เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

Sam Sara : การออกบวชของผู้ชาย กับชะตากรรมของผู้หญิง

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

มองอย่างพุทธ

อนุรักษ์ ภาคภูมิ

เรามักจะได้ดูหนังที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศในศาสนาคริสต์ ในขณะที่เราไม่ค่อยได้มีโอกาสดูหนังที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศในศาสนาพุทธบ่อยนัก นั่นอาจเป็นเพราะเราอยู่ในวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยชอบพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะก็เป็นได้ ภาพยนตร์หรือละครที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เราได้ดูส่วนใหญ่ ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ก็มักจะเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม

          Sam Sara ดูจะเป็นหนังเกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องแรก ที่หยิบยกเอาประเด็นเรื่องเพศ มาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา แม้หนังจะอิงเอากับวัฒนธรรมพุทธวัชรยานแบบทิเบตมาเป็นตัวดำเนินเรื่องก็ตาม แต่บริบทของปรัชญาในศาสนาพุทธแบบทิเบต ก็ไม่ได้ห่างไกลจากพุทธแบบเถรวาทบ้านเราสักเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นมิติหญิงชาย (Gender) ที่หนังพยายามนำเสนอก็มีสถานการณ์ร่วมบางประการที่คล้ายคลึงกัน โอกาสที่จะดูหนังเรื่องนี้อย่างไม่เข้าใจจึงแทบไม่มี

          หลังจากที่ลามะต้าชิประพฤติวัตรเข้าเงียบทำสมาธิอยู่ในหุบเขาเป็นเวลาสามปี ผมเผ้ายาวรุงรังจนเพื่อนลามะต้องหอบหิ้วพากลับวัด ในที่สุดสิ่งที่ลามะต้าชิค้นพบว่ายังไม่สามารถตัดได้ขาดก็คือความรู้สึกทางเพศที่มีต่อผู้หญิง นั่นถึงกับทำให้เขาตะโกนใส่พระพุทธรูปองค์ใหญ่กลางวิหารว่า ‘ท่านเองมีโอกาสใช้ชีวิตทางโลกจนถึงอายุ ๒๙ แต่ข้า ๕ ขวบก็ถูกกำหนดให้ใช้ชีวิตอย่างพระ’ ด้วยความไม่พึงพอใจในชีวิตพรหมจรรย์อีกต่อไป สอดรับกับคำสอนของลามะชราในหุบเขาผู้ปิดวาจาได้เตือนสติต้าชิผ่านแผ่นผ้าธรรมะว่า ‘ทุกสิ่งที่สัมผัสคือสถานฝึกแนวทาง’ เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อให้เขาตัดสินใจลาสิกขาเพื่อออกไปใช้ชีวิตฆราวาส... ‘ครอบครองเพื่อสละทิ้งในวันข้างหน้า’ ตามคำพูดที่เขารำพึงรำพันต่อหน้าพระพุทธรูปใหญ่องค์นั้น

          หนังเองดูจะเล่นอยู่กับประเด็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวอยู่เป็นนัยตั้งแต่ต้นเรื่อง เมื่อต้าชิกำลังซักจีวร ก็มีเสียงพระพี่เลี้ยงเล่าพุทธประวัติ ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะหนีลูกเมียออกบวชให้เณรน้อยบวชใหม่ฟัง เณรน้อยได้ฟังก็ร้องไห้อยากกลับบ้านขึ้นมาทันที ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเล่ากับเหตุการณ์ปัจจุบันของหนังว่า มีความสอดคล้องกันอย่างไร นั่นเป็นจุดเริ่มของการตั้งคำถามกลาย ๆ ว่าศาสนาเองหรือไม่ที่ทำให้สถาบันครอบครัวต้องเผชิญกับความทุกข์จากการพลัดพราก ด้วยการดึงเอาชายหนุ่มกับเด็กน้อยให้ไปใช้ชีวิตเป็นนักบวช ก่อนที่หนังจะเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องราวในครอบครัว และการออกบวชอย่างเป็นจริงเป็นจังในที่สุด

