ารบวชเรียนของบรรพชิตชาวธิเบตนั้นถือว่ามีพื้นฐานที่สำคัญ ๕ ประการ คือ
(๑) etshal ma การแสวงหาความรู้หรือญาณวิทยาทางฝ่ายพุทธและ ตรรกศาสตร์ โดยอาศัยคัมภีร์ที่ท่านธรรมกีรติและท่านทีฆนาค รจนาไว้
(๒) dbu ma ศึกษาแนวคิดทางด้านมาธยมิกะ โดยอาศัยคัมภีร์ที่ท่านนาครชุนและท่านจันทรกีรติรจนาไว้เป็นส่วนใหญ่
(๓) phar phyin เจริญสมาธิภาวนา เพื่อเข้าถึงปัญญาญาณ ตามที่ปรากฏในปรัชญาปารมิตาสูตร โดยอาศัยคัมภีร์อภิสมยาลังการ อันเป็นอรรถกถาของพระสูตรที่ท่านหริภัทรรจนาไว้
(๔) mdzod เรียนรู้เรื่องพระอภิธรรม โดยอาศัยคัมภีร์อภิธรรมโกษา ที่ท่านวสุพันธุ์รจนาไว้เป็นทำนองอรรถกถา
(๕) dul ba เรียนรู้เรื่องพระวินัย โดยอาศัยอรรถกถาพระวินัย ซึ่งท่านคุณประภารจนาไว้
ที่น่าสังเกตคือทางฝ่ายเถรวาทเราถือว่า การศึกษาพระวินัยเป็นความสำคัญข้อแรก แต่ทางวัชรยานของธิเบตถือว่าเป็นข้อสุดท้าย และการเคร่งครัดทางศีลสิกขาของเขา ดูก็จะเป็นรองไปจากการเม่นยำทั้งทางปริยัติ (ตามข้อ ๑ และ ๒) และปฏิบัติ (ข้อ ๓) ตามมาด้วยพระอภิธรรม (ข้อ ๔)
พระอาจารย์เจ้าผู้เป็นสดมภ์หลักของฝ่ายวัชรยาน ที่เอ่ยนามมาแล้วนี้ ดูเหมือนทางฝ่ายเราจะไม่สู้รู้จักกัน จึงขอนำประวัติย่อๆ ของบางท่านมาพรรณนาไว้ให้ปรากฏบ้างดังนี้คือ
๑) ท่านธรรมกีรติ เป็นพระอาจารย์ผู้สำคัญยิ่งของลัทธิโยคาจาระ ท่านเป็นชาวอินเดียใต้ มีอายุอยู่ราวๆ ศตวรรษที่ ๗ ของศักราชสากล ท่านศึกษามากับท่านธรรมปาละ ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา ถือกันว่าท่านเชี่ยวชาญด้านตรรกวิทยาเป็นพิเศษ งานนิพนธ์ของท่านที่มีชื่อเสียงมากนั้นได้แก่ ประมาณวารตติกะ และ ประมาณวิจฉัย ซึ่งว่าด้วยญาณวิทยาหรือความรู้ขั้นพื้นฐาน โดยช่วยแนะพุทธวิธีให้สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ภายนอกตัวเราได้อย่างไร ยังตำราตรรกวิทยาของท่านที่มีชื่อว่า นยาพินธุ ก็ใช้เป็นคู่มือสำหรับวิชานี้อีกด้วย
๒) ท่านทีฆนาค เป็นพระอาจารย์เจ้าองค์สำคัญของลัทธิโยคาจาร มีชีวิตอยู่ราว ค.ศ. ๔๘๐๕๔๐ ท่านผู้นี้ได้พัฒนาแนวคิดทางด้านตรรกวิทยาและญาณวิทยา หากที่ท่านรจนาไว้ในภาษาสันสกฤตนั้นปลาสนาการไปหมดแล้ว เหลืออยู่แต่คำแปลในภาษาจีนและธิเบต งานนิพนธ์ที่สำคัญยิ่งของท่านคือ ประมาณสมุจจัย (สรุปวิธีที่จะเข้าถึงความรู้ที่แท้) ถือกันว่านี่คือคู่มืออย่างใหม่สำหรับการแสวงหาสัจจะตามทางของปริยัติศึกษา นอกจากนี้ ท่านยังได้รจนาอรรถกถาพระอภิธรรมชื่อ อภิธรรมโกษา อีกด้วย ศิษย์คนสำคัญของท่านคือท่านธรรมกีรติ
ท่านทีฆนาคสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นเวลานาน ท่านถือว่าลัทธิโยคาจารนั้นเป็นการนำเอาอุดมคติมาประยุกต์ใช้ ท่านแนะว่าการเข้าถึงความรู้ที่เป็นญาณวิทยานั้น คือการรับรู้โดยตรงแล้วสรุปลงได้ด้วยเหตุผลทางตรรกะ และการวิเคราะห์ขบวนการของตรรกะนั้นเป็นไปได้หลายรูปแบบ โดยที่ท่านธรรมกีรติได้พัฒนาแนวคิดนี้สืบต่ออีกชั้นหนึ่ง
๓) ท่านนาครชุน นับว่าเป็นผู้ที่สำคัญยิ่งของพุทธศาสนามหายาน ถือกันว่าท่านเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิหรือแนวคิดทางด้านมาธยมิกะ เข้าใจว่าท่านมีชีวิตอยู่ราวๆ ศตวรรษที่ ๒ หรือ ๓ ของศักราชสากล กล่าวกันว่าท่านรจนาคัมภีร์อันมากหลาย แต่เกรงว่าคนอื่นๆ เขียนขึ้นแล้วอ้างชื่อท่าน ดังบทกวีนิพนธ์ชิ้นดีๆ ของเราในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มักอ้างว่าเป็นฝีปากของ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้นแล แต่ที่ท่านรจนาแน่และมีความสำคัญยิ่งได้แก่ มูละมาธยมิก การิกะ ซึ่งรวมสาระสำคัญทางความคิดของท่านไว้เป็นบทร้อยกรอง ๒๑ บท (๔๐๐ โศลก) เชื่อกันว่าท่านรจนามหายานวิมศกะ (๒๐ โศลก สรรเสริญมหายาน) และทวาทศทวารศาสตร์ (ศาสตร์ว่าด้วยทวารทั้ง ๑๒) ส่วน มหาปรัชญาปรมิตาศาสตร์ ที่ว่าท่านรจนานั้น บัดนี้มีแต่คำแปลในภาษาจีน และกล่าวกันว่าอาจเขียนขึ้นในเมืองจีนก็ได้ โดยไม่มีต้นคัมภีร์เป็นภาษาสันสกฤตเอาเลย
นอกจากท่านนาครชุนแล้ว สดมภ์หลักถัดไปคือ ท่านอารยเทวะ ต่อจากสองท่านนี้แล้วก็มี ท่านพุทธปาลิตะ (ศตวรรษที่ ๕ แห่งศักราชสากล) ท่านภาววิเวกะ (ศตวรรษที่ ๖ แห่งศักราชสากล) ท่านจันทรกีรติ ท่านศานติรักษิต และท่านกมลศิลา (ศตวรรษที่ ๘ แห่งศักราชสากล) สามท่านหลังนี้มีอิทธิพลมากในธิเบต...