กระดานข่าวเสขิยธรรม เสขิยธรรม : : skyd.org

 ช่วยเหลือช่วยเหลือ   ค้นหาค้นหา   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก   กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   สมัครสมาชิก(Register)สมัครสมาชิก(Register)
 ข้อมูลส่วนตัว(Profile)ข้อมูลส่วนตัว(Profile)   เข้าสู่ระบบเพื่อเช็คข้อความส่วนตัวเข้าสู่ระบบเพื่อเช็คข้อความส่วนตัว   เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)

คอลัมน์ จิตวิวัฒน์ "ไม่มีใครที่ลำพองใจ แล้วไม่ประมาท&qu

 
สร้างหัวข้อใหม่   ตอบ    กระดานข่าวเสขิยธรรม -> กระแสธรรม
อ่านหัวข้อก่อนหน้า :: อ่านหัวข้อถัดไป  
ผู้ตั้ง ข้อความ
k
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: Sat May 29, 2004 17:38    เรื่อง: คอลัมน์ จิตวิวัฒน์ "ไม่มีใครที่ลำพองใจ แล้วไม่ประมาท&qu ตอบโดยอ้างข้อความ

ไม่มีใครที่ลำพองใจ แล้วไม่ประมาท

คอลัมน์ จิตวิวัฒน์

โดย สุมน อมรวิวัฒน์ โครงการจิตวิวัฒน์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

ชื่อบทความนี้เป็นประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ อ่านแล้วสับสน แปลเป็นข้อความธรรมดาได้ว่า คนที่เหลิงย่อมลืมตัว

ความลำพองใจ เป็นสภาวะของจิตที่ฮึกเหิมห้าวหาญ มีอัตตาตัวตนที่ยิ่งใหญ่ ความรู้สึกเช่นนี้สะสมเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย เริ่มต้นจากการทำงานหนัก เหนื่อยยาก ต้องบากบั่นต่อสู้ถีบตัวขึ้นมาจากความต่ำต้อย จนในที่สุด ความสำเร็จ ชื่อเสียง ชัยชนะ คำสรรเสริญเยินยอ ทรัพย์สินเงินตรา ก็หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว เกิดการรับรู้ว่าตนเองนั้นใหญ่กว่า เหนือกว่า เก่งกว่า ดีกว่าใครๆ ในกลุ่มเดียวกัน

นักกีฬาที่เริ่มต้นด้วยความขยันหมั่นฝึกซ้อม น้อมรับคำสอนของผู้ฝึกด้วยความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายคือชัยชนะ ครั้นเมื่อเขาสามารถไต่อันดับขึ้นไปสู่อันดับสูงสุด ชื่อเสียง เงินทอง ก็ถาโถมเข้ามาอย่างน่าพิศวง จิตเริ่มฟุ้งซ่าน ใช้เงินเป็นเบี้ย เที่ยวกินดื่มอย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุด ความประมาทได้นำพาเขาไปสู่ความพ่ายแพ้

นักพูดฝีปากเอก นักสร้างภาพยนตร์ที่ดังเพราะสร้างหนังได้ติดตลาด ดารานักร้องที่คนชื่นชมคลั่งไคล้อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง นักเรียนที่เรียนเก่ง และกำหนดตนเองว่าจะต้องเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ฯลฯ เขาเหล่านี้ หลงอยู่ในวังวนของความเด่นความดัง ขาดการกำหนดรู้ว่า ชื่อเสียงเงินทองเหล่านั้นย่อมมีวันหมดไป ความลำพองใจทำให้เขาพูดอะไรก็ได้ด้วยมั่นใจว่าทุกคนต้องฟังเขาพูด เขาทำอะไรอย่างไรก็ได้ ทุกคนต้องชื่นชมนิยมในสิ่งที่เขาทำ

ท่าทางของเขาจึงฮึกเหิมอยู่เสมอ ไม่ชอบคำท้วงติงตักเตือน และทนไม่ได้ถ้าจะพบกับความพ่ายแพ้

หลักพุทธธรรมได้เตือนสติเราอยู่เสมอมิให้มีความประมาท หลักนั้นคือ โลกธรรม 8 แสดงถึงความธรรมดาของโลกและของสัตว์โลก ว่าจะต้องเป็นไปเช่นนั้น

โลกธรรม 8 ได้แก่ มีลาภ - เสื่อมลาภ

มียศ - เสื่อมยศ

มีสรรเสริญ - มีนินทา

มีสุข - มีทุกข์

สภาวะ(conditions)ดังกล่าวนี้เป็นของคู่กัน ด้านหนึ่งเป็นส่วนที่น่าปรารถนา อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าบุคคลใดเข้าใจสภาวะเช่นนี้ จิตก็จะประจักษ์ว่า ทุกสถานการณ์ย่อมมีความแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เมื่อประสบชัยชนะก็ไม่หลงระเริงจนลืมตัว เมื่อพ่ายแพ้ก็ไม่จมอยู่กับความทุกข์ทนหม่นไหม้ การมีสติกำหนดรู้ เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จึงก่อเกิดปัญญาที่จะประคับประคองตนให้สง่างามอยู่ด้วยความไม่ประมาท

โลกธรรม 8 เป็นหลักธรรมที่นำมนุษย์สู่จิตสำนึกใหม่(New Consciousness) ในแง่ของความหลุดพ้นจากสภาวะจิตที่บีบคั้น เมื่อพลาดหวัง ความหลุดพ้นจากสภาวะจิตที่หลงลำพองในอัตตาตัวตนเมื่อประสบความสำเร็จ คนที่หลงตนย่อมมีจิตเล็กคับแคบ คิดอะไรไปไม่พ้นตัวเอง แต่จิตสำนึกใหม่นั้นนำให้บุคคลคิดกว้าง คิดไกล สู่เพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน

เมื่อคนเรามีจิตใหญ่ หรือจิตสำนึกใหม่ ย่อมมองตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งในโลก เป็นคนหนึ่งในสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมและมีส่วนให้พึ่งพาอาศัยกัน คนที่มีจิตสำนึกใหม่ แม้จะเห็นคุณค่าในตนเอง แต่ก็มีความอ่อนน้อมยอมรับความสำคัญและคุณค่าของผู้อื่นด้วย

พื้นฐานของจิตสำนึกใหม่ คือความรักและเมตตาธรรม ซึ่งนำไปสู่ความดีและความงามของชีวิต เมื่อใดก็ตามที่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เศรษฐกิจ วิถีดำเนินชีวิต และความคิดความเชื่อ ไม่ใช่ชนวนแห่งการแบ่งแยก ขัดแย้ง ดูหมิ่น สร้างปมเขื่อง และปมแค้นในหมู่คน เมื่อนั้นความสงบสุขย่อมเกิดขึ้น

คนเราจะรับฟังกันมากขึ้น เห็นใจเข้าใจกันมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะมีการกำหนดสติและใช้ปัญญามากขึ้นนั่นเอง

สติได้ติดตามเตือนทุกครั้งที่คนเกิดความลำพองใจ เขาจึงควบคุมตนเองได้ ไม่ให้เหลิง ไม่ประมาท มีความตระหนักรู้ว่ามายาภาพทั้งหลายที่ฟูเฟื่องดุจฟองสบู่นั้นไม่แน่นอน สักวันหนึ่งก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา

มายาภาพแห่งความสำเร็จนั้น มีอำนาจรุนแรงมาก สามารถปลุกเร้าความเชื่อมั่น ความอิ่มเอิบใจ ความเคลิบเคลิ้มหลงใหล จนคิดว่านั่นเป็นความสุขเหลือเกิน การฝึกตนให้มีจิตสำนึกใหม่ ช่วยให้เราเข้าถึงความจริงที่แฝงฝังอยู่ในมายาภาพเหล่านั้น จิตใจจึงเป็นกลางไม่ฟุ้งซ่านเมื่อกำลังเฟื่อง และไม่หดหู่เมื่อกำลังฟุบ

เมื่อนนทุกมีนิ้วเพชร ชี้ตรงใครก็ตายหมด เกิดความลำพองใจ กำเริบเสิบสาน หลงอำนาจ ในที่สุดก็ประมาท ร่ายรำชี้อกตนเองตาย

เผด็จการที่เหลิงอำนาจ บังอาจชี้นิ้วฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจนล้มตายเป็นหมื่นเป็นแสน จิตของเขายิ่งเล็ก คิดแคบเข้าข้างตนเอง เขาจะไม่เข้าใจเลยว่า ความทุกข์และความผิดบาปได้ก่อตัวรุมเร้าเขาทีละน้อย จนในที่สุด เขาก็จะสิ้นอำนาจ และหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง

อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนที่เหลิงเกิดความประมาท ก็คือกลุ่มคนที่แวดล้อม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแฟนคลับ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อร่วมกินร่วมเที่ยว ซึ่งพร้อมจะสรรเสริญชื่นชมเพื่อฉกฉวยประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องของตน

ผู้เรืองอำนาจและไม่ประมาท ควรจำคำรำพันของพระนางมัทรีในวรรณคดีมหาเวสสันดรชาดก ตอนหนึ่งว่า "...ยามมีบุญ คนเขาก็วิ่งมาเป็นข้า พึ่งพระเดชเดชาให้ใช้สอย เฝ้าป้อยอสอพลอพลอยทุกเช้าค่ำ แต่เมื่อเพลี่ยงพล้ำ คนก็กระหน่ำซ้ำซ้อมซัก ดุจราชหงส์ปีกหักตกปลักหนอง กาแกก็จะแซ่ซ้องเข้าสาวไส้..."

เมื่อลำพองใจ ตัวตนก็ใหญ่คับฟ้า จิตกลับเล็กลง

เมื่ออ่อนน้อมยอมรับ ตัวตนก็น้อยนิด จิตกลับกว้างใหญ่

เสียงเตือนที่ดังที่สุด คือเสียงจากภายใน เตือนตนเอง

เตือนให้รู้ตัว ไม่ลืมตัว

จิตที่ฝึกแล้วจึงพ้นจากความวิบัติ ดังนี้

หน้า 9<

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act02290547&show=1&sectionid=0130&day=2004/05/29
ขึ้นไปข้างบน
เรียงลำดับข้อความตอบจากก่อนหน้า:   
สร้างหัวข้อใหม่   ตอบ    กระดานข่าวเสขิยธรรม -> กระแสธรรม ปรับเวลา GMT - 5 ชั่วโมง
หน้า 1 จาก 1

 
ไปที่:  
คุณสามารถสร้างหัวข้อใหม่ได้
คุณสามารถพิมพ์ตอบได้
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์หรือภาพประกอบในกระดานนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์จากกระดานนี้



เสขิยธรรม

Powered by phpBB 2.0.10 © 2001, 2002 phpBB Group