          การตัดสินใจหนีสึกจากเพศพระของต้าชิ กลางดึกคืนนั้นถูกทำให้กลายเป็นภาพในมุมกลับกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อคราวหนีออกบวชอย่างจงใจ แม้แต่ฉากเปลี่ยนชุดฆราวาสที่ริมน้ำ ก็เชิญชวนให้คนดูนึกเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เจ้าชายสิทธัตถะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ถือเพศนักบวชที่ริมน้ำอโนมา สายน้ำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านสถานะของบุคคลไปสู่การเรียนรู้ในโลกที่ไม่คุ้นเคย (เราจะสังเกตเห็นฉากที่เกี่ยวกับน้ำอีก ๒–๓ ฉากข้างหน้า) หนังจึงไม่ได้ให้ค่าการลาสึกของต้าชิว่าเป็นเรื่องพ่ายแพ้ต่อกิเลสตัณหา ตรงกันข้ามหนังกลับทำให้การลาสึกของต้าชิ กลายเป็นการเรียนรู้ชีวิตแบบเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะเรียนรู้ชีวิตขณะออกบวชอย่างท้าทายคนดู ดังนั้นเนื้อเรื่องต่อจากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาของการค้นหาสัจจธรรมจากชีวิตทางโลกของต้าชิ เมื่อต้าชิไปใช้ชีวิตฆราวาสจริง ๆ ก็ต้องพบกับความสุขและความทุกข์ในแบบที่โลกมี ได้พบรักกับเปม่าสาวชาวนามีกามารมณ์อย่างสุขล้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นชาวนาที่ถูกกดขี่จนต้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรม การมีครอบครัวและลูกที่ต้องกลายเป็นห่วงผูกมัด อีกทั้งกามารมณ์ที่ไม่มีขอบเขตจะควบคุมได้ไปสู่การเป็นชู้กับสุชาดา (โปรดสังเกตว่าชื่อของชู้รักชื่อนี้มีนัยบางอย่าง ?) ในที่สุดก็ต้องลาจากกับสุชาดาชู้รักเมื่อเธอต้องกลับไปแต่งงานที่บ้านเกิด สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้ต้าชิเริ่มมองเห็นสัจจธรรม ในช่วงเวลาเดียวกันอาโปลามะชรากำลังจะละสังขาร จึงส่งจดหมายมาหาต้าชิให้เลือกตัดสินใจอีกครั้งว่า จะกลับไปใช้ชีวิตลามะหรือชีวิตฆราวาส

          ไม่ต้องสงสัยว่าต้าชิเลือกที่จะกลับไปเป็นลามะอีกครั้ง หนังก็ยังอิงเหตุการณ์ตอนนี้เข้ากับเหตุการณ์ในพุทธประวัติขณะเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชที่ริมน้ำ เมื่อต้าชิเหลียวดูลูกและเมียก่อนจะหนีออกจากบ้านไปอย่างเงียบเชียบ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตลามะอย่างถาวรโดยเปลี่ยนชุดเป็นลามะที่ริมน้ำแห่งเดิม

          แต่เรื่องราวก็ไม่ง่ายเช่นนั้น แม้ผัสสะในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต้าชิได้สัมผัสขณะเป็นฆราวาสจะเป็นสะพานไปสู่การเห็นสัจจธรรมของโลก แต่บุคคลที่เขาได้เข้าไปข้องแวะและปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติการดูผัสสะเช่นเดียวกับที่เขาปฏิบัติ แต่บุคคลเหล่านั้นได้กลับกลายเป็นเยื่อใยความผูกพันที่ตัดได้ยากยิ่งกว่าเมื่อเปม่าเมียสุดที่รักตามมาตัดพ้อ ต่อว่าว่าเธอและลูกได้ตกเป็นเหยื่อของความเปล่าเปลี่ยว เมื่อสามีเลือกกลับไปใช้ชีวิตนักบวช หนังได้นำคนดูไปสู่เนื้อหาและคำถามที่จริงจังอีกครั้งว่า การออกบวชของผู้ชายเป็นการโยนความรับผิดชอบต่อครอบครัวให้ตกเป็นภาระกับผู้หญิงหรือไม่

          เวลาเดียวกันคงเป็นโชคร้ายของต้าชิที่อาศัยครอบครัวเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สัจจธรรม ทำให้การออกบวชครั้งที่สองของเขามีอุปสรรคกีดขวาง แต่เมื่อเราพูดถึงคำว่า ครอบครัว สิ่งที่พัวพันตามมาเสมอกับคำว่าครอบครัวมักจะเป็นมายาคติที่เกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะ ‘เมีย’ และ ‘แม่’ ความเป็นเมียและแม่ตามความหมายของครอบครัวที่สังคมกำหนด ได้บล็อกผู้หญิงให้เข้ากับความรับผิดชอบในครัวเรือนแบบดิ้นไม่หลุด ทันทีที่เธอเกิดมาพร้อมกับมดลูกและรังไข่ ดังนั้นเมื่อใดที่เราพบข่าวเด็กทารกถูกทิ้ง เราจึงมักมุ่งความรับผิดชอบไปที่แม่เป็นบุคคลแรกมากกว่าพ่อ ในขณะที่พ่อกับบทบาทการรับภาระนอกบ้าน (โดยที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับครัวเรือนและลูก) ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้อยู่แล้วในเรื่องเศรษฐกิจเพื่อครอบครัว ภาระการดูแลบ้านกับลูกน้อยจึงตกอยู่กับแม่ (หรือเมีย) ไปโดยปริยายเราจึงไม่มีโอกาสพบศาสดาที่เป็นผู้หญิงเสียที หนังได้พาคนดูไปสู่การตั้งคำถามในประเด็นนี้อย่างท้าทายและน่าสนใจทีเดียว

          บางที Sam Sara อาจจะกำลังนำเสนอเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งก็เป็นได้ ตั้งแต่ฉากแรกที่ลามะต้าชิปรากฏตัวคือภาพของนักบวชผอมเกร็งผมเผ้ายาวรุงรัง ดูยังไงก็ไม่พ้นที่จะนึกถึงเจ้าชายสิทธัตถะขณะบำเพ็ญทุกกรกิริยาไปได้ แม้แต่ฉากหนีสึก–หนีบวชที่วนไปมาอยู่ริมน้ำ ดังนั้นจุดสำคัญของท้องเรื่องจึงนำไปสู่ฉากสุดท้ายที่มี dialogue (บทสนทนา) ยาว ๆ ระหว่างเปม่ากับต้าชิ (และอีกเช่นกันเป็นไปได้ไหมว่าเปม่าก็คืออีกความรู้สึกของยโสธราชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ)

          dialogue ตรงนี้ได้ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลซึ่งอยู่ในสถานะห้ามแตะต้อง (untouchable) ในพุทธศาสนาอย่างท้าทายอีกด้วย ซึ่งบุคคลดังกล่าวก็คือเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้านั่นเอง ! บทสนทนาได้วิพากษ์วิจารณ์การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะ (ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงตัวต้าชิเองด้วย) ถึงการไม่เห็นใจลูกเมียที่หนีไปบวช มีผู้ชายเท่านั้นที่สามารถทำแบบนี้ได้... ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนว่าในพุทธศาสนาเถรวาทบ้านเรา ยังไม่เคยมีใครหยิบยกเอาเรื่องนี้มาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมามาก่อน อย่างไรก็ตามการที่ Sam Sara เป็นหนังที่อิมปอร์ตมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่เมดอินไทยแลนด์อย่าง องคุลิมาล ฉบับอังเคิล อีกทั้งเป็นหนังที่อิงอยู่กับพุทธศาสนาวัชรยานแบบทิเบต จึงเป็นภาพยนตร์ที่รอดพ้นจากการถูกประท้วงจากกลุ่มชาวพุทธในเมืองไทยไปอย่างหวุดหวิด เราจึงยังคงหาหนังเรื่องนี้มาดูได้ไม่ยากในรูปของแผ่น VCD แต่ในทางกลับกันหาก Sam Sara เป็นหนังที่สร้างโดยคนไทยและเป็นเรื่องราวของพระสงฆ์ในนิกายเถรวาทแล้วละก็ เราคงคาดเดาชะตากรรมของหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก

          แต่สิ่งที่ Sam Sara ทำมากไปกว่าการตั้งคำถามดังกล่าวกับคนดูก็คือ การแปลงบทบาทของผู้หญิงในฐานะ ‘มาร’ มาเป็น ‘ผู้อุปถัมภ์’ ตลอดเวลาบทบาทของผู้หญิงกับศาสนาผู้หญิง มักจะถูกผูกขาดอยู่กับบทบาทของการเป็นมารผู้ทำลายล้างพรหมจรรย์ของผู้ชาย คำพูดของเปม่าในฉากสุดท้ายที่ว่า ‘มีใครบ้างที่พูดว่าท่านตรัสรู้ได้เพราะนาง (ยโสธรา)’ จึงเป็นวาทกรรมที่น่าสนใจวาทกรรมหนึ่งในการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับผู้หญิง

          วาทกรรมดังกล่าว ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การปรากฏตัวของเปม่าในช่วงต้นเรื่องและท้ายเรื่อง ได้อย่างมีเลศนัยว่าเปม่า (หรือผู้หญิงในสังคมพุทธ) มีตัวตนจริงหรือไม่ เมื่อต้าชิไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวและได้พักค้างแรมในหมู่บ้านในช่วงต้นเรื่อง เปม่าเข้ามานอนกอดต้าชิจากด้านหลัง โดยคำร้องขอจากลามะอาโป เพื่อต้าชิจะได้คลายจากความปฏิพัทธ์ในอิสตรี ต้าชิเองกลับเพียงแต่รู้สึกว่าตนฝันไป กับฉากท้ายเรื่องเมื่อลามะต้าชิพบเปม่ายืนคอยท่าอยู่หน้าประตูทางเข้าวัด เธอรำพึงรำพันกับเขาอยู่นานก่อนจะจากไปพร้อม ๆ กับสายลม ฉากนี้คนดูเกือบจะสงสัยได้ทันทีว่า แท้จริงแล้วเปม่ามีตัวตนจริงหรือไม่ หรือตลอดมาเปม่าเป็นเพียงภาพในความฝัน ที่สอนให้ต้าชิรู้จักสุขและทุกข์ยามมีชีวิตคู่อยู่ด้วยกันเพียงเท่านั้น

          นั่นก็คงคล้าย ๆ กับภาพในความเป็นจริงของบทบาทผู้หญิงในสังคมพุทธเถรวาทของเรา นอกจากบทบาทของผู้หญิงจะถูกผูกขาดให้เป็นนางมารร้ายแล้ว หากผู้หญิงจะมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนศาสนาอยู่บ้างละก็ บทบาทของพวกเธอก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่จะต้องเข้าไปทำอะไรอยู่ท้ายครัวที่เกี่ยวข้องกับการหุงต้มหาอาหาร หรือไม่ก็มักจะแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือเบื้องล่างอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ค่อยมีโอกาสออกมายืนอยู่แถวหน้ามากนัก ที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นเรื่องแม่ชี–ภิกษุณีที่ยังคงเรื้อรังอยู่กับเรื่องการยอมรับและการส่งเสริมสถานภาพ ส่วนที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมการทำงานของฆราวาสในเวลานี้ก็คือ การลางานที่ผู้ชายเองมีโอกาสลางานไปบวชได้ ๓ เดือนในขณะที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสลาไปเช่นนั้นแต่จะมีโอกาสลาได้ ๓ เดือนในกรณีคลอดลูกซึ่งก็ยังหนีไม่พ้นการลาที่เกี่ยวดองอยู่กับบทบาทความเป็นแม่ (หรือเมีย) นั่นหมายความว่าถ้าผู้หญิงไม่ท้องเธอก็จะไม่มีโอกาสได้ลา ๓ เดือนและถึงแม้จะได้ลา ๓ เดือนจริงก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือการได้ลาไปปฏิบัติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม สุดท้ายผู้หญิงอาจมีตัวตนอยู่เพียงแค่จินตนาการแห่งความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ต้าชิรู้สึก ซึ่งก็คือมีตัวตนที่ไม่ต่างจากเปม่าที่ถูกทำให้ดูก้ำกึ่งว่าเธอมีตัวตนจริงหรือไม่ ทั้งในตอนต้นเรื่องและท้ายเรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า ต้าชิจะทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้โดยไม่ต้องปรึกษาหารือก่อน ดังเช่นการหนีกลับไปเป็นลามะในตอนท้ายเรื่อง หรือแม้แต่การลักลอบเป็นชู้กับสุชาดา

          บทบาทของหญิงชายที่ถูกสังคมกำหนดมาให้อย่างตายตัวเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อวิธีคิดวิธีปฏิบัติต่อกันและกันของสามีภรรยาไปด้วย ซึ่งมีผลสืบเนื่องต่อความสัมพันธ์ของกันและกันในที่สุดอย่างที่คู่ของต้าชิและเปม่าได้ประสบ ในบทสนทนาเรายังได้เห็นความรู้สึกของผู้หญิงอย่างเปม่าในฐานะ ‘เมีย’ ว่าสุดท้ายแล้วเธอเองก็ต้องการให้สามีกลับมายืนเคียงข้างในครอบครัวอยู่ดี แม้สามีจะต้องการการบรรลุธรรมเพียงใดก็ตาม…

          บทบาทของต้าชิก็ดูจะเป็นบทบาทของผู้ชายหลุดกรอบจริง ๆ เป็นลามะที่ชอบฝันเปียก ประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติธรรมแล้วยังเป็นฆราวาสที่เอาดีไม่ได้กับชีวิตทางโลก บทบาทการเป็นพ่อที่น่าจะสอนลูกได้ดี (ในฐานะที่บวชเรียนมานาน) เมื่อเทียบกับเปม่าที่ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้จากวัดมาก่อนแต่เปม่ากลับสื่อสารธรรมะให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจผ่านวิธีการง่าย ๆ เธอนำกิ่งไม้ทิ้งลงไปในลำธารแล้วสอนว่า ชีวิตคนเราก็เหมือนกิ่งไม้ที่ไหลไปตามลำธารออกไปสู่ทะเล เพื่อเผชิญกับเรื่องราวในชีวิตอีกมากมาย (สายน้ำในฉากนี้ ทำหน้าที่สัมพันธ์กับฉากริมแม่น้ำที่ต้าชิหนีสึก–หนีบวช เปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านชีวิตของคนกับสายน้ำ และยังสัมพันธ์กับปริศนาธรรมในฉากเปิดเรื่อง ‘น้ำเพียงหยดเดียวจะป้องกันเช่นใดมิให้เหือดแห้ง’ คำตอบในฉากสุดท้ายที่ว่า ‘ต้องเทมันลงสู่ทะเล’ จึงหมายถึงคนเราต้องเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ (อาจหมายถึงการบรรลุธรรม) จึงจะรักษาน้ำ (คือปัญญา) หยดนั้นไว้ได้ น้ำจึงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนผ่านเพียงอย่างเดียวแต่อาจหมายถึงปัญญาด้วย)

          เธอปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ความหนาวเอาเองเมื่อลูกออกไปเล่นหิมะข้างนอก เธอใช้เวลาทำของเล่นให้ลูกเล่นในขณะที่ต้าชิซื้อมาจากในเมือง แม้จะบวชเรียนมานานแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำธรรมะเข้ามาใช้ในวิถีชีวิตได้อย่างเข้าใจ สุดท้ายจึงกลับไปใช้ชีวิตในศาสนาเช่นเดิม… จนวินาทีสุดท้ายเมื่อไม่สามารถตัดสินใจว่า จะเลือกเอาทางใดทางหนึ่งได้ แล้วก็ล้มตัวลงนอนร้องไห้เกลือกกลิ้งไปบนพื้นดิน จนจีวรเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หากเราคาดหวังจะได้เห็นพระสงฆ์ที่ดูดี มีภูมิธรรม สุขุมคัมภีรภาพ พูดธรรมะจับใจออกมาทุกห้านาทีและเป็นพระที่ไม่ร้องไห้เราอาจจะผิดหวังไปกับลามะรูปนี้ อะไรที่เราไม่เคยเห็นในหนังที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเรื่องอื่น ๆ เราแทบจะเห็นได้หมดจากหนังเรื่องนี้แม้แต่ฉากเลิฟซีนที่โจ่งแจ้งและชัดเจน

          ถึงแม้ชาวพุทธหลายคนโดยเฉพาะที่มาจากสายอนุรักษ์นิยมจะไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไร เพราะตัวหนังได้พยายามพูดถึงในสิ่งที่ชาวพุทธหลายคนไม่ชอบและออกจะเป็นหนังพุทธที่แหกกรอบด้วยซ้ำ แต่เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบหนังก็ได้ตั้งคำถามสำคัญ ๆ ทิ้งท้ายไว้หลายคำถามเกี่ยวกับประเด็นมิติหญิงชาย (Gender) หรือแม้แต่เรื่องเพศ (Sexuality)

          อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าไม่ใช่เถรวาทเท่านั้นที่กำลังคุกรุ่นไปด้วยประเด็นเหล่านี้..*

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :