เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

ด้วยความระลึกภึง

สุภาพร พงศ์พฤกษ์
เขียนบทความนี้เพื่อสดุดีผู้เป็นแม่ และเป็นการขออโหสิกรรม
ในวาระเดินทางคืนกลับสู่ธรรมชาติ (เป็นงานเขียนที่ต้องใช้วิธีบอกจด)

คือมือแม่...ที่เยียวยา

 

เมื่อ ๗–๘ ปีที่แล้ว ฉันได้พบกับท่านนารายัน เด ซาย ผู้สืบต่อปณิธานของอาศรมคานธีในอินเดีย เมื่อท่านมหาตมะคานธีจากไปนั้น ท่านนารายันยังเป็นเด็กชายอายุ ๑๐ ขวบ ท่านเป็นลูกชายของเลขานุการของท่านมหาตมะคานธี

          ครั้งนั้น เราเป็นวงประชุมเล็ก ๆ ของกลุ่ม Non–Violence (ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง) จากหลาย ๆ ชาติ ได้ร่วมประชุมกันที่อาศรมวงศ์สนิท คลองรังสิต ๑๕ เราได้ฉายวิดีโอต่อต้านกับระเบิดที่ผลิตโดยกลุ่มผู้หญิงเขมร วิดีโอความยาวเพียงแค่สิบกว่านาที

          เมื่อวิดีโอจบลง กลุ่มของเราต่างก็พากันเงียบงัน สะเทือนใจกับเรื่องราวโศกเศร้าที่เสนอมุมมองตัดกับคุณภาพจิตใจที่กล้าแกร่ง ไม่ยอมจำนนต่อเงื่อนไขความรุนแรงของผู้หญิงเขมร แม้ว่าจะต้องสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน

          ท่านนารายัน เด ซาย ถึงกับร้องไห้ ท่านบอกว่า “I cry with happiness…” ผู้ชายในวัย ๘๒ ผู้ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน ไม่เคยร้องไห้ด้วยความสุขเช่นนี้มานานแล้ว

          เนื้อถ้อยที่วิดีโอเสนอนั้นแจ่มชัดในมโนสำนึก พวกเธอนำเสนอเรื่องราวอันเป็นสัจจะทุกยุคทุกสมัย ทุกครั้งที่เกิดสงคราม เกิดความรุนแรง ทุกครั้งที่มนุษย์ใช้อาวุธประหัตประหารซึ่งกันและกัน ผู้ที่จะเดือดร้อนมากที่สุดก็คือแม่ เมีย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว หากไม่ตกเป็นเหยื่อเสียเอง ก็ต้องแบกรับภาระในการดูแลเยียวยาผู้ที่ต้องทุกข์ทนจากผลพวงแห่งความรุนแรง เสียงสะท้อนจากวิดีโอนั้นชัดเจน มือผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นมือของแม่ เมีย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ก็คือมือที่เยียวยา

          เราเรียกกลับวันเวลาแต่ครั้งวัยเยาว์ ครั้งที่ชีวิตเป็นวัยวันอันแสนจะเรียบง่ายธรรมดา แต่สุขใจ ประสบการณ์เช่นนั้นห่างหายไปเนิ่นนาน

          ถึงวันนี้ บนเส้นทางเยียวยาชีวิตและสุขภาพฉันก็มาถึงเงื่อนเวลาที่ต้องอยู่กับที่จริง ๆ อยู่เฉพาะในรั้วบ้านถั่วพู พื้นที่ถูกตีกรอบเล็กลงมาอีก คืออยู่เฉพาะบนเตียงนอน ดูแมกไม้เขียว ๆ ที่รายล้อมทางช่องหน้าต่าง อย่างมากที่ทำได้ก็คือลุกขึ้นจากเตียง เดินไปนั่งเก้าอี้ เข้าห้องน้ำ ออกมานั่งดูต้นไม้ใบไม้สีเขียว ๆ ดอกสีส้มกระจิริดน่าเอ็นดูของชบาร่มที่กำลังผลิบานดอกน้อย ๆ นกตัวเล็ก ๆ ลงมาซอนไซ้ดูดน้ำหวานดอกนี้ดอกโน้น ชบาหนูบ้าง ดอกทับทิมบ้าง

          ข้อจำกัดทางกายจะมีอะไรเสียอีก นอกจาก ‘ลมติด’ อาการเก่าที่ทวีกำลังรุกไล่สังขารของฉัน ทำให้เดินเหินลำบาก ก็ทรมานพอท้วม ๆ พอทนได้ ตราบเท่าที่ไม่เกิดอาการฟุ้งซ่านของความคิด นับว่าสติที่ได้ฝึกฝนมาบ้างก็ช่วยให้ตั้งรับไว้ได้พอควร

          หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามะเร็งมาเกี่ยวกับลมติดได้อย่างไร

          หลังฉันแข็งไปทั้งแผ่น เดินยาก ดูเกร็ง ๆ หรือฉันอยู่ในช่วงเลือดจะไปลมจะมา

          วันวัยแต่ครั้งยังเยาว์ที่แม่ ๆ พี่ป้าน้าอา ขยับกรรไกร ถือมีดโกนหั่นผม กล้อนผมให้ลูกหลาน เป็นประสบการณ์พึ่งตนเองในครัวเรือน ทั้งพึ่งตัวเองและอบอุ่น ด้วยการพึ่งพิง เกื้อกูลต่อกันและกัน อะไรที่ทำเองได้ อย่าได้หวังเลยว่าจะต้องไปเสียสตางค์ให้กับชาวบ้านเขา แม่และน้าทุมขยับกรรไกรกริ๊ก ๆ หั่นผมให้ลูกสาวอีกครั้งหนึ่ง

          เป็นการตัดปัญหาว่าจะเชิญช่างผมมาที่บ้านหรือถ่อสังขารไปที่ร้านในละแวกบ้านดีกว่ากัน แรก ๆ ก็ผวาอยู่เหมือนกันว่าจะอาศัยช่างอาวุโสประจำบ้านดีหรือไม่ ความเคยชินแห่งยุคสมัยที่ทุกคนต้องไปร้านทำผมให้มืออาชีพจัดการให้ ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจในฝีมือคุณแม่วัย ๗๗ และน้าทุมวัยย่าง ๗๐ พี่สาวและน้องสาวคู่หู ที่ต่างใช้เวลาในวัยปลายแห่งชีวิตเป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน ตักเตือนกันให้ปล่อยวางทุกข์ เก็บเกี่ยวความสดใสให้กับชีวิต

          ตัวฉันผู้เป็นลูกสาวหรือก็ฟาดเข้าไป ๔๖ แล้ว มีโรคาพยาธิที่รู้กันว่าร้ายแรงและเรื้อรัง กำลังสำแดงอาการให้ทั้งแม่และน้า ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อนพ้อง ช่วยกันดูแล

          น้าทุมขยับกรรไกรก่อนหั่นให้สั้น ปากก็บอกว่า “พรต้องเตรียมใจนะ พร้อมที่จะโกนหัวถ้ามันออกมาไม่ได้เรื่อง” ว่าแล้วทั้งแม่ น้าทุม และน้องไก่ ผู้ดูแลประจำตัวฉัน ก็หัวเราะกันยกใหญ่

          การตัดผมทรงใหม่ของฉันจึงกลายเป็นเรื่องครึกครื้นในหมู่เรา โดยมีน้องไก่กองเชียร์ผู้ที่หมั่นบอกว่าสวยแล้ว ในความหมายว่าพอแล้ว เดี๋ยวจะไม่มีผมเหลือบนหัวน้าพร ท้ายสุดฉันก็ได้ทรงผมดอกกระทุ่มออกมาเกือบติดหนังหัว แม้ว่าในใจของฉันหมายที่จะได้ทรงผมสกินเฮด หรืออย่างนางเอกภาพยนตร์เรื่องกุมภาพันธ์ ที่ฉันก็ไม่เคยดูหรอก

          หลังจากกลับจากสำนักวิปัสสนา เพื่อกินยาและพอกยาสมุนไพรไม้สุดท้ายที่จะใช้กับคุณมะเร็งเต้านม ฉันกลับมาพร้อมกับทรงผมสั้น ๆ ชี้ ๆ แต่ใคร ๆ ที่อยู่รอบตัวในเมืองใหญ่บอกว่า ‘ทันสมัย’ ทรงแม่ชีเพิ่งสึกนี่นะ

          แม่รับสัมปทานผมบนศีรษะซีกซ้าย น้าทุมตกแต่งซีกขวา ก็พอกล้อมแกล้ม เป็นพุ่มดอกกระทุ่มย้อนยุคไปสมัยคุณท้าวหรือแม่พลอยไปโน่น ดูอย่างไรก็ไม่อาจจะเท่เป็นสกินเฮดไปได้

          เป็นด้วยวันและวัยของผู้ตัดผมมีแต่ทรงดอกกระถินหรือดอกกุนหยี (ดอกบานไม่รู้โรย)

          แต่กลับเป็นประสบการณ์ที่สดชื่น ชุบชูใจ สำหรับเราทุกคน ต่อตัวฉันที่ได้ฝึกปล่อยวางรูปลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งถ้าสบาย ๆ ฉันก็คงไม่อาจปล่อยวางในเรื่องทรงผมได้ และสำหรับแม่และน้าที่ได้ร่วมประสบการณ์ถอยร่นอายุด้วยจิตใจสบาย ๆ ได้ตัดผมให้ลูกสาว หลานสาว เป็นการแสดงความรัก ความเอื้ออาทรอย่างไม่มีเงื่อนไขให้กับฉัน ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องอาศัยพึ่งพิงผู้อื่นรอบข้างไปทั่วบ้านทั่วเมือง

          ฉันและแม่ เป็นแม่และลูกสาวที่ต่างจากบ้านอื่น ๆ คือมีเรื่องให้ต้องขัดคอ ขัดใจ ไม่สบอารมณ์กันอยู่เนือง ๆ ทั้ง ๆ ที่ฉันเป็นลูกสาวคนเดียว แม้แม่จะมีลูกชายที่เป็นแก้วตาดวงใจอีกเจ็ดคน ตั้งแต่ฉันเล็ก ๆ ฉันมักจะรู้สึกว่าแม่จู้จี้จุกจิกกับฉัน แต่ตามใจพี่ชาย น้องชาย แม่รักลูกชายมากกว่าลูกสาว ในขณะที่แม่ก็มักจะคิดว่าฉันเป็นลูกสาวพ่อ ติดพ่อ เอาแต่ใจ ไม่ฟังแม่

          ฉันไม่ยอมให้แม่ดูก้อนคุณมะเร็งที่เต้านมของฉัน ไม่ว่าฉันจะอธิบายด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม... ไม่อยากให้แม่เห็นและกลุ้มใจ แม่แก่แล้ว เดี๋ยวแม่จะแทรกแซงวิธีการรักษาของฉัน ฉันมีเพื่อน ๆ และบุคลากรที่จะให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว... เบื้องลึกสุด ฉันเองก็ไม่ยอมรับที่จะล้วงลึก

          แม่จึงถูกกันออกไปจากเส้นทางการรักษาเยียว--ยาสุขภาพของฉัน ความที่แม่เองก็ไม่เซ้าซี้คะยั้นคะยอที่จะรู้ให้ได้ว่าลูกสาวปิดบังอะไรไว้จากการรับรู้ของแม่ แม่รู้ว่าฉันมีก้อน มีแผล ฉันคิดว่าสถานการณ์นี้ยังเป็นสถานการณ์ทั่วไปของลูกที่เป็นมะเร็งเต้านม และปิดบังมิให้พ่อแม่ญาติพี่น้องรู้ อย่างน้อยที่สุดก็มีเพื่อนผู้ป่วยโทร. มาปรึกษาปัญหาฉัน พร้อมกับกำกับว่าเรื่องนี้ที่บ้านไม่รู้ให้เก็บเป็นความลับด้วย

          แล้วฉันก็พบว่าตัวเองทำอย่างเดียวกับเพื่อนผู้ป่วยรายอื่น ๆ คุณไผ่ น้องชายสุดท้อง เพียรบอกพี่สาวครั้งแล้วครั้งเล่า “ให้บอกแม่เถอะ อาจจะไม่ให้แม่ดูก้อน แต่ให้แม่รู้ปัญหา แม่เราเนี่ยเป็นมือเยียวยาที่ประมาทไม่ได้เลย แม่ดูแลพ่อในช่วงบั้นปลายอย่างยอดเยี่ยม แม่เรารู้อะไรดี ๆ เยอะ มือแม่ดีที่สุดสำหรับลูกอยู่แล้ว” ฉันก็บอกน้องชายผู้ใกล้ชิดว่า “เออ จะบอกแม่ แต่ไม่ให้แม่ดูหรอก เดี๋ยวแม่จะกลุ้มใจ นอนไม่หลับ” นี่ขนาดแม่ไม่ค่อยรู้รายละเอียด แม่ยังช่วยเหลือทุกอย่างช่วงนั้นฉันอดอาหาร ซึ่งแม่ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าอดไปทำไม แต่ทั้งแม่และน้าทุมก็ช่วยกันเต็มที่ เมื่อฉันบอกว่าฉันจำเป็นต้องกินน้ำหญ้าปักกิ่ง “แม่ช่วยตำหญ้าด้วยครกดินให้หน่อยเถอะ” ฉันก็ได้กินน้ำหญ้าสารพัด รวมทั้งหญ้าลิ้นงูซึ่งแม่บอกว่า “นม (คุณยาย) บอกว่าดีสำหรับการรักษาแผล” และน้ำพืชผักอีกนานาชนิด ตามภูมิรู้ของแม่ที่ตกทอดมาจากคุณยาย ไม่ว่าจะเป็นใบบัวบก ใบตำลึง ก็จะถูกพลิกแพลงหมุนเวียนมาให้ฉันดื่มเพื่อรักษาโรค ทั้ง ๆ ที่แม่ไม่เคยรู้รายละเอียดมากนัก รู้แต่ว่าลูกสาวมีเพื่อน ๆ เป็นคุณหมอโรงพยาบาล เป็นนางพยาบาล และเพื่อน ๆ หมุนเวียนกันมาดูแล จะเป็นบรรยากาศคึกคักของการเยียวยา ช่วงนั้นแม่จึงไม่หนักใจมากนัก แล้วแม่ก็สังเกตว่าเสื้อผ้าสาลูบาง ๆ เนื้อเบาสบายที่ลูกสาวใส่วันละหลาย ๆ ตัว เปื้อนคราบน้ำเหลือง น้ำยา แม่ก็ออกปากว่า “เอามา แม่จะซักให้” สำนึกตื้นตันเข้ามาจุกในเบ้าตาของฉัน ฉันกันแม่ออกไปให้อยู่ในวงผู้ดู ผู้สังเกตการณ์ แต่แม่ก็ยังหยิบยื่นความรักความใส่ใจอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น “แม่ซักให้ ไม่เป็นไรหรอก จะได้ไม่กระทบกระเทือนบริเวณเต้านม”

          เพื่อน ๆ ใกล้ชิดส่วนใหญ่รู้สถานการณ์ของฉัน รู้ความเจริญเติบโตของคุณก้อนมะเร็ง แต่แม่ผู้ยืนอยู่ข้าง ๆ ฉันตลอดเวลาอย่างไม่มีเงื่อนไข เราแม่ลูกไม่อาจถึงกันด้วย ‘ความกลัว’ ของฉันเอง

 

การไปรักษาตัวเพื่อพอกยาสมุนไพรครั้งล่าสุดที่สำนักของแม่ย่า แม่ชีวัย ๙๐ ผู้คร่ำหวอดกับการให้ยาสมุนไพรกับผู้ป่วยมะเร็งมาไม่รู้ว่ากี่ร้อยราย บอกฉันว่า “ลูกต้องใส่ยา และต่อแต่นี้ไปไม่ต้องใส่เสื้ออีกแล้ว ใช้แต่ผ้าคลุมไหล่ เพื่อไม่เกิดความอับชื้น”

          ด้วยประการฉะนี้ ฉันจึงต้องท็อปเลส นั่งเปิดเผยทรวงในวัยอันไม่ควร ในเงื่อนไขที่ไม่เจริญหูเจริญตา

          แหม ! แต่กลับดีในแง่ของการปลงสังขาร ช่วยไม่ได้ ผู้คนที่มาติดต่อไปมาหาสู่สำนักวิปัสสนา แน่นอน พวกเขาเป็นผู้ต่างไปจากแวดวงของฉัน หากเข้าผิดประตู ก็จะเห็นตัวฉันในสภาพปลงสังขารไปด้วย

          แรก ๆ ฉันก็รับไม่ค่อยได้ แต่มันเป็นความจริงของชีวิต เป็นสัจธรรมของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มิไยใครผู้ใดจะยึดไว้หรือปล่อยวาง สภาพสังขารก็ยังประกาศตนถึงความเสื่อมสลายอยู่ทุกเวลานาที การเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้น ฉันได้เรียนรู้และเกิดการปล่อยวางขึ้นมาบ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่เคยรู้สึกว่าคุณก้อนมะเร็งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยให้ผู้อื่นผู้ใดรู้นอกจากหมอหรือผู้บำบัดของฉัน ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของการเยียวยาตัวตน ซึ่งเมื่อฉันได้เล่าให้ท่านสันติกโรภิกขุ กัลยาณมิตรอเมริกัน ผู้จากสวนโมกข์ไปจาริกสร้างวัดเผยแผ่พุทธศาสนาในบ้านเกิดของท่าน ถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องทัศนคติของฉัน ท่านก็บอกว่า

          “นี่คือการเยียวยาที่สำคัญที่สุด การเยียวยาตัวตนนั่นแหละเป็นการเยียวยาที่สำคัญที่สุด”

          แล้วฉันก็ได้รู้ว่าฉันประเมินหัวใจแห่งความเป็นแม่ผิดพลาด ต่ำค่า เป็นอกุศลกรรมที่ครอบงำปัญญา

          แม่ของฉัน ผู้หญิงหน้าตาอิ่มเอิบสุข อารมณ์ดี แต่งเนื้อแต่งตัวสดใส สะอาดสะอ้าน ในวัย ๗๗ เขม้นสายตาที่ออกจะฝ้าฟางไปบ้างอันเนื่องด้วยต้อหิน แม่เขม้นมองมายังก้อนมะเร็งของลูกสาว ก้อนที่เหมือนก้อนหูดเจริญเต็มที่ หน้าเหมือนลูกมะกรูดโต ๆ ผ่าซีก แล้วเอามาแปะไว้ตรงเต้านมของลูกสาว

          ในนาทีระทึก แม่กลับมีสีหน้าที่สงบ เพียงแต่เขม้นมองให้เห็นชัด ๆ “นี่มันยุบลงบ้างหรือเปล่า” ฉันรู้แล้วว่าที่ผ่านมาฉันสร้างเหตุผลต่าง ๆ นานาที่จะปิดบังแม่ เพียงเพื่อจะหล่อเลี้ยงความกลัวเท่านั้นเอง

          เป็นความโล่งใจของเราทั้งสองฝ่ายที่ไม่มีอะไรปกปิดเงื่อนงำ เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ตรงไปตรงมา เปิดเผย เป็นความโปร่งเบาอย่างไม่น่าเชื่อในใจของฉัน ความกดดัน หนัก ๆ หน่วง ๆ พลันสลาย

          ฉันถึงขั้นไม่มีช่องว่างทางความคิดที่จะสำนึกว่าแม่จะหนักใจหรือเปล่านะ ท่าทีของแม่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แม่ยอมรับได้อย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

          แล้วแม่ก็เริ่มเปิดฉากการเยียวยาฉันอย่างเต็มไม้เต็มมือ แม่คงปรึกษากับน้าทุมน้องสาวผู้เป็นกัลยาณมิตรของแม่ ว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะช่วยให้ลูกสาวสบายที่สุด

          แล้วเช้าวันรุ่งขึ้น น้าทุมก็เปิดประตูรั้วบ้านเข้ามา เดินด้วยฝีเท้าเบาเข้ามานั่งตรงเก้าอี้ข้าง ๆ เตียงฉัน โดยตัวฉันเองนอนตะแคงขวา ก็ฉันไม่อาจนอนตะแคงซ้ายได้แล้ว เนื่องจากเป็นที่ตั้งของคุณก้อนมะเร็ง ฉันคิดว่าแม่เข้ามา

          น้าทุมเองก็มีท่าทีสงบปกติมาก “มันเหมือนหูดใหญ่ ๆ นะ พร” น้าทุมก็เหมือนแม่คนที่สอง เอาเข้าจริง เราแต่ละคนมีแม่ผู้มีบุญคุณมากมาย หากเราสำนึกแม่ในธรรมชาติที่เอื้อต่อการเติบใหญ่ของสรรพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ

          น้าทุมเป็นเด็กสาวคนแรกของโค้งน้ำอู่ตะเภา ลุ่มทะเลสาบสงขลา ที่ฟันฝ่าสอบชิงทุนไปเรียนที่กรุงเทพฯ ในสมัยที่ใคร ๆ ไม่เห็นความจำเป็นที่ลูกสาวจะต้องเรียนสูง น้าทุมจึงเป็นแสงสว่างของหลาน ๆ ในแง่ของการศึกษา

          ทั้งท่าทีของแม่และน้าทุมแสดงให้เห็นถึงผู้ที่ผ่านโลก ผ่านชีวิตมาอย่างผู้เข้าถึงชีวิต จึงมิได้ตีโพยตีพาย ยอมรับสภาพความจริงอย่างไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งคิดอ่าน แก้ไขสถานการณ์ให้กับฉัน

          ที่ฉันกลัวว่าพวกเขาจะแทรกแซงการรักษาจึงเป็นความเขลาอย่างแท้จริง

          ในวัยหลัง ๗๐ แม้จะเคลื่อนไหวอย่างเนิบช้า ไม่มีความกระฉับกระเฉงต่อไปอีกแล้ว แต่ใจของแม่ยืดหยุ่น ทั้งสองท่านหมุนเวียนกันมาทำโน่นทำนี่ให้ แม่บอกให้ฉันปล่อยทุกอย่างแม่จะทำให้เอง แม้แม่เองจะเหมือนกล้วยน้ำว้าที่สุกเต็มที่แล้ว สังขารก็สะเงาะสะแงะ ไม่รู้จะแตกสลายวันไหน แต่แม่ก็สั่งอยู่เสมอว่า “อย่าเอาแม่ไปใส่สายยางนะ” ให้เป็นไปตามสังขาร

          ช่วงนั้นจอห์นอยู่เป็นเพื่อนฉันที่บ้านถั่วพู จอห์นจึงเป็นคนไปตลาด ซื้ออาหาร พร้อมทั้งปรุงอาหารแบบง่าย ๆ ตามแต่ฉันจะบอก จอห์นเองก็รู้สึกยินดีในสัมพันธภาพของแม่ลูกที่เปลี่ยนไป ความเอื้ออาทรต่อกันที่ก่อนหน้านี้ไม่อาจเปิดเผยตัวมันเองได้ เพราะฉันประเมินหัวใจของความเป็นแม่ผิดพลาด

          บ้านแม่และบ้านฉันห่างกันประมาณแปดเมตร แม่ก็มาขลุกอยู่บ้านฉัน คอยนวด คอยใส่ยา หยิบโน่นหยิบนี่ให้ ทั้งซักผ้าให้กับฉัน ทั้ง ๆ ที่น้าทุมเอ่ยปากกับฉันว่า “พรอย่าใช้งานแม่นะ จะเป็นบาปกับพร ถ้าแม่อยากทำอะไรให้ เขาก็จะทำให้เอง”

          ในที่สุด หัวเข่าแม่ก็ทนต่อการเดินไปกลับไม่ไหว หัวเข่าจึงบวมฉึ่งขึ้นมา แม่ฉันออกจะสมบูรณ์อยู่สักหน่อย แม่ใช้ชีวิตอย่างคนแก่ที่มีความสุข เป็นที่อิจฉา หยอกเอินของเพื่อนบ้าน แม่จะตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อหุงข้าวต้มแกงใส่บาตร เปิดวิทยุฟังข่าวชาวบ้าน ตีห้าครึ่งก็ฟังคุยธรรมะของท่านจันทร์ จากสถานีวิทยุการบินคลองหอยโข่ง แล้วแม่ก็อาบน้ำแต่งตัวสีสันสดใสแบบคนรักสวยรักงาม หกโมงเช้าพอดี แม่ก็จะเปิดประตูบ้าน ตั้งโต๊ะวางสำรับกับข้าวที่จะใส่บาตร แม่จะนั่งหน้าตาอิ่มเอิบ ทักทายเพื่อนบ้านที่ผ่านไปผ่านมาในตอนเช้ามืด บางวันก็มีน้าสาวอีกท่านหนึ่งมาร่วมใส่บาตร หรือบางเช้าก็จะมีเพื่อนบ้านมาร่วมทำบุญวันเกิด

          บ้านเราเป็นบ้านที่ใส่บาตรทุกเช้าไม่เคยขาดตั้งแต่ฉันจำความได้ แม่เองก็เล่าว่าเป็นนิสัยที่ตกทอดมาจากแม่นม “บ้านคุณยายใส่บาตรเป็นประจำทุกเช้าไม่เคยขาด จนคุณยายสิ้นบุญ” แม่จึงเป็นคนแก่วัยงาม ที่แม้สังขารจะเนิบช้า แต่จิตใจกระฉับกระเฉงไม่เคยเปลี่ยน

          แม่นมเป็นแม่ค้าขายข้าวยำลือชื่อ และบริการแถมพกด้วยภูมิปัญญาการรักษาเยียวยาแบบหมอกลางบ้าน

          บัดนี้คุณภาพจิตเช่นนั้นที่แม่สั่งสมบารมีมาตลอดชีวิต การเกิดเป็นลูกสาวคนโตของบ้าน ไม่มีโอกาสไปโรงเรียน เพราะต้องทำงานช่วยครัวเรือน แม่จึงอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แม่ได้เข้าโรงเรียนของคุณยายที่เป็นหลักสูตรเข้มข้นเคร่งครัด แม่จึงถ่ายทอดเอาทักษะและภูมิปัญญาของแม่นมมาอย่างครบถ้วน ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าโรงเรียนใด ๆ ที่เปิดสอนกันในยุคนั้น

          และฉันนี่แหละกำลังรับพลังแห่งการเยียวยาจากมือแม่ที่ตกทอดมาจากคุณยายและบรรพชนของเรา อีกทั้งวิธีการที่ฉันตัดสินใจรักษาเยียวยาตัวเองก็เป็นวิธีทางธรรมชาติบำบัด สอดคล้องกับวิถีชีวิตในประสบการณ์ของแม่และพี่ป้าน้าอา

          กระนั้น ฉันก็มีกรรมมาครอบงำปัญญาทำให้ไม่เห็นคุณค่าบุคคลที่มารายล้อมฉันในตอนนี้ ในเงื่อนไขที่ฉันต้องการการรักษาเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นแม่ น้าทุม พี่ป้าน้าอา หรือแม้น้องไก่ ผู้ดูแลประจำตัวฉัน ที่แม่ค้นหามาให้อยู่เป็นเพื่อนฉัน เกษ หมอนวดพลังหยิน เอก หมอนวดพลังหยาง พี่ยา ผู้มานอนเป็นเพื่อนระแวดระวังฉันในตอนกลางคืน ล้วนเป็นมือที่เยียวยา แต่ทั้งหมดนี้เกิดจากต้นธารที่เป็นมือแม่.


หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :