องค์ทะไล ลามะ บุคคลของโลกศาสนา
พระมหาวิเชียร วชิรปัญโญ
วัดไทย มิวนิค
Wat Thai e.V. Bad Duerkheimer Str. 14, 81539 Muenchen
Tel.: 089 - 68019227 Fax: 089 - 68019228 (ป.ร. ย่อจาก ผู้แปลและผู้เรียบเรียง)
ตัดทอนจาก "เสียงจากวัดไทย"
ชาวไทย ฉบับที่ ๑๒๑ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
องค์ทะไลลามะ
ประมุขแห่งประชาชน และคณะสงฆ์ธิเบต
ประสูติเมื่อวันที่ ๖ ก.ค. ค.ศ.๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ที่ "ตักเซอร์" (Taktser) หมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของธิเบต และทรงถูกค้นพบ ด้วยวิธีการ ตามประเพณีของธิเบต เมื่ออายุได้ ๒ พรรษากว่า ว่าเป็นองค์ทะไลลามะองค์ที่ ๑๓ กลับชาติมาประสูติ
พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นผู้นำประเทศ ธิเบต เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓)
เริ่มการศึกษา เมื่อชนมายุได้ ๖ พรรษา ทรงสอบมหาวิทยาลัย เมื่อทรงพรรษาได้ ๒๔ และเมื่ออายุได้ ๒๕ พรรษา ทรงจบปริญญาเอก ทางปรัชญาของธิเบต ชื่อ เกเช ลารามปา (Geshe Lharampa Degree)
ทรงได้รับตำแหน่ง และอำนาจทางการเมือง อย่างสมบูรณ์ เป็นผู้นำประมุขของชาติ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๐
หลังจากที่ กองทหารจีน ได้บุกเข้าโจมตีธิเบต พระองค์ได้เดินทาง ไปปักกิ่งในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ (พ.ศ. ๒๔๙๗) เพื่อเจรจาสันติภาพ กับเหมา เจ๋อ ตุง และผู้นำอื่น ๆ ของประเทศจีน เช่น โจว เอินไหล และ เติ้ง เสี่ยว ผิง ๒ ปี ถัดมาได้เดินทาง ไปอินเดียเพื่อเข้าร่วมงาน ฉลอง "๒๕๐๐ ปี พุทธชยันตี" และได้ปรึกษา กับนายกรัฐมนตรีเนรู ถึงสถานการณ์ทิเบต ที่เลวร้ายลง
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ (พ.ศ.๒๕๐๒) ได้เกิด การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ทิเบต ที่ลาซา เมืองหลวงของธิเบต ผู้ประท้วงชาวธิเบต จำนวนมาก ถูกกองทหารจีน จับกุมและสังหาร องค์ทะไล ลามะได้เดินทางลี้ภัย ไปประเทศอินเดีย โดยมีชาวทิเบต ประมาณ ๘๐,๐๐๐ คนติดตาม พระองค์ไป ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) พระองค์ได้พำนักอาศัย ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย
ปัจจุบัน พระองค์มีพระชนมายุได้ ๖๘ พรรษา
ทะไล ลามะ คือ ใคร ?
ทะไลลามะ หรือทะไล ลามะ คือพระสงฆ์ ผู้เป็นผู้นำสูงสุดของชาวธิเบต
ฐานะทางบ้านเมือง เท่ากับตำแหน่งในเมืองไทยเรา คือ พระเจ้าแผ่นดิน
ฐานะทางศาสนา เท่ากับตำแหน่งในเมืองไทยเรา คือตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช
คณะสงฆ์ธิเบต แม้จะแบ่งเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ คือ
๑.นิกายณยิงมาปา หรือนิกายหมวกแดง
๒.นิกายคากิว มีผู้สืบทอดที่โด่งดังคือโยคีมิลาเรปะ
๓.นิกายสักยะ หรือนิกายหลายสี
๔.นิกายเกลุกปะ หรือนิกายหมวกเหลือง เป็นนิกายที่องค์ทะไล ลามะ เป็นผู้นำ
ถึงอย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์นิกายอื่น ๆ ก็เคารพ และนับถือพระองค์ ในฐานะผู้นำทางศาสนาด้วย
องค์ทะไล ลามะ มีพระนามว่าอย่างไร ?
พระนามตอนเป็นเด็กคือ ลาโม ดอนดุป เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร จึงถูกเปลี่ยน พระนามตามประเพณี เป็น จัมเพล เยเช และต่อมา ก็ใส่ชื่ออื่น ๆ ด้วย จึงมีพระนามเต็มว่า จัมเฟล นาวัง ลบซัง เยเช เทนซิน เกิยตโซ
ทำไมจึงเรียกพระองค์ว่า "ทะไล ลามะ"
คำว่า "ทะไล" เป็นคำจากภาษามองโกล
แปลว่า ทะเลอันกว้างใหญ่ หรือมหาสมุทร
"ลามะ" เป็นภาษาธิเบต หมายถึง ผู้มีความรู้
"ทะไล ลามะ" จึง หมายถึง มหาสมุทรแห่งปัญญา (แหล่งความรู้ -ป.ร.)
แต่นั่น องค์ทะไลลามะ ตรัสว่า แต่เดิมคำว่า ทะไล แปลมาจากคำว่า "เกิยตโซ" ในพระนามขององค์ทะไล ลามะ องค์ที่ ๓ ซึ่งแปลว่า มหาสมุทร
ชาวธิเบต เรียกว่าพระองค์ว่า "เกิยลวา รินโปเช" , "คุนดุน" หรือ "เยเช นอรบ" ? แต่ปัจจุบันก็เรียก "ทะไลลามะ" ตามที่รู้จักกันในคำสากล
แต่พระนาม ที่ชาวตะวันตก เรียกพระองค์ เป็นภาษาอังกฤษเรียก ว่า His Holiness The XIV Dalai Lama ส่วนภาษาเยอรมัน เรียกว่า Seine Heiligkeit der XIV Dalai Lama (ไซเน ไฮลลิกไคท์ แดร์ เฟียรเซ็นเต ทะไล ลามะ) จำนวน XIV เขียนแบบโรมัน I=1, V=5, X=10, XIV = (10) + (5-1=4) = 14
ทำไมจึงเรียกว่า "ทะไล ลามะ ที่ ๑๔" ?
เพราะนับตามความเชื่อของธิเบต ทะไลลามะองค์ที่ ๓ ได้รับพระนาม "ทะไลลามะ" เป็นองค์แรก จากผู้ครองมองโกเลีย แต่ท่านถวาย ย้อนไปยังตุลกู ๒ องค์แรกให้เป็นทะไล ลามะ ที่ ๑ และที่ ๒ แล้วท่านนับ ตัวท่านเองเป็นองค์ที่ ๓ องค์ทะไลลามะ ปัจจุบันเป็นองค์ที่ ๑๔
การสืบทอดตำแหน่ง"ทะไล ลามะ"อย่างไร ?
ก่อนที่องค์ทะไลลามะ จะสิ้นพระชนม์นั้น จะทรงแสดงสัญญาณ บางอย่างเพื่อบอกเป็นนัย ๆ ว่า จะทรงกลับมาเกิดอีก คณะลามะ ผู้คงแก่เรียน ก็จะร่วมกัน ออกค้นหา ตามสัญญาณ ที่ถูกตีความนั้น โดยจะค้นหาเด็ก ที่เกิดมาพร้อมกับ นิมิตหมาย บางอย่าง และเด็กที่มีลักษณะพิเศษ บางอย่าง ตามร่างกาย อันเป็นลักษณะของ พระโพธิสัตว์ ซึ่งแตกต่างออกไป จากคนธรรมดา เช่น ตาและคิ้วเรียวยาวโค้ง ขึ้นบนทั้งสองข้าง มีหูใหญ่ทั้ง ๒ ข้าง มีลายคล้ายก้นหอย บนฝ่ามือข้างหนึ่ง เป็นต้น
เด็กจะเป็น ลูกเศรษฐี ลูกชาวนา ยาจก บางครั้ง จะได้เด็ก ที่อยู่ในข่าย ที่จะเป็นอวตาร ๓ หรือ ๔ คน คณะลามะ จะนำเครื่องใช้ประจำตัว ของทะไลลามะองค์ก่อน และสิ่งของอย่างเดียวกัน ที่ทำขึ้นใหม่ หรือของคนอื่นมาวางรวมไว้ ให้เด็กเลือกหยิบ เด็กคนใดหยิบ สิ่งของเครื่องใช้ขององค์ ทะไลลามะถูกต้อง ให้ถือว่า ดวงวิญญาณ ขององค์ทะไลลามะ อวตารมาสถิต ในร่างเด็กนั้น ให้เชิญเด็กนั้น เป็นองค์ทะไลลามะ
ในคราวเลือก ทะไลลามะ องค์ที่ ๑๔ เล่ากันว่า เมื่อองค์ทะไล ลามะ องค์ที่ ๑๓ สิ้นพระชนม์แล้ว ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ ได้เห็นภาพ ในสมาธิ เห็นอักษรธิเบต ๓ ตัว ชัดเจน คือ อ ก และ ม จากนั้นเห็นภาพตึก ๓ ชั้น หลังคาสีฟ้า เห็นบ้านหลังเล็ก มีรางน้ำรูปร่างแปลก และข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ของชาวธิเบต เที่ยวออกค้นหา องค์อวตาร ของพระโพธิสัตว์ ไปตามบ้านเมือง น้อยใหญ่ เป็นเวลาหลายปี จนเกือบหมด ความพยายาม จึงพากันกลับ ไปตั้งอธิษฐาน ต่อหน้าพระศพ ขององค์ทะไลลามะ องค์ที่ ๑๓ ซึ่งเก็บรักษา ไว้ในพระราชวังโปตลา รุ่งขึ้นพระศพ ขององค์ทะไลลามะ ซึ่งประดิษฐาน หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ กลับหันพระพักตร์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลามะชั้นผู้ใหญ่ เห็นเป็นนิมิต จึงส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ออกเดินทางไป รอนแรม อยู่หลายสิบราตรี ในที่สุด ก็เดินทางถึง หมู่บ้านตำบลอัมโด ซึ่งน่าจะหมายถึง อักษร อ เห็นวัด เป็นตึกสามชั้น หลังคาสีฟ้า ชื่อวัดกุมบุม ซึ่งน่าจะหมายถึงอักษร ก จึงพากัน หาบ้านหลังเล็ก ที่มีรางน้ำรูปร่าง แปลกในหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกนั้น จนพบ และขออาศัย จำวัดในบ้านนั้น โดยมิได้แจ้ง จุดประสงค์ที่แท้จริง ให้เจ้าของบ้านทราบ หัวหน้าคณะ ค้นหานั้น เป็นพระสงฆ์ตำแหน่งสูง แต่ปลอมตัว เป็นคนใช้ และใช้เวลาส่วนใหญ่ ในตอนเย็นเล่น อยู่กับลูกคนเล็กอายุ ๒ ขวบกว่า ของครอบครัว ชื่อลาโม ดอนดุบ เด็กเกิดจำคนใช้ปลอม คนนั้นได้และเรียกว่า "ลามะจากวัดเซร่า" รุ่งขึ้น จึงเดินทางกลับ และกลับมาอีกใน ๒-๓ วันต่อมา พร้อมกับนำสิ่ง ของขององค์ทะไลลามะ องค์ที่ ๑๓ มาด้วย แล้ววางปนกับ สิ่งของหลายอย่าง ให้เด็กเลือกจับ ซึ่งเด็กก็เลือกได้ถูกต้อง ทั้งยังบอกว่า "ของฉัน ของฉัน" ทำให้คณะค้นหา มั่นใจว่าได้พบแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ในข่าย ที่ต้องไปพิสูจน์ แต่ท้ายที่สุด เด็กน้อยลาโม ดอนดุบ ก็ได้รับ การยอมรับว่า เป็นทะไลลามะ องค์ที่ ๑๔
เมื่อค้นพบ ทะไล ลามะ องค์ใหม่แล้ว จะดำเนินการ ต่ออย่างไร ?
หลังการค้นพบ และทดสอบแล้ว เด็กจะถูกนำไปอยู่วัด และได้รับ การบำรุงเลี้ยง จากพระ ซึ่งต้องเอาใจใส่ พิถีพิถัน และเข้มงวดกวดขันมาก เพื่อให้จิตใจ ของเด็กน้อย ได้ตระหนัก ถึงต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ และภาระหน้าที่ อันยิ่งใหญ่ ที่รออยู่เบื้องหน้า เมื่อเด็กมีอายุได้ ราว ๑๖-๑๘ ปี ก็จะได้รับ การสถาปนาให้เป็น "เกียลวา รินโปเช่" หรือ "องค์ทะไลลามะ" ปกครองทิเบต ทั้งฝ่ายบ้านเมือง และฝ่ายศาสนา
ในกรณีของ "ทะไลลามะ" องค์ปัจจุบัน เมื่อผู้สำเร็จราชการ ในกรุงลาซา ตอบรับการค้นพบ มาเป็นทางการ ในหลายอาทิตย์ต่อมาแล้ว พระองค์ได้เข้าพิธ ีในวัดตึก ๓ ชั้นนั้น ซึ่งพี่ชายคนโต (ได้รับการยอมรับว่า เป็นอวตารของลามะ ชั้นสูงองค์หนึ่ง ของธิเบต) และพี่ชายอีกคน บวชเป็นสามเณร อยู่ที่วัดนั้นด้วย
ผ่านไปปีกว่า รัฐบาลก็จัดขบวน มารับพระองค์เข้า ไปอยู่ที่ลาซาเมืองหลวง ของทิเบต ซึ่งใช้เวลาเดินทาง ๓ เดือน โดยบิดามารดา และสามเณรพี่ชาย ของพระองค์ ชื่อลอบซัง สามเทน ได้เดินทางไปด้วย
ต่อมาพระองค์ ได้รับการบรรพชา เป็นสามเณร จากนั้นก็เริ่มเรียนหนังสือ โดยมีพี่ชาย ที่เป็นสามเณร เป็นเพื่อนเรียน เพื่อนเล่น กับพระองค์
ทะไล ลามะ ประทับอยู่ที่ไหน ?
พระองค์ประทับอยู่ ในทิเบต จนพระชนมายุ ๑๙ เมื่อจีนเข้ายึดธิเบต พระองค์พร้อมด้วย คณะผู้ลี้ภัยจึงหนีออกมา ในพ.ศ. ๒๕๐๒ และได้ตั้ง รัฐบาลอยู่ที่เมือง ธรรมศาลา (ดะรัมศาลา- Dharamsala) แคว้นหิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของประเทศอินเดีย และมีหน่วยงาน ในต่างประเทศ เช่น ที่ปารีส, เจนีวา, ลอนดอน, บูดาเปสท์ เป็นต้น
ทะไล ลามะ ได้รับการยอมรับ จากชาวโลกอย่างไร ?
ในด้านความรู้ มหาวิทยาลัย และสถาบัน ในประเทศตะวันตก เป็นจำนวนมาก ได้ทูลถวายรางวัลสันติภาพ และ ถวายปริญญาบัตรแด่พระองค์
ในเรื่อง รางวัลระดับโลก คณะกรรมการรางวัลโนเบล ประเทศนอรเวย์ ได้มอบ "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" แด่พระองค์ ใน ปี ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ด้วยเหตุผลว่า "คณะกรรมการ ต้องการเน้นความเป็นจริงที่ องค์ทะไลลามะ ได้พยายามต่อสู้ อย่างต่อเนื่อง และอย่างสันต ิเพื่อปลดปล่อยธิเบต ทรงเสนอหนทาง แก้ไขปัญหา โดยเน้น เรื่องความอดทน และการเคารพ ซึ่งกันและกัน เพื่อคุ้มครองมรดก ทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประชาชนทิเบต"
ทะไล ลามะ ทรงดำเนินชีวิตอย่างไร ?
พระองค์ตรัสเสมอว่า "ข้าพเจ้า เป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดา ไม่มีอะไรมากกว่านี้ และน้อยกว่านี้"
พระองค์ ทรงปฏิบัติตน ในฐานะเป็นพระสงฆ์ พำนักอาศัย ในกระท่อมในธรรมศาลา ทรงดำเนินชีวิต อย่างเรียบง่าย ดังที่พระองค์ ได้ตรัสเล่าไว้ว่า
"...ตามปกติ อาตมาตื่นนอนตีสี่ พอลุกขึ้นมาก็สวดมนต์ภาษาธิเบต อุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำ ได้พูด ได้คิด ของทั้งวัน เป็นการแผ่ส่วนบุญ เพื่อช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่น
อาตมาก็เหมือนพระทุกรูป คือ อยู่กับความจน ไม่มีสมบัติส่วนตัว ในห้องนอนมีแต่เตียง เวลาลุกขึ้น สิ่งแรกที่ได้เห็นคือ พระพักตร์ของพระพุทธเจ้า จากพระพุทธรูป
เวลาตื่นขึ้นมานั้น หนาวเย็นนัก จึงต้องออกกำลังกาย และรีบอาบน้ำ แต่งตัวอย่างรวดเร็ว อาตมานุ่งจีวรสีแดงเข้ม เช่นนี้ดุจพระองค์อื่น ๆ ผ้าหยาบ ๆ มีปะชุน หากเป็น ผ้าผืนเดียว ก็จะเอาไปขาย หรือแลกเปลี่ยน กับอะไรได้ การนุ่งห่มผ้า อย่างนี้เอาไปขายไม่ได้ เป็นการยืนหยัด ปรัชญาของเรา ที่สอนให้ไม่ติดยึด ในสิ่งของต่าง ๆ ทางโลก
อาตมาภาวนา จนถึงตีห้าครึ่ง จากนั้นก็ทำพุทธบูชา กราบแบบ อัษฎางคประดิษฐ์ (คือกราบโดย ให้อวัยวะ ๘ ส่วนสัมผัสพื้น นอนคว่ำหน้าราบกับพื้น -ป.ร.) และปลงอาบัติ เพื่อสำรวจตรวจดู ความผิดของเราที่แล้ว ๆ มา เพื่อแถลง ให้สงฆ์ทราบ แล้วสวดมนต์ให้พร เพื่อความสวัสดี ของสรรพสัตว์
พอสว่างอากาศดี อาตมาจะลงสวน เวลาเช่นนี้ นับว่าวิเศษมาก สำหรับอาตมา อาตมาจะมองดูฟ้า ที่กระจ่าง มองเห็นดวงดาวมากมาย ทำให้เกิด ความรู้สึกพิเศษว่า เราแทบไม่มีความสำคัญ อันใดเลย ในจักรวาล ทำให้ชาวพุทธ ตระหนักใน ความไม่เที่ยงแท้ นับว่าเหมาะ แก่การพักผ่อน บางครั้งอาตมา ไม่คิดเลย อาตมามีความสุข กับยามรุ่งอรุณ และเสียงนกร้อง
จากนั้นพระ จะนำอาหารเช้า มาถวาย ขณะฉันเช้า อาตมาจะฟังวิทยุ บีบีซี ราว ๆ ย่ำรุ่ง อาตมาจะย้าย ไปยังอีกห้องหนึ่ง เพื่อภาวนาจน ๐๙.๐๐ น. การภาวนาน ี้เป็นพุทธวิธี ที่ช่วยตั้งกระแสจิต ไปในทางที่สุจริต หรือสัมมาทิฏฐิ เพราะให้เกิดความกรุณา การให้อภัย และความมีใจกว้าง อาตมาภาวนาราว ๆ วันละ ๖-๗ ครั้ง
เก้าโมงจนเที่ยง อาตมาศึกษา พระธรรมจากคัมภีร์ พุทธศาสนานั้น ลึกซึ้งมาก แม้อาตมาจะได้ศึกษา มาจนตลอดชีวิต ก็ยังต้องศึกษาอีกมาก อาตมา พยายามอ่านหนังสือ ของผู้รู้ฝรั่งด้วย อาตมาอยากเรียนรู้ ปรัชญาตะวันตก และวิทยาศาสตร์ของฝรั่ง โดยเฉพาะ นิวเคลียร์ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ประสาท-ชีววิทยา บางครั้ง อาตมาก็ทำงาน ด้านเครื่องยนต์กลไก เช่น เปลี่ยนแบตเตอรี่ สำหรับวิทยุ หรือแก้เครื่อง
เวลาเที่ยงครึ่ง อาตมาฉันอาหาร ซึ่งมีเนื้อด้วย แม้อาตมา จะชอบอาหารมังสวิรัติก็ตาม พระย่อมฉัน เท่าที่เขาถวายมา
บ่ายเป็นงานราชการ พบปะ กับพวกรัฐมนตรี ที่ลี้ภัย ออกมาด้วยกัน และตัวแทน จากรัฐบาลของธิเบต นอกจากนี้ ก็ยังมีคน มาขอพบเสมอ ส่วนมาก มาจากธิเบต ส่วนมาก ไม่ได้รับอนุญาต จากจีนคอมมิวนิสต์ คนกล้าพวกนี้ หนีออกมา จากช่องแคบ แถบเชิงเขา หิมาลัยกว่า ๑๗,๐๐๐ คนแล้ว
เวลาย่ำค่ำ อาตมาฉันน้ำชา ตอน ๑ ทุ่ม เป็นเวลาดูโทรทัศน์ อาตมา ชอบดูรายการบีบีซี ที่ว่าด้วยอารยธรรมตะวันตก และรายการต่าง ๆ
แล้วก็ถึงเวลา ที่กำหนด เป็นเวลาภาวนา และบูชาพระ อาตมาหลับง่าย ๆ ตอน ๒ ทุ่มครึ่ง หรือ ๓ ทุ่ม แต่ถ้ามีพระจันทร์ อาตมาจะนึกถึงว่า มีพระจันทร์มองลงมายัง ประชากรของอาตมา ที่ถูกขังดังติดคุก อยู่ในธิเบต แม้อาตมา จะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็เสรีภาพ ในการพูด เพื่อประชากร ของอาตมา ทุกวัน อาตมาสวดอ้อนวอน ต่อ พระอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์ ผู้เป็นองค์พิทักษ์ ของธิเบต ขอให้ทรงปกปักรักษา พวกเขาทุกชั่วโมง ที่กินอยู่ อาตมานึกเสมอ ถึงความทุกข์ยาก ของประชากร ของอาตมา ซึ่งถูกเขากางกั้นเอาไว้ (ในอุ้งมือจีนคอมมิวนิสต์) ? ..
หมายเหตุ
ผู้ที่ต้องการ หาข้อมูล เพิ่มเติม เกี่ยวกับธิเบต หรือองค์ทะไลลามะ หาได้จาก
ภาพยนตร์ ซึ่งปัจจุบัน ที่มีพอจะหาดูได้ ก็คือภาพยนตร์เรื่อง "๗ ปีในธิเบต" เป็นเรื่องราวของไฮน์ริค ฮาร์เรอร์ (Heinrich Harrer) ชาวออสเตรีย ที่ถูกจับ เป็นเชลย ในสงครามโลก ครั้งที่ ๒ แล้วหนีออกจากค่าย ในอินเดียเข้าไปธิเบต อยู่ที่นั่นเจ็ดปี ได้เฝ้า และได้ช่วย สอนภาษาอังกฤษ ให้องค์ทะไลลามะ เมื่อจีนเข้ายึด ธิเบต เขาจึง กลับบ้านเกิด (ปัจจุบันอาศัย อยู่ที่ราชรัฐลิคเทนชไตน์ ประเทศเล็ก ๆ ติดสวิตเซอร์แลนด์ -ป.ร.)
อีกเรื่องชื่อ "คุนดุน" เป็นชีวประวัติขององค์ทะไลลามะ ซึ่งบทภาพยนตร์ ได้รับการตรวจทาน จากสำนักงาน ขององค์ทะไลลามะ ก่อนถ่ายทำ และก่อนออกฉาย เรื่องเริ่มตั้งแต่ ตอนทะไลลามะ ประสูติ เป็นลูกชาวนา ได้รับเลือก ให้เป็นประมุขของธิเบต และดำเนินเรื่อง ไปจนจีน ยึดครองธิเบต อย่างโหดร้าย เป็นเหตุ ให้ต้อง เสด็จลี้ภัย ไปอินเดีย พร้อมคณะผู้ลี้ภัย
ภาพยนตร์ทั้ง ๒ เรื่อง สามารถหาดูได้ในภาษาเยอรมัน ราคาม้วนละ (VIDIO, CD, DVD) ไม่เกิน ๑๐ ยูโร แถมเรื่อง ๗ ปีในทิเบตนั้น มีภาษาไทยแล้ว
นอกจากนี้ หนังสืออื่น ๆ ที่เป็นภาษาไทย และมีรายละเอียด ค่อนข้างมาก เช่น แผ่นดิน และประชากรของข้าพเจ้า (แปลและเรียบเรียงโดย ส.ศิวลักษณ์) อัตชีวประวัติ ขององค์ทะไลลามะ อิสรภาพในการลี้ภัย (แปลโดยฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฎเสน)
วารสารสาวิกา ฉบับพิเศษ "ทะไลลามะ มหาสมุทรแห่งปัญญา" จัดทำโดย เสถียรธรรมสถาน, วารสาร อักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร (มิ.ย. พ.ย. ๒๕๔๒), สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๑
ในหนังสือไฟฟ้า บนโลกอินเตอร์เน็ตนั้น มีทั้งภาษาอังกฤษ และเยอรมัน เช่น www.tibet.com www.dalailama.com www.tibet.de
และภาษาไทย (เกี่ยวกับทิเบต) ค้นหาดูได้ที่ www.khonnaruk.com (จับกระแส/ Free TIBET), www.sarakadee.com
ขออนุโมทนา/ ขอบคุณ แด่
๑. เยเช จัมปา (Yeshe Jampa) พระภิกษุแห่งศูนย์ธิเบต ฮัมบวร์ก และนอร์บู (norbu) อุบาสก แห่งศูนย์ธิเบต เบอร์ลิน ผู้ช่วยแนะนำ เรื่องการออกเสียง คำภาษาธิเบต (ทางโทรศัพท์) ในบทความนี้
๒. คุณสรินยา ชวินท์ โรห์ไมเออร์ (คุณก้อย) ที่ช่วยบันทึก แปล และ พิมพ์ปาฐกถา และชีวประวัติขององค์ทะไลลามะ
๓. ผู้จัดทำ ผู้สร้างสรรค์ วารสาร นิตยสาร หนังสือ ภาพยนตร์ สารคดี ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเรียบเรียง
๔. คุณศิริลักษณ์ บก.ชาวไทย ที่ช่วยจัดเรียงลงใน "ชาวไทย"
|