เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

ธรรมลีลา

มงคล ทิพย์รัตน์

กว่าจะมาเป็น "ลำน้ำโขง : ศรัทธา คุณค่า และความทรงจำ"

 

ลำน้ำโขง
ศรัทธา คุณค่า และความทรงจำ
จัดพิมพ์โดย
โครงการธรรมยาตรา รักษาลำน้ำโขง
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม ๒๕๔๖
กระดาษกรีนรีด ๒๒๗ หน้า
ราคา ๑๕๐ บาท

   

 

ณ หาดทรายชายฝั่งโขงของแผ่นดินลาว เปลวไฟจากเศษไม้แห้ง ลุกสว่างพอให้เห็นหน้าค่าตาคนที่นั่งอยู่รายรอบ

          “จบทริปนี้เรามาทำหนังสือบันทึกการเดินทางกันเถอะ” หลวงพี่กิตติศักดิ์รำพึงแหวกไอหมอกยามค่ำขึ้นมา

          “เอางั้นเลยเหรอหลวงพี่” วุฒิไกร–หนุ่มจากลำปางที่นั่งติด ๆ กันเสริม

          “อือ ก็เรามีคนถ่ายรูป เขียนบันทึกกันตั้งหลายคน น่าจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วสิ่งที่เราเห็นตลอดลำน้ำโขงที่ผ่านมาน่ะ มันน่าสนใจไม่ใช่เหรอ ไม่อยากให้มันเงียบหายไปเปล่า ๆ” หลวงพี่เน้นหนักแน่น

          “ก็ดีนะ เราเองก็อยากให้คนเมืองได้รับรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขง และโครงการระเบิดแก่งที่กำลังฮึ่ม ๆ กันอยู่ด้วย” แหม่ม–สาวจาก WWF ว่า

          “เออ...เอาก็เอา” อาจารย์เป๊าะกับป้อมประสานเสียงตอบ

          “งั้นแหม่มเป็น บก. นะ ไหน ๆ ก็ทำสื่ออยู่แล้ว แถมมีข้อมูลอยู่ในมือด้วย” หลวงพี่รุกต่อ

          “หา...า...ก็ได้ค่ะ ลองดูกันสักตั้ง พวกเราช่วยกันมันทำได้อยู่แล้ว” แหม่มส่งเสียงร้องเหวอแต่ก็ตอบรับทั้ง ๆ ที่หวั่นในใจว่าจะหาเวลาจากไหนมาลุย

          “แน่นอนอยู่แล้ว” น้อย–แม่ครัวฝีมือรสเหลาและผู้จัดการทริปจากมูลนิธิโกมลคีมทองเอ่ยสนับสนุน

คลองสาน–สำนักงานเสขิยธรรม
และการร่วมด้วยช่วยกัน

          ทีมงานกองบรรณาธิการเฉพาะกิจ และกำลังใจอีกกองพะเนินจากเพื่อนร่วมทริป ก็ระดมสมองเค้นโครงเรื่องกันจนหัวระบม ดูภาพจนตาแฉะ ตามมาด้วยการประชุมหารือกันเป็นระยะ ๆ กว่าจะมาถึงขั้นตอนการลงแรงตามต้นฉบับจากเพื่อน ๆ ที่รับปากว่าจะช่วยกันเขียน เช็ครายละเอียดภาพที่ได้มา และขั้นตอนยิบย่อยอีกจิปาถะ ฝ่ายทีมบรรณาธิการจำเป็นมีหน้าที่รวบรวมทั้งเรื่องและรูปให้พร้อม เพื่อส่งให้หลวงพี่สุพจน์จัดหน้า ส่วนการติดต่อโรงพิมพ์ หลวงพี่กิตติศักดิ์รับอาสาจะหารือกับทางสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ซึ่งสุดท้ายก็รับปากว่าจะพิมพ์ให้

          เพราะแต่ละคนต่างมีงานล้นมือ การมารวมตัวเฉพาะกิจครั้งนี้จึงเหนื่อยหนัก แต่ก็พยายามเจียดเวลาจากตารางงานอันแน่นเอี๊ยด เพื่อมาช่วยกันทำหนังสือเล่มนี้ให้สำเร็จลุล่วง ดังที่พวกเราทุกคนตั้งความหวังไว้ ช่วงเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์และยามค่ำคืนของวันทำงาน จะเป็นเวลาที่พวกเรามาเจอกันที่สำนักงานของกลุ่มเสขิยธรรม สรุปงานที่เสร็จไปแต่ละขั้นตอน ตรวจแก้สิ่งที่ได้มา เสริมเติมส่วนที่ขาดหาย ปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่ยังไม่ตรงใจ ทำกันไป ปรับกันไป เรียนรู้กันไป พร้อม ๆ กันทั้งทีม แถมยังได้กำลังใจกองโตจากพี่น้อย–โกมลคีมทอง ที่แม้ถ่อมตนไม่รับหน้าที่เขียน (เพราะถนัดสะบัดตะหลิวมากกว่า) แต่ก็มาร่วมให้กำลังใจ–อิ่มทั้งใจ อิ่มทั้งท้อง

หลวงพี่สุพจน์–มือจัดอาร์ตสุดอึด

          ในการทำงานครั้งนี้ ทีมกองบรรณาธิการเฉพาะกิจ ได้มีโอกาสร่วมงานกับหลวงพี่สุพจน์ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำหน้าที่จัดอาร์ตเวิร์ค เราออกจะขัดเขินกับการทำงานร่วมกับพระสงฆ์องค์เจ้า ไหนจะต้องระมัดระวังวาจา สรรหาศัพท์สงฆ์มาใช้ให้ถูกกาลเทศะ และหวั่น ๆ ว่าจะสื่อสารความคิดกันรู้เรื่องไหมหนอ แต่พอได้พบและร่วมงานกันจริง ๆ เราก็พบว่า หลวงพี่สุพจน์ทุ่มเทให้กับหนังสือของเราไม่น้อยไปกว่าทุกคนที่ร่วมคณะธรรมยาตราไปด้วยกัน ในขณะที่หนังสือเราเองก็เร่งปิด หลวงพี่สุพจน์ก็ยังมีงานหนังสือของท่านพุทธทาส และวารสารของเสขิยธรรมที่ต้องเร่งปิดเล่มไปพร้อม ๆ กันด้วย ทีมบรรณาธิการเห็นท่านทำงานทั้งวันทั้งคืนแล้ว ต่างก็ลงคะแนนให้เป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่คือมือจัดอาร์ตสุดอึดของแท้”

          คณะทำงานต้องปรบมือให้ดัง ๆ เพราะหากไม่มีหลวงพี่กับการทำงานแบบมืออาชีพแล้ว ก็ต้องบอกกันซื่อ ๆ ตรงนี้ว่า งานนี้ถ้าจะเสร็จ “ยาก” ขึ้นอีกโขและมิอาจลุล่วงลงได้อย่างที่เราหวัง

มิตรภาพที่เบ่งบาน

          แม้งานจะเหนื่อยหนัก แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราได้กลับมาคือ “ความอิ่มใจ” ที่แม้ผลงานที่ได้จะไม่หรูเริ่ด แต่ก็สะท้อนมาซึ่งความตั้งใจของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ปรารถนาจะเห็น “ลำน้ำโขง–แม่แห่งอุษาคเนย์” ของพวกเราได้รับการพิทักษ์และเหลียวแล เห็นโครงการระเบิดแก่งเพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ ได้รับการยับยั้งและมีการพิจารณาอย่างรอบคอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคประชาชน เพราะเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้คน ชุมชนริมฝั่ง ระบบนิเวศแม่น้ำ และ ผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมายแล้ว จะพบว่า “ไม่คุ้มเลย” ที่จะเดินหน้าโครงการดังกล่าว

          หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นดัง “สัญลักษณ์” ของความห่วงใยที่คณะธรรมยาตรารักษาลำน้ำโขงร่วมกันแสดงออกมา และเราวางแผนไว้ว่า ในปีที่จะมาถึงและอีกหลายปีต่อ ๆ ไป “ธรรมยาตรารักษาลำน้ำโขง” ก็ยังจะดำเนินไปเช่นนี้ แต่จะเปลี่ยนเส้นทางไปสัมผัส เก็บข้อมูล แลกประสบการณ์ และเรียนรู้ แม่น้ำโขงส่วนอื่น ๆ บ้าง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขงในลาวใต้ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนาม โตนเลสาบที่เขมร หรือแม้กระทั่งไปให้ถึงต้นน้ำโขงในแผ่นดินจีน ทั้งนี้ ในแต่ละครั้งของการเดินทาง จะเกิดเป็นหนังสือเช่นนี้อีกหรือไม่ ก็จะเป็นสิ่งที่พวกเราร่วมกันต้องคิด พิจารณา ดูความพร้อมและหาข้อสรุปกันต่อไป.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :