เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๙
มกราคม - มีนาคม ๒๕๔๗
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
การแสดงบรรยายตามหัวข้อที่กำหนด จำต้องแบ่งเป็นข้อ ๆ คือ
(๑) ความหมายของความตาย
(๒) การปฏิบัติต่อผู้ที่กำลังสิ้นใจในวัฒนธรรมไทย
และ (๓) ความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่กำลังสิ้นใจ
ข้าพเจ้าคงพูดแทนคนไทยทั้งหมดไม่ได้ หากพูดได้ในแง่ของพุทธศาสนิกชนคนไทย ที่พอจะมีความรู้และประสบการณ์อยู่บ้าง ดังจะขอบรรยายไปตามลำดับดังนี้
๑
ความหมายของความตาย
ตามตำนานทางพุทธศาสนากล่าวไว้ชัดเจนว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะนั้น ต้องพระประสงค์จะเอาชนะความทุกข์ ที่มีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นประเด็นที่สำคัญ นอกเหนือไปจากการพลัดพรากไปจากของรักก็เป็นทุกข์ เผชิญกับสิ่งซึ่งไม่รัก ไม่พึงประสงค์ก็เป็นทุกข์ โดยที่พุทธศาสนิกเชื่อว่า การออกบวชของสิทธัตถะ ที่ทิ้งความเป็นเจ้าชายอันหรูหราและฟุ้งเฟ้อ ออกไปเป็นพระสมณโคดม ผู้ไม่ต้องการความสุดโต่งของนักบวชที่ทรมานกายทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงค้นพบสภาวะของความไม่ตาย หรือความเป็นอมตะ คือทรงตื่นขึ้นจากการครอบงำ และการติดยึดต่าง ๆ ในทางความโลภ โกรธ หลง จนทรงปราศจากความเห็นแก่ตัวอย่างสิ้นเชิง นี้แลคือความเป็นพุทธะ หรือความตื่น ที่ปราศจากความกลัว ไม่ว่าจะกลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย หรือความกลัวอย่างอื่น ๆ เช่น กลัวว่าจะไม่มีคนยอมรับ กลัวจะไม่ได้รับความสำเร็จในชีวิต กลัวความโดดเดี่ยวเดียวดาย กลัวความเหงา ฯลฯ ซึ่งล้วนพอกพูนกับความเห็นแก่ตัวอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ในศาสนาพุทธใช้คำว่า มาร ว่าเป็นประหนึ่งตัวเลวร้ายที่คอยขัดขวางความเจริญงอกงามในทางสติปัญญา มารมักมาชักชวนให้หลงใหลได้ปลื้มไปกับลาภ ยศ สุข สรรเสริญต่าง ๆ ในทางโลก แท้ที่จริง มาร คำนี้ กับ มรณะ ความตาย เป็นไวพจน์กัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า มารย่อมมองไม่เห็นผู้ที่ไม่กลัวตาย
ท่านอาจารย์พุทธทาสมักสอนศิษยานุศิษย์อยู่เสมอให้รู้จักตายเสียแต่ก่อนตาย กล่าวคือความตายไม่ได้หมายความเพียงว่าเป็นเวลาที่เราสิ้นใจหรือสิ้นอายุขัย หรือหมดลมหายใจ นั่นเป็นเพียงกระบวนการอย่างหนึ่งในทางธรรมชาติ แต่ถ้าเรารู้จักฝึกปรือให้มีความตื่น อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เนืองนิตย์ จนไม่ติดยึดในความเป็นเรา เป็นเขา เป็นกู เป็นมึง หากเข้าใจซึ้งถึงความเป็นอิทัปปัจจยตา คือความโยงใยถึงกันและกันอย่างปราศจากอัตตา นี่เท่ากับว่าเราฆ่าตัวกูให้ตายเสียได้แล้ว เมื่อหมดความเห็นแก่ตัว เราก็เท่ากับว่าเราตายแล้วในทางตัวตน กู มึง หากเราดำรงสติอยู่อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมเพื่อจะรับใช้สรรพสัตว์ เท่าที่ชีวิตหรือลมปราณยังดำรงอยู่ ตัวตนหมดไปแล้ว มีแต่ความต่อเนื่องในทางธรรมชาติ ที่ผู้ซึ่งไม่เห็นแก่ตัว ย่อมสามารถเต็มเปี่ยมไปได้ด้วยความกรุณาหรือความรัก พร้อม ๆ ไปกับปัญญา หรือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและอย่างเป็นองค์รวม ถึงสภาวะสัตย์ที่แท้ ที่เป็นตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง
ผู้ที่เข้าถึงสภาวะดังกล่าว ศัพท์ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า ตถาคต ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า ผู้เข้าถึงความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ดังพระสมณโคดม สัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้ตายเสียสนิทจากความเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เมื่อวันตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา หากได้เสด็จสั่งสอนเวไนยนิกรต่อไปอีก ๔๕ พรรษา ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตื่นอย่างเต็มที่ จนถึงขั้นนิพพาน ตายแล้วก็ย่อมเกิดอีก เป็นวัฏฏสงสารอย่างไม่รู้จักจบสิ้น โดยจะไปเกิดดีกว่าหรือเลวลง ขึ้นอยู่กับกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ที่ได้กระทำมาเมื่อยังมีชีวิตอยู่
อนึ่ง ผู้ที่มีสติ คือ กำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายอย่างรู้เห็นตามความเป็นจริงอยู่เนืองนิตย์ ทั้งยังประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างชัดเจน ย่อมอาจกำหนดได้ว่าจะตายเมื่อไร และจะเกิดเมื่อไร ที่ใด ทั้งนี้เพียงเพื่อรับใช้สรรพสัตว์ ด้วยโพธิสัตวธรรมบารมี โดยไม่หวังที่จะเกิดใหม่ ด้วยความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ดังทางธิเบตถือว่า ทะไลลามะองค์ปัจจุบัน ได้กลับชาติมาเกิดในสถานะประมุขของศาสนาจักรและอาณาจักรของธิเบตมาเป็นครั้งที่ ๑๔ แล้ว ดังนี้เป็นต้น
จะอย่างไรก็ตาม นี้เป็นเพียงเรื่องของความเชื่อ ซึ่งไม่ได้บังคับให้ใคร ๆ ต้องเชื่อตาม และความเชื่อดังกล่าวให้คุณก็ได้ ให้โทษก็ได้ พร้อมกันนั้น ตามแนวทางธรรมปฏิบัติของฝ่ายพุทธ ก็เสนอให้ใครที่สนใจในเรื่องนี้ ให้ลองปฏิบัติดู ด้วยการใช้วิธีง่าย ๆ โดยสมมติว่ากลางวันวันนี้ คือชีวิตนี้ ตอนนอนหลับคือความตาย ระหว่างที่หลับและฝันนั้น ถือได้ว่าเป็นอันตรภพ หรือสภาวะระหว่างตายกับเกิด พอตื่นขึ้นในวันใหม่ ก็ถือได้ว่าเป็นการเกิดใหม่ ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติธรรม อาจเจริญสติและสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน จนกำหนดความฝันได้ และกำหนดได้ว่าตอนตื่นขึ้นมา จะมีทัศนคติที่ดีขึ้น เพื่อประกอบกุศลจรรยาได้ยิ่ง ๆ ขึ้น หากทำได้ในวันหนึ่งและคืนหนึ่ง ฉันใด ก็ทำได้ในตอนตายหรือใกล้ตาย กับตอนเกิดฉันนั้น
ที่ว่ามานั้น เจาะจงอยู่กับการตายแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งตามปกติแล้วยากลำบากมิใช่น้อย โดยทั่ว ๆ ไป ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถึงขนาด ย่อมไม่อาจกำหนดได้ ว่าตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับกุศลหรืออกุศล ซึ่งได้ประพฤติปฏิบัติมาในชีวิต ความข้อนี้ พญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้เขียนอธิบายตามคัมภีร์ของฝ่ายพุทธศาสนาไว้แล้วในเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง หรือ เตภูมิกถา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญสุดของไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย
ภพหรือภูมิทั้งสามนี้ได้แก่
๑) กามภพ ของสัตว์ ผู้ยังเสวยกามคุณ ได้แก่ อบาย ๔ (คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน) มนุษย์โลก ๑ และกามวจรสวรรค์ ๖ (จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี)
๒) รูปภพ ของสัตว์ที่เจริญสมาธิภาวนาเข้าถึงรูปฌาน ได้แก่ รูปพรหมทั้ง ๑๖
๓) อรูปภพ ของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน ได้แก่อรูปพรหม ๔
พุทธศาสนาถือว่าสัตว์ในภพทั้งสามนี้ก็ล้วนถึงความตายได้ด้วยกันทั้งนั้น แม้พรหมก็หมดความเป็นพรหมได้ เช่นเทวดาหมดความเป็นเทพ และมนุษย์ ตลอดจนสัตว์นรกก็หมดสภาพนั้น ๆ ได้เช่นกัน จะไปเกิดใหม่ให้ดีกว่าเก่าหรือเลวกว่าเก่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างหลายประการ
ที่กล่าวมานั้น เป็นทฤษฎีในทางพุทธศาสนาที่มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และผู้ที่เข้าใจได้อย่างแท้จริง ต้องปฏิบัติธรรมในทางจิตสิกขา คือไม่ใช้แต่ความเข้าใจในทางหัวสมอง หรือติดยึดในตัวคัมภีร์เท่านั้น หากต้องเปิดหัวใจให้กว้างอย่างเจริญสติให้ตื่นจากความเห็นแก่ตัวได้มากเท่าไร จึงจะลดอคติที่ครอบงำตนเองได้มากเท่านั้น แล้วจึงจะแลเห็นความวิเศษมหัศจรรย์ อย่างสลับซับซ้อนของชีวิต ที่มีรหัสยนัย ในทาง Mysticism อันล้ำลึก ยิ่งคนสมัยนี้ด้วยแล้ว ถูกวิทยาศาสตร์กระแสหลัก และเทคโนโลยีอันทันสมัยต่าง ๆ ประหัตประหารความเชื่อดั้งเดิม จนทำลายความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ไปอย่างน่าเสียดาย มนุษย์ก็เลยกลายไปเป็นเครื่องยนต์กลไก นับถือวัตถุ อำนาจ เงินตรา ยิ่งกว่าสิ่งอันประเสริฐสุด ซึ่งไปพ้นโลกมนุษย์อย่างสูงส่งดีงาม จนไม่อาจสามารถนิยามได้ตามภาษาคน ซึ่งในทางพุทธศาสนาใช้คำว่าโลกุตระ
สำหรับพุทธศาสนิกชนคนธรรมดา ๆ นั้น มุ่งที่วิถีชีวิตในสามระดับคือ
๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์สุขในชาตินี้ ชีวิตนี้หรือในปัจจุบันนี้
๒) สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์สุขสำหรับชาติหน้า หลังจากแตกกายทำลายขันธ์หรือตายไปแล้ว
๓) ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด คือความดับสนิทจากกองทุกข์ทั้งปวง โดยไม่จำต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ทั้งสามประการนี้ มีคำสอนเป็นแนวทางให้ประพฤติปฏิบัติได้เป็นขั้น ๆ
๒
การปฏิบัติ ต่อผู้ที่กำลังสิ้นใจ ในวัฒนธรรมไทย
สำหรับคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกนั้น ย่อมประพฤติตนด้วย ทาน ศีล ภาวนา เป็นแนวทางของการปฏิบัติ
ทาน คือ การให้
(๑) ให้วัตถุสิ่งของ ตั้งแต่ให้ส่วนเกิน จนให้สิ่งซึ่งเรารักและหวงแหนอย่างที่สุด เพื่อเอาชนะความเห็นแก่ตัว เพราะพุทธศาสนาแนะแนวทางเพื่อแปรความโลภให้เป็นทาน
(๒) ให้สัจจะ ให้ความรู้ที่เป็นจริง โดยเฉพาะก็ในสังคมที่เต็มไปด้วยความโกหก ตอแหล กึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริงกึ่งเท็จ แม้ผู้พูดวาจาสัตย์จะเดือดร้อนเพียงใด ก็พึงให้ธรรมเป็นทาน ซึ่งสูงส่งกว่าอามิสทาน
(๓) อภัยทาน เอาความกลัวออกไปจากตัวตน จนอาจเข้าถึงความไม่กลัว มีนัยได้ว่าเป็นการกระทำที่สูงสุดสำหรับชีวิตมนุษย์ และนี่ก็คือการเอาชนะความตายนั่นเอง
ศีล คือ การประพฤติปฏิบัติที่ไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น ซึ่งพูดง่าย แต่ทำยาก
ภาวนา คือ การทำใจให้สงบ ให้สะอาด ให้สว่าง เพื่อรู้ชัดว่า ความประพฤติเช่นไรคือการเอาเปรียบหรือไม่เอาเปรียบ เพราะบ่อยครั้ง เรานึกว่าเรารับใช้ผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่เราเอาเปรียบเขา ยังโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรงก็เปิดโอกาสให้คนรวยเอาเปรียบคนจน คนมีอำนาจเอาเปรียบคนไร้อำนาจ อย่างมักจะไม่รู้ตัว ดังผู้ชายที่เอาเปรียบผู้หญิง ครูที่เอาเปรียบศิษย์ แม้จนพระที่เอาเปรียบฆราวาส ฯลฯ นั่นเอง จำเพาะการภาวนาที่นำจิตใจไปถึงความไม่เห็นแก่ตัวเท่านั้น ที่ทานและศีลจึงจะบริสุทธิ์จริง ๆ หาไม่ภาวนาก็เป็นโทษได้เช่นกัน
ในวัฒนธรรมไทยพุทธนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งทางทาน ศีล และภาวนา อย่างมีสติและสัมปชัญญะอยู่เสมอนั้น ย่อมรู้ตัวเองว่าจะสิ้นใจเมื่อไร ในประสบการณ์ของข้าพเจ้านั้นเคยรู้จักขุนเกษม บิดาของป้าสะใภ้ ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม ท่านผู้นี้เป็นคหบดี ชาวสวน หากไม่ติดยึดในสมบัติวัสดุ ให้ทานและรักษาศีลอยู่เนืองนิตย์กับภาวนาเป็นอาจินต์ พอถึงเวลาจะตาย ท่านเรียกลูกหลานมาบอก แล้วท่านก็เจริญอานาปานสติจนสิ้นลมปราณ นี่ไม่ใช่ตัวอย่างเดียว ตัวอย่างเช่นนี้มีมากในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม
สาทิศ กุมาร บรรณาธิการนิตยสาร Resur-gence ที่อังกฤษ และเป็นผู้ก่อตั้ง Schumacher College ที่ประเทศนั้น เขียนเล่าไว้ว่า มารดาของเขาที่อินเดียเป็นคนถือศาสนาชินะ ซึ่งใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก เธอรู้ตัวว่าถึงอายุขัยแล้ว ก็ลาญาติมิตร แล้วเริ่มอดอาหาร จนตายจากไปอย่างไม่ทรมาน และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ
ที่สวนโมกข์ ก็มีอุบาสิกาท่านหนึ่ง ซึ่งแทบไม่มีใครรู้จัก หากปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นมานาน ครั้นถึงกาลอวสาน ก็บอกคนให้ไปเรียนท่านอาจารย์พุทธทาส ให้มาดูการตายของท่าน ซึ่งภาวนาด้วยการเดินลมหายใจอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม จนหมดลมไป
ที่ว่ามานั้นเป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญ ในกรณีของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน อย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้น เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) แต่เมื่อยังเป็นพระยาบุรุษยรัตนราชมานพ ได้จดหมายรายละเอียดวาระที่สุดของพระองค์ท่านไว้อย่างน่าสำเหนียก ดังนี้
ครั้นเวลา ๒ ทุ่ม ๖ นาที จึงรับสั่งเรียก พระยาบุรุษย์ว่าพ่อเพ็งจ๋า เอาโถมารองเบาให้พ่อที พระยาบุรุษย์จึงเชิญโถพระบังคนขึ้นไปบนพระแท่นถวาย ลงพระบังคนเบาแล้วก็ทรงพลิกพระองค์ ไปข้างทิศตะวันออก รับสั่งว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วพลิกพระองค์หันพระพักตร์ไปข้างทิศตะวันตก รับสั่งบอกอีกว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว ทรงภาวนาว่า อรหังสัมมาสัมพุทโธ ทรงอัดนิ่งไป แล้วผ่อนอัสสาสะปัสสาสะเป็นคราว ๆ ยาว แล้วผ่อนสั้นเข้าทีละน้อย ๆ หางพระสุรเสียงมีสำเนียงดังโธ ๆ ทุกครั้ง สั้นเข้า เสียงโธ ก็เบาลงทุกที ตลอดไปจนยามหนึ่งจึงดังครอกเบา ๆ พอระฆังบนหอทัศนัยย่ำยาม ๑ นกตุ๊กร้องขึ้นตุ๊กหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต เวลายาม ๑ กับ ๕ นาที พระอิริยาบถที่ทรงบรรทมเหมือนพระพุทธไสยาศน์ พระสิริร่างกายแลพระหัตถ์พระบาทจะได้ไหวติงกระดิกกระเดี้ยเหมือนสามัญชนทั้งปวงนั้นหามิได้ ในขณะนั้นมีหมอกกลุ้มมัวเข้าในพระที่นั่งทั่วไป พระเจ้าลูกเธอแลท่านข้างในที่ห้อมล้อมอยู่นั้น สงบสงัดเงียบ ไปจนยามเศษ พระยาบุรุษย์ จึงกราบทูลพระเจ้าลูกเธอแลบอกท่านข้างในว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว
ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมตายอย่างมีสติ และไม่ได้เอ่ยถึงพระสงฆ์องค์เจ้าเอาเลย แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญที่อ่อนทางด้านทาน ศีล ภาวนาแล้วไซร้ เมื่อเวลาใกล้ตาย ตามวัฒนธรรมไทยโดยทั่ว ๆ ไปจะใช้ ๒ วิธีคือ
(๑) บอกพระอรหัง คือให้คนใกล้ตายได้ยินถ้อยคำอันวิเศษสุดในทางพุทธศาสนา เพราะอรหังสัมมาสัมพุทธะ หมายถึง พระบรมศาสดาผู้หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง หาไม่ก็หมายถึงพระอริยสาวก ซึ่งได้เข้าถึงความดับทุกข์ตามรอยพระพุทธบาท ถ้าผู้ใกล้ตายได้ยินถ้อยคำเช่นนี้ จนน้อมน้าวเข้ามาไว้ในใจ จิตย่อมเป็นกุศล แม้เคยทำบาปกรรมมา เวลาตายจากไป ก็ย่อมไปในทางของสุคติได้ เพราะอำนาจของพระพุทธคุณหรือพระสังฆคุณ (พระธรรมคุณอาจเป็นนามธรรมมากเกินไปสำหรับคนธรรมดาสามัญ)
(๒) ให้เอาดอกบัวไปใส่มือผู้ใกล้ตาย แล้วกระซิบข้าง ๆ หู อย่างดัง ๆ ว่า ฝากเอาดอกบัวไปบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ เพราะชาวพุทธเชื่อว่า เมื่อพระมหาสัตว์ตัดพระเมาลี ตอนออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทรงเพศเป็นบรรพชิตนั้น พระอินทร์รับเอาเส้นพระเกศา ที่เรียกกันว่าพระจุฬามณีไปก่อเป็นพระเจดีย์ไว้บนดาวดึงส์สวรรค์ ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำบุญไว้เพียงพอ ย่อมขึ้นไปไม่ถึงสวรรค์ชั้นนั้น แต่เพราะรับปากไว้ในใจกับคนที่เขาฝากดอกบัวไปบูชาพระ จึงต้องแข็งใจตะเกียกตะกายขึ้นบันไดสวรรค์ไปจนได้ไหว้องค์พระอย่างสมใจ คือคนเป็นใช้อุบายช่วยให้คนตายได้ขึ้นสวรรค์นั่นเอง
ที่ญี่ปุ่น พุทธศาสนิกส่วนใหญ่มักไม่ได้ปฏิบัติธรรม หากสังกัดในนิกายชินมากกว่านิกายอื่น ๆ ทางนิกายนี้เน้นให้เอารูปพระอมิตพุทธมาตั้งไว้ให้คนใกล้ตายได้เห็น เพื่อจิตจะได้น้อมนำไปที่พระพุทธานุภาพ แล้วจะได้ไปเกิดในแดนสุขาวดีของพระอมิตพุทธ
สำหรับไทยเรา วิธีทั้งสองที่กล่าวมานี้ ดูจะใช้กันแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธที่เป็นชาวบ้าน ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาบอกพระอรหัง หรือให้ใครเอาดอกบัวมาใส่มือแล้วมากระซิบกระซาบสั่งความ เพราะท่านนั้น ๆ ต้องการความสงบ ต้องการเจริญสติ ความเงียบจะช่วยได้มาก
ในกรณีที่ไม่ต้องการความเงียบ การที่ผู้ใกล้ตายได้ยินเสียงสวดมนต์ก็ถือว่าเป็นการช่วยให้ผู้ใกล้ตายได้เกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ในพระรัตนตรัย เป็นการปูทางไปสู่สุคติได้ แม้ผู้ใกล้ตายจะไม่เข้าใจความหมายของบทสวดเลยก็ตาม แต่ที่นิมนต์พระมาสวดนั้น มักนิยมสวดโพชฌังคปริตต์ ทั้ง ๆ ที่ข้อความในบทสวดนี้ ช่วยให้ผู้ที่ได้ฟังและรู้ความหมาย เจริญสติตามไปด้วย ย่อมเอาชนะความป่วยไข้และความตายเสียได้ก็ตาม
ไม่ว่ากรณีใด ๆ วัฒนธรรมทางฝ่ายพุทธเสนอไม่ให้ร้องไห้ฟูมฟาย แสดงความเสียอกเสียใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ใกล้ตายเกิดความหงุดหงิดจนตั้งสติไม่ได้ หรือถ้าโกรธขึ้งขึ้นมาในตอนใกล้ตาย อาจไปเกิดในอบายภูมิได้ง่าย
แม้ตายแล้ว คนรอบข้างก็ควรเจริญสติ แผ่เมตตาให้ผู้ตาย หรือแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์
เป็นที่น่าเสียใจว่าวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ง่อนแง่นคลอนแคลนลงไปมากแล้ว เพราะคนไทยสมัยนี้ไม่ตายที่บ้าน หากไปตายในโรงพยาบาลอย่างฝรั่ง ซึ่งบางทีมีสายระโยงระยางต่าง ๆ ยังการปั้มหัวใจ ฯลฯ และบางแห่งก็ห้ามญาติเข้าไปในห้องของผู้ป่วย โดยเฉพาะก็ห้อง ICU โดยที่ทั้งหมดนี้เป็นโทษกับผู้ตายทั้งนั้น
น่ายินดีที่คนสมัยใหม่ที่ปฏิเสธวัฒนธรรมกระแสหลักของตะวันตกได้หันมาหากระบวนการใกล้ตาย และการเตรียมตัวตายอย่างธิเบตกันยิ่ง ๆ ขึ้น แม้นี่จะไม่ใช่พื้นเพเดิมของวัฒนธรรมไทย แต่ก็มีความใกล้เคียงกันทางความเป็นพุทธ จนหนังสือประเภทนี้มีตีพิมพ์ออกมามากยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที เริ่มแต่ที่ข้าพเจ้าแปลและเรียบเรียงชื่อ เตรียมตัวตายอย่างมีสติ และก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ดังข้าพเจ้าได้ทำบัญชีไว้ท้ายปาฐกถานี้ เพื่อแจกท่านที่สนใจ
อนึ่ง ทางมหายาน มีอนาถปิณฑิกสูตร ที่ใช้อ่านให้คนป่วยฟังอย่างน่านิยมยกย่องยิ่ง แม้นี่จะยังไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมไทย หากข้าพเจ้าได้แปลพระสูตรนั้นเป็นไทยแล้ว อยู่ในเรื่อง พิธีกรรมสำหรับพุทธศาสนิกร่วมสมัย กล่าวโดยย่อ พระสูตรนี้เล่าเรื่องว่า พระสารีบุตรและพระอานนท์ ได้ไปเยี่ยมท่านอุบาสกอนาถปิณฑิกะ ซึ่งกำลังเจ็บป่วยถึงอาการใกล้ตายอยู่แล้ว พระเถระสอนท่านอนาถปิณฑิกะให้สำรวมใจ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งอันสูงสุดอย่างไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ถ้าตายไปตอนนี้ ก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ถ้ายังคงมีสติอยู่ ให้ภาวนาต่อไปในความเป็นอนัตตา ว่าตาไม่ใช่ตัวเรา หูไม่ใช่ตัวเรา จมูกไม่ใช่ตัวเรา ลิ้นไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ใจไม่ใช่ตัวเรา ฯลฯ เพื่อปล่อยวางอย่างไม่ติดยึด โดยมีราย--ละเอียดเป็นข้อ ๆ อย่างน่าสนใจ ทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้ป่วยเจริญสติตามไปได้ เพื่อเกิดการปล่อยวาง จนเข้าได้ถึงความจริงที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหตุและปัจจัย ทุกสิ่งที่เป็นอยู่ มีธรรมชาติที่ไม่เกิดและไม่ตาย ที่จะไม่มาและไม่ไป เมื่อตาเกิดขึ้น มันก็สักแต่เกิด มันไม่ได้มาจากไหนเลย เมื่อตาดับ มันก็สักแต่ว่าดับ มันไม่ได้หายไปไหนเลย ไม่ใช่ว่าไม่มีตา ก่อนตาจะเกิดขึ้น และก็ไม่ใช่ว่าตามีอยู่ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น เพราะเหตุต่าง ๆ รวมตัวกัน เมื่อเหตุและปัจจัยพร้อม ตาก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุและปัจจัยไม่พร้อม ตาก็ปลาสนาการไป และก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันกับหู จมูก ลิ้น กายและใจ ดังเช่นกับที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิด ตลอดจนการเห็น การได้ยิน การรับรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ฯลฯ ไม่มีอะไรเลยที่จะเรียกได้ว่าเป็นตัวตนของเรา หรือถือได้ว่าเป็นบุคคล เป็นอาตมัน เพราะอวิชชาปิดบังไม่ให้เห็นสัจจะ เมื่อมีอวิชชา ย่อมมีแรงกระตุ้นที่ผิด ย่อมมีการรับรู้ที่ผิด เมื่อมีการรับรู้ที่ผิด ย่อมมีการรับรู้และผู้รับรู้ เมื่อมีผู้รับรู้และการรับรู้ ย่อมมีข้อแตกต่างระหว่างอายตนะทั้ง ๖ เมื่อมีข้อแตกต่างระหว่างอายตนะทั้ง ๖ ย่อมมีการสัมผัส สัมผัสก่อให้เกิดความรู้สึก ความรู้สึกก่อให้เกิดความกระหาย ความกระหายก่อให้เกิดความติดยึด การติดยึดก่อให้เกิดการมีการเป็นหรือการแปรสภาพเป็นโน่นเป็นนี่ การแปรสภาพก่อให้เกิดการเกิด การตาย และความทุกข์ต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ท่านอนาถปิณฑิกะ ได้ภาวนาตามคำสอนดังกล่าว จนรู้แจ้งว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นก็เพราะเหตุและปัจจัย ไม่มีอะไรเป็นตัวตน การภาวนาดังนี้เรียกว่า ภาวนาอยู่ในศูนยตา นับเป็นการภาวนาอย่างสูงสุดและประเสริฐสุด
๓
ความเข้าใจของคนไทย
เกี่ยวกับประเพณีที่เกี่ยวกับผู้ที่กำลังใกล้สิ้นใจ
แทนที่จะบรรยายตามหัวข้อที่กำหนดให้ไว้ ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้า ซึ่งมีชื่อว่าสุภาพร พงศ์พฤกษ์ ซึ่งเคยเป็นมะเร็งมาเมื่อหลายปีก่อน หากเธอปฏิเสธที่จะใช้วิธีการแพทย์แบบตะวันตกมารักษา ดังเพื่อนคาทอลิกของข้าพเจ้าคนหนึ่งก็ปฏิบัติคล้ายเธอ เขาคนนี้บวชเป็นบาทหลวงชื่อไอวัน อิลลิช ซึ่งเคยเขียนหนังสือที่ น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ แปลเป็นไทยแล้วชื่อ แพทย์: เทพเจ้ากาลี อิลลิชเพิ่งตายจากไปเมื่อปลายปี ๒๕๔๕ โดยไม่ยอมให้แพทย์ตะวันตกรักษาเขาเลย สุภาพร เชื่อว่าเธอหายจากมะเร็งได้เมื่อกว่าสามปีที่แล้ว จากการใช้อาหารสุขภาพ ตามแบบฉบับของนายสาทิศ อินทรกำแหง พร้อมกับการเจริญสติ และทำโยคะ เธอเขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งมีชื่อว่า เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แต่แล้วเมื่อปีกลายนี้มะเร็งกลับมาเยือนเธออีก เธอก็คงปฏิเสธการแพทย์แบบตะวันตกอยู่อีกเช่นเคย เธอใช้วิธีอดอาหารและภาวนา จอห์น แมกคอร์แนล ซึ่งเป็นเพื่อนชาวอังกฤษ ที่ถือตนว่าเป็นพุทธศาสนิกพร้อม ๆ กับการเป็นคริสต์ ศาสนิกนิกายเควเก้อ ได้ไปร่วมปฏิบัติธรรมกับเธอ เขามาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เธอภาวนาและอดอาหารเป็นเวลา ๑๙ วัน กินแต่น้ำกับน้ำผลไม้ จนร่างกายอ่อนแอ และแล้วร่างกายก็เริ่มกินเนื้อร้ายที่เกิดจากมะเร็ง ตามปกติแล้ว ถ้าใช้ยาหรือการฉายแสงจะปราบเนื้อร้ายได้ชั่วคราว แล้วมันก็จะแผ่ขยายออกอีก แต่นี่เนื้อร้ายสู้กับร่างกายที่ปราศจากยาไม่ได้ จะอย่างไรก็ตาม ทั้งจอห์นและข้าพเจ้าเชื่อว่าพรคงต้องตายไม่เร็วก็ช้า แต่เธอยอมรับสภาพความตาย ไม่ต่อสู้กับมัจจุราช หากมีชีวิตอยู่ด้วยการเจริญสติ
พรอยู่ที่หาดใหญ่ ข้าพเจ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้โทรศัพท์ไปลาเธอเมื่อปลายสิงหาคม ๒๕๔๕ ก่อนข้าพเจ้าจะไปสอนหนังสือที่สหรัฐหนึ่งภาคการศึกษา นึกว่ากว่าจะกลับมา พรคงต้องตายจากไปแล้ว ข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยปลายธันวาคมศกนั้น พรก็ยังอยู่อย่างมีสติ พอมกราคม ๒๕๔๖ ข้าพเจ้าก็ไปสอนที่สหรัฐอีกหนึ่งภาคการศึกษา เชื่อว่าพรคงต้องตายก่อนข้าพเจ้ากลับคราวนี้เป็นแน่ แต่ข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยตอนปลายมีนาคม พรก็ยังอยู่ แม้จะอ่อนเปลี้ยไป เรายังโทรศัพท์พูดกันได้ ข้าพเจ้าถามว่าเธอต้องการอะไร เธอบอกว่า เธอดีใจที่ข้าพเจ้าห่วงใยเธอ สิ่งที่เธอต้องการคือหนังสือที่ข้าพเจ้าแปลจากที่ท่านนัท ฮันห์ รจนา ภาคภาษาไทยชื่อ ปัจจุบันเป็นเวลาอันประเสริฐสุด ที่จริงเล่มนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็พูดกับพระที่ดูแลพระคุณท่านก่อนท่านจะพูดไม่ได้ว่า เล่มนี้ดีที่สุด อ่านทีละบทและปฏิบัติตามนั้น ก็พอแล้ว
จอห์น แมกคอร์แนล มาจากอังกฤษอีก เพื่ออยู่กับพร ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเธอ จอห์นเขียนรายงานการเผชิญความตายของเธออย่างมีค่ายิ่งนัก ต่อไปคงเป็นหนังสือเล่มสำคัญ แต่ตอนนี้ ขอให้ข้าพเจ้าอ่านบทความของวาสนา ชินวรากรณ์ ให้ท่านฟังดีกว่า บุตรีข้าพเจ้าช่วยแปลมาให้จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
พบกับความตายอย่างมีสติ
สุภาพร พงศ์พฤกษ์
ผู้เขียนเรื่อง เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง
ยังคงให้บทเรียนในการเผชิญหน้า
กับจุดสุดท้ายในชีวิต
เรื่องโดย วาสนา ชินวรากรณ์
สุภาพร พงศ์พฤกษ์ไม่ใช่คนดัง และฉันก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิทของเธอ สิ่งเดียวที่ฉันรู้เกี่ยวกับเธอคือเธอกำลังจะตาย
ฉันพบเธอครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนในฐานะนักเขียนเรื่องที่ฉันชื่นชอบหลายเรื่อง เรื่อง เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เป็นความทรงจำของสุภาพรในเวลาที่เธอใช้การรักษาทางเลือก แทนการผ่าตัดสมัยใหม่ ในการจัดการกับก้อนมะเร็งที่เต้านมซ้าย
แต่ไม่ใช่รายละเอียดของการทดลองหลากหลายของเธอ ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร โยคะ การนวด หรือธัญญาหารบำบัด ที่จับใจฉัน แต่เป็นการเล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงความกลัวในใจ ความสับสน อึดอัด และที่สุด การค้นพบตนเองและยอมรับ วิถีที่โลกเป็นไป ความกล้าหาญที่เรียบง่ายเจือเมตตา เมื่อฉันพลิกมาถึงหน้าสุดท้ายในหนังสือของเธอ ฉันบอกกับตัวเองว่าสักวันต้องสัมภาษณ์ผู้หญิงคนนี้
เวลาผ่านไป
จนเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง หลังจากการฝึกไท้ฉีที่สวนลุมฯ เพื่อนเก่าของฉันคนหนึ่งเล่าว่าเพิ่งกลับมาจากหาดใหญ่ เธอไปทำงานแต่ได้แวะเยี่ยมสุภาพร ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าและอาจเป็นการเยี่ยมครั้งสุดท้าย
การเอ่ยถึงชื่อเธอกระตุ้นความทรงจำฉัน สุภาพรเป็นอย่างไรบ้าง บทสุดท้ายของ เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง จบลงด้วยข้อความที่สร้างความหวังคือ ผลตรวจพบว่ามะเร็งของเธอบรรเทาลง
ตอนนี้ดูเหมือนมันยังโจมตีและเอาชนะเธอได้ จากคำบอกเล่าของเพื่อน สุภาพรแทบเคลื่อนไหวไม่ได้ หายใจอย่างยากลำบาก แต่เธอยังคงปฏิเสธที่จะใช้เครื่องช่วยหายใจเท่าที่จะทำได้ เพื่อนบางคนของเธอพลัดเวรกันมาช่วยดูแลเธอ แม่ผู้ชราของเธอ แม้จะอยากช่วยเหลือเพียงใด ก็อ่อนแอเกินกว่าจะช่วยได้มากเท่าที่ต้องการ อย่างไรก็ดี สุภาพรก็ยังยิ้มออก
นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันประหลาดใจ ฉันจำได้ว่าเคยคิดเมื่ออ่าน เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ว่าผู้เขียนต้องเป็นคนมีนิสัยอย่างมีชีวิตชีวา เพื่อนบางคนของเธอ (และเธอก็มีเพื่อนมาก) เปรียบเทียบเธอกับนกสีสด หนังสือของเธอเหมือนน้ำกลั้วคอ เยี่ยม กระจ่างและสดชื่น
สุภาพรต่อสู้ศึกระหว่างความเป็นกับความตายอยู่ตอนนี้ และหญิงที่น่าทึ่งคนนี้ ดูเหมือนจะพิสูจน์ความกล้า เพื่อนอีกคนของฉัน ซึ่งก็เป็นคนคุ้นเคยกับสุภาพรด้วย ส่งจดหมายจากจอห์น แมกคอร์แนล นักกิจกรรมสันติภาพ ผู้หยุดงานทั้งปวงเพื่อมาดูแลเพื่อนรักคนนี้ในช่วงสุดท้าย
พลังของพร (ชื่อเล่นของสุภาพร) มีจำกัด และการพูดก็ใช้พลังไปมาก แต่เธอก็พยายามทำ ทั้งรักษาตัวและติดต่ออย่างมีความหมายยิ่งกับคนรอบข้าง แต่ละวันเธอได้ยิ้มและหัวเราะ
ส่วนหนึ่งของการพูดคุยเมื่อคืนแสดงถึงทัศนคติของเธอ จอห์น ฉันไม่คิดเลยว่าจะเป็นแบบนี้ เธอเสียใจกับการตัดสินใจของเธอไหม ไม่เคยเลย มันเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้) เป็นไปด้วยดี
ในอีกฉบับซึ่งถูกส่งต่อถึงฉันโดยเพื่อนคนเดิมคือ พระไพศาล วิสาโล (พระที่ดีองค์หนึ่งที่เรายังมี) ที่เพิ่งกลับจากการเยี่ยมสุภาพร เล่าถึงหมอที่หน่วยบรรเทารักษาของโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ที่สุภาพรช่วยสอนเรื่องธรรมะและการบำบัด หมอทึ่งกับระดับความกระทางของจิตใจของคนไข้ ข้อมูลนี้ก็ไม่น่าแปลกใจ ในหนังสือความทรงจำของเธอ สุภาพรเล่าว่าเพื่อนหลายคนของเธอ เมื่อรู้ว่าเธอเป็นโรคอะไร บอกเธออยู่เสมอให้เริ่ม ปฏิบัติธรรม วลีที่คนไทยมักใช้กับการทำสมาธิ
สุภาพรต้องทนอยู่นานกับคำแนะนำนี้
สิ่งที่กระตุ้นความสนใจของฉัน คือคู่ขนานระหว่างสิ่งที่เธอประสบในอดีตกับการดิ้นรนครั้งใหม่นี้ ตอนแรก มะเร็งเปิดโลกให้ให้สุภาพร เธอได้ค้นพบสังคมแห่งมิตรภาพอีกครั้ง กลุ่มคนที่ยินดีจะสละเวลาและความคิด เพื่อดูแลผู้หญิงตัวเล็ก ๆ แต่กล้าหาญผู้นี้ สุภาพรเขียนว่าเธอรู้สึกขอบคุณมะเร็งที่ให้โอกาสเธอได้สำรวจชีวิตภายใน ได้เรียนรู้ว่าโลกของเรานี้ไม่เคยขาดความเมตตาและความรักที่ปราศจากเงื่อนไขในวิญญาณมนุษย์ในธรรมชาติ
ตอนนี้จะเป็นความตาย ประตูชีวิตที่จะเตรียมบทเรียนใหญ่ให้สุภาพรและเพื่อน ๆ เมื่อสิ้นวัน สุภาพรจะผ่านประตูไปแต่เพียงผู้เดียว แต่ก่อนจบ ก็มักจะมีการดิ้นรนอย่างมาก บททดสอบความปรารถนา สงสัย อะไรจะถูกค้นพบ สุภาพรเล่าในหนังสือว่าก่อนเผชิญหน้ากับมะเร็ง เธอเคยเชื่อว่า เธอมีประสบการณ์ เผชิญหน้ากับความตาย มาเพียงพอที่เธอสามารถเอาชนะความกลัวสากลนี้ได้อย่างง่ายดาย
ฉันแสดงความยโสต่อสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ (พระผู้ใหญ่จากเขมร) และท่านเพียงยิ้ม สุภาพรเล่าใน เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง
เมื่อท่านพระมหาโฆษนันทะยิ้ม ตาก็จะหยีเป็นเส้นเดียว แล้วกล่าวว่า ผู้ที่พูดว่าไม่กลัวตาย ไม่รู้ว่าความตายจริง ๆ เป็นยังไง ถ้ารู้ จะไม่พูด ที่จริง ความทรมานของมนุษย์เกือบทุกคนเกิดจากสิ่งนี้ จากการกลัวตาย ท่านพูดต่อไปว่า
การทำบุญเจ็ดครั้งไม่เท่าสร้างวัดแห่งเดียว การสร้างวัดเจ็ดแห่งก็ไม่เท่าภาวนา (สมาธิ) ครั้งเดียว และภาวนาเจ็ดครั้งก็ยังไม่เท่าพิจารณาความตายครั้งเดียว
มันเป็นการเดินทางไกลสำหรับสุภาพร เพื่อที่จะหาคำตอบต่อปริศนาของพระมหาโฆษนันทะ วิธีจะพิจารณาความตายและการตาย ที่สุดเธอพบคำตอบหรือไม่
หน้าสุดท้ายของ เมื่อฉันรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง สุภาพรเล่าว่าความกลัวนี้ยังคง ไป ๆ มา ๆ ขึ้นกับเหตุและปัจจัย แต่เธอว่าไม่รู้สึกเกลียดชังความรู้สึกนี้อีกแล้ว ที่จริง การที่ความคิดหวาดกลัวเกิดขึ้นคือ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากลมหายใจสุดท้ายเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นประโยชน์ถึงระดับสติสัมปชัญญะของเธอ
มันเตือนว่าฉันใช้ชีวิตอนอย่างมีสติหรือไม่ หรือฉันประมาทอีกแล้ว เป็นผลให้ฉันได้เรียนรู้ที่จะทำความคุ้นเคยกับความกลัวของตัวเอง
สุภาพรไม่ได้โด่งดัง และหลังจากที่เธอจากไป ไม่กี่ปี ความทรงจำเกี่ยวกับเธอ นอกจากผู้ที่รักเธอ จะจางหายไปในบ่อแห่งความหลงลืม แต่ชีวิตก่อนตายของเธอ การดิ้นรนเพื่อยอมรับ ไม่ต่อสู้วัฏฏสงสาร จะยังคงจุดประกายให้ผู้คนที่หยิบหนังสือของเธอมาอ่าน
การ พบ กับความตายในปัจจุบันและครั้งสุดท้ายของเธอเป็นการศึกษาสำหรับเราทุกคน เราพอใจในการดำรงอยู่ของเราหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่เราชื่นชอบที่สุด เราจะสามารถเอาสิ่งเหล่านั้นไปด้วยได้ไหม อะไรคือสิ่งที่เราสามารถทิ้งไว้เพื่อโลก เพื่อคนที่เรารัก เพื่อเพื่อนมนุษย์
นี่คือบทความสุดท้ายในหนังสือความทรงจำของเธอ ถ้าถึงเวลาที่ฉันต้องไปเพื่อใบไม้ใบนี้จะปลิดปลิว ไม่ว่าจะด้วยมะเร็งหรือเหตุอื่นไม่ว่าช้าหรือเร็ว ฉันหวังว่าฉันจะเป็นใบไม้ที่จะไม่ต้านเมื่อถึงการร่วงครั้งสุดท้าย ที่ฉันจะเป็นใบไม้ที่หลุดออกอย่างเป็นสุข
สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๑ และเพิ่งตายไปเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยได้ปลงศพเธอไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนเดียวกัน ปรารภขั้นสุดท้ายของเธอคือ ฉันกำลังแสดงนิทรรศการการตายให้พวกเธอดู ขอพวกเราจงช่วยกันภาวนาตามลัทธิศาสนาของเรา ให้เธอได้ไปสู่สุคติภพด้วยเทอญ..
ภาคผนวก
แปลจากจดหมายเวียนของ จอห์น แมกคอร์แนล
ผู้เขียนเรื่อง Buddhist Meditation
๒๔/๙
สภาพของสุภาพรทรงตัวขึ้นหน่อย การหายใจแย่ลง แต่ยังไม่เท่าที่เธอคาดไว้ น้ำเสียงของเธอมีพลังขึ้น แต่ผมว่ายังไม่ดีพอที่จะพูดโทรศัพท์ได้ หลังจากที่เธอดื่มแต่น้ำผลไม้มาตลอด เป็นระยะเวลาหลายวัน เธอเริ่มที่จะรับประทานอาหารอีกครั้ง เช่นเดียวกับคนทั่วไป พรรู้สึกอึดอัดกับสภาวการณ์ของเธอในปัจจุบัน และอึดอัดความผิดพลาดของผู้คนรอบข้าง ผมรู้สึกว่านี่เป็นสุขภาพที่ดี สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้น ในบริบทแห่งการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ที่ประกอบด้วยการทำสมาธิหลายครั้ง และให้โอกาสผู้ที่ดูแลเธอเอาใจใส่ได้มากขึ้น และสำหรับตัวพรเอง ช่วยให้รู้ตัวและปลดปล่อยความโกรธ ตัวอย่างเช่น เราแปะป้ายที่จะเตือนพวกเราให้ปิดประตูห้องน้ำเบา ๆ และพรปล่อยวางมากขึ้น โดยกล่าวว่า ฉันตั้งใจจะปล่อยให้มันเป็นไป
เธอได้ทบทวนแต่ละบทในชีวิตของเธอ ระลึกถึงช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ (ฉันเป็นอิสระเพียงใดในตอนนั้น) และเพลิดเพลินกับความทรงจำทั้งหลายในวัยเด็ก ความคิดกว้าง ๆ ของเธอก็คือ ชีวิตช่างเข้มข้น มีหลากรสชาติ หลากสถานที่ ผู้คนที่น่ารักมากมาย ผู้คนที่น่ารักมาเยี่ยมเธอด้วย และในขณะที่พลังของพรมีจำกัดอย่างยิ่ง การมาเยี่ยมแต่ละครั้งมีความหมายอย่างยิ่ง สร้างรอยยิ้ม และบางครั้งก็น้ำตา ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น เธอก็หลุดเข้าสู่สมาธิ และผู้ที่มาเยี่ยม ก็สามารถเพลิดเพลิน ไปกับการทำสมาธิพร้อมกับเธอไปด้วยชั่วครู่
๒๘/๙
หลายวันที่ผ่านมาพรอ่อนแอลงไปมาก ด้วยรู้สึกถึงความหนักของแขน ชาที่นิ้ว และหายใจกระชั้นขึ้น เราใช้ออกซิเจนไปถึงห้าลิตรต่อนาที ดังนั้นกระบอกหนึ่งที่ใช้ได้สามวันเมื่อครึ่งเดือนก่อน ถูกใช้หมดในเพียงวันเดียว
คราวก่อนผมเขียนเรื่องความอึดอัดของพร ว่าเป็นโอกาสให้เธอปลดปล่อยความโกรธ ผมดีใจจริง ๆ ที่จะบอกว่ามันเกิดขึ้นจริง ได้เกิดการพูดคุยที่ดี การขอโทษ และในส่วนของพรก็คือการเปลี่ยนทัศนคติอย่างแท้จริง เป็นการเปิดใจ เธอนุ่มนวลขึ้น ดีมากที่ได้เห็น
พวกเราก็เอาใจใส่มากขึ้น และระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องที่เคยงุ่มง่าม ผมพบความเอาใจใส่ในการปิดประตู (เพื่อที่เสียงและการสั่นจะไม่กระทบกับพร) เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เดี๋ยวนี้เป็นความเพลิดเพลิน ผมปิดประตูด้วยความเอาใจใส่ และด้วยความรักและเมตตา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารักที่ได้ทำ
เราสามารถเห็นชัดถึงคุณค่าของการทำสมาธิ โดยใช้ปัจจัยแห่งการตรัสรู้ เมื่อเวลาที่ระบบร่างกายพังทลาย และเมื่อแต่ละวันนำมาซึ่งความไม่สบายและเจ็บปวด พรทำสมาธิผ่านสิ่งเหล่านี้ด้วยการเอาใจใส่ในลมหายใจ เธอนำเอาใจมาสู่เดี๋ยวนั้น มาสู่การดิ้นรนของร่างกายในขณะนั้น เธอสังเกตการเอาตนเป็นจุดศูนย์กลาง (ยึดติดหรือต่อต้าน) ที่อยู่ที่นั่น และทำงานร่วมไปด้วยกับการใช้ธรรมวิจัย พรพบกับสิ่งเหล่านี้ด้วยการตระหนักรู้และปล่อยผ่านไป พลังงานบังเกิด และมักมีความสงบนิ่งบนใบหน้า ที่สะท้อนความเยือกเย็นภายใน (ผัสสติ) ในช่วงเวลาที่สำคัญ เธอพบกับสภาวะด้วยอุเบกขา ปล่อยไปอย่างตามสบายกับโรคร้าย เพียงพักผ่อนในการตระหนักรู้ถึงปัจจุบัน ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปโดยไม่กีดขวาง
มีบางเวลาเมื่อเธอโหยหาต่อการดำรงชีวิต และนำเธอไปทดลองวิธีการรักษาแบบใหม่ แต่เธอก็ไม่ได้ถูกหลอก เธอเข้าใจสภาพของตัวเองและงานเบื้องหน้า
สำหรับผม ประสบการณ์ร่วมนี้เป็นสิ่งน่าพิศวง และเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งที่สุดที่ผมเคยมี พรกับผมเป็นกัลยาณมิตรกันมาหลายปี แต่ผมไม่เคยรู้ถึง สิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ เท่าตอนนี้มาก่อนเลย ผมไม่สามารถแสดงความขอบคุณได้มากพอ
๑/๑๐
แขนของพรเคลื่อนไหวได้น้อยลง เธอต้องให้ช่วยเมื่อเราพลิกตัวเธอ ลมหายใจก็กระชั้นขึ้นด้วย เราใช้ออกซิเจนได้ถึงเจ็ดลิตรต่อนาที เราจึงต้องมีออกซิเจนสี่กระบอกใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่าเพียงพอ เราย้ายมันจากหน้าต่าง เพื่อจะได้ให้พรยังมองเห็นสวนเล็ก ๆ ได้อีก
เช่นเดียวกับร่างกายที่ทรุดลง กระบวนการทางจิตใจสิ้นสุดลง และการต่ออายุก็เริ่มขึ้น รูปแบบเดิมของการยึดติดเผยขึ้นในปัจจุบัน หรือสถานการณ์ที่จำได้ ทำให้มีโอกาสที่จะฉลาดขึ้น ระลึกมากขึ้น โดยเฉพาะให้โอกาสที่จะเรียนรู้ จากประสบการณ์ชีวิต พรรู้สึกง่ายขึ้นในการทำสมาธิเป็นเวลานาน เพราะเธอเอาใจใส่ กับประสบการณ์ความทรงจำในวัยเด็ก ประหนึ่งฉันอยู่ที่นั่นอีกครั้ง ฉันสามารถเห็นชัดถึงความโลภต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันพยายามที่จะเพ่งไปที่ลมหายใจ แต่รู้สึกอึดอัดมาก มักลืมตัวอยู่เสมอ เป็นการดีกว่าที่จะเพียงเอาใจใส่กับปัจจุบัน และปล่อยวางต่อความโลภ
หลายคืนก่อน มีความฝันเกี่ยวกับโทสะและความกลัว ฉันฝันว่าเคยทำร้ายผู้หญิงคนหนึ่ง เธอพยาบาทและรอโอกาสที่จะทำร้ายฉัน เธอว่าฉันจะมีปัญหาที่หน้าอกและหลัง ฉันตีความว่ามันเป็นความทรงจำจากชาติที่แล้ว หรือจิตใจให้โอกาสที่จะตระหนักรู้ถึงโทสะ (ความโกรธ หนึ่งในสามรากร้ายแห่งการกระทำ) โอกาสที่จะตระหนักถึงโทสะ ฉันจะได้เอาใจใส่เพิ่มความรัก เมตตา สวดเมตตาสูตร
และมีความฝันเกี่ยวกับการกลัวความตาย ในฝัน พรทำงานกับเครื่องจักร ซึ่งเรารู้ว่ามีอันตราย หลานของเธอมาหา และพรเป็นห่วงหลาน เลยถูกไฟดูดตาย เมื่อรู้ตัวว่าจะตาย เธอก็เอาใจใส่กับกระบวนการตาย และเพียงแต่เฝ้ามอง ฉันไม่เป็นไร เริ่มจากการกลัวความตาย นำไปสู่ความเอาใจใส่ และจบอย่างเป็นสุข
เราทุกคนมีชั้นทับซ้อนกันของภาพตัวตน ยึดติดตัวตน และป้องกันตัวตน บางทีมีต้นกำเนิดจากการตัดสินตัวเอง หรือการตอบโต้โดยไม่ได้คิด ต่อสถานการณ์บางอย่าง หรือเพียงเป็นรูปเพิ่มมากขึ้น อุปมาดังคอมพิวเตอร์ ที่มีข้อผิดพลาดฝังอยู่ในโปรแกรม แต่ละส่วนมีข้อมูลบิดเบือน และขั้นตอนคำสั่งงุ่มง่าม ที่ทำงานเลอะเทอะโดยที่เราไม่รู้ ปกติเราไม่รู้ แต่บางทีเวลาทำสมาธิถึงระดับหนึ่ง ทั้งหมดก็ผุดขึ้น
พรทบทวนชีวิตจากวัยเด็กขึ้นมา ทั้งเข้มข้นและเร่งด่วน ในขณะนี้ มีความจำเป็นต้องสรุปด้วยความจริง เพื่ออย่างน้อยได้เรียนรู้บทแห่งความโง่เขลา ถึงแม้เราไม่สามารถกลับไปทำใหม่ด้วยปัญญา ราวกับ จิตใจต้องการมองออกถึงความกลมกลืนที่สามารถ หรือที่ควร หรือที่ได้รับ และเรียนรู้จากความไม่กลมกลืน ด้วยสถานะที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่ขยายออกมา คือ การแบ่งปันสุดท้ายแห่งปัญญากับคนรุ่นต่อไป หรือบางสิ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง อันไม่อาจไปถึงเช่นนั้นหรือ
ขวัญข้าว ศิวรักษ์ แปล
|
|