เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๔
เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๘

 

บทความนี้แรกเริ่มเป็นบทความที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ให้งานประชุมทางวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่จะจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๔๘ แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้อ่านเสขิยธรรม จึงแปลมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง

          ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีประชากรนับถือพุทธศาสนาสูงที่สุดในโลก กล่าวคือ จำนวนประชากร ๖๒ ล้านคน เป็นชาวพุทธอย่างน้อยที่สุดก็จากการสำรวจตามทะเบียนบ้าน ๙๔% ในขณะที่พม่าเป็นที่ ๒ รองลงมา มีประชากรนับถือพุทธ ๘๗% พระพุทธศาสนา ได้ประสานกลมกลืนไปกับวิถีไทยจนแยกกันไม่ออก นับได้ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยโดยแท้ แต่เมื่อหันมามองบทบาทของสตรีในพุทธศาสนา เราจะพบว่ามันขาดหายไปอย่างน่าสะดุดตาสะดุดใจ

          ในจำนวนประชากรไทย ๖๒ ล้านคน มีพระภิกษุสามเณร ๓ แสนรูป ไม่มีภิกษุณีสงฆ์

          แต่เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานพระพุทธศาสนานั้น ทรงไว้วางพระทัยมอบหมายให้พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รับผิดชอบร่วมกันในการสืบทอดพระพุทธศาสนา การประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์นั้น ทรงมีเงื่อนไข คือ

-พุทธบริษัททั้งสี่ ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
-พุทธบริษัททั้งสี่ นำสิ่งที่ได้ศึกษานั้นไปปฏิบัติ
-และหากมีคนนอกจ้วงจาบ สามารถแก้ต่างได้ กล่าวคือ สามารถชี้ข้อบกพร่อง และแสดงคำสอนที่ถูกต้องให้ปรากฏได้

          นับตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล และอย่างน้อยอีก ๑,๖๐๐ ปี ต่อมา พระภิกษุณีสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานไว้นั้น เจริญรุ่งเรืองทั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกา

          การที่ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าฉงนเหมือนกับเกมส์ตัวต่อ (จิ๊กซอว์) ที่ชิ้นส่วนขาดหายไป แม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการใช้สติปัญญา หรือแม้คนไทยที่อ่านหนังสือปีละสามบันทัด ดังที่ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าไว้ก็ตาม ก็ยังต้องสงสัยและตั้งคำถาม

          การที่จะทำความเข้าใจกับปัญหาการขาดหายของภิกษุณีสงฆ์ จำเป็นต้องย้อนกลับไปดู ภาพของประเทศไทยในบริบททางประวัติศาสตร์อย่างน้อยก็พอเป็นสังเขป เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจต่อเนื่องได้

พระพุทธศาสนาแบบไทย

          มองภาพของประวัติศาสตร์ไทยโดยภาพกว้าง เราจะเห็นว่าประเทศไทยเริ่มเป็นชาติครั้งแรกในสมัยกรุงสุโขทัย จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ที่อาจจะเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔) เราก็ยังเห็นภาพว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาไทยนั้น เป็นการถักทอความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนา ๓ สาย กล่าวคือ สายที่หนึ่ง เป็นลัทธิถือผี ที่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเอง มีการกล่าวถึง “พระขะพุงผี” แสดงถึงการนับถือและการเซ่นสรวงบูชา “หาทำบ่ดี พลีบ่ถูก ก็จะฉิบหาย” เป็นต้น การนับถือผีก็ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ศาลพระภูมิ ก็ดี หรือ รุกขเทวดา ก็ดี ล้วนจัดเข้าในการนับถือผีได้ทั้งสิ้น ระบบความเชื่ออย่างแรกนี้สัมพันธ์สอดรับกับความเชื่อสายที่สอง คือ ศาสนาพราหมณ์

          อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยชัดเจนในช่วงต้นอยุธยา โดยเฉพาะอิทธิพลพราหมณ์ที่มาจากเขมร ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จะเป็นแหล่งตลาดพระเครื่อง เข้าไปเดินดูสักครึ่งวัน ก็จะเห็นร่องรอยความเชื่อทั้งของศาสนาพราหมณ์และลัทธิถือผีปรากฏอยู่ชัดเจน

          อีกสายหนึ่ง คือ ความเชื่อและการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากพุทธศาสนาเอง แต่สายนี้เป็นพุทธศาสนาที่เจือจางมาก แก่นแท้หรือหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เช่น หลักอนัตตา พระนิพพาน หลักเรื่องศูนยตา ชาวไทยทั่วไปไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคยเลย พระนิพพานซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายชีวิตสูงสุด ในความหมายของแนวทางหรือเป้าหมายเชิงจิตวิญญาณนั้น ชาวไทยทั่วไปไม่รู้จักเลย มิน่าเล่า ชาวพุทธจึงหลงทิศทางกันได้ถึงเพียงนี้ พุทธศาสนาที่ชาวไทยรู้จักคือเรื่องกรรม (ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มิใช่พุทธ) และการสร้างสมบุญโดยการทำทานบารมีขั้นพื้นฐาน ชาวไทยนิยมการนำข้าวของไปถวายพระสงฆ์ที่สุด เพราะหวังจะได้มีอนาคตทั้งชาตินี้และชาติหน้าที่ดีขึ้น ไม่ค่อยมีใครรู้จักการทำทานเพื่อปลดเปลื้องกิเลส ไม่ค่อยมีใครรู้จักที่จะคลายตนเองออกจากติดตรึงอยู่ในกิเลสและการเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร

          ชาวพุทธส่วนใหญ่อธิษฐานขอให้ได้ไปเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ ท่าทีเช่นนี้ แทนที่จะคลายทุกข์ หรือเพียรทำทุกข์ให้สิ้น กลับกลายเป็นชะลอรักษาความทุกข์เอาไว้ให้นานเท่านาน

          ภาพเช่นนี้ อาจนับได้ว่า เป็นภาพรวมของพุทธศาสนาแบบไทย ๆ โดยส่วนใหญ่

คณะสงฆ์ไทยกับรัฐบาล : ใกล้เกินไปจนรู้สึกอึดอัด

          คณะสงฆ์ หมายถึง หมู่คณะของพระภิกษุและภิกษุณี ที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงวางรากฐานไว้ให้ คณะสงฆ์มีระบบกฎเกณฑ์ ที่จะจัดการดูแลกันเองเวลาเกิดคดีขึ้น สำหรับพระสงฆ์นั้นมีสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ แบ่งเป็น ๘ หมวด หมวดสุดท้ายเรียกว่า อธิกรณสมถะ อันเป็นเทคนิควิธีที่จะจัดการกับความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในคณะสงฆ์

          ในแต่ละหมวดของปาติโมกข์นั้น วางกฎเกณฑ์การลงโทษไว้ชัดเจนสำหรับผู้ละเมิด คณะสงฆ์จึงเป็นองค์กรที่มีกลไกเบ็ดเสร็จที่จะดูแลตัวเองได้ โดยใช้คณะสงฆ์เป็นตัวกำหนดและตัดสิน

          แต่คณะสงฆ์ไทย มีลักษณะการบริหารปกครอง ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอื่น ๆ เพราะคณะสงฆ์ไทยเข้าไปผูกพันกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ราวกับว่าตัวบทกฎพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงวางให้เป็นแนวทางการปฏิบัตินั้น บกพร่อง ขาดความสมบูรณ์ ดังนั้นคณะสงฆ์ไทย นอกเหนือจากพระธรรมวินัย ก็ยังมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ปกครองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้คณะสงฆ์ตกอยู่ภายใต้ทั้งการอุปการะ และการควบคุมของรัฐบาลไปโดยอัตโนมัติ

          คณะสงฆ์ไทยมิได้เป็นองค์กรทางศาสนา ที่เป็นอิสระในตนดังเช่นที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้อีกต่อไป แต่ต้องทำงานภายใต้โครงสร้างของรัฐบาล

          โครงสร้างการบริหารของมหาเถรสมาคม เป็นโครงสร้างที่ลอกเลียนแบบการบริหารของชาวโลก เหมือนกับระบบการปกครองที่มีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร โดยมีประธาน คือ สมเด็จพระสังฆราช ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีอีก ๑๒ นาย หรือ ๑๒ รูป ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จ ๘ รูป กับพระเถระชั้นเจ้าคุณฯ หรือที่เป็นรองสมเด็จอีก ๔ รูป

          กรรมการมหาเถรสมาคม มีการบริหารงานผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

          เป็นการกำหนดสายการบริหารงานที่แปลก !

          ก่อนหน้านั้น กรรมการมหาเถรสมาคมทำงานผ่านหน่วยงานของรัฐบาลที่เรียกว่า กรมการศาสนา เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

          ก็เป็นการบริหารงานที่แปลกอยู่ !

          ทีนี้พอมาเปิด พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ให้คำจำกัดความว่า คณะสงฆ์ หมายถึง “ภิกษุสงฆ์”

          ตรงนี้เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่กระทำต่อสตรีชาวพุทธ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนที่สุดในกฎหมายไทย

          คณะสงฆ์นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานขึ้น ให้มีทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์

          เพื่อสร้างสมดุลย์ระหว่างเพศชายและหญิง ให้รับใช้สังคมได้เต็มที่ แต่คณะสงฆ์ถูกเฉือนออกเหลือเพียงครึ่งเดียว และที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นก็คือ ดูรัฐบาลจะพึงพอใจกับการจำกัดคณะสงฆ์ให้เหลือเพียงกึ่งเดียวอย่างหน้าตาเฉย

          นี้เป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่กันสตรีออกไปจากเนื้อที่ทางศาสนา ที่กระทำโดยคณะภิกษุสงฆ์ โดยมีรัฐเป็นผู้ประทับตราให้ความชอบธรรม

          ทั้งประเทศเรามีพระภิกษุสามเณร ๓ แสนรูป มีวัดประมาณ ๒๕,๐๐๐ วัด และในจำนวนนี้ร้างไปถึง ๖,๐๐๐ วัด เพราะไม่มีพระสงฆ์ดูแล แต่ไม่มีวัดสำหรับผู้หญิงสักวัดเดียว ก็ดูจะยอมรับกันได้ เพราะผู้หญิงท่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้สนใจแสวงหาธรรม และไม่ได้ปรารถนาที่จะมีเนื้อที่ของตนเองอยู่แล้ว (ฟังดูคล้าย ๆ จะพูดแบบประชดอยู่)

          มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งในกรุงเทพฯ ทั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เดิมนั้นจัดการให้การศึกษาแก่พระเณรในธรรมยุติและมหานิกายเท่านั้น แม้ว่าปัจจัยที่สนับสนุนเป็นงบประมาณจากรัฐบาล ที่ได้มาจากภาษีอากรของราษฎรทั้งหญิงและชาย แต่การศึกษาพุทธศาสนาที่จัดให้ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนี้ จำกัดเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ก็ดูว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความชอบธรรมและยอมรับกันได้

          นี่ไม่ใช่ความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่กระทำต่อสตรีในระดับรัฐหรือ ?

ไม่มีเนื้อที่ให้สตรีในพุทธศาสนาแบบไทย

          ในอดีตที่ผ่านมา สตรีไทยก็เคยใช้ความพยายามที่จะมีบทบาททางศาสนา แต่ต้องเผชิญกับกำแพงที่แกร่งและใหญ่โต เป็นกำแพงที่จัดตั้งโดยทั้งภาครัฐและศาสนา ความพยายามที่จะมีบทบาททางศาสนาของสตรี ในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ผู้เขียนเรียกว่า คลื่น ๓ ลูก ของขบวนการภิกษุณีในประเทศไทย

          คลื่นลูกแรก เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อนรินทร์กลึงพยายามที่จะรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย เหตุผลที่นรินทร์กลึง หรืออดีตพระนรินทร์ภาษิต (กลึง) คิดว่าควรจะมีการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ เพราะต้องการให้พุทธบริษัทครบองค์ ๔ ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานไว้ สิ่งที่ขาดหายไป หากเป็นพระพุทธประสงค์ ก็ควรที่จะช่วยกันรื้อฟื้นให้ครบ

          ส่วนตัวของนรินทร์กลึงนั้น เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แต่เนื่องจากเป็นคนฉลาด คิดเป็น และรู้จักคิดต่างนี้เอง ที่กลายเป็นอุปสรรคต่องานของเขาเอง นรินทร์กลึงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสถาบันสงฆ์ และสถาบันการเมืองอย่างชัดเจนและเปิดเผย มีการก่อตั้งสมาคมชาวพุทธที่ห่วงใยพระศาสนา ออกหนังสือพิมพ์ ให้ข่าวสารข้อมูลและความรู้แก่ประชาชน ทั้งในด้านการเมืองและศาสนา ได้ถวายบ้านของตน ตั้งเป็นวัตรนารีวงศ์ เพื่อให้เป็นที่อยู่ของลูกสาว คือ สาระ และ จงดี ที่บวชเป็นภิกษุณี ได้พำนักริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดนนทบุรี

          ในช่วงที่สาระและจงดีบวชนั้น มีสตรีที่ออกบวชตามอย่างน้อย ๘ รูป ตามที่ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเห็นรูปที่เป็นหน้าปกของหนังสือที่โจมตีภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้น

          จากการที่นรินทร์กลึงเป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งรัฐและศาสนา ทำให้ตำรวจได้รับคำสั่งให้จับกุมพระภิกษุณีเหล่านั้น เมื่อตำรวจไปถึง ภิกษุณีรูปอื่นเกรงภัยพากันลาสิกขาบทและแยกย้ายกันไป ภิกษุณีสาระและสามเณรีจงดี ถูกตำรวจจับกุมตัวไป และถูกบังคับโดยใช้แรงกายดึงผ้าจีวรออกจากร่าง ภิกษุณีสาระถูกจองจำอยู่ ๒–๓ วัน ในขณะที่สามเณรีจงดียังเป็นผู้เยาว์ ถูกภาคทัณฑ์และได้รับการปล่อยตัวกลับมาก่อน (จากคำสัมภาษณ์ของคุณป้าจงดีในรายการย้อนรอย พ.ศ. ๒๕๔๖)

          หลังจากที่ภิกษุณีสาระได้รับการปล่อยตัวออกมา ก็ยังคงดำเนินชีวิตเป็นภิกษุณี แต่เปลี่ยนผ้าจีวรเป็นสีเทา ภิกษุณี ๒ พี่น้อง ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน เมื่อออกไปบิณฑบาตก็มีผู้คนนิยมใส่บาตร วิธีการที่จะยุติขบวนการภิกษุณีในสมัยนั้น ใช้วิธีการให้ปลัดเช้า สุวรรณศร ขี่ม้ามาแล้วฉกเอาตัวของภิกษุณีสาระขึ้นหลังม้าไป ยังความเสื่อมเสียให้แก่คณะภิกษุณีสงฆ์

          เป็นที่น่าสังเกตว่า ขบวนการยุติภิกษุณีสงฆ์แบบนี้ ดูเหมือนจะเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย ไม่มีข่าวการติดตามปลัดอำเภอผู้นี้มาลงโทษ จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่าการกระทำของปลัดเช้า เป็นงานของฝ่ายรัฐเองที่ต้องการให้เรื่องหายเข้ากลีบเมฆไป ท่าทีของคณะสงฆ์ก็ดี หนังสือพิมพ์ก็ดี ล้วนเป็นปฏิปักษ์ต่อภิกษุณีสงฆ์ทั้งสิ้น หนังสือพิมพ์บางฉะบับเขียนการ์ตูนล้อเป็นภาพภิกษุณีตกสวรรค์บ้าง ฯลฯ มีหนังสือพิมพ์สตรีเพียง ๒ ฉบับที่เขียนคอลัมน์ให้การสนับสนุน

