เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๒
ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๔๗

ภิกษุณีสงฆ์
ภิกษุณีธัมมนันทา

การสวดภิกษุณีปาติโมกข์

 

พรรษา ๒๕๔๖ เป็นพรรษาแรกในประเทศไทย ที่มีการสวดภิกษุณีปาติโมกข์ ในการสวดปาติโมกข์ของภิกษุณีนั้น แน่นนอนที่สุด ผู้สวดต้องเป็นภิกษุณีเท่านั้น ภิกษุจะสวดไม่ได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ การสวดปาติโมกข์คือ การทบทวนสิกขาบทของสงฆ์ ฝ่ายภิกษุและภิกษุณีสงฆ์จะสวดแยกกัน อาจจะใช้พื้นที่เดียวกันผลัดกันได้ แต่คนละเวลา

          ลำพังภิกษุณีที่ไม่ครบองค์สงฆ์ คือน้อยกว่า ๔ รูป ก็สวดปาติโมกข์ไม่ได้อีก

          ด้วยเหตุนี้ เมื่อธัมมนันทาภิกษุณี อุปสมบทกลับมาจากศรีลังกา จึงได้นิมนต์อุปัชฌาย์มาด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของพระวินัย ที่ให้ภิกษุณีบวชใหม่ต้องอยู่ปรนนิบัติ ติดตามปวัตตนี หรืออุปัชฌาย์ของตนอย่างน้อย ๒ พรรษา ตรงนี้ต่างจากพระภิกษุ ที่ต้องติดตามอุปัชฌาย์อย่างน้อย ๕ พรรษา

          ภิกษุณีระหะตุงโกทะ สัทธา สุมนา ปวัตตนีจึงแนะนำว่าควรอยู่ครบคณะภิกษุณีสงฆ์ เพื่อจะได้สวดปาติโมกข์ร่วมกันในพรรษา ๒๕๔๖ ที่ผ่านมาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จึงมีภิกษุณี ๖ รูป ชาวศรีลังกา ๓ รูป อินโดนีเซีย ๑ รูป เวียดนาม ๑ รูป และไทยคือธัมมนันทาอีก ๑ รูป

          ครั้งแรกที่ลงปาติโมกข์นั้น พระภิกษุณีต่างชาติ ๓ รูป คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทยนั้นค่อนข้างตื่นเต้น

          ก่อนจะสวดปาติโมกข์ จะจับคู่ปลงอาบัติครบ ๓ คู่ อุปัชฌาย์ปลงอาบัติกับธัมมนันทา เพื่อให้แน่ใจว่าลูกศิษย์ทำได้ถูกต้อง

          จากนั้นจะมีการถวายดอกไม้ ที่คิดว่าภิกษุสงฆ์ไทยจะไม่ได้ถือปฏิบัติ เริ่มต้นจากอุปัชฌาย์ ส่งมอบดอกไม้ ให้ภิกษุณีที่มีอาวุโสสูงสุด แล้วจะส่งแจกันดอกไม้ ที่เตรียมถวายเป็นพุทธบูชาต่อๆ ไปจนถึงภิกษุที่อาวุโสน้อยสุดให้นำไปถวายพระ ในการส่งทอดกันนั้น ภิกษุณีผู้อ่อนอาวุโสจะต้องก้มลงกราบขอขมา และผู้อาวุโสจะยกโทษและขอขมาตอบเช่นกัน

          ขั้นตอนต่อจากนั้น เหมือนกับการสวดปาติโมกข์ ของภิกษุสงฆ์ไทยทุกประการ

          โดยมีภิกษุณีผู้สวดสมมุติเป็นผู้อาราธนา เรียกว่า อาราธนกะ และภิกษุณีอาวุธโสผู้ที่จะเป็นผู้สวดปาติโมกข์เป็นเทสนกะ

          หลังจากที่ได้ไต่ถามกันเรียบร้อยแล้วว่าเตรียมน้ำเตรียมไฟแล้วหรือยัง (ทั้งหมดสวดเป็นภาษาบาลี) จะต้องรู้ว่าวันที่สวดปาติโมกข์นั้น ยังเหลือปาติโมกข์อีกกี่ครั้งในพรรษานี้ มีภิกษุณีกี่รูป รูปไหนไม่มาลงสวดปาติโมกข์บอกบริสุทธิ์หรือยัง

          จากนั้นผู้เป็นเทสนกะ ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่อุปัชฌาย์ จึงเริ่มสวดมีการเตรียมน้ำร้อนใส่กระติก และภิกษุณีผู้อ่อนอาวุโสที่สุดจะมีหน้าที่คอยรินน้ำร้อนให้ เทสนกะจิบแก้กระหาย

          ในการสวดสิกขาบทสำคัญ ๒ หมวดแรก คือ ปาราชิก และ สังฆาทิเสส นั้น จะสวดเป็นทำนองจึงใช้เวลานาน พอถึงหมวดย่อยจึงสวดเร็วขึ้น

          ภิกษุณีอีก ๕ รูป ถือคัมภีร์ปาติโมกข์กางคอยตรวจสอบ หากมีข้อผิดพลาดก็จะทักท้วงให้สวดใหม่

          เนื่องจากภิกษุณีปาติโมกข์นั้นมีสิกขาบทถึง ๓๑๑ ข้อ ครั้งแรกใช้เวลาสวด ๒ ชั่วโมง ๓๐ นาที ครั้งต่อๆ มาเร็วขึ้นทำเวลาได้ใน ๒ ชั่วโมง แต่เมื่อคุยกับภิกษุ ท่านบอกว่าบางวัดสวดเร็วมาก สามารถเสร็จภายใน ๔๕ นาที ตรงนี้ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร

          อุปัชฌาย์สอนให้พวกเราออกเสียงอักขระให้ถูกต้อง การสวดจึงเป็นการสวดเน้นชัดเจนมากกว่าที่จะเอาเร็ว อุปัชฌาย์นั้นเป็นคนที่มีเสียงกังวานชัดเจนและเสียงไม่ตกเลยตลอด ๒ ชั่วโมงครึ่ง เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยิ่ง

          น่าเสียดายที่ในระหว่างการสวดปาติโมกข์ ท่านถือเคร่งไม่ให้คนนอกเข้าร่วม แม้แต่ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกก็ต้องทำก่อนหรือหลังพิธีแล้ว

          เมื่อพูดถึงอักขรวิบัตินั้นคนไทยนั้นจะมีปัญหากับอักษร ภ เสียงศรีลังกาจะเปล่งเสียง ภ ออกมาจากคอด้วย ไม่ใช่เพียงริมฝีปาก ถ้าเป็นรูปแบบที่เขียนด้วยอักษรโรมันจะเห็นชัด อักษรใดที่มี h อยู่ด้วยมักจะออกจากคอเช่น b=พ bh=ภ g=ด gh=ฆ t=ต th=ถ ฯลฯ

          คนไทยจะออกเสียงไม่ต่างกันระหว่าง ต กับ ฏ, ถ กับ ฐ, พ กับ ภ, ค กับ ฆ แต่เมื่อเข้าพรรษาร่วมกันภิกษุณีที่มาจากศรีลังกา สวดปาติโมกข์ด้วยกัน เริ่มเรียนรู้และจะได้ชัดเจนเวลาที่สวดมนต์ทำวัตรเช้า–เย็นด้วยกันเห็นความแตกต่าง อุปัชฌาย์เล่าให้ฟังว่า ญาติโยมในศรีลังกาจะขมีขมันเตรียมน้ำปานะไว้ถวาย

          หลังจากที่พระลงมาจากสวดปาติโมกข์เพราะถือว่า คณะสงฆ์บริสุทธิ์จาการทำสังฆกรรมที่ได้บุญกุศลสูง การถวายน้ำปานะในช่วงนี้ก็จะได้กุศลแรงเช่นกัน

          แต่ในประเทศไทยไม่เคยมีการสวดปาติโมกข์ของภิกษุณีมาก่อน พอลงมาจากโบสถ์ญาติโยมก็เงียบเฉย ไม่มีแม้จะโมทนาสาธุ อุปัชฌาย์ก็ต้องคอยสอน เพราะญาติโยมเองก็ไม่รู้ เรียกว่าเป็นการเรียนรู้กันทั้งสองฝ่าย

          การสวดปาติโมกข์ทั้งของภิกษุและภิกษุสงฆ์นั้น ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นดัชนีชี้ถึงการลงรากฐานของภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ในประเทศนั้นๆ

          ความเพียรพยายามที่จะให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดตามพระธรรมวินัย ก็ดูได้จากการสวดภิกษุณีปาติโมกข์นั่นเอง

          ในวันที่สวดปาติโมกข์นี้ตามพระวินัย จะต้องขอให้พระภิกษุมาให้โอวาท หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระประโทนเจติยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดประโทน ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ที่สุดได้เมตตาให้พระศรีธีรวงค์ รองเจ้าอาวาสที่มีความรู้ (ปธ.๙) และมีพรรษา (อย่างน้อย ๒๐ พรรษา) มอบหมายให้มาให้โอวาสแก่ภิกษุสงฆ์ โดยภิกษุณีธัมมนันทาเป็นผู้แปลถวายทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดใหม่ปิ่นเกลียว ก็มีเมตตาเคยมาให้โอวาสภิกษุณีสงฆ์เช่นกัน หลวงพ่อท่านสนใจเรื่องการสวดภิกษุณีปาติโมกข์ ท่านสัทธาสุมนาจึงสวดย่อยๆ ให้ฟังเพื่อเป็นการสาธิต หลวงพ่อหัวเราะชอบใจ บอกว่า “เออ! เพราะดี มิน่าถึงสวดได้นาน” เพราะท่านสัทธาสุมนาเลือกสวดหมวดปาราชิก/สังฆาทิเสส ซึ่งเลือกสวดเป็นทำนอง แต่หลังจากนั้นจะสวดเร็วขึ้น จึงต้องให้ท่านสาธิตการสวดแบบเร็วด้วย หลวงพ่อฟังแล้วบอกว่า “เออ! เหมือนกันๆ”

          ตอนปลายพรรษาเมื่อภิกษุณีสงฆ์จบหลักสูตรอบรม หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระธรรมเสนานี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เมตตาแจกประกาศนียบัตรให้ด้วย....

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :