ในที่สุดไข้หวัดนกก็กลับมา แม้ไม่ฮือฮาครึกโครมเหมือนครั้งก่อน แต่คล้ายจะรุนแรงและน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า เพราะมีรายงานบ่งชี้ ว่าอาจติดต่อได้จากคนโดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านการแพร่ระบาด จากสัตว์ปีกหรือสัตว์อื่นอีกต่อไป
ดูเหมือนว่า อะไรก็ตามที่อันตรายต่อคน และเป็นอันตรายซึ่งหน้า มักนำพาวิตกจริตมาให้มหาชนเสมอ แม้บางคราวผลร้ายในทางอ้อม จะรุนแรงและยิ่งใหญ่อย่างลึกซึ้งกว่าก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระบุว่า การติดต่อ "จากคนสู่คน" นั้น เป็นมหันตภัย เพราะมี "โอกาส" ในการติดต่อกันได้ง่าย และมี "กลุ่มเสี่ยง" เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน กระบวนการในการเฝ้าระวังและป้องกัน ตลอดจนดูแลรักษา ก็ยุ่งยาก ซับซ้อน และสิ้นเปลืองยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในการระบาดครั้งที่แล้ว "ไข้หวัดนก" ส่งผลสะเทือนอย่าสูง และกว้างขวาง แต่ในสายตาของรัฐ กลับถือว่าปรากฏการณ์ของโรคส่งผลทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ยิ่งกว่าด้าน "สาธารณสุข" หรือ "สุขอนามัย" ของผู้คน เพราะปรากฏในรายงานข่าวหลายครั้ง ที่ "คนของรัฐ" กล่าวว่าเทียบโดยสัดส่วนประชากร (ซึ่งคำนวนอย่างไม่คำนึงถึงคุณค่าของ 'ชีวิต' เท่าใดนัก) แล้ว ตัวเลขการตายของผู้ติดเชื้อ (ในสายตาของรัฐ) ก็ยังนับว่าน้อยมาก
ยิ่งเทียบกับพื้นที่ระบาดด้วยแล้ว "นักการเมือง" หรือ "นักวิชาการ" ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง คล้ายจะยังถือว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับ "คนป่วย" อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้
ปฏิกิริยาจากรัฐบาลในระยะที่โรคระบาดรุนแรง (จนปิดข่าวไม่ได้อีกต่อไป ! !) นอกจากมาตรการ "โชว์การฆ่าและกำจัด" เพื่อ "จำกัดและลดทอนพื้นที่ระบาด" จึงเป็นการรณรงค์ทางจิตวิทยา เพื่อให้คนเลิกกลัว และชักจูงให้หันมาบริโภค "ไก่ไทย" ตามปกติ โดยแทบไม่มีการให้ "ความรู้" เกี่ยวกับอันตรายของโรค และการระวังป้องกัน หรือการเยียวยาผู้ป่วยระยะต่าง ๆ อย่างจริงจังและเอาการเอางาน ที่เหมาะสมกับความรุนแรง หรือความเสี่ยงของโรคแต่อย่างใด
ไทยจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของไม่กี่ประเทศในโลก (หรืออาจเป็นเพียงประเทศเดียว ?) ที่รัฐแก้ปัญหา "ไข้หวัดนก" ด้วยการจัดงานมหกรรมไก่ประเภท "แจกฟรี-กินฟรี" ขึ้นใจกลางเมืองหลวง
พร้อม ๆ ไปกับการ "ระงับนำเข้าไก่ไทย" ของต่างชาติ ซึ่งพร้อมที่จะปกป้องและรักษาสิทธิผู้บริโภคของเขาเป็นอันดับแรก
หลังจากนั้นไม่นานนักเราก็ไชโยโห่ร้องกันว่า "ไข้หวัดนก" หมดไปจากประเทศไทยแล้ว
เช่นเดียวกับที่เราเคยจัดงานปักธงฉลองชัย ว่า "ชนะสงครามยาเสพติด" แล้วอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์
นับเป็นการ "จบง่าย ๆ " ราวละครน้ำเน่า ที่ท้ายสุด พระเอกหรือนางเอก ก็ผ่านอุปสรรคของชีวิต แถมเอาชนะผู้ร้ายได้อย่างปฏิหาริย์ หรือมีโชคช่วย
กระทั่งได้ครองรักกันชั่วฟ้าดินสลาย
๒
น้อยคนนักที่จะตั้งคำถามกับรัฐและผู้คุมกลไกอำนาจรัฐ ว่า
ไข้หวัดนก ยาเสพติด การคอร์รัปชั่น ผู้มีอิทธิพล หรือปัญหาของจังหวัดชายแดนภายใต้ และฯลฯ แก้ไขง่ายดาย หรือจัดการได้ เพียงด้วยความสามารถของนักธุรกิจ ผู้ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนทางการเมือง (และคนของเขาอีกไม่กี่คน) เพียงเงื่อนไขเดียวจริงหรือ?
เราจึงมีรัฐบาลที่หมั่นประกาศเส้นตาย หมั่นประกาศมาตรการ จนทับซ้อน และสร้างความสับสนซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อผลเฉพาะหน้าแบบวันต่อวัน โดยหวังว่าผู้คนจะตื่นเต้นเร้าใจ จนหลงและลืมความพลาดผิดในวันวาน
อันเป็นจริตนิสัยที่สอดคล้องกันยิ่งนัก ระหว่างรัฐบาลนักการตลาด และประชาชนนักเสพแสนมัวเมา
ใช่หรือไม่ว่า นอกเหนือจากเพลิดเพลินไปกับ "เทคนิคการตลาดในการเมือง" แล้ว เราก็พากันหลงลืม หรือหลงระเริงไปกับมายาคติแห่งการ "เสพ" และ "บริโภค" ตลอดจน "บ้างาน" เพื่อหาเงินมาจับจ่ายอย่างหามรุ่งหามค่ำ กระทั่งละทิ้งสารัตถะของ "ชีวิตและธรรมชาติ" ไปเสียมากมายนัก
ปล่อยให้ความ "สะดวกและง่าย" บงการและครอบงำความเป็นอยู่ หรือกระทั่งจิตวิญญาณเสียแทบหมดสิ้น
บ่อยครั้งที่เราอิ่มเอมกับ "ผล" จนละเลย "เหตุ" ไปอย่างไมู่ดำดูดี
มิพักจะต้องกล่าวถึงองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมอีกจำนวนมาก ที่ถูกลดทอน หรือกำจัดออกไป
มิพักจะต้องกล่าวถึงมนุษย์คนอื่น ๆ นอกเหนือจากคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง ที่ถูกลดทอน หรือกำจัดการมีส่วนร่วมออกไป
กระทั่งว่า เหลือเพียง "ตัวเรา" และ "ของเรา" ในฐานะนักเสพหรือนักสุข
ที่งมงายกับการบริโภคอย่างไม่ลืมหูลืมตา
๓
มีรายงานทางวิชาการหลายชิ้นกล่าวว่าไข้หวัดนกแฝงตัวอยู่กับนกป่า หรือสัตว์ปีกในธรรมชาติหลายชนิด แม้กระทั่งไก่บ้าน ไก่ชน หรือฝูงเป็ดปล่อยเลี้ยงในทุ่ง โดยสัตว์เหล่านั้นแทบมิได้แสดงอาการป่วยไข้ กระทั่งกลายเป็นพาหะ และเป็นอุปสรรคของการ ควบคุม-กำจัด "โรค" ในที่สุด
ขณะเดียวกันใจความระหว่างบรรทัด ก็ถูกละเลยไปเสีย ว่า
สัตว์ปีกกลุ่มเสี่ยง ซึ่งอ่อนไหว และเป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญที่จะ "ติดต่อมาสู่คน" ได้อย่างแท้จริง ก็คือ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ นกกระทา และเป็ดฯลฯ ที่ถูกเลี้ยงเชิงเดี่ยว โดยระบบเกษตรอุตสาหกรรม หรือการเกษตรเชิงพาณิชย์ ที่กักขังสัตว์ไว้ในพื้นที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มระบบเปิด หรือระบบปิด ตลอดจนสัตว์ปีกประเภทที่ต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด เช่น ไก่ชน หรือนกเลี้ยงในบ้าน เท่านั้น มิใช่สัตว์ปีกในธรรมชาติประเภทใด ๆ เลย
กล่าวคือ เนื้อที่อันจำกัด ความแออัดยัดเยียดด้วยปริมาณ และการกระตุ้นเร้าให้เติบโตด้วยสารเคมี ตลอดจนวิถีชีวิตที่ผิดธรรมชาติ เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดทางธุรกิจของการเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยว สร้างความเครียดและความอ่อนแอ ให้กับสัตว์ที่ถูกขุนเลี้ยงจนแทบไม่เหลือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติใด ๆ เอาไว้
หรืออาจกล่าวได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่ถูกเพาะพันธุ์และอยู่รอดได้โดยอาศัยมนุษย์ให้อาหารและสารเคมีเหล่านั้น แทบไม่เหลือความเป็นธรรมชาติใด ๆ อีกต่อไปแล้ว
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผลของการละเมิดธรรมชาติ และบีบคั้นต่อชีวิต ก็สะท้อนออกมาเป็นโรคภัย หรือการไร้ภูมิต้านทานอย่างที่ควรจะมี
นั่นหมายถึง มีคำถามแทรกอยู่ด้วยว่า "โรคไข้หวัดนก" ที่เกิดความรุนแรงและแพร่ระบาดขึ้นนี้ กำลัง "กลายพันธุ์" ด้วยตัวของมันเอง หรือเป็นเพียงแค่ความประจวบเหมาะ ของเหตุและปัจจัย ระหว่างมนุษย์ กับสิ่งที่มนุษย์อุตริดัดแปลงขึ้น ร่วมกับสภาพการณ์ดั้งเดิมของธรรมชาติ ซึ่งมีสมดุลของมันเอง และพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยมี "โรคไข้หวัดนก" เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
เพราะจะว่าไปแล้ว ก่อนหน้า "ไข้หวัดนก" หรือ "โรควัวบ้า" หรือกระทั่ง "โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง" มนุษย์ก็ได้แปรเปลี่ยนและปรับปรุงอะไรต่อมิอะไรในวงจรธรรมชาติ เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง (หรือผิดเพี้ยน ?) ด้านชีวิตและจิตวิญญาณของตนมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
โรคาพยาธิและความวิบัติรุนแรงต่าง ๆ ด้านหนึ่งจึงคล้ายจะเป็นเทวทูตที่ปรากฏกายขึ้นเตือนมนุษยชาติทั้งหลายเสียมากกว่า
ปัญหาคงอยู่ที่ว่า มนุษย์ยังจะเหลือ "ดวงตา" หรือมี "หัวใจ" และ "สติ-ปัญญา" ที่จะไตร่ตรอง "ปรากฏการณ์" เบื้องหน้าตนเองได้สักเพียงใดเท่านั้น
๔
ถึงวันนี้ แม้โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) ได้แพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง จนมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาลอยู่ทั่วโลก แต่กามสุข อันเป็นรากเหง้าสำคัญของทุนนิยมบริโภค ก็ยังได้รับการส่งเสริมและโฆษณา ทั้งทางตรงและทางอ้อม อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ถึงวันนี้ แม้โรควัวบ้า และโรคไข้หวัดนก จะเป็น "โรคระบาดร่วมสมัย" ที่เราคุ้นเคยกันดี และรับรู้โทษภัยของมันอย่างกว้างขวางและนับวันจะรอบด้านยิ่งขึ้น แต่การเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวในปริมาณมาก และในพื้นที่อันจำกัด จนต้องใช้สารเคมี หรือเทคนิควิธี "ควบคุม-ดัดแปลง-จัดการ ธรรมชาติ" ก็แทบมิได้มีการทบทวนหรือหาแนทางแก้ไข
นับประสาอะไรกับโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต หรือโรคเบาหวาน และฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เกิดจากวิธีคิดและวิถีชีวิตอัน "ขาด ๆ เกิน ๆ " ของผู้คน ซึ่งนอกจากจะเกิดในชั่วชีวิตของตนเองแล้ว เมื่อสืบย้อนขึ้นไปยังบรรพบุรุษก็ยังพบได้ว่า ไม่มากก็น้อย ที่เคยละเลยบกพร่องต่อธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในตน
ดูเหมือนกับว่า "เรา" พร้อมที่จะกำจัด หรือทำลายล้าง อย่าง ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน ทั้งกับเชื้อโรคและความป่วยไข้ หรือกระทั่งกับสัตว์และเพื่อนมนุษย์ อย่างมิได้ยับยั้งหรือออมมือ ดังที่เราเข่นฆ่าวัว และสัตว์ปีกจำนวนมหาศาล ตลอดจนเข่นฆ่าผู้คนที่เชื่อหรือศรัทธาต่างจากเราในสงครามต่าง ๆ อย่างเกินจะนับได้ถึงความสูญเสีย
แต่กับใจเราเองแล้ว แม้เพียงความปรารถนาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยากจะเอาชนะ หรือฝ่าข้ามไป
กล่าวในส่วนของ "ไข้หวัดนก" แม้วันนี้หรือวันพรุ่ง เราจะ "ควบคุม" หรือ "เข่นฆ่า" โรคร้ายไปเสียได้ ด้วยองค์ความรู้ หรือเทคนิควิธีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา ดังเช่นที่ทำสำเร็จมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
แต่ใครจะ "รับรอง" ได้ว่า "ไข้" อื่น ๆ จะไม่เกิดขึ้นอีก ด้วย "ความป่วยไข้" ที่แฝงฝังอยู่ในใจของเราเอง
"ใจ" หรือ "จิตวิญญาณ" ซึ่งเราไม่เคยแม้แต่จะทะนุถนอมหรือพยายามเยียวยามันเลย...