เสขิยธรรม -
จดหมายข่าวเสขิยธรรม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เสขิยธรรม ฉบับที่ ๕๐

วดีลดา เพียงศิริ

เมื่อตัว ใหญ่เท่าหม้อแกง

 

ฉั  

นนอนเล่นอยู่ริมแม่น้ำปาย น้ำกำลังไหลคลั่ก ๆ เหมือน “กองกำลัง” ท่าทางลุกลี้ลุกลนกองหนึ่ง เคลื่อนพลอยู่ใต้น้ำอย่างต่อเนื่อง……ไม่มีเหน็ดมีเหนื่อย

สีของแม่น้ำเป็นสีส้มอมน้ำตาลสวยเหลือเกิน ใครได้ไปนอนทอดหุ่ยอยู่ริมน้ำปาย มีผืนนาเขียวสว่าง– – – สะท้อนแดดยามบ่ายพราว– – อยู่ตรงหน้า คงทราบดีว่า ใจคนเรามัน “เปิด” ได้มากเพียงไร

          และเป็นเรื่องชอบธรรมเสียเหลือเกิน ในเมื่อสามีและลูกสาวได้ซื้อตั๋วรถไฟมุ่งหน้าไปกรุงเทพฯ เพื่อดูคอนเสิร์ตวงสกอร์เปี้ยนเมื่อวานนี้ แถมเจ้าลูกชายก็ยินดีเหลือแสนที่จะไปค้างบ้านญาติ– – ที่มีลูกชายตัวเท่ากัน

          แล้วทำไมฉันจะเอาความเป็นแม่ ความเป็นภรรยา และความเป็นครูใหญ่ แขวนไว้ข้างฝา แล้วเป็นเพียงมนุษย์ผู้หนึ่ง– – ชวนเพื่อนผู้หญิงขับรถมานอนกลิ้งไปกลิ้งมา มองน้ำสีสวยเหลือใจไม่ได้เล่า

          เสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น ยามอารมณ์ต้องการความช่วยเหลือ ให้นึกชมคนที่คิดค้นเจ้าเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ แต่ยามที่ธรรมชาติ– – อุตส่าห์อ้าแขนรับเราเป็นส่วนหนึ่งของเขาแบบนี้ ฉันได้แต่มองมันแล้วรู้สึกรังเกียจ แต่คนหนีงานหนีการมา จะปิด “ทือหมือ” หรือ “มือถือ” เสียสนิทก็ใช่ที่

          ยิ้ม ๑ ครั้ง (ตามคำแนะนำของท่าน นัท ฮันท์) แล้วกรอก คำว่า ‘Hello’ คำเดียวในโลกที่ผู้คนทุกชาติทุกภาษาใช้กันอย่างนวลเนียน

          เสียงผู้จัดการโรงเรียนระล่ำระลัก “น้ำท่วมโรงเรียนค่ะ”

          ฉันว่าราชการไปตามขั้นตอน ดวงตามองท้องฟ้าไป ฟ้ากว้างจัง… เมฆสวยเหลือใจ ก่อนวางหูได้กำชับว่า “ปิดห้องเรียนให้สนิทนะ ช่วงนี้สัตว์เค้าหนีน้ำ”

          จากนั้นฉันก็นอนเขลงลงอย่างเก่า ด้วยไม่เคยลืมที่แม่ชีท่านหนึ่งเทศน์ คนเราชอบ “วางแผน” แล้วก็ “ถือแผน” ไปตามที่ต่าง ๆ "ไม่เคยวางลงเลย”

          เพื่อนที่มาด้วยถามถึง โรงเรียนด้วยความห่วงใย ยิ่งมองน้ำในแม่น้ำที่ไหลอย่าง “เอาเรื่อง” ก็ยิ่งใจไม่ดี

          แต่ฉันกลับตอบว่า “ไม่เป็นไร ถ้าฉันตายไปตรงนี้ เขาก็ดูแลของเขาต่อไปได้” และฉันรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ

          สักครู่ผู้จัดการคนเดิมก็ส่งเสียงใสเข้ามาอีกครั้ง คราวนี้ฉันต้องจึ๊ ๔ ครั้ง ถอนหายใจ ๖ ครั้ง และจำใจยิ้มอีก ๒ ครั้ง “พี่จ๋า เมื่อกี๊หนูโกหกพระ ไม่กล้าบอกไปตรง ๆ ว่า พี่หนีงานไปเที่ยว”

          “หลวงพี่เหรอ” ฉันเอ่ยชื่อ บ.ก. หนังสือเล่มนี้ เพราะท่านเป็น “พระ” องค์เดียวที่ฉันรู้สึกเป็นกัลยาณมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด เรียกชนิดเกรงบาปนิด ๆ ว่า ถือเป็น “เพื่อน” นั่นเทียว

          ผู้จัดการบอกว่าไม่ใช่ พร้อมเล่าเรื่องราวว่า พระมหาพีระพงษ์ พลวีโร ได้เชิญให้ฉันไปเป็นวิทยากรถวายความรู้ ให้แก่พระนิสิตของมหาจุฬาฯ ในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พระพุทธศาสนากับการปฏิรูปการศึกษาไทย”

          “พี่เอ๊ย…. พี่ไม่รอดแน่ ท่านลงท้ายว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจักได้รับความเมตตานุเคราะห์จากท่านอาจารย์เป็นอย่างดี พร้อมอนุโมทนาในกุศลจิตอันดีมา ณ โอกาสนี้ด้วย”

          ทั้งฉันและน้องถอนหายใจแล้วหัวเราะพร้อมกัน แต่ฉันต้องหยุดหัวเราะโดยพลันเมื่อทราบว่า ฉันจะต้องไปพูดพร้อมวิทยากร ๒ ท่าน นั่นคือ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก และ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

          ฉันจะไปนั่งอยู่ข้าง ๆ คน ๒ คนที่ฉันยกขึ้นหิ้งได้อย่างไร

          ขอบคุณเครื่องมือสื่อสารจริง ๆ ที่นำความวิตกกังวลมาประเคนจนถึงริมแม่น้ำอำเภอปาย…

 

          กลับมาจากเที่ยว ฉันคิดตลอดเวลาว่าจะ “เบี้ยว” พระมหาพีระพงษ์อย่างไรจึงจะบาปน้อยที่สุด เพราะในจดหมายเชิญก็เห็น ๆ กัน อยู่ว่าบุญกำลังจะหล่นลงมาทับอยู่รอมร่อ ไหงจะปล่อยให้หลุดมือไป… ซึ่งจะว่าไปขณะยังไม่ได้พูด ก็บาปแล้ว เพราะฉันนึกโทษหลวงพี่ บ.ก. ตลอดเวลา ว่าท่านต้องเป็นผู้เสนอชื่อฉัน ให้พระมหาพีระพงษ์แน่ ๆ ที่แท้ ท่านไม่ทราบเรื่องเลย คงจะทราบ ก็ตอนที่อ่านต้นฉบับนี่กระมัง!!

          แล้วถ้าไปพูดเข้าจริง ฉันอาจจะบาปหนักเข้าไปอีกหลายกระทง เพราะชอบพูดจาส่อเสียดอยู่เป็นนิจ เดี๋ยวเผลอไปด่า ไปวิจารณ์ “อะไร ๆ” ที่เขาห้ามแตะต้องเข้า มิถูกจำคุก ๑ ปี ก่อนกฎหมายออกมาหรือ?

          ที่แน่ ๆ ขณะยังไม่ได้พูด ก็บาปแล้ว เพราะฉันนึกโทษหลวงพี่ บ.ก. ว่าท่านต้องเป็นผู้เสนอชื่อฉัน ให้พระมหาพีระพงษ์อยู่ตลอดเวลาที่กำลังสุขกายสุขใจอยู่ริมแม่น้ำ ดูเถิด…เรื่องนี้ “ข้าน้อยสมควรตาย” แท้ ๆ

          ฉันกลัดกลุ้มจนสิวปูดออกมา ๓ เม็ดอยู่หลายวัน

          ยังไงก็ทำใจไม่ได้เด็ดขาด รู้สึกตัวเองต่ำต้อยอย่างมหากาฬ เมื่อเทียบกับอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านนั้น

          เอาเถอะ… เอาจดหมายสวย ๆ ของพระมาอ่านใหม่ อ่านวนตรงหัวข้อ แล้วจู่ ๆ ก็หัวเราะก๊าก……หัวเราะจนสามีเดินมาดูว่า เสียจริตไปเพราะความกลัวแล้วหรือไร

          เปล่าหรอก พุทธศาสนากับการปฏิรูปการศึกษาไทย

          ใครควรจะปฏิรูปก่อนกัน– – ฮ่า…ฮ่า… มองเห็นวัดร้าง ๆ หยากไย่เกาะ แล้วกวักมือเรียกให้คนเข้ามาจัดงานอะไรสักอย่าง– – นี่ขนาดยังไม่ได้พูด บาปกำลังหล่นทับเสียแล้ว

          แต่แล้ว “วินาทีประหลาด” วินาทีหนึ่ง ก็ได้บังเกิด สวนฉึ่บขึ้นมา เมื่ออ่านหัวข้อซ้ำ “เออ…ดีนี่หว่า เราจะได้เป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ เสียที ไม่ต้องเป็นนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการอีกต่อไปแล้ว ไชโย้……”

          พอบอกกับตัวเองได้อย่างนั้น ฉันก็เริ่มใช้สวิงช้อนเจ้าความคิด ประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึกประดามีที่แสนจะกระจัดกระจาย มาเทโครมลงกระป๋อง ก่อนจะนำมาจัดเรียงอย่างสนุกสนาน

          เราจะกลัวอะไร นักเรียนของพระพุทธเจ้าจะกลัวอะไร ไอ้ที่กลัวมาตลอดเวลา ก็เพราะเราเติบโตมาจากระบบการศึกษาตามก้นฝรั่ง ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี ใครบ้างจะไม่รู้ว่า อักษร ‘I’ ในภาษาอังกฤษนั้น แม้จะอยู่ส่วนไหนของประโยค แม้แต่ท้ายประโยค มันก็ยังแหวกกฎ โดยคงความเป็น “ตัวใหญ่” ไว้อย่างเหนียวแน่น

          เราเรียนมาแบบให้ ‘I’ มันใหญ่โดยไม่รู้ตัว ไม่เท่าทันและไม่เฉลียวใจ มาตลอดชีวิต

          เมื่อความกลัวกระเด็นไป ฉันก็ร่างหลักสูตรที่แสนจะเพ้อฝัน และร่างไปก็ไม่รู้จะร่างไปทำไมให้เปลืองพลังงาน เพราะมันไม่มีวันหมุนทวนกลับมาเป็นจริงได้

          หัวข้อที่ฉันร่างเอาไว้เพื่อจะพูดโดยย่อ มีดังนี้

๑. นักเรียนของพระพุทธเจ้าไม่ต้องพึ่งพาดินสอหิน กระดานชนวน ปากกา ดินสอหรือแล็บท็อป แต่จะแจก “ลิ่มแสงเลเซอร์” (มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) ให้คนละแท่ง เอาไว้กระเทาะเข้าไปสู่ความเป็นธาตุทั้ง ๔ ของตนเอง

๒. ยิ่งกว่าการศึกษาภาคบังคับ ด้วยมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เริ่มตั้งแต่ยิ้มเป็น คอแข็ง คลานได้ ต้องได้รับสิทธิ์ที่จะรับรู้ว่า “เราเกิดมาเพื่อผลัดชีวิต” หรือถ้าพูดให้เด็กตกใจก็คือ “เกิดมาถอนสักกายะทิฏฐิ” ดังนั้นผู้จัดการศึกษา ก็คือพ่อแม่ คนในครอบครัว ชุมชน พระ ฯลฯ นั่นแล้ว

๓. ดังนั้นคำว่าบรรษัทข้ามชาติถือเป็นคำกระจอกอย่างยิ่ง เพราะนักเรียนจะต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไปถึงการข้ามชาติข้ามภพ- - โน่น (สามีช่วยคิดอย่างเฮฮาค่ะ)

๔. นักเรียนที่พอฝึกได้ ต้องจับฝึกภาคสนาม นั่นคือฝึกจิต ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือใดใดก็แล้วแต่ แต่จะต้องมีวินาทีประหลาดที่จะได้ “ร้องอ๋อ” ด้วยตนเอง ทุกผู้ทุกนาม เพราะสภาวะ ที่เกิดขึ้นนั่นแล้ว จะเป็นดิสก์เบรค เป็นที่พึ่งของชีวิตต่อไป

๕. หลักสูตรนี้มีการวัดผลอย่างต่อเนื่อง มีการ test ย่อย สอบ midterm, สอบ final เก็บคะแนนไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย ว่าจะได้เลื่อนชั้น เลื่อนภพเลื่อนภูมิกับเขาหรือไม่

๖. จึงไม่แปลกที่เป้าหมายการสอน จะอยู่ที่การก่อให้เกิด สัมมาทิฏฐิ

๗. การวางนโยบายและจัดสัดส่วนการเรียนการสอน ก็คือ การนำ “มรรคมีองค์ ๘” มาเป็นโจทย์

๘. จะจัดกิจกรรมใดใดก็แล้วแต่ นำไปสู่สัมมาสติ สัก ๗๐% สัมมาอาชีวะ สัก ๓๐% (ก็เขาให้มาพูดเรื่อง ปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่หรือ)

๙. เล่ากระบวนการเรียนการสอนจากประสบการณ์ของตนเอง เช่นกิจกรรม

ก. เล่นกับไข่ ฉันเอาไข่มาโยนไปโยนมาให้เด็กดู แล้วทำทีเป็นรับไม่ได้ ทำตกแตก เด็ก ๆ มามุงดูเห็นทั้งไข่ขาว ไข่แดง และเปลือกไข่ปรากฏ แท้จริงฉันสอนเรื่อง “ความไม่เที่ยงของรูป” แต่ไม่พูดทื่ออย่างนั้น กับเด็กต้องทำทุกอย่างให้เป็นเกม เพื่อท้าทายสัญชาติญาณของมนุษย์ โดยท้าว่า ใครจะอาสาเอาช้อนตักไข่ไปใส่ถาดฝั่งโน้นโดยระวังไม่ให้ไข่แตกได้บ้าง– – กติกาคือ ตามือใจเราไปด้วยกัน ตาขาใจเราไปด้วยกัน ตาอยู่ที่ไหน มืออยู่ที่ไหน ขาอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่นั้น – – ผลก็คือ แทบไม่มีเด็กคนไหนทำไข่แตกเลย

ข. เดินจงกรมบนกระป๋องอะแล็คต้า ผู้ปกครองได้นำของใช้แล้ว มาบริจาคเพื่อให้โรงเรียนนำมาทำกิจกรรมมากมาย ฉันเลยเอากระป๋องนมต่างขนาดมาวางเรียงกันให้เด็ก ๆ เดินจงกรมบนนั้น กติกาก็เหมือนเคย เท้าอยู่ตรงไหน ใจอยู่ตรงนั้น วิธีวัดผลคือ หากเด็กหรือมนุษย์ผู้ใดเอาใจไว้ในกายได้สำเร็จ เขาจะไม่พูดเลย ดังนั้น ฉันจึงวัดผลกิจกรรมจากความเงียบ

          ที่จริงมีกิจกรรม ทำนองนี้มากมาย หรือแม้แต่กิจกรรมที่ฉันเรียกว่า ดีดนิ้วเปาะ ลองทำเล่นไป

          อ่านเรื่องไปสิคะ

          ดีดนิ้วหนแรก ผ่านไปแล้ว ดีดนิ้วใหม่อีกหน ชัดเลย…ว่านี่เป็นครั้งใหม่ และนี่คือเหตุผลที่ฉันสอนลูกให้คิดดีทุกขณะจิต พยายามรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะจิต (แม่ยังทำไม่ได้เลยลูกเอ๊ย…)

๑๐.รายละเอียดปลีกย่อย – เป็นรายการนินทาผสมห่วงใย กลัวจะมีผู้ดำเนินการสอนประเภท “พุทธจ๋า” ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าคนเห่อศาสนา ที่ยกตนข่มท่าน และอีโก้ซ้อนอีโก้ ชนิดนวลเนียนตลอดเวลา ขนาดมี นักปฏิบัติคนหนึ่งถามฉันแปลก ๆ ว่า “ทำไมต้องไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับพระพม่ามิทราบ?”

          ฉันหัวเราะด้วยอีโก้เช่นกัน “ทำไมต้องพม่าหรือไทย ท่านลืมแล้วหรือไรว่า พระพุทธเจ้าของเราก็เป็นคนอินเดีย”

          เรื่องนิทานว่าร้าย เสียดสี มีเพียบแทรกได้ตลอดเวลา ของถนัดอยู่แล้ว!!!

          ฉันรู้แล้วแหละว่า พระพุทธเจ้าสอน “เรื่องของเรา” จริง ๆ การไปพูดครั้งนี้ก็เป็นเรื่องของฉันแต่เพียงผู้เดียว และฉันเชื่อแล้วว่าในขณะที่เราไม่ได้คิดอะไร คุรุจะมาปรากฏ เหมือนช่วงเตรียมตัวไปพูด คือช่วงที่ฉันสนุกทว่าสงบรำงับ ทบทวนและใคร่ครวญที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตโดยแท้.

 

 

 

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย |> จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :