เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗

ประยุกต์ธรรม

กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์-ถ่ายภาพ

พวงหรีดหนังสือ
สื่อปัญญา
ระลึกถึงผู้จากไปด้วย "ธรรมทาน"

 

การ “ประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม” นั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ และยิ่งแตกดอกออกผลออกไปเท่าใด ก็เท่ากับช่วยกันนำเนื้อหาสาระ และฐานะ “เครื่องมือที่ใช้งานได้จริง” ของพระพุทธศาสนา กลับมาสู่สังคมร่วมสมัย

          ผู้อ่านหลายท่านเคยได้รับรู้เกี่ยวกับ หนังสือ “ฉลาดทำบุญ” และ “๓๐ วิธีทำบุญ” ของเครือข่ายชาวพุทธฯ ตลอดจนความพยายามจัดทำ “สังฆทาน” ที่มีคุณค่า ฯลฯ มาบ้างแล้ว ฉบับนี้ “เสขิยธรรม” ขอนำเสนอรูปแบบใหม่ ที่ “สมสมัย” ของ “พวงหรีด” ซึ่งนำเสนอโดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ สำนักพิมพ์ซึ่งพิมพ์หนังสือธรรมะของ ท่านพุทธทาสภิกขุ ออกวางจำหน่ายเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เมื่อเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา

          วันนี้ สำนักพิมพ์แห่งนี้ได้ริเริ่มมิติใหม่ของการ “ระลึกถึงผู้จากไป” ขึ้นอีกครั้ง ด้วยแนวคิดที่ว่า “พวงหรีดหนังสือสื่อปัญญา รักษาสิ่งแวดล้อม และ… ระลึกถึงผู้จากไปด้วยธรรมทาน” เสขิยธรรมจึงเดินทางมาพบปะและพูดคุยกับคุณบัญชา เฉลิมชัยกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ

๏ “พวงหรีดหนังสือ” มีความเป็นมาอย่างไร

คุณบัญชา : ความคิดเห็นเบื้องแรก เห็นว่าหนังสือเป็นสิ่งที่ให้กันในทุก ๆ โอกาส ในทุก ๆ กรณีเรื่องราว เพราะเป็นของกลาง ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ได้มาก อย่างเช่น เราทำหนังสือ สำหรับแทน ส.ค.ส. ในช่วงปีใหม่ โดยนำข้อเขียน หรือปาฐกถาธรรมสั้น ๆ ของท่านอาจารย์พุทธทาสก็ตาม หรือของ ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ แล้วทำปกให้ดูมีสีสัน ดูเป็นการ์ด ส.ค.ส. ออกไปทางนั้น สดใสสวยงาม และก็พยายามตั้งราคาให้ต่ำ สัก ยี่สิบบาทยี่สิบห้า บาท พร้อมทั้งหาซองสวยงามแถมคู่กันไปด้วย ซึ่งก็ได้ผลแต่ละปีก็ขายได้เป็นหมื่น ๆ เล่ม เป็นหมื่น ๆ ชุด

          จากนั้นเราก็พยายามใส่ไว้ในตะกร้าผลไม้ที่เขาให้กัน ตอนเทศกาลปีใหม่ หรืออะไรก็ตามที่เขาให้กันตอนเทศกาล วันเกิดก็ตาม การขึ้นบ้านใหม่ คือนอกจากจะมีดอกไม้ หรือมีผลไม้ เราก็พยายาม ชี้แนะว่าให้มีหนังสือสักเล่มสองเล่มไม่ต้องมาก สักเล่มสองเล่ม ก็ปรากฏว่าได้ผลเหมือนกัน แต่ก็มิได้กระพือมากนัก

          สืบเนื่องจากความความคิดอย่างนี้เลยมีความคิดที่ว่า ช่วงที่เขามีการปฏิรูปพวงหรีดโดยใช้ผ้าขนหนูบ้าง ใช้ต้นไม้บ้าง นำต้นไม้ทั้งต้นมาให้กัน เพื่อจะใช้ต้นไม้เหล่านั้นไปปลูก ช่วงที่ส่งเสริมการปลูกป่า เขาถึงกับว่า งานศพนี้ขอนะ ขอต้นไม้จริง เพื่อจะได้นำไปปลูกป่า อะไรทำนองนั้น ผมเลยเกิดความคิดว่า ในฐานะที่มีอาชีพทำหนังสือ เผยแพร่ธรรมะด้วยหนังสือนี้ ก็เกิดความคิดว่า ถ้าเช่นนั้นเราเอาหนังสือมาทำพวงหรีด มีดอกไม้มาแซมบ้าง จะเป็นดอกไม้สดบ้าง ดอกไม้ประดิษฐ์บ้าง ก็แล้วแต่ แต่ตัวหลักก็คือ หนังสือ หนังสือก็จะมีสองแนว เป็นหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส ของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ หรือธรรมะเล่มอื่น ๆ และอีกแนว ก็คือหนังสือแนวสุขภาพ การดูแลสุขภาพ อะไรทำนองนั้น ซึ่งก็จะใช้สองแนวนี้ก่อน แต่ก็พร้อมที่จะมีหนังสือทุกแนวตามที่ลูกค้าต้องการ เราคิดว่าหนังสือเหล่านี้ เมื่อประดับประดาอยู่บนกระด้งนะครับ และก็ใช้เอ็นใส ๆ เล็ก ๆ และเจ้าหน้าที่ของสำนักพิมพ์เขาก็จะศึกษาวิธีผูก วิธีมัด วิธีรัดให้เรียบร้อย ไม่ให้หนังสือบอบช้ำ เวลาถอดออกมาแล้วหนังสือก็เรียบร้อยดี เจ้าภาพจะแบ่งปันให้ลูกหลาน แบ่งปันให้ญาติมิตร หรือแบ่งปันให้ห้องสมุดของวัด อะไรไปก็ได้

          ก็คิดว่า เออ มันคงมีประโยชน์สองชั้น เพราะปกติดอกไม้แห้งก็ตาม ดอกไม้สดก็ตาม ถึงเวลาก็มักจะถูกทิ้งไปเป็นขยะ เมื่อลองใช้หนังสือธรรมะ หนังสือมีสาระดี ๆ เข้ามาทำพวงหรีดก็ดูดี…นะครับ ก็ออกมาเป็นพวงหรีดที่น่าดู


๏ อะไรคือจุดเด่น หรือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของพวงหรีดหนังสือ

คุณบัญชา : ก็คือตัวหนังสือนั้นเอง เพราะหนังสือคือ ปัญญา ความรู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะทางเราเน้นธรรมะของพุทธศาสนา หรือว่าสัจธรรมของโลก ธรรมะของศาสนา ก็คือ สัจจธรรมของโลก ของชีวิต ตัวนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าเผยแพร่ทุกวิถีทาง ไม่เพียงแต่ มี วางไว้ตามร้านหนังสือ ควรจะออกไปทุกแง่ทุกมุม

          ผมยังหวังว่าการปฏิรูปการศึกษา กับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ ที่ว่าจะต้องให้มีรายการเด็กในเวลาที่ เป็นเวลาของเด็ก ๆ เพิ่มขึ้น ต้องเสียสละอะไรต่ออะไรนี้ ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็คือแนวทางเดียวกัน ทิศทางเดียวกัน

          คือต้องทำให้ประชาชนในสังคมมีสติมีปัญญา มีความเข้มแข็ง และมีความชัดเจนต่อชีวิต คือชัดเจนต่อสัจธรรมที่เป็นอยู่ทั้งหลาย เพื่อที่จะได้ไม่ถกเถียงกันว่า จะสร้างบ่อนหรือไม่สร้างบ่อน เรื่องสร้างบ่อนหรือไม่สร้างบ่อน อันนั้นตกไปเลย ตกไปเลย ไม่ต้องกล่าวถึงเลย ความคิดที่จะไปบ่อนนั้นต้องจางหายไป และใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทเวลาสร้างผลผลิต ไม่ใช่เอาเวลาทั้งหมดไปหมกมุ่นอยู่ในอบายมุข ซึ่งนอกจากไม่ได้สร้าง ผลผลิตให้สังคมแล้วยังไปทำลายสังคม ทำลายจิตใจ ทำลายจิตวิญญาณต่าง ๆ ของมนุษย์ลงไปโดยสิ้นเชิง

          คือไม่ต้องกล่าวถึงเลยว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ในพุทธพจน์มีอยู่ประโยคหนึ่งว่า “ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า” ไม่ใช่ว่า “ชั่วนิดหน่อยทำได้นะ ชั่วนิดหน่อยทำไปแล้วมันได้เงินนะ” หรือว่า “ชั่วที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายเขียนว่ามันไม่ชั่ว” (หัวเราะ) แล้ว “มันได้เงินนะ เงินมันไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ พวกมีเงิน มันจะได้ไม่เอาเงินไปละเลง ไปเสียที่ต่างประเทศ”

          เงินที่เสียไปที่ต่างประเทศนั้น เราสะกัดกั้นได้ด้วยการ ส่งเสริมศีลธรรม ส่งเสริมความคิดที่ดีงาม จัดระเบียบสังคม หางานให้ทำ มีความยุติธรรมทางด้านรายได้ ลดช่องว่างของชีวิต แล้วเขาจะได้ไม่ต้องเดินไปเมืองนอก เอาสตางค์ไปเสียที่เมืองนอก อย่างนั้นจึงจะถูกทาง

 
   

๏ ดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น การนำไปวางจำหน่าย หรือเปิดโอกาสให้ลูกค้าสั่งจองเข้ามา

คุณบัญชา : เราก็มีประชาสัมพันธ์ออกไปบ้างกับสื่อที่เขาเห็นด้วย กับสื่อที่เขามองเห็นประโยชน์ เข้ามาทำข่าว แล้วช่วยประชาสัมพันธ์ออกไป มีโอกาสไปช่วยงานที่ไหนเราก็ทำออกไป ในนามของสำนักพิมพ์สุขภาพใจเอง มีญาติมิตรที่สั่งไปใช้ก็หลายราย ฟัง ก็ดูมีเสียงสนับสนุน ว่าดีนะ..มีประโยชน์ แต่ยังไม่เป็นที่ปรากฏแพร่หลายกว้างขวาง เพราะยังไม่มีบุคคลสำคัญในบ้านเมือง ทำเป็นแบบอย่าง หวังว่าประชาชนจะมองเห็นคุณค่ากันมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้นำ มาแสดงนำไปเสียทุกเรื่องก็ได้

          คือประเทศไทยเรานี้ต้องการดารา ต้องการผู้นำ ต้องการคนดังคนเด่น ทำตัวอย่าง จะได้ทำเป็นแฟชั่นกัน ก็ยังไม่มีขนาดนั้น ก็ได้แต่หวังว่าท่านผู้หลักผู้ใหญ่ โดยเฉพาะท่านนายก ช่วยสนับสนุนก็ดีเหมือนกัน อะไรที่เป็นประโยชน์ การสนับสนุนก็ไม่ได้มีข้อเสียอะไร มีแต่ได้ ไม่มีเสีย

          แต่เราก็พยายามติดต่อร้านขายหรีด ที่อยู่หน้าวัดบางแห่งว่า ท่านจะเอาหนังสือไปประดับบางส่วนก่อนมั้ย เราจะให้ส่วนลดถึง ๕๐ % แล้วท่านไปคิดกับลูกค้าให้เต็มเปอร์เซ็นต์ก็ได้ หรือจะคิดยังไงก็ตามใจชอบ เราจะลดราคาให้มากเลย โดยเฉพาะหนังสือธรรมะจะลดให้มาก ๆ อย่างนี้เป็นต้น หรือว่าจะให้เราทำพวงหรีดของเราเอง แล้วก็เอาไปฝากแขวนไว้ ขายได้แบ่งก็เปอร์เซ็นต์กันไป เหมือนกับการการแบ่งเปอร์เซ็นต์ ในวงการร้านหนังสือ แต่แทนที่จะไปร้านหนังสือ ก็เป็นร้านพวงหรีด แทนที่จะได้หนังสือเป็นเล่ม ๆ ก็ได้หนังสือเป็นพวง ๆ ก็คิดว่าอย่างนั้นนะครับ เริ่มทำอยู่แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราพยายามที่จะไปบอกสื่อมวลชนนะครับ คือเราเองเราไม่มีงบประมาณ ที่จะไปโฆษณาด้วยงบประมาณโดยตรง ก็พยายามจะแจ้งให้สื่อมวลชน ที่มีความคิดเห็นสอดคล้องช่วยเราพูดบ้าง กล่าวถึงบ้าง อย่างเช่นทางเสขิยธรรมมีความเห็นพ้อง ก็มาช่วยชี้แจง มาช่วยชี้แนะออกไป อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

๏ การตอบรับเข้ามาเป็นที่น่าพอใจหรือไม่

คุณบัญชา : ก็มีบ้าง ก็มีหนาหูหนาตาพอสมควร เจ้าหน้าที่ของเราที่ทำอยู่บางวันก็ทำถึงดึกดื่น มีความเสียสละสูง ก็บอกว่าให้ช่วยถ่ายทอดให้พนักงานหลาย ๆ ท่าน แล้วแบ่งค่าแรงกันไป ก็น่าพอใจ แต่ยังถือว่าเพิ่งจะเริ่มต้น

          และอยากจะแจ้งว่า เราไม่รู้สึกว่า จะต้องสงวนสิทธิ์หรืออะไรทำนองนั้นนะครับ อยากจะเชิญชวนเพื่อนต่างสำนักพิมพ์ หรือคนในวงการพวงหรีดทั้งหลาย ให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราจะมีหนังสือให้เลือกหลายระดับราคา และเราจะลดราคาให้มาก ๆ เพื่อให้ท่านรู้สึกว่าพวงหรีดนั้นไม่แพงขึ้นเท่าไหร่ แต่ว่าเกิดมิติใหม่ เกิดบรรยากาศใหม่ เกิดประโยชน์ใหม่ ๆ ขึ้นในสังคม

          ก็อยากจะเชิญชวนให้มาร่วมกัน หรือว่าถ้าใครจะเสนอวิธีประหยัดกว่านี้ก็ขอให้เสนอเข้ามา เพราะว่าทุกวันนี้เราใช้กระด้ง ซึ่งเราเห็นว่ากระด้งมีลักษณะเป็นวงกลม และมีความแข็งแรงพอที่จะมัดหนังสือเอาไว้โดยไม่บิดเบี้ยว มีความคงทน และกล่าวได้ว่ากระด้งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำจากวัสดุธรรมชาติ คือ ไม้ไผ่ และสามารถเอาไปใช้ต่อ เอาไปทำประโยชน์ระดับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องได้มากมายหลายอย่าง

ชัยยุทธ ลลิตภัทรสกุล หรือ “ยุทธ” พนักงานผู้มีอัธยาศัยไมตรี ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ผู้รับผิดชอบโดยตรงใน “โครงการพวงหรีดหนังสือ” เปิดเผยกับ “เสขิยธรรม” ระหว่างการสาธิตวิธีการจัดทำพวงหรีดหนังสือว่า แม้ขณะนี้ “พวงหรีดหนังสือ” ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก แต่เมื่อ “สุขภาพใจ” เริ่มใช้พวงหรีดลักษณะนี้ กับงานศพของบรรดาญาติมิตรและผู้เกี่ยวข้อง ประกอบกับมีสื่อมวลชนนำเสนอออกไปในวงกว้าง ก็เริ่มมีผู้สนใจสอบถามหรือสั่งจองเข้ามาไม่ขาดระยะ โดยส่วนใหญ่มักเลือกหนังสือในแนวสุขภาพ และแนวธรรมะ ซึ่งเป็นแนวหนังสือหลักของสำนักพิมพ์

          เมื่อสอบถามถึงรูปแบบของ “พวงหรีดหนังสือ” ยุทธเล่าว่าขณะนี้ใช้กระด้งเป็นวัตถุดิบหลัก พวงหรีดจึงมีเพียงแบบกลม ขนาดประมาณ ๒๓–๒๕ และ ๒๙–๓๐ นิ้ว (โดยประมาณ) แต่เขาก็ไม่นิ่งนอนใจทดลองหารูปแบบและวัตถุดิบใหม่ ๆ มาใช้อยู่เสมอ เมื่อถามถึงความนิยมระหว่างดอกไม้สดกับดอกไม้ประดิษฐ์ (ในการสาธิตเขาเลือกใช้ดอกและใบไม้ประดิษฐ์ ที่ทำจากส่วนผสมระหว่างยางธรรมชาติ (จากยางพารา) และกระดาษสา ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง ทั้งยังทำความสะอาดง่าย เพียงใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดเบา ๆ และทิ้งไว้ให้แห้งเท่านั้น) ยุทธตอบว่าส่วนใหญ่ลูกค้านิยมดอกไม้ประดิษฐ์มากกว่า เพราะคงทนและง่ายต่อการดูแลรักษา ต่างจากดอกไม้สดที่คงสภาพอยู่ได้ประมาณ ๓ วัน

          ด้วยความคล่องแคล่วและความตั้งอกตั้งใจ เพียง ๔๕–๖๐ นาที กระด้งไม้ไผ่จากธรรมชาติ ก็ประดับประดาไปด้วยหนังธรรมะ และดอกไม้ประดิษฐ์สีสันสวยสด พร้อมที่จะนำไปแสดงความเสียใจ และระลึกถึงผู้ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

          ฝีมือของยุทธและรูปแบบของ “พวงหรีดหนังสือ” ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าทีมงานจาก “เสขิยธรรม” กล่าวได้ว่าสวยงามไม่แพ้พวงหรีดดอกไม้สด หรือพวงหรีดโฟมประดับผ้าขนหนูที่เราพบเห็นโดยทั่วไป ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดก็คือ “พวงหรีดหนังสือ” เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และระลึกถึงผู้จากไปด้วยการให้ปัญญาเป็น “ธรรมทาน” อีกทางหนึ่ง

          “ถ้าสนใจก็ติดต่อมาได้นะครับ ไม่ว่าจะสั่งให้จัดทำเพื่อส่งไปแสดงความเคารพ หรือระลึกถึงผู้จากไป หรือจะสั่งให้ทำไปวางจำหน่าย หรือแม้แต่สนใจจะฝึกการทำพวงหรีดเพื่อหารายได้ ทางสุขภาพใจยินดีจัดทำ จัดส่ง หรือฝึกให้เสมอครับ ติดต่อมาได้ที่ ชัยยุทธ ลลิตภัทรสกุล โทร. ๐๒ ๔๑๕–๒๖๒๑, ๐๒ ๔๑๕–๖๕๐๗, ๐๒ ๔๑๕–๖๗๙๗ หรือ ๐๑ ๘๕๙–๒๗๖๘“ ยุทธฝากบอกถึงผู้อ่าน “เสขิยธรรม” เมื่อทีมงานของเรา ลาจากสำนักพิมพ์สุขภาพใจ เมื่อเวลาใกล้ค่ำมากแล้ว

   

๏ วิธีการสั่งจองพวงหรีด วิธีการเลือกหนังสือของลูกค้าทำได้อย่างไร และตั้งราคาพวงหรีดแบบต่าง ๆ ไว้อย่างไร

คุณบัญชา : เราก็ให้เขาเลือกเป็นสองแนว จะเอาแนวหนังสือธรรมะ หรือจะเอาแนวหนังสือสุขภาพ หรือจะผสมผเสตามใจชอบ มีตั้งแต่ราคาระดับ ๓๐๐ – ๔๐๐ บาท ถึง ๗๐๐ – ๘๐๐ บาท หรือ ๑,๐๐๐ บาท ก็แล้วแต่หนังสือ บางท่านก็อยากให้มีหนังสือเล่มละ ร้อยบาท สองร้อยบาท ที่เด่น ๆ ที่ตัวเองรัก ตัวเองชอบ ตัวเองศรัทธา อยู่บนพวงหรีด ที่จะมอบให้กับครอบครัวของผู้ที่จากไป ก็สามารถเลือกได้ตามต้องการ

๏ มีวิธีการจัดส่งอย่างไร

คุณบัญชา : ถ้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร เราจะไปส่งให้ถึงที่ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดบางทีก็ต้องขอเวลาเล็กน้อย โดยมีรถทัวร์ หรือคิวรถต่าง ๆ ช่วยส่งไปให้ พวกคิวรถต่าง ๆ หรือรถทัวร์เขาก็ถนัดที่จะเอาพวงหรีดที่แข็งแรง และก็สามารถวางใต้ท้องรถ โดยที่ไม่กลัวพวกกระเป๋ามาเบียด เพราะกระด้งเราแข็งแรงพอ วางไว้ในช่องเก็บสัมภาระ ถึงที่หมาย ถึงเวลาก็โทรศัพท์ให้มารับ เขาก็ยินดี

          แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้ต่างจังหวัดทั้งหลาย ทราบข่าวนี้แล้วนำไปประยุกต์ใช้เองมากกว่า จัดทำพวงหรีดกันเอง โดยสั่งซื้อหนังสือเข้ามา หนังสือก็ไม่จำเป็นต้องเป็นของสุขภาพใจนะครับ ของสำนักพิมพ์ไหนก็ได้ที่เป็นประโยชน์

๏ กำหนดเป้าหมายของ พวงหรีดหนังสือ ไว้อย่างไร สุขภาพใจมีกำลังจะรองรับ การสั่งซื้อได้เพียงใด

คุณบัญชา : ได้ครับ อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีงาม และก็สร้างรายได้ด้วย เป็นสัมมาอาชีวะอย่างนี้ ยิ่งมากยิ่งดี ยิ่งมากยิ่งต้องทำ มีคนพร้อมที่จะทำงานนี้อยู่แล้ว ขอให้สั่งกันมามาก ๆ จะได้จัดสรรบุคลาการของเราเข้ามาทำกัน …ทำทันครับ

๏ มีอะไรจะฝากไปถึงผู้อ่านเสขิยธรรม ทั้งพระสงฆ์ และอุบาสก อุบาสิกาเกี่ยวกับ พวงหรีดในรูปแบบใหม่นี้อย่างไร

คุณบัญชา : ครับ ก็อยากให้ทุก ๆ ท่านเห็นว่าพวงหรีดหนังสือมีประโยชน์ ก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ช่วยกันเอ่ยถึง กล่าวถึง ช่วยแนะนำต่อ ๆ กันไป ซึ่งจะไม่เสียเวลา และไม่เสียค่าใช้จ่ายมากไปกว่า พวงหรีดดอกไม้สด หรือพวงหรีดอื่น ๆ

          แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จะไปต่อต้านพวงหรีดอื่น ๆ เพียงแต่มีการแบ่งสรรให้เกิดประโยชน์ใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้าง...นะครับ ดอกไม้ก็ตาม ผ้าขนหนูก็ตาม ก็มีประโยชน์ แต่ว่าพวงหรีดหนังสือ ก็มีประโยชน์ทางปัญญาเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่ยุ่งยากไปกว่าเดิมด้วย

          ก็อยากให้ช่วยกันส่งเสริมบ้าง การเปลี่ยนแปลง หรือการที่มีอะไรใหม่ ๆ ที่ ไม่ยุ่งยากกว่าเดิม ไม่ว่าจะด้านเวลา หรือในเรื่องรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็น่าจะสนับสนุนกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป.. .

ขั้นตอนการทำ "พวงหรีดหนังสือ"

สนใจติดต่อได้ที่
ชัยยุทธ ลลิตภัทรสกุล
โทร. ๐๒ ๔๑๕–๒๖๒๑, ๐๒ ๔๑๕–๖๕๐๗, ๐๒ ๔๑๕–๖๗๙๗
หรือ ๐๑ ๘๕๙–๒๗๖๘

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :