียกตามประสาของผมก็คือ ทำให้เป็นเอกพจน์ คือหมายความว่า ทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องของยุคสมัยใหม่ต้องเป็นเอกพจน์หมดเลย

วัฒนธรรมก็ต้องมีวัฒนธรรมเดียว คุณเกิดมาเป็นคนตามกฎหมายก็เป็นคนคนเดียว ต่อมาที่มันยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อเวลาผ่านมาแผนพัฒนาประเทศก็ต้องมีแผนเดียว ทั้งหมดนี้ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับชุมชน มันก็คร่อมทับและบดขยี้ไปบนความหลากหลายที่ชุมชนเคยมีมาในประเทศหรือแผ่นดินนี้ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นสุดที่จะประเมิน เพราะว่าร้อยกว่าปีถูกลิดไปทีละกิ่งทีละก้าน ในเวลานี้เมื่อเราพูดถึงพลังชุมชนท้องถิ่น มันเป็นพลังที่ถูกทำร้ายมาอย่างสาหัสสากรรจ์ และยืนอยู่บนทางสองแพร่ง สองแพร่งหมายความว่า อาจจะถูกทำร้ายเพิ่มจนไม่มีพลังเหลือเลยก็ได้ถ้าตื่นรู้ไม่ทันกัน หรือสองถ้าตื่นทันรู้ทันก็ฟื้นฟูได้ ที่ผ่านมาจริงๆ แล้วก็เสียหายไปเยอะ ใครที่โตมาในระยะที่ยาวเพียงพอ จะเห็นคนหนุ่มสาวทยอยกันออกไปจากหมู่บ้าน จากสาวงามที่สุดในหมู่บ้านกลายเป็นคนไปยืนนวดหลังให้ใครก็ไม่รู้อยู่แถวกรุงเทพฯ หนุ่มที่มีอนาคตว่าจะเป็นคนที่ทำไร่ไถนาได้อย่างมีพลังก็ไปยืนเฝ้าห้องน้ำอยู่ตามผับตามบาร์ คือทุกอย่างถูกสลายถูกอะไรไป

อย่างผมชอบไปพักไปแคมปิ้งแถวเกาะลันตา จ.กระบี่ ชอบดูศิลปะพื้นบ้านพื้นเมืองเพราะเรามันคนพื้นถิ่นอยู่แล้ว ก็ขอให้เขาเอาวงรองเง็งมาฟ้อนมารำให้ดู ปรากฏว่าอายุสองคน 150 ถามว่าไม่มีหนุ่มสาวแล้วเหรอ เขาตอบว่าไม่มี ไม่มีเลย ปีถัดไปผมก็ไปอีก และบอกเขาว่า มาเถอะ ผมพร้อมที่จะสนับสนุนให้ศิลปินพื้นบ้านมีชีวิตรอด คือเขาประเภทหาปลา 10 วัน เล่นร็องเง็ง 1 วัน แต่คนที่ผมติดต่อเขาบอกว่า ตัวผู้ชายที่รำเมื่อปีก่อนน่ะตายแล้ว เราก็บอกว่าปีกลายเพิ่งมารำให้ดู เขาบอกว่าก็แกแก่แล้วป่วยแล้วก็ตายน่ะสิ หาลูกหลานมาสืบทอดไม่ได้ เพราะว่ามันมีดิสโก้เธคที่ไปถึงก็ตอกสังกะสีล้อมรั้วแล้วก็พาคนหนุ่มคนสาวมาดิ้นกันตามเพลงฝรั่ง สภาพเหล่านี้ผมขออนุญาตพูดให้มันเห็นชัดๆ หน่อยว่ามันสลายไปหมดแล้ว แต่ว่าสิ่งที่เป็นแก่นแกนที่สำคัญที่สุดก็คือ การแตกเอกพจน์ของเรามันมีตัวรองรับคือระบบทุนนิยมระบบตลาด ซึ่งสอนง่ายนิดเดียวว่า 1.ชีวิตเป็นเรื่องส่วนตัว ชีวิตทั้งปวงล้วนเป็นเรื่องส่วนตัว 2.กำไรสูงสุดคือความหมายสูงสุดของชีวิต เจอเข้าสองคาถานี้ก็จบแล้วล่ะ ไม่มีอะไรเหลือแล้ว เพราะมันเกิดความต้องการที่จะทำอะไรเป็นเรื่องของส่วนตัว เป็นเรื่องของปัจเจก อยากจะมีเงินสักหมื่นล้านแสนล้าน ซึ่งผมถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง คนที่กินอยู่สัก 70-80 ปี มีตั้งหมื่นล้านแสนล้านนี่ไม่ป่วยไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว คือมันคิดเลยความจริงของชีวิตไป

พลังของท้องถิ่นนั้นเดิมมันก็เกิดจากการรวมเป็นชุมชนมาหลายศตวรรษโดยที่เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่แบบปัจเจกชนนิยม พลังของเขาอยู่ที่ชีวิตรวมหมู่ ไม่ใช่พวกวัตถุนิยมสุดขั้ว เขามีด้านจิตวิญญาณ ซึ่งทำให้เกิดการสืบสานและสืบทอดหรือพัฒนามาได้ตลอดเป็นศตวรรษ แต่ในวันนี้มันถูกกัดกร่อนถูกทำลายหมด

อีกประเด็นหนึ่งคือ ในเวลานี้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ แล้วยุคโลกาภิวัต่น์มันเข้ามาบีบสิ่งที่เรียกว่ารัฐชาติหรือรัฐประชาชาติ จนแทบจะไม่เหลืออธิปไตยอะไรแล้ว เมื่อรัฐชาติอยู่เบื้องหน้าไอเอ็มเอฟ เบื้องหน้าทุนนิยมโลกนี่รัฐชาติจ๋อย เพราะผู้ถืออธิปไตยเหนือดินแดนประเทศไทยคือตลาด ตลาดเป็นตัวตัดสินทุกอย่าง อธิปไตยที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวของรัฐไทยหรือรัฐชาติทั่วโลกในเวลานี้ จึงเหลือเพียงอธิปไตยเหนือชุมชนท้องถิ่นนั่นเอง เพราะฉะนั้น ปัญหาก็มีอยู่ว่าถ้าชุมชนตื่นไม่ทัน รัฐชาติไม่ว่าในประเทศไทยหรือที่ไหนก็จะเอาชุมชนไปขาย ขายให้กับทุนโลกาภิวัตน์ ยกตัวอย่างเช่น ในเมืองไทยเวลานี้ทุนต่างชาติมาลงทุนจะขุดเหมืองโพแทสที่ จ.อุดรธานี ชาวบ้านที่ทำนามาชั่วนาตาปีบอกว่าตายละวา ขุดขึ้นมาแล้วไม่มีหลักประกันเลยว่าต่อไปจะทำเกษตรกรรมยังไง การทำวิจัยสิ่งแวดล้อมก็ไม่ชัดไม่เจน หรือกรณีอย่างจะนะเราก็ทราบดีว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์จำนวนมหาศาลเป็นทุนต่างชาติ ยังไม่ต้องพูดถึงโรงไฟฟ้าที่บ่อนอกหินกรูดอีกสารพัดแห่ง

นี่คือกระบวนการที่รัฐเอาอธิปไตยที่เหลือมา เอาชุมชนท้องถิ่นไปเสนอขายให้กับทุนโลกแล้วเรียกมันว่าความเจริญ เสร็จแล้วพอมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนมากก็บอกว่าเจริญมาก มีจีดีพีขึ้นสูง จีดีพีก็ไม่รู้ของใคร คือผมก็ไม่รู้ว่าเป็นของใคร บางที 10 ตระกูล เอาเข้าไปตั้งครึ่งค่อนประเทศแล้ว ที่เหลือได้แค่คนละ 800 กว่าบาท ยังไม่นับที่ฝรั่งมาซื้อ ญี่ปุ่นมาซื้อหลังปี 2540 ตอนที่ขายทรัพย์สิน ธนาคารใหญ่ๆ ของไทยตอนนี้เป็นของทุนข้ามชาติหมดแล้ว ล่าสุดแม้แต่บริษัทที่ขายรถนิสสัน เจ้าของดั้งเดิมเขาก็มาเอาคืนไปแล้วซื้อหุ้นใหญ่ไปเรียบร้อย ทีนี้เราก็อาจจะโอเคภูมิใจเราจะไปซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษชดเชยที่เราซื้ออะไรไม่ค่อยได้ ซึ่งมันไม่ได้ทำให้คุณมีชีวิตที่ดีกว่า ต่อให้คุณเป็นเจ้าของลิเวอร์พูลหรือเจ้าของทีมบ๊องส์ๆ อะไรก็ตาม มันก็ไม่ได้ช่วยให้ชาวลำพูนมีที่ดินทำกิน ไม่ได้ช่วยให้คนเชียงใหม่เชียงรายพ้นจากความยากจนอะไรได้หนักหนา แต่อาจจจะเป็นความสุขใจเล็กๆ ของชนชั้นกลางที่ชอบฟุตบอลอะไรก็ว่าไป คือเรื่องพวกนี้ก็ไม่อยากจะว่ากัน แต่ปัญหาที่ต้องตระหนักก็คือพลังท้องถิ่น ตอนนี้ผมกลับมองว่ามันไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของท้องถิ่น อย่างที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก(ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) บอกว่า เป็นกระแสทั้งโลก และผมคิดว่าเป็นทางรอดทางเดียวที่เหลืออยู่ ที่จะทำให้ทุกอย่างมันสมเหตุสมผลมากขึ้น ทำให้ชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ขึ้นต่อวัตถุมากเกินไป ไม่เป็นปัจเจกชนนิยมมากเกินไป แล้วประเทศที่เราสังกัดหรือว่าบ้านเกิดเมืองนอนไม่สูญเสียจนกระทั่งไม่เหลืออะไรเลย เพราะฉะนั้น ในรอบแรกผมอยากจะเรียนอย่างนี้ว่า ตัวพลังท้องถิ่นที่ผมสรุปในตอนนี้ก็คือว่า หนึ่งพลังท้องถิ่นจะสามารถมีศักยภาพสูงที่จะรักษาหรือชะลอความเสียหายของประเทศ สองพลังนี้อาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากในประเทศดีขึ้นได้ แต่สามก็คือ พลังที่ว่านี้ไม่มีหลักประกัน เฉพาะหน้ายังไม่มีหลักประกันว่าพลังเหล่านี้จะมีพอที่จะทำให้เกิดผลดัง 2 ข้อแรกที่ผมพูดไป เพียงแต่ว่าโดยสติสำนึกเราอยากเห็น

ถามว่าทำไมถึงอาจจะมีไม่พอหรือไปเป็นทางสองแพร่งสามแพร่งก็เพราะว่า มันถูกกัดกร่อนมาตลอดร้อยปี แล้วยังมีอีกสารพัดนโยบายที่จะทำให้ทุกคนเป็นเอกพจน์ เป็นเอกพจน์หมายความว่าเป็นหนึ่งเดียว จนก็ต้องจนคนเดียว ไปขึ้นทะเบียน อย่ามาวางกรต่อรองกับรัฐ แล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือว่า เมื่อทุกอย่างเอาไปจำนองหรือไปกู้ได้อย่าลืมว่าก็เสียไปได้เช่นกัน และท้ายที่สุดไม่ได้เป็นเอกพจน์เฉพาะตัวเอง ทรัพย์สินก็เป็นเอกพจน์คือไม่เหลืออะไรเลย เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าสู่กลไกแข่งขันเสรี นึกภาพก็แล้วกันว่าพี่น้องชาวไร่ชาวนาเข้าสู่ตลาดเสรีแข่งขันเสรีกับคนที่เขาเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องกลไกการตลาดอยู่กับการซื้อขายแลกเปลี่ยนมานาน ใครจะแพ้ใครจะชนะคิดเอาเองก็แล้วกัน นี่ก็น่าเป็นห่วง ถ้ามีโอกาสแล้วค่อยคุยว่าจะทำยังไง เฉพาะหน้าขอฝากตรงนี้ก่อน

ไม่อยากให้มองว่ารัฐไทยตั้งใจทำตัวเป็นเจ้าอาณานิคมเอง หรือเป็นเพราะความไม่รู้จึงได้นำการจัดการทรัพยากรของฝรั่งที่ใช้กับประเทศอาณานิคมมาใช้ในบ้านเราอย่างที่คุณถาม เพราะถ้ามองอย่างนี้เดี๋ยวจะโทษกันไปมา ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ที่เราพูดถึงมันยาวมากตั้ง 100-150 ปี มันมีกระบวนการที่ผลักดันกันไปมาระหว่างระดับความคิดความอ่าน และการรับรู้ของคนในประเทศไทยกับภววิสัยทางประวัติศาสตร์ที่เข้ามา เราไม่ได้เกิดในยุคนั้น แต่พอจะนึกภาพออกอยู่บ้างว่า เห็นเรือรบอังกฤษปราบสงครามฝิ่นกลับมาเมื่อกรุงสยามเห็นก็ตกใจ นึกว่าจะมายึดกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยอันนี้ก็เข้าใจได้ เพราะว่าตอนนั้นอังกฤษเขายึดจริงๆ หรือกับความรู้สึกจำเป็นที่ต้องเร่งจัดระเบียบให้ราชอาณาจักรใหม่ มันอาจเป็นความตกใจที่เราไม่เคยสัมผัสด้วยตนเองว่ามันร้ายแรงแค่ไหน การรุกเข้ามาของฝรั่งเศสอะไรต่างๆ แต่ผลที่ออกมานี่มองมันในเชิงภววิสัยจะดีกว่าเยอะ การที่มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแล้วจัดระบบสังคมไทยให้ทุกอย่างรวมศูนย์ ซึ่งอำนาจที่สำคัญที่สุดเป็นอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรนั่นเอง ผมเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นอยู่แถวภาคเหนือนี่แหละ ก็คือว่าทางกรุงเทพฯก็กลัวว่าจะเป็นสาเหตุให้ฝรั่งมายึดล้านนา เพราะว่าฝรั่งนี่อาศัยเรื่องป่าไม้ไปยุ่งกับมัณฑะเลย์แล้วก็ยึดพม่าตอนบนไป

ถามผมว่า คำว่า รัฐ กับคำว่า ชาติ หลังจากสร้างขึ้นมาแล้วเป็นเรื่องต้มตุ๋นกันหรือเปล่า หรือว่าเป็นเรื่องยึดครองภายในประเทศ ผมคิดว่ามันมีทั้งใช่และไม่ใช่ คือส่วนหนึ่งผมคิดว่าผู้ปกครองแต่ละประเทศเขาก็มีเวลาจำกัดช่วงที่เขากุมอำนาจ สองมีวิสัยทัศน์ที่สะท้อนภาวะเร่งด่วนของเขา ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างความคิดเรื่องชาติไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน สมัยต้นรัชกาลที่ 5 เวลามีเอกสารราชการยังมีการระบุเลยว่า ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของแขกฝรั่งจามไทย ไทยตอนบน ไทยตอนล่าง มลายูสารพัดไปยาลใหญ่ ไปยาลใหญ่หมายความว่า เป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการเลยว่า นี่เป็นประเทศของอัตลักษณ์ที่หลากหลาย

แต่พอมาถึงรัชกาลที่ 6 ที่ 7 ก็ค่อยแปรรูปไปเปลี่ยนไป มาถึงสมัยคณะราษฎรแนวคิดเรื่องชาติยิ่งเข้มข้นขึ้น ยุคของหลวงวิจิตรวาทการอะไรต่างๆ อย่างที่ผมบอกมันเป็นเอกพจน์หมด เป็นคนไทยต้องเป็นเช่นนี้ หนึ่งสองสามสี่ห้า พอมีแนวคิดนี้ ก็จะไปตีความว่าอยากจะเห็นทั้งประเทศเป็นเมืองขึ้นก็คงไม่ใช่ แต่เป็นจิตสำนึกว่าถ้าไม่อยากเป็นเมืองขึ้น ศูนย์อำนาจต้องมาจากส่วนกลางก็คือระบบราชการ ระบบราชการเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนระบบประชาธิปไตย เพราะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยปี 2435 โดยประมาณ พอมาถึง 2475 ก็ตกผลึกทางความคิดแล้ว คือหมายความว่าไม่มีความคิดเป็นประชาธิปไตยเลย คือกว่าจะดัดแปลงกว่าจะเปลี่ยนกันได้มาถึงยุคหลังมากๆ เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติต่อคนท้องถิ่งมันถึงเกิดเรื่องเหมือนทางอีสานทางใต้อะไรต่างๆ จุดกำเนิดมาจากข้าราชการกับชาวบ้านทั้งนั้น ในสภาพเช่นนี้ต้องอาศัยการต่อสู้เป็นระยะๆ ของประชาชนเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ก็พูดง่ายๆ ว่าเป็นการทำงานย้อนหลัง โครงสร้างประชาธิปไตยมันมาก่อนสำนึก จนกระทั่งวันนี้เราพูดเรื่องพวกนี้ได้ไม่มีใครเข้ามาจับกุม หรือมีก็ไม่รู้นะ ก็พูดกันไปถือว่าโลกดีขึ้นเยอะ

ปัญหาคือว่า ตอนนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการมานั่งถกนั่งเถียงเรื่องอาณานิคม มันจะกลายเป็นแนวคิดที่ล้าหลังไปหมด อย่างที่ผมเรียนตั้งแต่แรกว่า ในกระบวนการขยายตัวของทุนโลกาภิวัตน์เขาถือว่ารัฐชาติเป็นอุปสรรค เราไม่ได้เป็นคนไปแตะต้องรัฐชาติอะไรได้มากหรอก เราไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น เขาก็จะบีบบังคับอธิปไตยของรัฐชาติทั่วโลกให้ทำตามเงื่อนไขที่สำคัญของเขาอยู่สามสี่อย่าง อย่างที่หนึ่งคือเลิกเอาคำว่าชาติและอำนาจรัฐมาเป็นเครื่องกั้นขวางการขยายตัวของทุน ให้ปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างประเทศเทียบเท่าคนในท้องถิ่น ก็คือว่าไม่มีข้อกำหนดที่เหลื่อมล้ำกัน ให้เขามาแข่งกันด้วยกติกาเดียวกับคนในท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนคนในท้องถิ่นไม่มีปัญญาจะไปแข่งด้วย ยกเว้นพวกที่ฉลาดก็ไปร่วมทุนกับฝรั่งซะเลย

ตอนนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของประเทศแล้ว แต่ว่าตัวตำนาน ตัวความเชื่อ ตัวแนวคิดบางทียังถูกใช้เป็นวาทกรรม เป็นวาทกรรมหมายความว่า ใช้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการบอกว่า นั่นต้องเชื่อ นี่ต้องฟัง ต้องทำตาม นโยบายนี้ต้องดำเนินเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทั้งๆ ที่ข้างในมันกลวงหมดแล้ว ตรงนี้อันตราย มันกลวงที่ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติถูกทะลุทะลวงเข้ามาหมดแล้ว ส่วนแบ่งจีดีพี ยกตัวอย่าง เช่น บนฐานการผลิตรถยนต์ยี่ห้อญี่ปุ่นทั้งหมด เราเรียกเป็นรายได้ประชาชาติของประเทศไทยหรือของประเทศญี่ปุ่น หรือเราเรียกว่ามันเป็นเศรษฐกิจของใครกันแน่

ตอนนี้ถ้าพูดให้ถูกต้องคือว่า มันเป็นทุนนิยมโลกสาขาไทยมากกว่า เพราะฉะนั้นเราจะมานิยามผลประโยชน์แห่งชาติกันด้วยลดไอ้โน่น เพิ่มไอ้นี่ ลดเป็นเปอร์เซ็นต์สัดส่วนมันไม่สะท้อนความจริง แต่ความจนที่ปรากฏ ความทุกข์ยากที่ปรากฏในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ คือความจริง ชีวิตที่จะดีขึ้นในชุมชนต่างๆ อย่างที่เราเห็นเรื่องป่า เรื่องน้ำ เรื่องที่ดิน มันคือความจริง เพราะฉะนั้น พูดแค่นี้ฟังดูง่ายๆ แต่ความจริงไม่ใช่ เมื่อเราพูดถึงพลังท้องถิ่นในการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพยากร โดยนัยยะแล้ว เท่ากับว่าเรากำลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการคิดทั้งหมดทั้งกระบิเลย คือตั้งแต่มองรัฐอย่างไร ผลประโยชน์แห่งชาติจะเข้าใจมันยังไง ความชอบธรรมทางการเมืองรวมถึงระบบการเมืองแบบผู้แทนด้วย

ผมไม่ได้ปฏิเสธตัวแทนทางการเมืองแต่ตัวแทนกับผู้ถูกแทนมันห่างกันมาก ตัวแทนที่มาจากชาวไร่ชาวนามีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วชาวนารวยหรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่เหลือเป็นนักธุรกิจ เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ เป็นทนายความมืออาชีพในเรื่องวิชาชีพชั้นสูง ตัวแทนกับผู้ถูกแทนควรจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ในเวลานี้รายได้ของคนที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้แทนกับคนที่ถูกแทนมันห่างกันจนผมว่ามันไม่แพ้อ่าวไทย ต้องสร้างสะพานข้าม เพราะฉะนั้น มันเป็นข้ออ่อนของระบบที่เป็นอยู่ ซึ่งจะต้องเสริมเหล็กด้วยการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

คราวนี้กระจายอำนาจก็เป็นแนวคิดที่ถูกมองผิดมาตลอด มองว่าเป็นการกระจายอำนาจคือมีสถาบันรัฐสภาเพิ่มในตำบลเล็กๆ มีภาพย่อของสภาส่วนกลางมาเป็นสภาจังหวัด สภาตำบล อีกหน่อยก็หมู่บ้าน ยังเป็นเน็ตเวิร์กของรัฐอยู่ มันไม่ได้กระจายจากรัฐสู่สังคม กระจายจากรัฐสู่สังคมหมายความว่า ประชาชนมีอำนาจตรงในการดูแลชีวิตตนเอง บริหารจัดการทรัพยากรนี่ใช่เลย โดยไม่ต้องผ่านองค์กรสถาบันผู้แทนไม่ว่าระดับล่างหรือระดับบน แต่ตัวประชาชนคือสถาบัน แต่ทีนี้มันก็มีปัญหาอีกเพราะในหมู่ประชาชนก็มีหลายประเภท มีประชาชนผู้ได้เปรียบ ประชาชนผู้ได้เปรียบก็ชอบเอาเปรียบ ประชาชนผู้ไม่เอาธุระกับใครทั้งสิ้นนอกจากตัวข้าพเจ้าเอง แล้วก็ประชาชนผู้เสียเปรียบผู้ถูกข่มเหงรังแก สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่จะต้องจัดระเบียบจัดสายใยสัมพันธ์

หัวข้อวันนี้ใครเป็นคนคิดก็ไม่รู้ มันคือระเบิดเวลาโลกที่โตมากเลย จะต้องปรับทั้งหมดเลยทั้งวิธีคิดวิธีมอง แล้วถ้าไม่ปรับก็จะหลงทางเดิน เพราะว่าคุณกำลังพูดถึงสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับภายนอก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนกับผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดเสรีที่ให้ใครไปขายอะไรก็ได้ กับการที่บางอย่างขายไม่ได้ไม่อนุญาตให้ขาย ความสัมพันธ์สารพัดอย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับโลกภายนอก ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนไทย เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ผมคิดว่าดีที่เราได้คุย ผมคิดว่ามันจะต้องเริ่มคุยกันแล้ว ถ้าไม่คุยผ่านตรงนี้ก่อน ต่อไปแม้จะปรารถนาดียังไง จะไปเคลื่อนไหวอะไร ก็จะพากันหลงทิศผิดทางกันไป ดีไม่ดีจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ผลดีวัดง่ายๆ คือทำให้ประชาชนเข้มแข็งดูแลตัวเองได้มากขึ้นถือเป็นผลดี ทำให้ประชาชนอ่อนแอพึ่งพิงรัฐมากขึ้น ลุ่มหลงในสิ่งภายนอกมากขึ้น เอาตัวไม่รอดนี่เป็นผลไม่ดี เพราะฉะนั้น นี่เป็นสันปันน้ำในการวัดนโยบายว่าดีหรือไม่ หรือการเคลื่อนไหวที่ดีหรือไม่ดี เพราะว่าแนวโน้มของประเทศไทยนอกจากมีสิ่งเย้ายวนต่างๆ แล้ว เนื้อในของเราเองก็ยังมีปัญหา อย่างที่ผมเรียนไว้ตั้งแต่แรก ปีกของรัฐอย่างที่อาจารย์อานันท์ กาญจนาคพันธ์(อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) พูดไว้ว่าปีกของรัฐโตเป็นพิเศษ แต่ปีกของประชาชนยากมาก กว่าจะมีกฎหมายแต่ละฉบับที่ประชาชนได้อะไร หรือฝึกทำอะไรด้วยตนเอง อย่างสมัยก่อนเอาเรื่องการศึกษาประชาชนเขาดูแลตัวเอง ผมมีพ่อแม่ที่ไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเป็นทางการแต่อ่านออกเขียนได้ ผมได้การอ่านหนังสือมาจากพ่อแม่ แม่ผม ป.1 ยังไม่ได้เรียนเลย แต่หนังสือเต็มบ้าน ถามว่าเรียนที่ไหนคำตอบคือเรียนกับพระ สมัยก่อนเขาสอนกันเอง เขาสอนกันในหมู่ประชาชน แล้วก็ผมอ่านหนังสือออกครั้งแรกเพราะยายสอน ไม่ได้ไปเรียนที่ไหน สิ่งเหล่านี้ถูกลบล้างไปหมด

ผมเคยไปพูดที่อีสานตอนนั้นผมเคลื่อนไหวกลุ่ม "ปXป" ผมบอกว่าผมมาชวนคุณทำ "ส.Xส." "ส.Xส." ไม่ใช่เสกสรรค์นะครับ คือหมายความว่า ส.หนึ่งคือสู้ อีก ส.หนึ่งคือสร้าง สู้กับสร้างอย่าห่างกัน คือหมายความว่าสู้ไปสร้างไป จะต้องมีโมเดลของเราเองขึ้นมาเพื่อจะบอกโลกว่า ไม่ใช่อยู่ๆ มาค้านคุณตามอารมณ์นะ แต่ค้านเพราะของเราดีกว่านี่มันถึงจะได้การสร้างสรรค์เหล่านี้ขึ้นมา แต่แน่ล่ะทั้งหมดนี้ก็ต้องเวียนว่ายแหวกว่ายไปในปัจจัยทางลบที่มีอยู่ หมายความว่าต้องเอาชนะเยอะ เพราะฉะนั้นผมถึงต้องเรียนตั้งแต่แรกว่า พลังชุมชนมันแยกไม่ออกจากชีวิตที่เป็นจิตวิญญาณ แยกไม่ออกจากชีวิตที่รวมหมู่ ชีวิตที่มีเป้าหมายอื่นที่ไม่ใช่กำไรสูงสุด ตราบใดที่คุณคิดตรงนั้นก็เสร็จเขา พูดกันง่ายๆ ถ้าคุณคิดว่าทำยังไงจะทำให้ทั้งชุมชนรวยหมดก็จบ เพราะมันเป็นไปไม่ได้อย่าว่าแต่ทั้งชุมชนเลย ทั้งโลกในเวลานี้ถ้าขืนไปในทิศนี้อีกมันพังทั้งโลกเลย เผลอๆ ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจระเบิดเป็น 9 ดวง เพราะมันรองรับไม่ได้แล้ว หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดมันบอกน้ำก็เสียป่าก็เสีย

วันนี้ถ้าใครเชิญพี่ประสาน ต่างใจ มาด้วยจะได้รับรู้หมดว่ามันพังพินาศหมดแล้วโดยเฉพาะเรื่องทรัพยากร อันนี้พูดแบบวิตกกังวล เพราะฉะนั้นการผลิตการบริโภคที่ไร้สาระมันก็นำไปสู่การผลิตที่ไร้สาระ มีอย่างที่ไหนเอาต้นไม้เยอะแยะมาผลิตเป็นการ์ดวาเลนไทน์ มีรูปหัวใจแล้วก็ใช้วันเดียวทิ้งอย่างนี้มันจะอยู่ได้อย่างไรโลกมนุษย์

ผมถึงบอกว่า เรื่องของพลังท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นกับทรัพยากร ฟังดูง่ายๆ สั้นๆ แต่ถ้าพูดกันจริงจังต้องสามวันสามคืนหรืออาจต้องพูดกันสามปี

หน้า 9<

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01way02230547&show=1&sectionid=0137&day=2004/05/23
ขึ้นไปข้างบน
เรียงลำดับข้อความตอบจากก่อนหน้า:   
สร้างหัวข้อใหม่   ตอบ    กระดานข่าวเสขิยธรรม -> กระแสโลก ปรับเวลา GMT - 5 ชั่วโมง
หน้า 1 จาก 1

 
ไปที่:  
คุณสามารถสร้างหัวข้อใหม่ได้
คุณสามารถพิมพ์ตอบได้
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์หรือภาพประกอบในกระดานนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์จากกระดานนี้



เสขิยธรรม

Powered by phpBB 2.0.10 © 2001, 2002 phpBB Group