เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

คิดคนละมุม
ส.ศิวรักษ์

การเมือง ทุน โลกาภิวัตน์ งานผู้บริโภคไทย

 

ขอขอบคุณที่กรุณายกย่องให้ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูง และมีบทบาทสำคัญในงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งออกจะเกินเลยไป แต่เมื่อเคยได้รับเชิญให้ไปปาฐกถานำสำหรับขบวนการของผู้บริโภค ในระดับนานาชาติถึงประเทศปอตุเกศมาแล้ว จะปฏิเสธคำเชิญให้มาพูดภายในประเทศกระไรได้ แต่ถ้าพูดไปแล้วไม่ได้เรื่องหรือไม่ถูกหูไม่ถูกใจ ก็ขอให้โทษผู้เชิญ คือกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกันเอาเองเถิด

          ตามหัวข้อที่ตั้งมาว่า “การเมือง ทุน โลกาภิวัตน์ งานผู้บริโภคไทย” นั้น คงเชื่อมถึงกันไม่ยาก ว่าการเมืองในปัจจุบันเกือบจะในทุกประเทศ ล้วนโยงใยถึงทุนหรือลัทธิทุนนิยม ซึ่งเรียกเสียอย่างโก้หรูว่าเสรีนิยมอย่างใหม่ (Neo–liberalism) คือถ้าดูเผินๆ แล้ว จะเห็นว่า การเมืองในระบบดังกล่าว ให้เสรีภาพทั้งทางสื่อมวลชนและอื่นๆ แต่ถ้ามองลึกลงไป ก็จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนแทบทั้งหมดรับใช้ทุนหรือบรรษัทข้ามชาติ แม้จะไม่รับใช้อย่างใกล้ชิดหรือโดยตรง ก็โดยอ้อม เพราะสื่อนั้นๆ ต้องได้รับค่าโฆษณาสินค้าในการผลิตสื่อ และยิ่งรัฐบาลประสานผลประโยชน์ร่วมกับบรรษัทข้ามชาติ หรือบรรษัทยักษ์ใหญ่ มากยิ่งขึ้นเพียงใด รัฐและบรรษัทเกือบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือรัฐใช้อำนาจและบรรษัทใช้เงิน โดยที่บางทีทั้งเงินและอำนาจก็ผูกขาดอยู่กับบรรษัทและ/หรือกับรัฐ อย่างเกือบจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น บริษัทชินวัตร จำกัด และบริวารในเครือข่ายธุรกิจดังกล่าว ดูจะเป็นปัจจัยหลักของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเอาเลยก็ว่าได้ ดุจดังสิงคโปร์ก็เป็นไปในอีหรอบนี้ หรือเป็นต้นแบบให้รัฐบาลไทยในบัดนี้ก็ได้ โดยจะมองไปที่รัฐบาลสหรัฐก็เห็นได้ชัดเช่นกันว่า รัฐบาลบุชกับบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ค้าอาวุธและน้ำมันนั้น สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเพียงใด แล้วทั้งหมดนี้มีอิทธิพลกับสื่อสารมวลชนสถานใด

          เสรีนิยมอย่างใหม่ที่ใครๆ ได้รับรู้จากสื่อมวลชนกระแสหลัก ก็คือการมอมเมา หรือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จยิ่งกว่าจริง หาไม่ก็กึ่งจริงกึ่งเท็จ อย่างยากที่คนธรรมดาสามัญจะรู้ได้ว่าอะไรคือสัจจะหรืออาสัตย์

          สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่อาจไม่รู้สึกว่าเสรีภาพของตนถูกริดรอน เพราะตนยอมรับวัฒนธรรมแห่งการควบคุมตนเอง หรือปรับตนให้เข้ากับวัฒนธรรมแห่งการยอมรับของสังคม จนตนเองก็ไม่รู้เสียแล้วว่าอะไรคือความจริง และเคยถามตัวเองกันบ้างไหมว่าตนสนใจในการแสวงหาความจริงหรือไม่ มิใยต้องเอ่ยถึงการแสวงหาความงาม ความไพเราะ รวมตลอดไปจนถึงความดี ดังจะเห็นได้ว่าสื่อกระแสหลักเต็มไปด้วยความกึ่งดิบกึ่งดี และการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการมอมเมาต่างๆ อย่างบ้าคลั่งเอาเลยก็ว่าได้

          อนึ่ง คำว่าโลกาภิวัตน์นั้น เป็นคำที่ใช้สำหรับสะกดให้ใครๆ ต้องยอมรับว่าโลกต้องดำเนินไปเช่นนั้น ดังสมัยหนึ่งใช้คำว่า พัฒนา หรือความเจริญ ความก้าวหน้า โดยที่ถ้าย้อนถอยหลังกลับไปก่อนศตวรรษที่แล้วมา คำว่าอาณานิคมหรือจักรวรรดินิยมก็เคยเป็นคำที่น่าพิศมัยมาแล้วนั่นเอง ดัง คานธีก็เคยพอใจกับการเป็นคนใต้ร่มธงอังกฤษ ซึ่งประกาศว่า ให้ความยุติธรรมและความเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่ามหาราชาที่เป็นคนพื้นเมือง หากเมื่อมีการตื่นตัวกันเพื่อความเป็นเอกราชทางการเมือง คำว่าจักรวรรดิ หรืออาณานิคม จึงถูกทำให้เป็นคำเลวร้ายไป ดัง ทรูแมน เป็นผู้เริ่มใช้คำว่าพัฒนา มาแทนที่คำว่าจักรวรรดินิยมนั้นแล

          กล่าวคือ คนผิวขาวไม่ต้องกรีฑาทัพไปยึดครองประเทศต่างๆ ในโลกอีกต่อไปแล้ว แม้ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง ก็ให้มันเป็นเอกราช หากสะกดให้ผู้นำในประเทศนั้นๆ รู้สึกว่าประเทศของเขาด้อยพัฒนา จำต้องพัฒนาประเทศ ให้เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อันได้แก่เมืองแม่แต่ดั้งเดิมมา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส วิลันดา สเปน ปอตุเกศ และสหรัฐ เป็นต้น ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีแบบอย่างแห่งความเลวร้ายนานัปการ และที่สำคัญก็คือแทบทุกประเทศตกอยู่ใต้ระบบทุนนิยม โดยมีบรรษัทขนาดยักษ์เข้ามาข้องเกี่ยวกับรัฐบาล ทำการต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุด โดยเฉพาะก็เทคโนโลยีทางโทรสารและสื่อสารมวลชนที่มอมเมาให้ผู้คนรู้สึกตนว่าพร่อง หรือขาดแคลน ถ้าไม่มีอ้ายนี่ หรือไม่ได้เสพอ้ายนั่น ตนจักไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้เลย

          การพัฒนาที่กลายมาเป็นโลกาภิวัตน์ หรือทุนนิยมที่แนบสนิทอยู่กับบริโภคนิยมนั้น กลายเป็นดังศาสนาอย่างใหม่เอาเลยก็ว่าได้ ที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรประกาศให้ชาวไร่ ชาวนาปลูกพืช GMO ได้อย่างเสรี นี่ก็คือเขาถูกมอมเมาหรือเชื่ออย่างสนิทใจว่าการกสิกรรมดังกล่าว ย่อมช่วยบรรษัทพวกเขา มีเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น ผลร้ายในทางอื่นๆ ไม่เข้าไปสู่สายตาของเขาได้เลย จะว่าเขาถูกล้างสมองมาหรือเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ได้

          เดวิด อานอต ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนชาวอังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า

          การซื้อเป็นเสมือนการรับศีลมหาสนิท ดังการสละเงินของเราออกไปนั้น เราไม่ได้มาแต่เพียงวัตถุที่เป็นแค่วัตถุ หากมุ่งไปที่ภาพลักษณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้เราอยู่ในระบบของภาพลักษณ์นั้นๆ ที่เราถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่นเวลาเราซื้อรถยนต์นั้น เราซื้อเอาอำนาจมาด้วย พร้อมทั้งศักดิ์ศรี และการแสดงออกทางเพศ รวมถึงความสำเร็จของเรา ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จของระบบโฆษณาสินค้าที่สามารถทำให้เราเห็นรถยนต์ไปในทิศทางที่ว่านี้ได้ ทั้งนี้รวมถึงสินค้าอื่นๆ อีกด้วย ลัทธิบริโภคนิยมเป็นไปได้เพราะมันชี้ให้เห็นถึงความพร่องของเรา หรือตัวทุกขสัจของเรานั้นแล ลึกๆ ลงไปในใจของเรา เรารู้สึกพร่องหรือขาดหายอะไรไป เมื่อเราได้วัสดุหนึ่งใดมา เรารู้สึกว่าเราแก้ไขในด้านความพร่องให้หมดไปได้ อย่างน้อยก็เพียงชั่วขณะ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นสุข

          กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าผู้บริโภคสมาทานศาสนาใหม่ อันได้แก่ลัทธิบริโภคนิยมเสียแล้ว ศาสนาจักรก็คือบรรษัทข้ามชาติที่ผลิตอะไรต่ออะไรให้ศาสนิกร่วมสมัยได้เสพ ได้ซื้อหรือบริโภค จนถึงกับว่าต้องซื้อ ต้องเสพ และต้องบริโภคเอาเลย ธรรมาสน์ของศาสนาใหม่นี้คือสื่อสารมวลชนร่วมสมัย ซึ่งมีอำนาจยิ่งกว่าสถาบันการศึกษาใดๆ ซึ่งเคยเข้ามาแทนที่พ่อแม่และวัดวาอาราม โดยที่พ่อแม่และวัดวาอาราม รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ลดหรือหมดความสำคัญไปแล้วเกือบทั้งหมด

          พระหรือบาทหลวงในลัทธิบริโภคนิยม ในระดับโลกาภิวัตน์ คือผู้ที่รับใช้ศาสนาจักรใหม่ อันได้แก่บรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย พวกนี้จะมีเล่ห์เพทุบายในการใช้ภาษาและเครื่องยนต์กลไก เพื่อมอมเมาผู้คนให้หลงระเริง ให้อยากซื้อ ให้อยากเสพ ให้เห็นว่าความรุนแรงนั้นจำเป็น เพื่อแต่ละคนจะได้ไม่เป็นปกติ และเพื่อช่วยทรงสภาพแห่งความอยุติธรรมไว้ได้ในโลก และในแต่ละชุมชนของประเทศต่างๆ

          ก็เมื่อคนเราไม่รู้สึกว่าตนปกติ ตนย่อมรู้สึกขาดอะไรไป หรือมีความพร่องในตน จึงจำต้องแสวงหาอะไรไปเรื่อยๆ เพื่อความสมบูรณ์ หรือบริบูรณ์ และยิ่งแสวงหามาได้ ก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่เพียงพอ คือต้องขยับสถานะทางด้านการบริโภคไปเรื่อยๆ การพึ่งตัวเองแม้จนใช้เท้าเดินนั้น ขัดกับลัทธิโลกาภิวัตน์ เพราะโบราณ เร่อร่า ล้าสมัย แม้จักรยานสองล้อ ก็ไม่ทันสมัย ต้องใช้รถยนต์ ซึ่งก็ต้องขยับขึ้นไปตามราคาและการโฆษณาชวนเชื่อ ที่หลอกขายได้อย่างชาญฉลาดด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ แม้การขึ้นเรือบิน ก็ขยับสถานะแห่งชนชั้นตามราคาที่เสียไปให้กับสายการบินนั้นแล โดยที่ถูกสายการบินเสนออาหารให้อย่างเลวร้าย รวมทั้งถุงพลาสติก และกากขยะต่างๆ ที่อ้างว่าเพื่อความสะดวกนั้นแล

          ขอให้ตราเอาไว้ว่า สิ่งซึ่งโฆษณาชวนเชื่อหรือมอมเมาให้ใครๆ ต้องบริโภคนั้น ล้วนเป็นของฟุ่มเฟือย หรือเป็นส่วนเกินความจำเป็นทั้งนั้น แต่ผู้บริโภคถูกสะกดให้รู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งซึ่งจำเป็น อันตนต้องไปซื้อ เพื่อเอามาเสพ แม้กระทั่งผ้าอนามัย ที่ใช้คำอย่างชาญฉลาดว่า เพื่อความมั่นใจในวันมามาก ทั้งๆ ที่สมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก ผู้หญิงสมัยนั้นเรียกมันว่าผ้าขี่ม้า เอาเศษผ้ามาทำใช้เองกันทุกบ้านเรือน ยาสระผมที่โฆษณาขายกันอย่างลงทุนไปกับการถ่ายทำต่างๆ นั้น แต่ก่อนก็เก็บมะกรูดกันตามบ้านไปใช้สระผม เช่นกับที่ใช้ไม้ข่อยมาสีฟันกันเอง ดังพระป่าท่านก็ยังทำใช้เองอยู่ในบัดนี้ แต่นี่ไม่ใช่โลกาภิวัตน์ หรือเห็นว่าเป็นการขวางโลกไปเอาเลย

          ที่สุดจนสิ่งซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ก็ถูกบิดเบือนไป เช่น น้ำดื่ม ต้องกลายเป็นน้ำขวด ซึ่งบรรษัทข้ามชาติอย่างโคคาโคล่าและเป็บซี่โคล่าเข้ามาผลิตขาย ทั้งๆ ที่หลอกขายน้ำผสมสี ผสมน้ำตาลและโคเคนอย่างได้ผลไปจนเกือบทั่วโลกแล้วก็ตาม ดังผู้บริโภคเป็นอันมาก แม้ในแวดวงของผู้มีสติปัญญา ก็ไม่เห็นพิษภัยของบริษัททั้งสองที่ว่านี้ มิใยต้องเอ่ยถึงเนสเล่ย์ ซึ่งเอานมหมดอายุไปขายในอาฟริกา ทำให้ทารกตายเสียนักต่อนัก โดยที่บริษัทนี้ก็ขายอาหาร MGO อันเป็นของเทียม ซึ่งทำลายธรรมชาติที่แท้ ดังเนื้อต่างๆ ก็เป็นดังผีดิบ หากบรรษัทที่ว่านี้นำอาหารดังกล่าวมาขายที่เมืองไทยอย่างหน้าด้าน หากไม่กล้าขายในยุโรป แล้วจะว่านี่ไม่ใช่ระบบจักรวรรดินิยมดอกหรือ

          ว่าเฉพาะเรื่องน้ำ บรรษัทพวกนี้สามารถเข้าไปมีอิทธิพลกับบางรัฐบาล จนน้ำจากธรรมชาติ ราษฎรก็อาจต้องซื้อ เพื่อนำมาใช้ในการกสิกรรม มิใยต้องเอ่ยถึงการซื้อน้ำมาดื่ม โดยที่ต่อไปคงต้องซื้อเอาอากาศมาหายใจ เพราะลัทธิบริโภคนิยมได้ปู้ยี้ปู้ยำทั้งน้ำ ดิน และอากาศ มิใยต้องเอ่ยถึงต้นไม้และธรรมชาติอื่นๆ ให้ถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับ และก่อให้เกิดมลพิษนานาประการ

          ที่ว่ามานี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงอาหารแดกด่วน เช่น แมกโดนัล และ KFC ซึ่งในสหรัฐห้ามใช้คำว่า Kentucky Fried Chickens อีกต่อไปแล้ว เพราะมันมีแต่ไก่ปลอม ประเภทผีดิบ เช่น แมกโดนัล ด้วยเหมือนกัน โดยที่บรรษัทข้ามชาติพวกนี้โยงใยไปอย่างไรกับบรรษัทเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งผลิตไก่ปลอมอย่างเลวร้าย อย่างปราศจากมนุษยธรรม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคยิ่งนัก โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงสิทธิของไก่หรือสัตว์ต่างๆ เอาเลยก็ยังได้

          ที่เอ่ยถึงน้ำและอาหาร ก็เพราะนี่เป็นส่วนสำคัญของปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ซึ่งบรรษัทข้ามชาติเข้ามาก้าวก่ายควบคุมแทบทั้งหมด โดยไม่ต้องเอ่ยถึงอาคาร บ้านเรือน และเครื่องสุขภัณฑ์ รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม ผู้บริโภคถูกล้างสมองให้นิยมชมชอบไปตามแฟชั่นต่างๆ อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยที่ถ้าไม่ตามไปกับโลกาภิวัตน์ ก็จะเป็นคนล้าสมัยไป

          ยังยารักษาโรคเล่า ก็มีบรรษัทจำนวนน้อยคุมอยู่ คล้ายกับที่บริษัท United Fruits คุมผลไม้ไว้ในอำนาจ จนไม่ว่าจะเป็นแอ๊ปเปิ้ล แพร์ พีช หรือมะเขือเทศ ก็รสปานๆ กัน ขนาดปานๆ กัน และมีผงเคมีปนเปื้อนเข้าไปในทุกชนิด รวมถึงพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ โดยไม่ต้องเอ่ยถึงมัจฉมังสาหารเอาเลยก็ยังได้ แม้ข้าวหอมมะลิ อเมริกันก็อ้างสิทธิบัตรจดทะเบียนเป็นของมันไป

          เราคงจำกันได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมเรื่องเอดส์ ในระดับนานาชาติที่กรุงเทพฯ ถ้าใคร่ทราบว่าบรรษัทยาใช่เล่ห์เพทุบายอย่างไรกับโรคร้ายชนิดนี้ แล้วรวยขึ้นขนาดไหนบนความทุกข์ยากของคนไข้ ที่ถูกล้างสมองว่าไม่มีทางหายได้ ถ้าสนใจ ขอให้อ่านปาฐกถานำของ วอลเดน เบลโล เรื่อง Being Pharma, Massive Profit ซึ่งมีตีพิมพ์อยู่ใน Seeds of Peace ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๔๗ นี้เอง

          การผลิตในระบบทุนนิยมนั้น มุ่งที่การโฆษณาชวนเชื่อ โดยอ้างถึงความสะดวกต่างๆ และล้างสมองให้ผู้บริโภครู้ด้วยว่าตนเลือกได้อย่างเสรี แต่เสรีนิยมอย่างใหม่นี้ ผู้บริโภคถูกสะกดแล้ว ให้เลือกไม่ยี่ห้อนี้ก็ยี่ห้อนั้น ไม่อย่างนี้ ก็อย่างนั้น และบางทีทุกยี่ห้อผลิตโดยบริษัทเดียวกัน ยิ่งกรณีของยาด้วยแล้ว แพทย์ถูกล้างสมองมาให้เลือกยา และเทคโนโลยีอันทันสมัยต่างๆ ทางการแพทย์แทนเราเอาเลย โดยเราเองก็ถูกล้างสมองมาจากระบบการศึกษา ว่าถ้าป่วยไข้ลง ต้องไปหาแพทย์

          เรอเน่ เดส์คาตส์ ที่ถือกันว่าเป็นบิดาของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ เคยเอ่ยไว้ในวลีที่มีชื่อเสียงของเขาแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๗ นั้นแล้วว่า cogito ergo sum. I think therefore I am. พวกเราที่ถูกฝรั่งล้างสมองให้ตามตะวันตกอย่างเชื่องๆ จึงถือว่าใครที่คิดได้คือคนฉลาด หารู้ไม่ว่านั่นคือ การสร้างปัจเจกนิยม หรือการเพิ่มพูนอัตวาทุปาทาน ที่ยิ่งเน้นในตัวตน ก็ยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งไม่สัมพันธ์กับผู้คนรอบๆ ตน และไม่มีเวลาให้ธรรมชาติ หรือความงาม ความดี มิใยต้องเอ่ยถึงความจริง

          ยิ่งมาถึงสมัยแห่งโลกาภิวัตน์และ ลัทธิบริโภคนิยมด้วยแล้ว วลีของเดส์คาตส์ เปลี่ยนไปเป็น I buy therefore I am ถ้าเราปราศจากอำนาจในการซื้อ ในการเสพเสียแล้ว เราเกือบจะหมดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนไปเอาเลย เราทุกคนจึงต้องหางานทำ พร้อมที่จะเป็นลูกจ้าง หรืออะไรก็สุดแท้ เพื่อให้ได้เงินตรามา ถ้าเป็นคนว่างงาน ก็เป็นคนไร้เกียรติและจะมีเกียรติได้ก็ต้องสามารถบริโภคได้มาก หาเงินได้มาก แสวงหาได้มาก โดยที่โภคทรัพย์และอำนาจต่างๆ นั้น ให้ความสุขได้จริงละหรือ เคยถามกันบ้างไหม

          พวกที่ทำการเพื่อผู้บริโภคตามแบบฝรั่งนั้น ใช้หัวสมองต่อต้านบรรษัทต่างๆ อย่างพยายามรู้เท่าทันการเมือง ในระบบทุนนิยม งานพวกนี้น่าชื่นชม ไม่ว่าจะสมาคมผู้บริโภคที่ปีนัง ราฟ เนเดอร์ ที่สหรัฐ หรือ Greenpeace ในระดับสากล แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นการเผชิญหน้ากันตามแนวทางของความคิด แบบเดส์คาตส์อยู่ คือมันใช้เล่ห์มา เราก็ใช้เล่ห์ตอบไป มันฉลาดมา เราก็ฉลาดไป นั้นแลเป็นประการสำคัญ และถ้าไม่ระวัง คนในขบวนการนี้จะหันเข้าไปหาการเมืองเอาจนได้ ดัง ราฟ เนเดอร์ เป็นตัวอย่าง นี่ให้คุณหรือให้โทษเพียงใด น่าสำเหนียก แม้สมาคมผู้บริโภคที่ปีนังจะขยายไปในระดับนานาชาติแล้ว ผู้บริหารสมาคมดังกล่าวเอาเปรียบผู้ร่วมงานเพียงใดหรือไม่ เคยถามปัญหากันบ้างไหม

          ถ้างานของผู้บริโภคไทย ใช้วิธีทางศาสนาที่โยงหัวใจให้เข้าถึงหัวสมอง บางทีเราจะมีมิติที่แผกและแหวกแนวออกไปได้บ้างกระมัง ดังขอเสนอแนวทางของพุทธศาสนาไว้ให้ประกอบการพิจารณาดูบ้าง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง หรือลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม ตลอดจนโลกาภิวัตน์ เราควรพิจารณาดูเสมอถึงสภาพของจิตใจเรา ว่าเรามีอคติมากน้อยเพียงใด โดยฝึกจิตให้ปราศจากการติดยึดในตัณหา (ความทะยานอยากที่จะให้สมมติฐานที่เราตั้งไว้ว่าเป็นจริง) มานะ (ความคิดของเราต้องถูกต้องเสมอไป) และทิฏฐิ (ทฤษฎีหรือวิธีวิทยาที่เราเล่าเรียนมา) นี้แลคือแนวทางที่จะเข้าหาความจริงได้ อย่างไม่จำต้องกล่าวหาว่าร้ายหรือทับถมใคร ด้วยการยกหูชูหางตนเองว่าเหนือกว่าคนอื่น

          เมื่อเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างไปพ้นปปัญจธรรมทั้งสามประการดังกล่าวแล้ว จึงจะเข้าใจอคติทั้งสี่ที่มีในตนได้ คือการตัดสินใจใดๆ เป็นไปด้วยความรัก (ฉันทา) ด้วยความชัง (โทสา) ด้วยความกลัว (ภยา) และด้วยความหลง (โมหา) หรือไม่

          จากจุดนี้เท่านั้น ที่จิตใจจึงจะปล่อยวางอย่างว่างจากหนทางที่ผิดต่างๆ (อคติ) และแจ่มใส จนเกิดปัญญาญาณ คือมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยใช้อุปายโกศล หรือวิธีการต่างๆ ที่เข้าถึงความเป็นกลางทางธรรมชาติเป็นตัวตัดสิน

          การที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องฝึกทางจิตสิกขา คือรู้จักทำใจให้สงบ อย่างปราศจากความคิด เลิกติดยึดตามแนวทางของเดส์คาตส์ โดยจะใช้การเดินลมปราณอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม จนเกิดสติวิจารณญาณก็นับว่าสมควร ยิ่งรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง แม้จนสังคมของเราเอง ซึ่งโยงใยไปยังสังคมอื่นๆ อย่างไม่ติดยึดด้วยแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าอะไรๆ โยงใยถึงกันอย่างไม่ไปติดยึดที่ตัวเราตัวเขา หรือในอคติต่างๆ หรือทฤษฎีต่างๆ แม้มองไปที่การเมือง ก็ไม่ฝักใฝ่ในฝ่ายใดหรือเกลียดชังผู้กดขี่ หากเลือกข้างอยู่ฝ่ายผู้ถูกกดขี่ ด้วยความกรุณา อย่างพร้อมที่จะร่วมรับทุกข์กับเขา โดยเรียนรู้ด้วยว่าทุกข์ภัยต่างๆ โยงใยไปถึงระบบโลกาภิวัตน์ และลัทธิบริโภคนิยมอย่างไร

          การที่จะแก้ไขประเด็นเหล่านี้ ต้องแก้ที่เหตุ คือ โลภ (บริโภคนิยม ทุนนิยม) โกรธ (การเมือง หรือ อำนาจ) และหลง (คือ โลกาภิวัตน์ หรือลัทธิการพัฒนาอย่างผิดๆ) เพื่อเกิดความเป็นปกติในสังคมและสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ สีลสิกขา ถ้าเข้าถึงศีล คือเข้าถึงความเป็นปกติ เราจะไม่เอาเปรียบตัวเรา ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นๆ แม้จนไม่เอาเปรียบสรรพสัตว์ ซึ่งรวมถึงธรรมชาติทั้งหมด

          ถ้าเราเข้าไปจับประเด็นดังกล่าวได้อย่างไม่ยกหูชูหางตัวเราหรือหน่วยงานของเรา แม้จนทฤษฎีที่ได้รับมาจากฝรั่ง หากวางตนอย่างเป็นกลางทางธรรมชาติ เราจะเข้าถึงปัญญาสิกขา ให้แลเห็นสภาพต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยเราย่อมรู้เท่าทันศักยภาพของเรา และการโยงใยของเราไปยังกัลยาณมิตรต่างๆ ทั้งในหน่วยงานของเราและในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีจิตใจที่เป็นไปเพื่อความยุติธรรมของสังคมและความสมดุลทางธรรมชาติ ทั้งในระดับประเทศชาติและนานาชาติ หากทำได้ดังนี้ งานของขบวนการผู้บริโภคไทย น่าจะมีอะไรที่แปลกใหม่ให้กับตนเอง และอาจมีคุณให้ได้ขยายออกไปยังชุมชนในนานาชาติได้ด้วยก็ได้ ใครจะไปรู้

          พูดให้เป็นรูปธรรมเข้ามาคือ ผู้บริโภคไทย ไม่ควรทำงานอย่างฝรั่ง ที่มีความเครียดเป็นเจ้าเรือน หากหน่วยงานของเราจะเป็นดังสังฆะ ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์หมดความเป็นสังฆะไปแล้ว คือพระไปติดยึดแต่ที่รูปแบบและพิธีกรรม โดยที่เนื้อหาสาระของสังฆะคือชุมชนที่อยู่ร่วมกันและทำงานด้วยกันอย่างเบิกบาน อย่างไม่เอารัดเอาเปรียบ อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม และอย่างบรรสานสอดคล้องกัน ด้วยการดำเนินตามวิถีทางของธรรมะ คือการปล่อยวางในทิศทางที่ถูกต้อง อันเป็นกระแสของธรรมชาติอย่างรู้เท่าทันลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เท่าๆ กับรู้เท่าทันอัปลาภ อัปยศ ทุกข์ และนินทา กิจการงานตามหนทางแห่งธรรมคือ สันติวิธี เพื่อเข้าถึงพุทธะ อันได้แก่ การตื่นจากความเห็นแก่ตัว

          การรู้เท่าทันการเมืองและทุน ตลอดจนโลกาภิวัตน์ หมายถึง รู้เท่าทันโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม แล้วหาทางสร้างวัฒนธรรมแห่งการตื่นจากการครอบงำโดยโลภ โกรธ หลง ด้วยอหิงสธรรม นี้จะเป็นสิ่งสำคัญสุดของงานที่ผู้ซึ่งอยู่ในขบวนการบริโภคของไทยน่าจะดำริ

          ยังการบริโภคนั้น ไม่ใช่แต่บริโภคโดยลิ้น ตา หู จมูก และกายเท่านั้น ที่สำคัญสุดคือการบริโภคทางใจ ให้เราเป็นทาสของวัตถุหรือลัทธิอุดมการณ์ รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ถ้าเราสามารถหาทางบริโภคทั้งทางใจและทางกาย ให้ปลอดไปจากลัทธิบริโภคนิยม เราน่าจะแสวงได้ซึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน และของชุมชนทางเลือกต่างๆ และที่สำคัญสุดคือศาสนธรรมที่เน้นไปในทางแห่งอิสรภาพจากความครอบงำต่างๆ โดยรู้จักพึ่งตัวเองได้อย่างแท้จริง....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :