เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ที่บ้านคำบงพัฒนา ต.โคกสูง อ. อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายสำเนา ศรีสงคราม อายุ ๓๘ ปี ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับชาวบ้าน เรื่องผลกระทบจากลำน้ำพองเน่าเสียจากโรงงาน ฟินิกซ์ พัลพ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ ถูกยิงเสียชีวิต โดยสองสามวันก่อนหน้านั้น คนร้ายอ้างตนเป็นอดีตตำรวจเก่าแต่สนใจงานพัฒนา ทำทีเข้ามาคุยขอข้อมูลจากผู้ตาย และกลับมาหาอีกครั้งภายหลังการประชุมชาวบ้าน เพื่อชวนคุยเรื่องงาน ก่อนจะจ่อยิงในระยะเผาขน
วันเกิดเหตุ ชาวบ้านมีการประชุมเรื่องแกนนำสตรีในหมู่บ้านที่เถียงนาของนายสำเนา ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุตั้งแต่เช้า จนกระทั่งเลิกประชุมประมาณ ๑๔.๐๐ น โดยเถียงนาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของนายสำเนาประมาณ ๑๐๐ เมตร ระหว่างการประชุมมีผู้เห็นคนร้ายขับรถวนเวียนในหมู่บ้าน แล้วกลับออกไปหลังชาวบ้านเสร็จการประชุม คนร้ายได้ขับรถกลับเข้ามาหานายสำเนาที่เถียงนา ได้เข้ามาสอบถามว่าวันนี้มีการประชุมเรื่องอะไร ชาวบ้านทำงานอะไรกัน ขณะนั้นชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมทยอยกลับไปเกือบหมดแล้ว เหลือนางมานิต ดวงพรหม ที่เป็นแกนนำชาวบ้านที่มาร่วมประชุม กับภรรยาและบุตร ๒ คนของนายสำเนาอยู่ในที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นจึงนั่งคุยกันเรื่องงานของชาวบ้านจนกระทั่ง ๔ โมงเย็น นางมานิตจึงขอตัวกลับ
หลังนางมานิตเดินทางกลับ ภรรยานายสำเนาเล่าว่านายสำเนากำลังคุยกับคนร้าย โดยนั่งอยู่บนรถซาเล้ง ส่วนคนร้าย ยืนติดอยู่กับรถซาเล้ง เยื้องไปทางด้านหลัง ตนได้เดินไปเข้าห้องน้ำ จังหวะที่นายสำเนาหันไปดูลูกที่นอนอยู่บนเปล ก็ถูกคนร้ายจ่อยิงจากด้านหลัง กระสุนเจาะหลังกกหูซ้าย ทะลุหัวคิ้วด้านซ้าย ภรรยาวิ่งออกมา เห็นคนร้ายขับรถจักรยานยนต์หนีไป ส่วนนายสำเนาเสียชีวิตทันที
นายสำเนา ศรีสงคราม เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนผู้เดือดร้อนมาโดยตลอด เคยได้รับแต่งตั้งจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องพืชผลการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานฟีนิกซ์ พัลพ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด โดยเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมชมรมฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพองตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ คอยเฝ้าระวังผลกระทบจากน้ำเน่าเสียจากโรงงานฟีนิกซ์ พัลพ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำ มีการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ลำน้ำพอง ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนในระดับตำบล และร่วมกิจกรรมแผนสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง ร่วมขบวนในการเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ และระดับเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน
การเสียชีวิตของนายสำเนา ศรีสงคราม จึงนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของขบวนการประชาชน และดูเหมือนอิทธิพลมืดของโรงงานที่เป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ จะทำให้โอกาสที่จะเรียกร้องความยุติธรรม หาตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองเลือนรางไป หากด้วยความช่วยเหลือของทนายความผู้สามารถสองท่านอันได้แก่ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และ นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกมือปืนตลอดชีวิต และให้ประหารชีวิตผู้จ้างวานฆ่า โดยคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของจำเลย
นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา มีอาชีพทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย ในนามของชมรมนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน และเป็นกรรมการของสภาทนายความภาค ๓ โดยที่ผ่านมาเคยเป็นทนายความให้กับคดีที่สำคัญมากมาย อาทิ ร่วมเป็นทนายจำเลยคดีแกนนำชาวบ้านบุกรุกป่าดงลาน เป็นเหตุให้ศาลตัดสินยกฟ้อง เป็นทนายให้กับคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องว่า บุกรุกตัดไม้ป่าภูกระแตและศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องเช่นกัน
นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว เป็นทนายความมา ๑๕ ปี โดยแต่เดิมนั้นเคยมีส่วนร่วมต่อสู้เรื่องสิทธิทำกินกับองค์กรชาวบ้านในเขตภาคอีสาน โดยเฉพาะแถบเทือกเขาภูพาน เคยอนุรักษ์ภูเขาต่อต้านนายทุนโรงโม่หินร่วมกับครูประเวียน บุญหนัก ซึ่งในภายหลังได้ถูกกลุ่มนายทุนโรงโม่หินที่จังหวัดเลยสังหารเช่นกัน โดยนายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ได้เป็นส่วนหนึ่งของทนายที่ช่วยให้ศาลตัดสินพิพากษาประหารชีวิตมือปืน แม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้องผู้จ้างวานก็ตาม นายคุ้มพงษ์ยังช่วยว่าความให้ชาวบ้านในอำเภอภูหลวงได้รับที่ดินคืนกว่า ๒,๐๐๐ ไร่ หลังจากที่ถูกนายทุนหลอกลวงฉ้อโกงเอาไป และช่วยว่าความให้กับชาวบ้านที่ถูกกลุ่มนายทุนโรงโม่หินในภาคอีสานฟ้องร้อง ใช้กฎหมายเข้ารังแก จนเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องไปหลายคดี ในปี ๒๕๔๕ ได้ฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น ให้เพิกถอนประธานบัตรระเบิดหินของนายทุนโรงโม่หิน จนเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประธานบัตรดังกล่าว และอื่น ๆ
อันนักกฎหมายนั้น โดยคุณสมบัติแล้วย่อมสามารถให้คุณและโทษแก่สังคมและฝ่ายต่าง ๆ ได้มาก ดังที่นักเขียนนามอุโฆษท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ทนายความที่มีแต่กระเป๋าเอกสาร ขโมยเงินได้มากกว่าคนร้อยคนที่มีอาวุธปืนครบมือเสียอีก แต่หากนักกฎหมายคำนึงถึงหลักความยุติธรรมในสังคม และมุ่งทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่ ช่วยเหลือคนยากไร้ที่มักถูกมองข้ามเสียแล้ว ย่อมยังประโยชน์และความยุติธรรมให้แก่โลกได้มาก และเป็นกำลังใจให้ผู้อื่นทำความดีต่อไปอย่างกล้าหาญ ดังทนายความทั้งสองท่านนี้
จึงสมควรให้มีการยกย่องบุคคลทั้งสองเป็นบุคคลเกียรติยศประจำปี ๒๕๔๘ ของมูลนิธิโกมลคีมทอง..