          สมเด็จพระสังฆราช (กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์) ทรงมีพระบัญชา เรียกว่า พระวรคติ ห้ามมิให้พระภิกษุไทย บวชสตรีเป็นภิกษุณี สิกขมานา หรือสามเณรี ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๑

          นับเป็นการปิดฉากคลื่นลูกที่ ๑

          อีก ๒๘ ปีต่อมา นางวรมัย กบิลสิงห์ อดีตครูพลศึกษาและนักหนังสือพิมพ์ ได้ออกบวชโดยนุ่งห่มสีเหลืองอ่อน รับศีลจากท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๙๙ เธอเรียกตัวเองว่า นักบวชทศธรรมมงคล เรื่องราวของเธอได้ถูกร้องเรียน และได้รับการพิจารณาในระดับกรรมการมหาเถรสมาคมว่า การกระทำของเธอเป็นการทำให้คณะสงฆ์เสื่อมเสีย หนึ่งในกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น คือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี ซึ่งเคยเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อเสด็จออกทรงผนวชที่วัดบวรฯ และท่านเป็นผู้ที่บวชให้แก่นักบวชทศธรรมมงคล

          ประเด็นของการฟ้องร้องขึ้นมานั้นเป็นเพราะเธอใช้สีเหลืองอ่อน ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี ถามที่ประชุมเพียงคำเดียวว่า “สีนั้น (คือสีเหลืองอ่อน) เรา (คือภิกษุสงฆ์) ใช้ได้ไหม ?” ทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่าพระภิกษุใช้สีเหลืองไม่ได้ ขัดกับพระวินัย ท่านจึงถามว่า “แล้วเราจะไปหวงไว้ทำไม ?” กรรมการมหาเถรสมาคมแทงเรื่องลงมาว่า “ไม่เห็นเป็นการเสียหายต่อคณะสงฆ์” เรื่องราวของท่าน และวัตรทรงธรรมกัลยาณีที่ท่านสร้างที่นครปฐม ก็ไม่เคยเป็นคดีอีกเลยจนตราบเท่าทุกวันนี้

          ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ นักบวชทศธรรมมงคล (วรมัย กบิลสิงห์) เดินทางไปอุปสมบทที่ไต้หวัน และนับเป็นภิกษุณีชาวไทยคนแรกที่ได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้อง แต่เพราะไปบวชที่ไต้หวัน คณะสงฆ์ไทยและสังคมไทยถือว่า การบวชครั้งนั้นเป็นมหายาน แต่ภิกษุณีวรมัย ซึ่งได้รับฉายาว่า สือต้าเต้าฝ่าซือ แปลเป็นไทยว่า พระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะ ถือว่าท่านเองขึ้นตรงต่อสายพุทธยาน คือวงศ์ของพระพุทธเจ้า

          ท่านได้ซื้อที่ดินที่จังหวัดนครปฐม และเริ่มกิจกรรมวัตรทรงธรรมกัลยาณี ทำงานด้านเผยแผ่พระศาสนา โดยการจัดพิมพ์นิตยสารทางพุทธศาสนา สืบต่อกันมานานกว่า ๓๒ ปี

          ขณะเดียวกันก็จัดตั้งโรงเรียนธรรมาภิสมัย ซึ่งริเริ่มจากโรงเรียนที่ให้การอนุเคราะห์ให้การศึกษากับลูกกำพร้า โรงเรียนนี้ดำเนินกิจการต่อเนื่องสืบมาและเพิ่งยุติกิจการไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕

          ในช่วงที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีรุ่งเรืองนั้น มีแม่ชี และลูกกำพร้าถึง ๘๐ ชีวิต

          การอุปสมบทของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ และงานของท่านนับว่าเป็นคลื่นลูกที่ ๒ แม้จะมีนักบวชบวชตามจำนวนมาก แต่ไม่มีการสืบสานการบรรพชาหรืออุปสมบท

          ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ มรณภาพเมื่อ ๒๕๔๖ เมื่ออายุได้ ๙๕ ปี ๒ เดือน ๒๘ วัน

          คลื่นลูกที่ ๓ สืบทอดงานภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยที่ รศ.ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นธิดาของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ละทิ้งทางโลกออกบวช พ.ศ. ๒๕๔๔

          ถ้าจะลองพิจารณาปัจจัยที่แตกต่างกันในคลื่นทั้ง ๓ ลูก จะเห็นว่าคลื่นลูกที่ ๓ ได้เปรียบกว่าในหลายประเด็น คลื่นลูกที่สามได้มีโอกาสและเวลา ศึกษาข้อด้อยจากคลื่นลูกที่ ๑ และที่ ๒ จึงมีความพร้อมมากกว่ากัน นอกจากนั้นสภาพการบ้านเมืองปรับเปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น พิจารณาได้พอสังเขป ดังนี้ :–

๑.โลภาภิวัตน์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมใดของโลก ย่อมเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป การโจมตีหรือวิธีการที่จะปิดบังการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ในโลกปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เมื่อภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั่วโลกก็รับรู้จากข่าวสารที่ติดต่อกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง

๒.สังคมไทยเอง มีการศึกษามากขึ้น และกว้างขวางขึ้นมากกว่าสมัยคลื่นลูกที่ ๑ ซึ่งยังเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ภิกษุณีสงฆ์อยู่ได้จากการสนับสนุนจากสังคม เมื่อสังคมมีความรู้มาขั้น การยอมรับมากขึ้น ก็จะเป็นฐานกำลังในการสนับสนุนและรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์อย่างจริงจังมากขึ้น

๓.อิทธิพลของสื่อ ซึ่งเชื่อมโยงกับอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ วิทยุ สื่อสาร มีอิทธิพลยิ่งต่อสังคมยุคใหม่ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ซึ่งเป็นหัวหอกในการออกบวชในคลื่นลูกที่ ๓ เป็นคนที่สื่อรู้จักดี จึงทำให้เรื่องราวการบวชภิกษุณีสะพัดไปได้เร็ว

๔.ผู้ที่ออกบวชในคลื่นลูกที่ ๓ เตรียมตัวพร้อมในข้อมูล และองค์ความรู้ในทางพุทธศาสนา ทั้งระดับในและต่างประเทศ คงจะหาผู้ที่คัดค้านบนเวทีความรู้จริง ๆ มาต่อต้านเธอยาก

๕.คลื่นลูกที่สาม มีขบวนการที่เน้นการให้การศึกษาแก่สตรีชาวพุทธเป็นฐาน นอกจากนั้นยังเน้นการเติบโตแบบเป็นคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกำลังที่แท้จริงของความอยู่รอดของคณะภิกษุณีสงฆ์ที่จะเติบโตต่อไป

          ในคลื่นลูกที่สามนี้ ก้าวมาไกลกว่าคลื่นลูกที่ ๑ และ ๒ มาก ในแง่ที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดกับมวลชน ประเด็นภิกษุณีในช่วงของคลื่นลูกที่ ๓ ได้รับความสนใจหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในรัฐสภา และวุฒิสภามอบหมายให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ศึกษาเรื่องภิกษุณีโดยเฉพาะ หลังจาก ๖ เดือนผ่านไป คณะอนุกรรมการชุดนี้ นำโดย สว. ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ได้นำเสนอผลของการศึกษา วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๖ ที่รัฐสภาโดยรวมเห็นควรให้สนับสนุนการอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็เปิดโอกาสอยู่แล้ว ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะนับถือและปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา ได้การยอมรับและสนับสนุนของวุฒิสมาชิก ซึ่งเป็นองค์กรรัฐบาล ก็นับว่าเป็นก้าวกระโดดมาไกลกว่าคลื่นลูกที่ ๑ และ ที่ ๒ อยู่หลายช่วงตัว

          เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ ภิกษุณีและสามเณรีในคลื่นลูกที่ ๓ ตระหนักในความสำคัญของสถานการณ์ ก้าวย่างทุกก้าวย่างจะมีผลต่อขบวนการภิกษุณีสงฆ์ทั้งสิ้น คณะภิกษุณีสงฆ์จะต้องมีความมุ่งมั่นอุทิศตนเพื่องานพระศาสนา จะต้องตระหนักว่าการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ มิใช่เพื่อสิทธิสตรี แต่เป็นความมั่นของพระศาสนา และเป็นการทำงานรับใช้พระพุทธศาสนา ตามความศรัทธา ที่พระพุทธองค์ทรงมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบไว้ให้

เมื่อสตรีต้องเผชิญกับความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง

          เมื่อสหัสวรรษใหม่ย่างกรายเข้ามา สตรีชาวพุทธนานาชาติเริ่มก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์มากขึ้น เป็นการเปลี่ยนภาพพจน์ของคณะสงฆ์

          ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ใช้ชีวิตอยู่ในรั้ววิชาการที่ปลอดภัยนานกว่า ๓๐ ปี ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาสู่การเป็นภิกษุณี อันเป็นสถานภาพที่เธอยืนยันว่า พระพุทธองค์ประทานให้ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐหรือคณะสงฆ์ก็ตาม

          สื่อมีอิทธิพลและส่งผลมาก เริ่มต้นจากโทรทัศน์ช่อง ๕ ของกองทัพบก ยกเลิกรายการสัมภาษณ์สามเณรี ธัมมนันทา พร้อมกัน ๓ รายการ ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๔ กลายเป็นโจทย์สำคัญที่สื่อขุดคุ้ย พยายามนำเสนอข่าว และสามเณรี ธัมมนันทา ตกอยู่ในสภาพเป็นเหยื่อของสื่อ อยู่เกือบ ๓ เดือน

          รายการ “ลานธรรม” ในอินเตอร์เน็ต ที่เปิดเนื้อที่ให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ ก็มีผู้คนส่งข้อมูลข่าวสารเข้าไปชนิดใส่สีใส่ไข่ ชนิดที่เรียกว่าเป็นการทำลายภาพพจน์โดยสิ้นเชิง สามเณรี ธัมมนันทา ทราบเรื่องราวจากลูกศิษย์ที่เป็นห่วงเป็นใยในอเมริกา ท่านจึงเปิดเข้าไปดูเพียงครั้งเดียวและทิ้งที่อยู่ของท่านที่ชัดเจนที่จะติดต่อได้ เผื่อใจไว้สำหรับผู้ท่องเข้าไปในลานธรรมที่จะต้องการทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ลานธรรมช่วงนั้น ก็กลายเป็นการเปิดเนื้อที่ให้มีการโคจรของพลังอกุศลอยู่มาก และนานพอสมควร

          รายการวิทยุที่จัดโดยอดีตพระภิกษุ มีการให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น ก็ใช้เล่ห์โดยการอัดเทปผู้ที่ไม่เห็นด้วยไว้ แล้วเปิดซ้ำ ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก พลังอกุศลก็สะพัดอยู่อีกระยะหนึ่ง

          เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔ ดร.วิษณุ เครืองาม ได้ตอบกระทู้เรื่องภิกษุณีในรัฐสภา ใช้เวลานาน ๕๐ นาที ยืนยันว่า การบวชของสามเณรี ธัมมนันทา ไม่ผิดกฎหมาย แต่จะให้ยอมรับสถานภาพการบวชนั้น จะต้องให้คณะสงฆ์พิจารณา

          แต่ปัญหาติดอยู่ที่ว่า โดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ หมายถึง ภิกษุสงฆ์เท่านั้น ภิกษุสงฆ์จึงไม่มีหน้าที่ และทั้งไม่มีสิทธิที่จะรับรองภิกษุณีสงฆ์ ตามนัยยะของกฎหมาย

          ท่าทีของคณะสงฆ์ โดยกรรมการมหาเถระสมาคม แม้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ ก็ยังอ้าง พระวรคติของสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. ๒๔๗๑ ในการปฏิเสธที่จะพิจารณาภิกษุณีสงฆ์

          การโยนภาระหน้าที่ไปให้คณะสงฆ์ ต้องนับว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบของรัฐ นับเป็นการกระทำความรุนแรงในเชิงโครงสร้างต่อสตรีชาวพุทธระดับหนึ่ง

          แต่พระพุทธเจ้าต่างหากที่เป็นผู้ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ และทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี “โอ ภิกษุ ตถาคต อนุญาตให้เธอบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี.” (พระไตรปิฎก เล่ม ๗ หน้า ๒๓๑)

          แต่พระวรคติของสมเด็จพระสังฆราชใน พ.ศ. ๒๔๗๑ นั้น ห้ามกลับกัน คือ ห้ามมิให้พระภิกษุไทยบวชสตรีเป็นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี เป็นการเพิกถอนสิทธิที่พระพุทธองค์ประทานไว้แก่พระภิกษุสงฆ์

          ข้อขัดแย้งนี้ มิใช่เพียงความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อสตรีในพุทธศาสนา แต่เป็นการขัดต่อพุทธานุญาตโดยตรง ถ้าเกิดเหตุเช่นนี้ในศาสนาคริสต์ จะถือเป็นการจ้วงจาบ และมีความผิดร้ายแรงทีเดียว

          แต่รัฐบาลยังคงยืนยันตามมติของคณะสงฆ์ ทั้งที่โดยกฎหมาย คณะสงฆ์ไม่มีสิทธิ์ที่จะออกเสียง โดยข้อจำกัดตาม พ.ร.บ. สงฆ์เอง

          ภิกษุณี ธัมมนันทา ไปทำบัตรประจำตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ พนักงานที่เทศบาลบอกว่าจะใช้คำนำหน้านามว่า “ภิกษุณี” ไม่ได้ เพราะไม่มีในรหัสคอมพิวเตอร์

          นับเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยอีกระดับหนึ่ง ที่นักบวชสตรี ที่อุปสมบทเป็นภิกษุณีอย่างถูกต้อง ก็ไม่สามารถจะใช้แม้คำนำหน้านามให้ถูกต้องได้

          เมื่อสามเณรีไปทำพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทาง (กลางปี ๒๕๔๗) เมื่อถ่ายรูปติดหนังสือเดินทาง สามเณรีถูกขอให้เปลี่ยนใส่ชุดฆราวาส บังเอิญ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อยู่ในเหตุการณ์ จึงยืนยันขอดูคำสั่งในการกระทำดังกล่าว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะหาคำสั่งได้ จึงต้องยินยอมให้สามเณรีถ่ายรูปติดหนังสือเดินทางในชุดจีวรของสามเณรี

          นับเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่สตรีชาวพุทธ ได้รับจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ

          เดือนกันยายน ๒๕๔๗ ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จัดการอบรมสตรีชาวพุทธนานาชาติในช่วงเข้าพรรษา มีทั้งภิกษุณี สามเณรี แม่ชี จาก ๖ ประเทศมาเข้ารับการอบรมร่วมกัน แต่วีซ่าหมดอายุเพียง ๒ เดือน จำเป็นต้องต่ออายุให้อยู่ได้ครบ ๓ เดือน ในจำนวนผู้เข้ารับการอบรม ๓๐ คน จาก ๖ ประเทศนั้น มี ๒ ประเทศที่มีเงื่อนไขต่างจากประเทศอื่น คือ ประเทศอินเดียและศรีลังกา ด้วยเหตุผลทางความปลอดภัยของชาติ

          ทางกองตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แนะนำว่า เนื่องจากเป็นภิกษุณีและสามเณรี ควรจะติดต่อผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เท่ากับส่งภิกษุณีเหล่านี้ให้ไปติดกับดักโดยแท้

          วัดของภิกษุณีนั้นยังไม่มีโดยกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องไปหาวัดเพื่อจะได้ขึ้นสังกัดได้ เจ้าคณะจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าคุณชั้นพรหม ได้แนะนำให้ภิกษุณีเหล่านี้สังกัดวัดที่อยู่ใกล้ที่สุด เพราะเห็นกันมายาวนานกว่า ๔๐ ปี ทั้งพระภิกษุของวัดดังกล่าวก็มาให้โอวาทพระภิกษุณีในพรรษา ตามเงื่อนไขของพระวินัยอยู่แล้ว

          คณะภิกษุณีดังกล่าว จึงติดต่อไปที่วัดที่ใกล้ที่สุด ตกลงได้รับการรับรองจากวัดที่ไปขอสังกัด และต่อไปถึงลายเซ็นของเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะจังหวัดตามลำดับ

          แล้วจึงไปถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานฯ ทำหนังสือส่งเรื่องให้ในเย็นวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๗

          ท้ายที่สุด ภิกษุณีทั้ง ๕ รูป ได้รับการประทับตราต่อวีซ่าจาก ตม. ในวันที่ ๒๘ หลังจากเสียค่าต่อวีซ่าคนละ ๑,๙๐๐ บาทเรียบร้อยแล้ว

          ภิกษุณียิ้มย่องดีใจอยู่ได้ไม่ทันข้ามวัน ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโทรศัพท์ไปหาท่านเจ้าคุณ เจ้าอาวาสที่รับภิกษุณีเหล่านี้เข้าสังกัด ตอนกลางวัน และตอนค่ำของวันที่ ๒๗ ผู้เขียนยืนยันไม่ได้ว่าพูดจาว่าอะไร แต่ผลก็คือ ท่านเจ้าคุณกลัวมาก ให้ทำหนังสือไปถอนเรื่องคืนในเย็นวันที่ ๒๙ กันยายน ๙ โมงเช้าของวันที่ ๓๐ กันยายน ร้อยตำรวจเอกเจ้าของเรื่องจาก ตม. โทรศัพท์มาแจ้งภิกษุณีธัมมนันทา ขอให้นำพาสปอร์ตของภิกษุณีทั้ง ๕ รูปไปที่ ตม. เพื่อประทับตรายกเลิก !

          นี่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สำนักนายกรัฐมนตรี (โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) กระทำต่อภิกษุณีสงฆ์นานาชาติ เป็นผลให้ภิกษุณีทั้ง ๕ รูป ต้องเสียค่าปรับวันละ ๒๐๐ บาทต่อคน จนกว่าจะได้ต่อวีซ่า

          พระภิกษุที่ต้องเข้ามาติดกับในการนี้ ต้องตกอยู่ในอาณาจักรของความกลัว เพราะเกรงว่าจะไม่ได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนสมณศักดิ์ หากขัดแย้งกับความเห็นของกรรมการมหาเถรสมาคม จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสารในความไม่รู้ และขาดความกล้าหาญที่จะยืนอยู่กับความถูกต้องโดยสิ้นเชิง

ความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ในการศึกษาพระพุทธศาสนา : การใส่กรอบความคิด

          พระภิกษุโดยทั่วไปจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับภิกษุณี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระวรคติของสมเด็จพระสังฆราช ที่ได้มีพระบัญชาห้ามมิให้พระภิกษุไทยบวชให้สตรี ตั้งแต่ ๒๔๗๑

          แม้กระนั้น ก็ยังมีพระภิกษุใน ๒ จังหวัด ที่ไม่เห็นด้วยกับพระบัญชาอันนี้ และได้จัดการบรรพชาให้สตรีไทยเป็นสามเณรี ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่จังหวัดปทุมธานี และ พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่จังหวัดยโสธร องค์หนึ่งนั้นทำด้วยความตระหนักรู้ในพระธรรมวินัย แต่อีกองค์หนึ่งอาจจะใช้สามัญสำนึกทั่ว ๆ ไปว่า ภิกษุณีสงฆ์เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าประดิษฐานไว้ การห้ามมิให้บวชสามเณรี ไม่น่าจะถูกต้อง ขณะนี้มีสามเณรีที่พระภิกษุสงฆ์ไทยเป็นอุปัชฌาย์ให้เองอยู่ ๔ รูป เท่าที่ผู้เขียนได้รับทราบข้อมูลและเห็นหน้าเห็นตา

          อีกประเด็นหนึ่งของการล้อมกรอบความคิดของพระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย มาจากฐานข้อมูลที่บิดเบือนหรือไม่สมบูรณ์ ในตำราที่พระภิกษุสงฆ์เล่าเรียน และใช้เป็นตำรามาตรฐาน สำหรับสอบนักธรรม ตรี–โท–เอก

          แม้พระภิกษุสงฆ์ไทยเองก็ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการล้างสมองเช่นนี้ จนสร้างองค์ความรู้ที่แน่นหนาบนฐานข้อมูลที่ผิดพลาด

          ขอยกเพียงตัวอย่างเดียวสำหรับบทความนี้ ในตำราสำหรับนักธรรมเอกของสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง ที่ถือเป็นตำรามาตรฐานในความรู้พุทธศาสนา ส่วนอื่นค่อนข้างสมบูรณ์

          แต่ในหน้า ๑๗๐ เมื่อพูดถึงภิกษุณีสงฆ์ ซึ่งมีพูดถึงอยู่เพียงหน้าเดียวนั้น ให้ข้อมูลผิดพลาด และด่วนสรุปอย่างมีอคติปรากฏชัดเจน

          กล่าวคือ ในตำราเล่มนี้ พูดถึงเหตุการณ์ตอนมหาปรินิพพาน และชี้ให้เห็นว่า ไม่มีการกล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์ จึงสรุปเอาว่า ภิกษุณีสงฆ์น่าจะหมดไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

          การสรุปเช่นนั้น กระทำโดยปราศจากความเข้าใจว่า การจดบันทึกพระไตรปิฎกนั้น กระทำในช่วง พ.ศ. ๔๕๐ ที่ประเทศศรีลังกา สิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมิใช่เรื่องราวทั้งหมด แต่เป็นการจดบันทึกจากความสนใจของพระภิกษุผู้จดบันทึก และโดยวัฒนธรรมทั้งอินเดียและศรีลังกาไม่ให้ความสนใจกับผู้หญิง การที่พระไตรปิฎกมิได้ระบุถึงพระภิกษุณีมิอาจจะใช้เป็นเหตุผลนำไปด่วนสรุปว่าไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว

          ในหน้าเดียวกัน พูดถึงเจ้าหญิงสังฆมิตตาเถรี พระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๔๘) ที่ทรงรับนิมนต์ไปให้การอุปสมบทที่ศรีลังกา ลำพังการกล่าวถึงเจ้าหญิงสังฆมิตตาเถรี ก็เป็นเหตุผลที่จะพิสูจน์ในตัวได้แล้วว่า ภิกษุณีสงฆ์มิได้หมดไปตั้งแต่ครั้งมหาปรินิพพาน เพราะหากภิกษุณีสงฆ์หมดไปจริง พระนางสังฆมิตตาเถรีอยู่ดี ๆ จะโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น สตรีที่เป็นพระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชออกบวช ย่อมแสดงว่า มีสตรีอื่น ๆ อีกไม่น้อยที่ออกบวชเช่นกัน

          นอกจากนั้น พระนางสังฆมิตตาเถรี เสด็จไปศรีลังกาโดยการทูลเชิญของพระเจ้าเทวา นัมปิยะติสสะ กษัตริย์ของศรีลังกา โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ไปให้การอุปสมบทแก่พระนางอนุฬา พระภคินีของพระองค์ แน่นอนที่สุด พระนางจะต้องเสด็จไปในคณะของภิกษุณีสงฆ์อย่างน้อย ๑๐ รูปขึ้นไป เพื่อให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

          แต่ในตำรานี้กลับชี้ว่า ข้อความที่ว่า “พระนางสังฆมิตตาเถรีเสด็จพร้อมผู้ติดตาม” ผู้ติดตามอาจจะเป็นฆราวาส จึงมิอาจที่จะให้การอุปสมบทได้อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ตำรานี้จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า ภิกษุณีสงฆ์หมดสิ้นไปแล้ว

          พระภิกษุไทยก็จะรับเอาความเชื่อผิด ๆ เช่นนี้มาอย่างฝังหัว เพราะเป็นตำรามาตรฐานที่ใช้สอนนักธรรมเอก

          ในความเป็นจริงนั้น ในคัมภีร์ทีปวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารของศรีลังกานั้น ระบุชื่อของภิกษุณีทั้ง ๑๑ รูป ที่ตามเสด็จพระนางสังฆมิตตาเถรี ในคราวที่เสด็จไปประดิษฐานสายการบวชของภิกษุณีในครั้งนั้น และสามารถสืบสายยาวนานกว่าพันปี จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๐๑๗ เมื่อกษัตริย์โจฬะ จากอินเดียได้ข้ามไปตีชาวลังกา และขึ้นครองราชย์โดยกษัตริย์ฮินดู ติดต่อกันนานถึง ๕๐ ปี

          ข้อมูลเช่นนี้ พระสงฆ์ไทยไม่ทราบ และดูเหมือนจะไม่แสวงหาที่จะเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ ข้อมูลเก่าก็ถูกไวรัสเล่นงานชนิดลบทิ้งไม่ได้

          เช่นนี้นับว่าเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างทางการศึกษา ที่พระภิกษุสงฆ์ไทยเองก็เป็นเหยื่อและถูกกระทำ เหมือนม้าที่ใส่กระบังหน้า ถูกบังคับให้เห็นเพียงทิศทางเดียว พระสงฆ์ทุกรูปได้รับข้อมูลเช่นนี้ และมีน้อยรูปมากที่จะคิดเอง ค้นเอง และแหวกว่ายออกมาจากกรอบความคิดเดิม ๆ

          พระภิกษุไทยส่วนใหญ่จึงไม่แคล้วการถูกใส่กรอบความคิดเช่นนั้นมานานนับร้อยปี

          ประเด็นเรื่องภิกษุณีสงฆ์ มิใช่สตรีศึกษาเท่านั้น แต่เป็นความขาดแคลนในสำนึกของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การปฏิเสธภิกษุณีสงฆ์ เป็นการแสดงออกถึงสังคมที่ขาดสุขอนามัย ตราบเท่าที่ผู้หญิงยังถูกกดขี่ เป็นภาพสะท้อนว่ายังมีผู้กดขี่อยู่ ในการนำเสนอบทความนี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่งเมื่อผู้กดขี่เป็นระบบที่พัฒนา และได้รับการหล่อเลี้ยงให้อยู่ต่อไปโดยรัฐเอง...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :